เด็กทุกคนล้วนเป็นพลเมืองของรัฐไทย จะเอายังไงกับพวกเขา
สวัสดิการเด็กถ้วนหน้า สำหรับเด็กแรกเกิดถึงหกปี เป็นไปได้หรือไม่กับสภาวะความเหลื่อมล้ำในสังคม
ทุกวันนี้เรามีเวลาเลี้ยงดูลูกกันสัปดาห์ละกี่วัน ?
วันละกี่ชั่วโมง ?
ในครอบครัวหาเช้ากินค่ำเราต่างทุ่มกำลังทำงานเพื่อหาเงินเข้าบ้าน เพราะการเลี้ยงดูเด็กหนึ่งคนล้วนต้องใช้ต้นทุน จะดีกว่าไหมหากในหนึ่งเดือนผู้ปกครองทุกครอบครัวจะได้รับเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 600 บาท ต่อเด็กหนึ่งคนอย่างเท่าเทียมกัน เพราะหากเทียบเคียงกับค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยวันละ 300 บาท แล้วนั่นอาจหมายถึง เวลาแห่งคุณภาพของครอบครัว ผู้เป็นแม่ได้มีเวลาให้นมลูกเพิ่มขึ้นอย่างน้อยก็เดือนละ 2 วัน
ปัจจุบัน เด็กหลังคลอดในราชอาณาจักรไทยไม่ได้รับเงินสนับสนุน จะมีเพียงวัคซีนฟรีประเภทวัคซีนโปลิโอ ไอกรน และวัคซีนประเภทอื่นที่ดูแล แต่ในการช่วยเหลือเรื่องการเลี้ยงดูยังไม่มี จะเริ่มได้รับสวัสดิการจากรัฐอย่างจริงจังในช่วงปฐมวัยคือ นโยบายเรียนฟรี
แม้การเข้ามาของรัฐบาลทหาร จะเริ่มให้ความสำคัญและจ่ายอุดหนุนเด็กเล็กอายุ 0-3 ปี มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 แต่ก็เป็นการให้แบบ “เฉพาะเจาะจง” โดยให้กับครอบครัวยากจน หรือ เสี่ยงต่อความยากจน ที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 3,000 บาทเท่านั้น ซึ่งจะมีเงินเข้าบัญชีเดือนละ 600 บาท
หากมองในแง่มุมของสิทธิมนุษยชน นี่ไม่ใช่เวลาของการเลือก หรือค้นหาว่า ใครจน แค่ไหนถึงเป็นคนจน แต่สิทธิของความเป็นคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กควรได้รับการสนับสนุนให้มีโอกาสเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ ในเรื่องนี้ เชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด.) ในฐานะคนทำงานด้านเด็กและเยาวชนให้ความเห็นว่า
“สิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมีหมดแล้วทั้งคนพิการ ผู้สูงอายุ และหลักประกันสุขภาพของประชาชนทั่วไป ดังนั้นถ้ามองให้ฐานสวัสดิการเท่ากันเนี่ย เด็กเล็กยังไม่มี เราก็เลยคิดว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ที่ต้องเป็นการสนับสนุนแบบทั่วหน้า แม้ที่ผ่านมาสามปีรัฐบาลจะเริ่มให้เงินสนับสนุนแก่ครอบครัวยากจน แต่ในความเป็นจริงคือยังมีครอบครัวยากจนจริง ๆ ที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบของรัฐอีกมาก”
จากข้อมูลการสำรวจของ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กร่วมกับยูนิเซฟ(UNICEFF)และทีดีอาร์ไอ (TDRI) พบว่ามีช่องว่างที่ทำให้เด็กซึ่งยากจนจริง ๆ ตกหล่นจากการเข้าถึงสิทธิในการได้รับเงินสนับสนุน 600บาท จากรัฐบาลเป็นจำนวนมาก ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น ครอบครัวที่เข้าไม่ถึงข้อมูลนี้ทำให้เสียโอกาส รวมทั้งครอบครัวยากจนบางบ้านไม่สามารถเข้าไปจดทะเบียนที่เขต หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นภูมิลำเนาได้ พ่อแม่บางคนขาดความเข้าใจขั้นตอนการลงทะเบียนใช้สิทธิง ไม่มีเวลาบ้าง บางคนพบอุปสรรคเรื่องการดำเนินการด้านเอกสารจนท้อใจยอมที่จะไม่รับสิทธิ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากรัฐบาลประกาศให้คนจนไปขึ้นทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ก็มีการเพิ่มเงื่อนไขของครอบครัวที่มีสิทธิได้รับเงินสนับสนุนเด็กเล็กอีก ว่าครอบครัวที่จะได้รับเงินอุดหนุนนั้นต้องไปขึ้นทะเบียนคนจนด้วย ทำให้เกิดความสับสนเพิ่มขึ้นไปอีก…แต่ที่น่าประหลาดใจและจำเป็นต้องตั้งคำถามต่อผู้กำหนดนโยบายคือ ทำไมเส้นความยากจนของทั้งสองนโยบายถึงไม่ใช่ตัวเลขเดียวกัน ?
600 น้อยหรือมาก ?
