29 มีนาคม 2019

ผู้หญิง กับสิ่งต้อง(ไม่)ห้าม

การศัลยกรรมบนเรือนร่างของผู้หญิง เป็นสิทธิที่พึงมีและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง หลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมความงามได้เติบโตและขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากโฆษณา การรีวิวคุณหมอหรือสถาบันชื่อดัง ที่มีให้เห็นผ่านตาตลอด คู่มือการเลือกแบบจมูก การสักคิ้วตามโหงวเฮ้ง หรือแม้แต่การยกกระชับหางตา เป็นสิ่งที่ผู้หญิงยุคนี้สามารถถามไถ่กันราวกับเป็นเรื่องการถามสารทุกข์สุขดิบประจำวัน

ในขณะเดียวกัน สิทธิในร่างกายอีกด้านที่ไม่เคยได้รับการยอมรับและถูกพูดถึงในสังคมอย่าง สิทธิการยุติการตั้งครรภ์หรือการทำแท้ง ยังคงถูกเก็บซ่อนไว้ใต้พรมเหมือนกับว่า การทำแท้งไม่ใช่สิทธิในร่างกายเหมือนกับการเลือกทำศัลยกรรมความงาม

ผู้หญิงหลายคนทั้งเพื่อน พี่สาวของเพื่อน หรือคนใกล้ตัว หากได้มีโอกาสได้ลองคุย ฉันเชื่อว่าผู้หญิงทุกคนจะเคยรับรู้ หรือรู้จักเรื่องของการทำแท้งของคนใกล้ชิด หรืออาจจะเป็นเธอเองที่ได้ผ่านประสบการณ์นี้ แล้วเก็บกุมมันไว้เป็นความลับตลอดกาล

ในสหรัฐอเมริกา ที่รัฐนิวยอร์ค การทำแท้งเป็นสิ่งถูกกฎหมาย (Abortion Right Bill ) มีอายุครบรอบ 46 ปี ในปีนี้ แต่ในนิวยอร์คเอง ก็มีกฎว่าห้ามทำแท้งเกินหลังจากอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ แต่กลุ่มนักต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของผู้หญิงนั้น ยังคงคิดว่าทำไมต้องมีการจำกัดอายุครรภ์ เรื่องอายุครรภ์ควรเป็นเพียงตัวเลือกที่เพิ่มขึ้นมา ในปีนี้จึงมีการเสนอแก้กฎหมายให้ขยายเวลามากกว่า 24 สัปดาห์ (ถึงแม้ตามหลักทางการแพทย์นั้น อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ถือว่าเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อหญิงผู้ตั้งครรภ์แล้วก็ตาม)

ผู้หญิงกับการยุติการตั้งครรภ์นั้น มักถูกตีตราให้เป็น “คนบาป” หรือ “คนใจยักษ์” ทั้งที่มาจากรากฐานความอ่อนแอทางอำนาจต่อรองกับคู่นอน ที่ปฏิเสธการใช้ถุงยางอนามัย หรือแม้กระทั่งข้อผิดพลาดจากการคุมกำเนิดด้วยวิธีต่าง ๆ  รวมไปถึงผลที่จะเกิดขึ้นหากมีการเก็บเด็กไว้ ทั้งสถานะะทางเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของเมือง สวัสดิการจากภาครัฐ

การสละเวลาเลี้ยงดูมนุษย์หนึ่งคนนั้นมีค่าเสียเวลา หากครอบครัวหนึ่งจะมีอีกชีวิตเข้ามาโดยที่ยังมีปัญหาทางการเงินอยู่ มันคือการผลิตมนุษย์เข้าสู่สังคมด้วยภาวะไม่พร้อม และจะเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมที่อาจตามมา ซึ่งตัวผู้เป็นแม่เอง หากไม่มีความพร้อมหรือมีปัญหาสุขภาพ ก็ควรมีสิทธิในการกำหนดเรือนร่างของตัวเองเช่นกัน

