05 มิถุนายน 2020

ความจนบนถนนเดียวกัน

ระบบขนส่งสาธารณะในยุคที่ประเทศเป็นวิถี New Normal และความจนเป็นสิ่งสามัญคาดไม่ถึง

เอกพงษ์ เป็นพนักงานกินเงินเดือนของบริษัทเอกชน ซึ่งมีสถานที่ตั้งออฟฟิศอยู่ใกล้ตลาดบองมาร์เช่ ด้วยวัยต้น 30 เขาเพิ่งแยกจากครอบครัว ออกมาใช้ชีวิตด้วยการซื้อบ้านย่านชานเมือง เพื่อใช้ชีวิตกับแฟนสาว โดยปกติเอกพงษ์จะขึ้นประจำทาง แล้วต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพื่อไปทำงาน จากที่พักอาศัย เขาใช้เวลาเดินทางมากกว่า 1 ชั่วโมง แม้วันรถติดฝนตก รอนาน หรือถึงบ้านช้าขนาดไหน เขาไม่เคยปริปากบ่น

หลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 หลายสถานที่ทำงานปรับตัวด้วยการให้พนักงานทำงานจากบ้าน (Work from Home) แต่ด้วยงานด้านเทคนิคเฉพาะของเขา จึงไม่สามารถใช้นโยบายนี้กับตำแหน่งที่ทำได้ ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม ไปจนถึงพฤษภาคม การเดินทางของเอกพงษ์รวดเร็ว และสบายกว่าปกติหลายเท่า แม้จะแถมมาด้วยการต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตลอดเวลา แต่แลกกับการจราจรไม่หนาแน่นบนท้องถนน เพราะหลายคนเลี่ยงใช้บริการขนส่งสาธารณะ ทำให้เขาได้นั่งเบาะรถโดยสารมากกว่าที่เคย

แต่เมื่อมาตรการต่าง ๆ ผ่อนคลายลง ผู้คนเริ่มทยอยกันออกมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้น สิ่งที่หนุ่มออฟฟิศอย่างเขาพบ คือความยากลำบากในการเดินทาง

“รถเมล์สาย 134 ขึ้นจากหมู่บ้านจันทิมาธานี มาที่ห้าง เดอะมอลล์งามวงศ์วาน โดยปกติใช้เวลารอรถประมาณ 30 นาที และใช้เวลา เดินทางชั่วโมงกว่า แต่เมื่อมีนโยบายเว้นระยะห่าง ทำให้ต้องรอรถเมล์นานขึ้น เพราะรถบางคันไม่จอดรับ ตะโกนบอกแค่ว่า คันหลังนะคะ ๆ คนรอก็หน้าเหวอ... แล้วรถเมล์ในกรุงเทพ โดยเฉพาะสายนี้ ก็ไม่ได้มีมาถี่อยู่แล้ว บางครั้งคันหลังวิ่งแซงคันหน้าไปนานแล้วด้วย จึงต้องรอ รอ รอ ที่เคยรอนานสุด เพราะต้องรักษามาตรการเว้นระยะห่าง คือ 2 ชั่วโมง จนต้องนั่งแท็กซี่”

17 พฤษภาคม หลังจากปรึกษากับแฟนแล้ว เอกพงษ์ลางานในช่วงเช้า ตัดสินใจจะใช้เงินเก็บก้อนเดียวที่มีของบ้าน ไปซื้อรถยนต์มือสอง ด้วยเหตุผลหลักคือ หลีกเลี่ยงการพบเจอผู้คน และไม่อยากพลาดเข้างานสายอีกแล้ว เพราะการเข้างานสาย หมายถึงรายได้ที่ต้องถูกตัดทอนลดลง รวมถึงอาจจะโดนเพ่งเล็งให้ออกจากงาน เพราะสถานการณ์ตอนนี้ บริษัทเองมีนโยบายลดคนทำงานที่ไม่จำเป็น

