18 ธันวาคม 2020

เรื่องของ “มวย” ที่ไม่ใช่แค่หมัด เท้า เข่า ศอก แต่เป็นการสานตอก ที่ช่วยสานต่อรอยยิ้มให้หมู่บ้าน

ที่บ้านโนนผึ้ง ตำบลนาจิก จังหวัดอำนาจเจริญ ประชากรทั้ง 85 หลังคาเรือนล้วนเป็นนักมวย หากแต่ไม่ใช่นักมวยบนสังเวียนค้ากำปั้น แต่เป็นการที่ลูกบ้านทุกคนต่างสามารถทำมวยนึ่งข้าวเหนียวได้ ซึ่งมวยนั้นมีความแตกต่างจากหวดหุงข้าวที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ มวยมี 2 ชั้น สานต่อเป็นทรงสูง ส่วนหวดมีเพียงชั้นเดียว รวมทั้งมวยนั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย ตั้งแต่นึ่งข้าวเหนียว นึ่งผัก นึ่งปลา รวมถึงยังนำไปใช้เป็นเครื่องประดับ ตกแต่งก็ได้ด้วย


กำนันบรรจง สุระวงศ์ แห่งตำบลนาจิกเล่าว่า “มวยของหมู่บ้านเรานั้นจะมีความแตกต่างกับของที่อื่น เพราะของเราจะมีความละเอียดมากกว่า รวมถึงยังพยายามปรับรูปแบบให้มีความแปลกใหม่มากขึ้น ที่สำคัญมวยของบ้านโนนผึ้ง ทำให้คนทั่วไปรู้ว่าหมู่บ้านนี้ไม่มีคนตกงาน เพราะทุกคนที่อยู่บ้าน สามารถเป็นแรงงานทำมวยได้ตั้งแต่เด็กเล็กไปยันผู้เฒ่าผู้ใหญ่”

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 หมู่บ้านโนนผึ้งก็ประสบปัญหาหลักโดยทั่วไปคล้ายชุมชนเกษตรกรรมทั่วประเทศ คือมีภาวะหนี้สิน และหนี้ครัวเรือน ซึ่งกำนันบรรจง เชื่อว่าเป็นผลมาจากอาชีพหลักเกษตรกรรม ที่ไม่สามารถสร้างรายได้่เพียงพอ รวมทั้งการมีภาระค่าใช้จ่ายภาคบังคับ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาของบุตรหลาน ทางออกของหมู่บ้าน จึงไม่ใช่สิ่งที่ผู้นำเป็นคนชักชวนทำ แต่เป็นการที่เกิดการรวมกลุ่มกันสร้างอาชีพจากวิถีชีวิต และภูมิปัญญาในท้องถิ่น กำนันตำบลโนนจิกอธิบายเรื่องนี้ว่า


“การร่วมกลุ่มสร้างอาชีพในชุมชน ถือเป็นการช่วยลดปัญหาในชุมชนไปได้หลายเรื่อง ตั้งแต่ทำให้แต่ละบ้านผูกพันกับชุมชนมากขึ้น วัยรุ่นเองก็จะเลือกที่จะทำงานใกล้บ้านของตัวเอง หรือพอมีปัญหาในชุมชน การที่เรามีพื้นที่รวมกลุ่มทางอาชีพแบบนี้ คงหลีกไม่ได้ที่จะเป็นวงสนทนาเพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาด้วย นอกจากนี้การรวมกลุ่มกันสร้างอาชีพ ยังช่วยลดปัญหาเรื่องการเงินด้วยอีกทาง เนื่องจากทำให้มีรายได้จากการทำหัตถกรรมเพิ่ม ที่สำคัญยังสร้างโอกาสให้เกิดการพัฒนาในด้านอื่นตามมา”

ปัจจุบัน บ้านโนนผึ้งเป็นหนึ่งในสมาชิกสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้หน่วยงานราชการในจังหวัด ประกาศนโยบายสาธารณะด้วยการส่งเสริมให้จังหวัดอำนาจเจริญเป็นเมืองธรรมเกษตร นอกจากนี้ ในหมู่บ้านยังมีกลุ่มออมทรัพย์บ้านโนนผึ้ง ซึ่งเริ่มดำเนินการกันเองเพื่อให้สมาชิกได้มีเงินเก็บ โดยเฉพาะเป็นทางออกฉุกเฉินให้ทุกคนสามารถมาทำการกู้ยืมได้