ฉันไม่ได้ต้องการหรือสนับสนุนให้คนมีเพศสัมพันธ์แล้วไม่ป้องกันไม่ได้สนับสนุนการทำแท้ง

แล้วจะคิดว่าเด็กวัยรุ่นจะมีเพศสัมพันธ์ก่อนวันอันควร หรือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองพูดกัน ฉันเพียงแต่ต้องการเสนอทางเลือกอื่น มุมมองอื่น หากจะแก้ปัญหาการทำแท้ง หรือการท้องก่อนวัยอันควร หรือถึงวัยที่อันควรแล้วแต่สถานะทางเศรษฐกิจยังไม่เอื้ออำนวย รัฐต้องสนับสนุนตั้งแต่การให้ความรู้ด้านเพศศึกษาอย่างตรงไปตรงมา การแจกถุงยางอนามัยในสถานอนามัยหรือสถานศึกษา หรือตู้กดถุงยางที่เคยเป็นประเด็นในสังคม

ที่นิวยอร์ค นอกจากจะมีกิจกรรมแจกถุงยางอนามัยฟรีในสถานศึกษา และยังมีหน่วยงานที่ดูแลสวัสดิการ รวมถึวความเป็นอยู่ของผู้หญิงผู้เป็นแม่และเด็กที่เพิ่งเกิด ครอบครัวไหนที่ต้องการการดูแลจากรัฐ สามารถสมัครใจร่วมโครงการ The Women, Infants and Children (WIC) Program ซึ่งหากผ่านเกณฑ์ก็จะได้รับนม อาหาร ที่จำเป็นสำหรับแม่และเด็กฟรีจนถึงอายุ 5 ปี

จะเห็นได้ว่า แม้แต่ประเทศที่มีสวัสดิการรองรับแม่และเด็ก ยังจำเป็นต้องมีการยุติการตั้งครรภ์ที่ถูกกฎหมายและเข้าถึงได้ การทำแท้งผิดกฎหมายนั้นอันตรายต่อผู้หญิงมาก  หากไม่นับความเสี่ยงทางร่างกายที่อาจถึงแก่ชีวิต ยังมีความเสี่ยงต่อสภาวะทางเศรษฐกิจในครัวเรือน การทำแท้งผิดกฎหมายไม่ใช่ของราคาถูก เราจึงเห็นข่าววัยรุ่นซื้อยามาทำเอง เพราะไม่มีเงินไปหาหมอ หรือบางครัวครัวพ่อแม่ต้องไปหยิบยืมเงินมาเพื่อให้ลูกสาวตัวเองทำแท้ง เกิดภาวะหนี้สินในครัวเรือนอีก

ถึงแม้ในประเทศไทยจะมีกฎหมายอาญาที่ประกาศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 บทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานทำให้แท้งลูกในมาตรา 301-305 โดยมาตรา 301 ระบุถึงความผิดของผู้หญิงที่ทำให้ตนเองแท้งลูก ว่า “หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ” ในขณะที่มาตรา 305 คุ้มครองแพทย์ที่ทำแท้งว่าไม่มีความผิด หากทำภายใต้ 2 เงื่อนไข คือ เพื่อสุขภาพของผู้หญิง และ ในกรณีที่ผู้หญิงตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืนกระทำชำเรา รวมถึงเมื่อพบว่าทารกมีความเสี่ยงสูงที่จะพิการ หรือเป็นโรคทางพันธุกรรม โดยมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนทางการแพทย์ และต้องได้รับการรับรองจากแพทย์อย่างน้อยสองคน (หมออีกหนึ่งคนที่ไม่ได้เป็นผู้ทำแท้ง)

ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายออกมารองรับเช่นนี้แต่สถานการณ์การทำแท้งในประเทศไทยที่ใช้บาปบุญและจริยธรรมอันดีของสังคมมาครอบงำความคิดและการกระทำอยู่นั้น การยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยในประเทศไทยจึงยังไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม

