ชีวิตต่างด้าว บุคคลที่ถูกลืมในยุคโควิด19
บทความจากการลงพื้นที่สำรวจ
จึงไปเป็นเด็กวัดช่วยงานอย่างขยันขันแข็ง ข่าวนี้ได้รับความสนใจจากสังคมไม่น้อย พลอยให้เจ้าหนุ่มผิวขาว จมูกโด่งคนนี้โด่งดัง เขากล่าวให้สัมภาษณ์ว่า ขอบคุณคนไทยที่มีน้ำใจช่วยเหลือ คอยห่วงใยเขาแม้ในยามวิกฤตเช่นนี้
เช้าวันนี้ผมมีภารกิจลงพื้นที่ สำรวจความเป็นไปของเหล่าแรงงานนอกระบบ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19 หากคุณอยากรู้ว่าคนรากหญ้าลำบากอย่างไร ให้คุณลองลงมาเดินตามข้างถนนดู ผมค่อยๆปั่นจักรยานลัดเลาะไปตามถนนเจริญกรุง สัมภาษณ์วินมอเตอร์ไซต์ แม่ค้าขายส้มตำ ก็ยังรู้สึกว่า เขาเหล่านั้นยังไม่ใช่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง
จักรยานคันเก่าพาผมมาถึงบริเวณใต้สะพานตากสิน เขตบางรัก ผมไปสะดุดตาให้กับตู้ปันสุขแห่งหนึ่ง ภาพชายวัยหนุ่ม ผิวคล้ำ สวมเสื้อสีเหลือง สภาพไม่ต่างจากผ้าเช็ดเท้า เนื้อตัวมอมแมม ชวนให้คนรอบข้างไม่มีใครอยากเข้าใกล้ เขาสวมหน้ากากอนามัยที่คงผ่านการใช้งานมาหลายต่อหลายวัน ผมเห็นเขายืนรอรับอาหารอยู่ที่ตู้แห่งนี้ ชั่งใจอยู่นานว่าจะเข้าไปสัมภาษณ์เขาดีไหม ผมปั่นจักรยานผ่านไป แต่แล้วก็ตัดสินใจเบรคชะลอความเร็ว จนเขาเดินเข้ามาใกล้ผม
: สวัสดีครับ ผมเป็นนักเขียนอิสระ กำลังเขียนบทความถึงคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด พี่พอสะดวกคุยกับผมบ้างไหมครับ
"ได้ครับ แต่ผมพูดไม่เก่งนะครับ"
บทสนทนาระหว่างผมกับเขาก็เกิดขึ้น “พี่สี” แรงงานต่างด้าวจากประเทศลาว ที่เคยทำงานร้านอาหารมีรายได้เลี้ยงชีพกว่า 9000 บาท/เดือน มาวันนี้ตกงานได้ 2 เดือนแล้ว จากที่เคยมีห้องอยู่ วันนี้ต้องอาศัยหลับนอนตามใต้สะพาน เพราะไม่มีแม้แต่ห้องไว้ซุกหัวนอน
: แล้วพี่ได้รับความช่วยเหลืออะไรจากรัฐบาลบ้างไหมครับ
"เงินเยียวยาผมก็ไม่ได้หรอก ก็เข้าใจนะผมไม่ใช่คนไทย แต่ก็ได้กับข้าวที่เขาแจกตามตู้ หรือร้านอาหารข้างทาง กินนี่แหละ"
เราเดินไปตามทางที่มีตึกสูงใหญ่ล้อมรอบ ย่านใจกลางเมืองใหญ่ นับตั้งแต่เข้ามาทำงานในประเทศไทย 2 ปี มันคงเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดสำหรับเขา พี่สีขนข้าวของที่มีทั้งหมดออกมาจากห้องพัก แต่โชคชะตาก็เหมือนเล่นตลก ให้มีคนมาขโมยของทั้งหมดซ้ำเติมชีวิตเขาอีก จนถึงตอนนี้ทั้งตัวของพี่สี เหลือแค่เสื้อผ้าชุดเดียว ที่ใส่มาแล้วเกือบ 1 เดือน
เจอแบบนี้พี่รู้สึกอย่างไรบ้างพี่
"ท้อครับ…"
คำว่า “หมดตัว” คงไม่เกินจริงนักถ้าจะใช้พูดกับพี่เขา คือมันเหลือแค่ตัวจริง ๆ พี่เขาจะรู้สึกโดดเดี่ยวบ้างไหม กับการที่ต้องมาติดอยู่ในประเทศที่ไม่ใช่บ้านเกิดของตนเอง ไม่มีแม้แต่โทรศัพท์โทรกลับไปบอกเล่าเรื่องราวให้ครอบครัว หรือคนที่รักฟัง