อย่างที่ทราบว่ากำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยในปัจจุบัน เท่ากับ 300 บาท ดังนั้น การให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กในระหว่างอายุ 0-3 ปี เป็นจำนวน 600 บาทต่อเดือนจะทำให้เกิดประโยชน์อะไรได้บ้าง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ตอบชัดว่า ก็คงไม่เยอะหรอก
“แต่หากมองเรื่องสวัสดิการแห่งรัฐในเมื่อกลุ่มอื่น ๆ ได้รับการสนับสนุนอย่างทั่วถึงแล้วก็ควรให้ความสำคัญกับเด็กเล็กด้วย เพราะหากครอบครัวสามารถเลี้ยงดูลูกให้เติบโตขึ้นมาได้ดี ก็เท่ากับรัฐและประเทศชาติจะได้มีกำลังแรงงานในการพัฒนาประเทศขึ้นมาอีกหนึ่งคน ถ้ามีสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า อย่างน้อยอาจต่อชีวิตที่ไม่มีความหวังได้อย่างน้อยก็อีกหลายวัน เช่น ตอนนี้ใกล้สิ้นเดือน เราผู้เป็นแม่เด็กซึ่งมีสถานะยากจนรู้อยู่แล้วว่าอีก 3 วันจะได้รับเงินอุดหนุน ก็ยังพอจะบากหน้าไปขอเชื่อ ข้าวสาร ปลาทู หรือของจำเป็นจากร้านค้าในชุมชนได้ และบางทีเงินเงินสนับสนุนถ้วนหน้าแบบนี้อาจไม่ได้ถูกใช้เดือนต่อเดือนนะ อย่างที่ผมไปสำรวจความคิดเห็น หลายครอบครัวบอกว่าถ้ามีการอุดหนุนจะวางแผนเก็บเงินนี้ไว้เป็นก้อน เพื่อใช้จ่ายในช่วงลูกเริ่มเข้าเรียน”
ทำไมต้องถ้วนหน้า ในเมื่อประเทศไทยไม่ได้มีแต่คนจน
ตามรายงานของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2561 พบว่าปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากรเด็กอายุ 0-6 ปี จำนวน 4,365,632 คน แต่มีสวัสดิการคุ้มครองเข้าถึงเด็กเล็กเหล่านี้เพียง 1,838,597 คน และหากมองในแง่อัตราการเกิดของประชากร อนาคตของประเทศกำลังเคลื่อนไปสู่สังคมผู้สูงวัย นั่นเท่ากับว่าอัตราการเกิดของเด็กจะน้อยลง วัยแรงงานน้อยลง ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น หากรัฐเริ่มลงทุน ค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนเด็กสำหรับปีต่อไปก็จะยิ่งลดลง แต่ดอกผลที่ได้คืนมาคือการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน ประชากรก็จะมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น แต่คำถามสำคัญคงหนีไม่พ้นว่า ทำไมต้องไปให้ลูกคนรวยด้วย ?
ต่อข้อถามนี้ เชษฐา มั่นคง พูดชัดว่า “เรื่องนี้สำคัญตรงที่ว่า รัฐต้องให้ความเป็นธรรมกับประชากรเด็กทุกคน โดยไม่พิจารณาความยากดีมีจน ไม่เช่นนั้นมันก็ถกเถียงกันไปไม่รู้จบ แล้วระหว่างรอให้นโยบายแบบนี้ออก ก็เท่ากับยิ่งเพิ่มเวลาขุดหลุมฝังเด็กที่ครอบครัวมีฐานะยากจนไปทุกวินาที และการให้แบบถ้วนหน้าจะเป็นการทำให้คนจนเข้าถึงสวัสดิการด้านเด็กได้ครบถ้วน 100% ไม่ใช่ไปเพิ่มโอกาสให้คนรวยยิ่งรวยมากขึ้น”
ในหนึ่งประเทศย่อมประกอบไปด้วยคนรวยและคนจน คงเป็นเรื่องน่าเสียดายถ้าวันนี้เราต้องเสียเวลาไปกับการถกเถียงกันว่าใครรวย หรือใครจน เพราะเด็กทุกคนควรได้รับสิทธิในการพัฒนาคุณภาพชิวิตไม่มากก็น้อย แล้วยิ่งมีข้อมูลทางวิชาการบอกชัด ว่าการที่เด็กแรกเกิดได้รับเงินอุดหนุนฯจะมีโภชนาการที่ดีขึ้น ลดความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาภาวะเตี้ยเพราะแม่สามารถมีเวลาให้นมบุตรได้มากขึ้น การเริ่มต้นคิดเพื่อลงทุนกับอนาคตของชาติคงไม่ใช่เรื่องของกำไรหรือขาดทุน บางทีเงินเพียงน้อยนิดในสายตาของหลายคนเหล่านี้อาจเป็นการช่วยให้ข่าวคราวการหายตัวไปของเด็ก การถอดทิ้งลูกในประเทศสารขัณฑ์นั้นลดลงก็เป็นได้ หรือไม่เราควรประหยัดงบประมาณส่วนนี้ไว้จ้างหุ่นยนต์ไปทำงานพัฒนาประเทศแทน