“ใครเห็นเราขับรถยุโรป คงมองว่าฐานะเราดีขึ้นใช่ไหม แต่เปล่า พูดเลยว่าจนลงกว่าเดิมอีก แต่ที่ตัดสินใจแบบนี้เพราะราคาซื้อมือสองแบบไม่ต้องผ่อนคือแปดหมื่นบาท มันจ่ายทีเดียวจบ ไม่ต้องนั่งกังวลว่าผ่อนไหวไหม จากที่มีเงินเก็บไว้ยามฉุกเฉิน ตอนนี้ไม่มีแล้ว ไอ้การมีรถนี่ไม่ทำให้ดูรวยขึ้นนะ เพราะขับมาครึ่งเดือน เจอว่ารถไม่ต้องผ่อนก็จริง แต่มันต้องซ่อมบำรุง ซ่อมเยอะเลยแหละ ไหนจะค่าน้ำมัน ค่าจอดรถอีก จากที่จดไว้ค่าเดินทางสองอาทิตย์ที่ผ่านมาสูงขึ้น มันกลายเป็นราคาที่ชีวิตต้องจ่าย เพราะสถานการณ์หลายด้านบังคับให้เราตัดสินใจ”

จากการสำรวจปัญหาและสถานการณ์ผู้ที่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล โดยภาคีเครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย ทุกคนเข้าถึงได้ พบว่า ช่วง 60 วัน ที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่เดินทางน้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและคนพิการ แต่ผู้คนในช่วงอายุ 36-60 ปี ร้อยละ 64.9 ที่ยังมีความจำเป็นต้องเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ยังพบปัญหาการมีรถให้บริการไม่เพียงพอ และการที่ผู้ใช้บริการต้องรอนานกว่าในช่วงปกติ รวมถึงการไม่สามารถเว้นระยะห่างจากผู้โดยสารคนอื่นได้เมื่ออยู่ในยานพาหนะ

ซึ่งตัวแทนภาคีเครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย ทุกคนเข้าถึงได้ นายชีวิน อริยะสุนทร พูดถึงเรื่องนี้ว่า

“ถ้าไม่นับปัญหาเก่า เรื่องค่าโดยสารในระบบขนส่งหลักบ้านเราแพง กับการที่ทุกคน ไม่สามารถเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมสถานการณ์โควิด คือ จะมีสายรถเมล์ที่เป็นรถร่วมบริการ ปิดตัวลง ทำให้คนใช้รถสายนั้นถูกตัดออกไปเลย หรือต้องรอสายเดียวกันที่เป็นของ ขสมก. ถ้าหลบไปใช้สายอื่นก็กระทบกับชีวิตแน่นอน เพราะค่าโดยสารเพิ่มขึ้น และเวลาเดินทางที่ต้องบวกเข้าไป ยิ่งถ้าในช่วงเวลาเร่งด่วนไม่ต้องพูดถึงเลย แต่ตอนนี้หากพูดอะไรไป ผู้มีอำนาจตัดสินใจจะบอกว่านี่วิถีใหม่นะ เราต้องปรับตัว คนทำงานก็ออกจากบ้านให้เช้าขึ้นสิ”