: แล้วพี่อาบน้ำ อาบท่าอย่างไรละ
"ก็อาศัยโดดแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงเย็น ๆ ครับ"
: เอาอย่างนั้นเลยหรอพี่ งั้นผมขอเดินตามพี่กลับไปที่ใต้สะพานได้ไหม
"ได้ครับ ผมพูดไม่เก่งนะ(ขอย้ำอีกรอบ) แต่ที่นั่นมีคนไทยเยอะ เดี๋ยวผมจะพาไปให้พี่สัมภาษณ์"
ระหว่างทางเดิน มีคำถามมากมายที่ทำให้ผมอยากรู้จักเรื่องราวของผู้ชายคนนี้มากขึ้น ความลำบาก ไม่ได้ทำให้ความสุภาพในตัวเขานั้นลดน้อยลงแต่อย่างใด พี่สีเป็นคนมาจากเมืองสะหวันนะเขต แกมีพี่สาวที่มาทำงานประเทศไทยเหมือนกัน แต่ก็ขาดการติดต่อ ตั้งแต่แกเอาโทรศํพท์ไปขายเพื่อแลกกับค่าห้องเดือนสุดท้าย ก่อนจะถูกไล่ออกมา
: ใต้สะพานมีคนอยู่กันเยอะไหมพี่
"20 กว่าคน แต่ก็เป็นคนไทยทั้งหมด มีผมเป็นคนลาวคนเดียว "
พี่สีพยายามเดินไปแนะนำผมให้กับเพื่อน ๆ เขารู้จัก แต่ทุกคนที่นี่ช่างแตกต่างจากเขา ทุกคนหงุดหงิด ไม่พอใจกับสิ่งที่รัฐบาลทำกับเขาแบบนั้น แบบนี้ มันคงเป็นความรู้สึกของกลุ่มคน ที่เหมือนถูกลืมไปจากการเยียวยาของรัฐบาล พวกเขาเอาแต่ดื่มเหล้า บ้างก็เดินเข้ามาเพื่อขอตังผมไปซื้อเหล้า ในสถานการณ์ลำบากเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลก คนที่ลำบากก็หวังว่าคนที่เข้ามา จะช่วยเหลือเขาได้ทั้งนั้น
แต่ไม่ใช่กับสี หนุ่มจากประเทศลาวคนนี้ ตลอดบทสทนา เขาไม่เคยร้องขอความช่วยเหลือใด ๆ ไม่เคยหว่านล้อมให้ผมรู้สึกสงสารในโชคชะตาของเขา กลับเป็นผมที่อยากจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเขาบ้าง อย่างน้อย ๆ ก็เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น ก่อนที่ผมจะลากลับ ผมถามคำถามสุดท้ายกับเขา
: พี่สีครับ พี่อยากให้รัฐบาลไทยช่วยเหลืออะไรพี่ไหม
"ไม่ได้ต้องการอะไรครับ ขอแค่มีข้าวให้กินทุกวันก็พอใจแล้วครับ"
...ขอแค่มีข้าวกิน เสียงเล็ก ๆ ในสังคม ที่อยากให้มันดังไปถึงภาครัฐ ถึงแม้เขาจะไม่ใช่คนไทยก็ตาม
วันนี้ในสังคมยังมีกลุ่มแรงงานข้ามชาติอีกจำนวนมาก ที่ได้รับผลกระทบจากการตกงาน และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดได้ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา หากเราตัดคำว่าเชื้อชาติออกไป เขาเหล่านั้น ก็ล้วนไม่แตกต่างจากเรา มีสองมือ มีหัวใจ มีความหิวโหย และความกลัว ไม่ต่างกัน และหากนี่คือยุคสมัย ที่เราทุกคนต่างออกมาเรียกหาความเท่าเทียม ในฐานะของเพื่อนมนุษย์ จึงอยากขอเสนอแนวทางช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ จากมุมมองของพี่บอม (อดิศร เกิดมงคล) ผู้ประสานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ตามแนวทางดังนี้
1. การไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประกันสังคมของกลุ่มแรงงานต่างด้าว โดยแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายในไทยนั้น จะสามารถยื่นรับสิทธิประกันสังคมได้ แต่ปัญหาที่พบของมาตรการเยียวยาช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานต่างด้าว/ต่างชาติ คือ แบบฟอร์มไม่มีภาษาแม่ของกลุ่มแรงงาน ทำให้พวกเขาไม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนได้ เนื่องจากไม่มีความเข้าใจ จึงเป็นสิ่งที่สำนักงานประกันสังคม ควรรับไปพิจารณาและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการให้มากกว่านี้
2. ระยะเวลาที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตทำงาน สำหรับแรงงานต่างด้าวในไทย ที่เข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายนั้น ล้วนต้องผ่านกระบวนการขอรับใบอนุญาตทำงาน จากกระทรวงแรงงาน โดยในรายละเอียดนั้นระบุว่า กรณีที่มีการเปลี่ยนนายจ้าง ตัวนายจ้างหรือแรงงานต่างด้าว ต้องรีบไปแจ้งภายใน 15 วัน นับจากวันที่ออกจากการทำงานกับนายจ้างเดิม จึงเกิดประเด็นคำถามต่อมาว่า หากแรงงานต่างด้าวถูกเลิกจ้างในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ และไม่สามารถหานายจ้างใหม่ได้ทันภายในระยะเวลา 15 วัน (ซึ่งการหางานในช่วงนี้ก็เป็นไปได้ยากอยู่แล้ว) เท่ากับว่า ใบอนุญาตทำงานของพวกเขา จะไม่สามารถใช้งานได้ต่อไป และจำเป็นต้องกลับไปทำเรื่องเข้ามาทำงานใหม่ทั้งหมด อย่างนั้นใช่หรือไม่ หรือหากสถานการณ์กับมาปกติแล้ว การที่แรงงานต่างด้าวจะหางานใหม่ทำ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการรองรับกับเรื่องนี้อย่างไร กระทรวงแรงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีมาตรการที่ชัดเจนออกมา ให้แรงงานต่างด้าวและนายจ้าง มีความมั่นใจว่าจะสามารถจ้างงานและทำงานร่วมกัน ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
โดยพี่บอมได้กล่าวทิ้งท้ายประเด็นเรื่องนี้ที่น่าสนใจว่า การที่คนไทยบางส่วนมีความเข้าใจว่า แรงงานต่างด้าวเข้ามาแย่งงานคนไทยนั้น มันไม่สามารถทดแทนหรือแย่งกันได้ กล่าวคือ งานส่วนใหญ่ที่แรงงานต่างด้าวทำ จะเป็นงานที่ใช้แรงงาน และคนไทยเองก็หลีกเลี่ยงไม่ประกอบอาชีพในลักษณะนี้อยู่แล้ว ซึ่งต่อให้เราผลักดันแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ออกไป ก็ใช่ว่านายจ้างจะหาคนมาทำงานทดแทนได้ทั้งหมด ดังนั้น แรงงานต่างด้าวยังคงเป็น ฟันเฟืองหนึ่ง ที่จะช่วยขับเคลื่อนภาคธุรกิจให้สามารถดำเนินต่อไปได้ และเขาเหล่านั้น ก็ควรได้รับการดูแล อย่างน้อยที่สุดในฐานะเพื่อนบ้านของพวกเรา