จึงเริ่มมีองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของนักกิจกรรมผู้หญิง ซึ่งส่วนหนึ่งเคยผ่านประสบการณ์การทำแท้ง และเล็งเห็นความสำคัญของความปลอดภัยในชีวิต กับสิ่งสำคัญคือเรื่องสิทธิในเรือนร่างของผูู้หญิงภายใต้ชื่อ“กลุ่มทำทาง”

“กลุ่มทำทาง” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2554  โดยการติดต่อกับองค์กร women on web ที่ทำงานรณรงค์อยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นชุมชนดิจิตอลของผู้หญิงที่เคยทำแท้ง ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล และ องค์กรจากทั่วโลกที่สนับสนุนสิทธิในการทำแท้ง เพื่อให้ความรู้และอบรมการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย กลุ่มทำทางเริ่มจากการแปลข้อมูลจากภาษาอังกฤษมาเผยแพร่เป็นภาษาไทยผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องกับผู้หญิงที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์การตั้งครรภ์ไม่พร้อม มีการเปิดให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์โดยทางกลุ่มจะรับฟัง สอบถามและเสนอทางแก้ให้กับผู้หญิง แต่ผู้หญิงต้องเป็นคนตัดสินใจเองและโทรมาด้วยตัวเอง รวมไปถึงร่วมผลักดันด้านนโยบายให้เกิดการยอมรับที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นในสังคม เช่น การร่วมลงชื่อผ่านเว็บไซต์ Chang.org เพื่อลดและขจัดการเลือกปฎิบัติต่อสตรี

เพราะสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์นั้นครอบคุลมไปถึงสิทธิในการตัดสินใจที่จะมีบุตรหรือไม่ ระบบการบริการสาธารณสุขของรัฐควรจัดให้มีการ ให้ความรู้และสนับสนุนอุปกรณ์ในการให้บริการที่มั่นใจได้ถึงความปลอดภัยและเข้าถึงได้ ตามที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมการประชุมสตรีโลกที่กรุงปักกิ่งในปี พ.ศ. 2538 และรับรองเป้าหมายแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals-MDGs) ในการประชุมขององค์การสหประชาชาติ เพื่อพัฒนางานอนามัยการเจริญพันธุ์และลดการตายของมารดาระหว่างตั้งครรภ์ คลอด และหลังคลอด ลง 3 ใน 4 ภายในปี 2558 รวมทั้งได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Form of Discrimination Against Women-CEDAW)

ในโอกาสเดือนแห่งวันสตรีสากลฉันจึงอยากให้ทุกคนลองคิดว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้หญิงเราจะมีสิทธิในเรือนร่างของตัวเอง ที่ไม่ใช่เพียงแต่ความสวยงาม การเสริมแต่ง เป็นวัตถุให้คนจับจ้องชื่นชมในความสวยอุดมคติ หากแต่เป็นการมีสิทธิในการเลือกและตัดสินใจกับร่างกายตัวเองที่จะผลิตมนุษย์ขึ้นมาอีกคนบนโลกนี้ ตัดสินใจได้เองว่า ฉันจะสามาถให้กำเนิดและเลี้ยงดูมนุษย์ให้ไม่เป็นภาระกับสังคมได้ หรือฉันยังไม่พร้อมในตอนนี้  เพราะฉันเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิในเรือนร่างของตัวเอง

และถ้าคุณ ลูกหลาน คนใกล้ชิด กำลังเผชิญปัญหาท้องไม่พร้อม หยุดการสูญเสีย ติดต่อ กลุ่มทำทาง หรือ โทร 1300 ,1663ทุกหน่วยงานสามารถดูแลคุณได้ อย่างปลอดภัย ทั้งกายและใจ อย่าหลงเชื่อ เว็บเถื่อน ยาเถื่อน

story  :  กัญรัตน์ โภไคยอนันต์

เนื้อหาอื่นๆ

17 ธันวาคม 2019
17 ธันวาคม 2019
01 พฤศจิกายน 2023

Copyright © 2013 THETHAIACT