ไม่ใช่แค่เพียงผู้โดยสาร แต่ผู้ให้บริการที่ต้องเว้นระยะห่าง ทั้งรถเมล์ รถตู้ ต้องดำเนินกิจการตามนโยบายของรัฐ ต้องสูญเสียรายได้ ละเลยผู้โดยสารทั้งที่อยากให้บริการ ข้อมูลจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) มีการประเมินว่า หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย มีการปลดล็อก จะมีผู้ใช้บริการรถโดยสารเพิ่มขึ้นถึงวันละ 20,000 – 30,000 คน รวมสะสมสำหรับผู้ที่ต้องพึ่งพาระบบขนส่งสาธารณะมากกว่า 600,000 คน ... จึงเป็นที่สงสัยว่า หากเทียบกับรายได้ที่สูญเสีย ผู้ให้บริการจะเลือกรักษา “ระยะห่าง” หรือ รักษา “เงินที่เข้ากระเป๋าสตางค์” กันแน่ และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หากเป็นช่วงเวลาเร่งด่วน มาตรการรักษาระยะห่างทั้งหลาย จะกลายเป็นความจำเป็นหลังสุดที่ผู้คนคำนึงถึง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ เครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยทุกคนเข้าถึงได้ จัดทำข้อเสนอต่อ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีสาระสำคัญคือ การรักษาความปลอดภัย ขอความร่วมมือผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภท ให้ปฏิบัติตามมาตรการคัดกรอง ควบคุม ป้องกันโรคอย่างเคร่งครัดจัดระบบขนส่งสาธารณะให้เพียงพอและมีความถี่ที่สอดคล้องกับความต้องการและขอให้รัฐบาล มีมาตรการลดราคาค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะลงเช่นเดียวกับค่าไฟฟ้าและประปา ซึ่งเป็นระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชน

แม้จะมีความพยายามในการแก้ปัญหาภายใต้สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 อย่างทั่วถึง และครอบคลุมทุกกลุ่มประชากรจากรัฐบาล ด้วยการออกพระราชกำหนดกู้เงิน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท แต่มาตรการดังกล่าว ดูยังไม่สอดคล้องกับการเยียวยา ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากระบบขนส่งสาธารณะ ตัวแทนภาคีเครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย ทุกคนเข้าถึงได้ ซึ่งได้ติดตามการดำเนินมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ มาโดยตลอดพูดถึงเรื่องนี้ว่า

“จากที่ดูแผนของ กระทรวงคมนาคม จะมีการชดเชยรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และผู้ให้บริการ แต่ในมุมของผู้รับบริการล่ะ เพราะต่อให้ชดเชยคนให้บริการ แต่รถที่มีให้บริการมันเท่าเดิม เขาก็เดือดร้อนนะ ควรได้รับการช่วยเหลือ นี่เป็นความจำเป็นเร่งด่วน ที่ควรเห็นรูปเห็นร่างของการดำเนินการแล้ว อย่างน้อยมีมาตรการลดราคาค่าโดยสาร หรือมีข้อกำหนดนการช่วยเหลือผู้ให้บริการบ้าง อาจเป็นการกำหนดให้เพิ่มเที่ยวโดยสาร เพื่อเพียงพอต่อการรองรับผู้คน ถึงแม้จะไม่ใช่ผลสำเร็จก็ดีกว่าไม่เห็นแนวทางอะไรเลยแบบนี้”

ในขณะที่หลายคน หาทางออกเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญปัญหาของระบบขนส่งสาธารณะ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยง การต้องสัญจรบนช่องทางจราจรเดียวกับรถโดยสารสาธารณะได้ เอกพงษ์ พนักงานเอกชนที่เพิ่งถอยรถยุโรปสี่ประตูออกมาขับ ถึงกับบ่นว่า

“มีรถแล้วก็จริงนะครับ แต่มันลงไปติดบนถนนด้วยกันอยู่ดี เราว่าการแก้ปัญหาเรื่องระบบขนส่งสาธารณะของประเทศไทยไม่เคยเกิดขึ้นจริงเลย พวกเราคนทำงาน คนเดินทางก็เป็นลูกค้าที่ดี และยอมรับชะตากรรมตัวเองกันมาตลอด แทนที่จะทำให้รถโดยสารมันถึงบ้านเราง่าย ๆ จะได้เดินทางสะดวก กลับถูกกีดกันออกมารับภาระการเดินทางทั้งหมดเอง"

เนื้อหาอื่นๆ

25 กุมภาพันธ์ 2023
07 มีนาคม 2020
29 มีนาคม 2019

Copyright © 2013 THETHAIACT