และที่สำคัญตลอดทางตั้งแต่ซุ้มโค้งหน้าหมู่บ้าน ไปจนถึงท้ายหมู่บ้าน ยังมีการประชาสัมพันธ์เพื่อบอกกับทุกท่านที่มาเยือนว่า บ้านโนนผึ้งเป็นหมู่บ้านปราศจากขยะ


“คือเมื่อชุมชนพวกเรามีความเข้มแข็งในครัวเรือนมากขึ้นระดับหนึ่งแล้ว มันจะทำให้หมู่บ้านของเราได้รับโอกาสในการมาต่อยอดแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งจากหน่วยงานท้องถิ่น หรือเครือข่ายภาคประชาสังคมในจังหวัด ตัวอย่างเช่นปัญหาขยะ เมื่อก่อนเรามีรถของ อบต. มาเก็บทุกสัปดาห์เหมือนกัน เก็บแล้วก็เอาไปจัดการต่อ ซึ่งขั้นตอนพวกนี้มีค่าใช้จ่าย เป็นงบประมาณทั้งนั้น พอเราไปนั่งทำมวยกันทุกวัน ๆ ก็รู้สึกว่า มันควรมีข้อตกลงกันเอง เพื่อจะได้ไม่ต้องทิ้ง หรือเผาขยะ เราจึงลองกันมาเรื่อย ๆ จนปี พ.ศ. 2561 ทุกบ้านของพวกเราก็ทำพิธีคืนถังขยะให้อบต.”

การที่ชุมชนมีกลไกในการตกลง และจัดการแก้ปัญหาในชุมชนร่วมกัน จึงทำให้ปัญหาขยะในบ้านโนนผึ้งลดลงไปมาก เริ่มต้นจากการลดขยะจากภายนอก การแยกขยะในชุมชน การนำขยะชีวภาพมาทำปุ๋ย หรือน้ำหมักชีวภาพ ส่วนขยะพลาสติกนั้น กำนันและลูกบ้านเคยสำรวจในปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่า โดยเฉลี่ยมีไม่เกินสัปดาห์ละ 1 กระสอบ สำหรับขยะที่ไม่ได้อยู่ในวงจรเหล่านี้ แม้จะถูกจัดการด้วยวิธีนำไปเผา แต่ก็ยังอยู่ในกระบวนการช่วยกันระแวดระวังไม่ให้ปริมาณมากเกินไป และการเผาทำลาย ต้องส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้มโดยรอบให้น้อยที่สุด


สุดท้าย กำนันบรรจงฝากไว้ว่า “ในฐานะที่ตัวเองมีบทบาทเป็นผู้นำท้องถิ่น อยากบอกว่าการที่แต่ละชุมชน สามารถกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกันได้ด้วยตัวเองนั้น จะสามารถแก้ไขได้ตรงจุด มากกว่าต้องรอรับนโยบายหรืองบประมาณ การที่เราชาวบ้านรวมกลุ่มกัน เพื่อหาทางออกหรือช่วยกันแก้ปัญหาสามารถทำได้ เรื่องในอนาคตที่สำคัญของบ้านโนนผึ้ง ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุน คือ การใช้เทคโนโลยีมาช่วย ทั้งเรื่องช่องทางการขายสินค้า และการพัฒนา การติดตามการพัฒนาอย่างรอบด้านของชุมชน ซึ่งหากผู้ที่อยู่ตรงรากฐานของระบบการปกครองอย่างเรา สามารถมีส่วนร่วมกำหนดแนวทางพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเองได้ เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายนำไปออกนโยบายที่สอดรับกัน มันจะเป็นนประโยชน์มาก”


เนื้อหาอื่นๆ

01 พฤศจิกายน 2023
11 กันยายน 2018
14 มิถุนายน 2021

Copyright © 2013 THETHAIACT