04 กันยายน 2022

GIVE HOPE

กลุ่มมอบความหวัง - กับทางเลือกใหม่ ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด

หากมองจากแผนที่ประเทศไทย จะพบว่าจังหวัดตาก มีพรมแดนด้านตะวันตกยาวติดกับประเทศเมียนมาร์ และมีพื้นที่กว้างใหญ่จนถูกบันทึกให้มากเป็นอันดับ 4 ของประเทศ รวมทั้งมีย่านการค้าชายแดนที่สำคัญ แต่นอกจากนั้นในอำเภอแม่ระมาด และอำเภอท่าสองยาง ยังมีกลุ่มคนที่ทำงานกับ “ผู้ใช้ยาเสพติด” ซึ่งมีมากกว่า 1,000 คน ในพื้นที่

กลุ่มมอบความหวัง (GIVE HOPE) เป็นหนึ่งในภาคประชาสังคมที่ทำงานเพื่อค้นหาผู้ใช้ยาเสพติด โดยเฉพาะผู้ใช้วิธีฉีด เพราะจากงานศึกษาพบว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาด้านสุขภาพมากที่สุด และเมื่อพบเจอสมาชิกที่ใช้ยาเสพติดแล้ว จะเกาะติดทำความคุ้นเคย จนนำไปสู่การชักชวนให้เข้าสู่ระบบบำบัดตามสมัครใจ นอกจากนั้น หากสมาชิกคนใดต้องการเข้ารับการตรวจโรค หรือต้องเข้ารับบริการด้านสุขภาพ พวกเขาจะเป็นคนกลางในการช่วยเหลือส่งต่อ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนจะได้รับบริการด้านสุขภาพอย่างไม่ถูกเลือกปฏิบัติ รวมทั้งเพื่อการให้บริการอย่างรอบด้าน และแก้ไขปัญหาอย่างครบถ้วนทุกมิติจึงมีการเปิดศูนย์บริการสุขภาพกลุ่มมอบความหวังเพื่อตรวจ-รักษา ไวรัสตับอักเสบซี (HCV) เป็นพื้นที่ให้คำปรึกษาสำหรับผู้ใช้ยาเสพติดอีกด้วย

โดย อัมพรรัตน์ ประไพวงศ์ ในฐานะผู้จัดการปัญหารายบุคคล (Case Manager) ของกลุ่มเล่าว่า

“การทำงานของเราครอบคลุมทั้งคนไทยและผู้ไม่มีสัญชาติไทย งานที่เราทำไม่ได้มุ่งเน้นแค่แก้ปัญหารายกรณี แต่เป็นการทำงานกับความเข้าใจของสังคม ชุมชน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีผู้ใช้ยาเสพติด เพราะการเป็นผู้ใช้ยาเสพติดมักถูกปฏิเสธจากทางสังคมและครอบครัว บางรายลองใช้ยาเพียงแค่ครั้งเดียว แต่ต้องถูกตราหน้าว่าเป็นขี้ยาไปตลอด เราเชื่อว่าเรื่องลักษณะนี้มีส่วนให้เจ้าตัวไม่เปิดโอกาสให้กับกระบวนการบําบัดรักษา หรือให้การตอบรับต่อนโยบายแก้ปัญหายาเสพติด จนทำให้เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาระดับชาติ”

หากย้อนไปก่อนหน้านี้ ชื่อของอัมพรรัตน์ ประไพวงศ์ คือหนึ่งอาจารย์ในสาขาวิชาจุลชีว– เเพทย์เเผนไทย–แพทย์แผนจีนในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ซึ่งเธอเคยเป็นผู้สอนมาอย่างยาวนานถึง 6 ปี มีประสบการณ์ที่ได้พบปะ พูดคุย ให้คำปรึกษากับเยาวชนมาแล้วนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะเรื่องการใช้ยาเสพติด

“คือตอนเป็นอาจารย์ ก็เห็นปัญหาของเยาวชนในหลากหลายมิติ พอได้คุยกับเด็ก ได้คุยกับเจ้าของปัญหา ก็รู้สึกว่าตัวเราทำหน้าที่ได้เพียงแค่รับฟัง ไม่สามารถให้การช่วยเหลืออะไรกับพวกเขา หรือไม่มีวิธีการ ไม่มีเครื่องมือในการช่วยเขาได้เลย จึงรู้สึกอยากว่าเราต้องทำได้มากกว่านี้ ประกอบกับได้ศึกษาเพิ่มในเรื่องสังคมและจิตวิทยา ก็ทำให้มั่นใจกับตัวเองว่า สิ่งที่เราทำอาจยังไม่ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิต จนถึงวันที่ตัดสินใจลาออก”

จุดเปลี่ยนที่สำคัญในการตัดสินใจของเธอ คือ การพบว่าบางครั้งการแก้ปัญหาอาจไม่ใช่แค่มีหน่วยบริการ หรือศูนย์คอยดูแลแบบตั้งรับ แต่จำเป็นต้องมีกลุ่มคนที่ทำงานแบบ Door to Door Concept หรือการทำงานกับบุคคล ทำงานกับครอบครัวและชุมชน ปัจจุบัน อัมพรรัตน์จึงได้กลายมาเป็น ผู้จัดการปัญหารายบุคคล (Case Manager) ให้กับกลุ่มมอบความหวัง

“เราเดินเข้ามาในองค์กรแบบนี้ ไม่ได้มีความคาดหวังอะไรเลย เข้ามาด้วยใจที่อยากจะทำ หลายครั้งก็จะมีคำถามจากคนรอบข้าง ว่าทำไมถึงเลือกมาทำงานกับผู้ใช้ยาเสพติด แต่โดยส่วนตัวคิดว่า เรื่องยาเสพติดไม่ได้มีเพียงมิติเดียว ไม่ได้หมายถึงคนที่เสพเป็นคนชั่วเป็นคนเลว หรือเป็นคนไม่ปกติของสังคม แต่เหตุผลที่ทำให้คนกระทำเรื่อง ๆ หนึ่งนั้น มีปัจจัยจากหลายที่มา รวมทั้งในประเทศไทย การใช้ยาเสพติดยังเป็นเรื่องที่กฎหมายบอกว่าผิด ผิดโดยมีบทกำหนดโทษชัดเจนอย่างเดียว เราขอให้ภาพแบบนี้ว่า การเสพติดอาจเป็นพฤติกรรมที่ทุกคนมี เช่น ติดดารามันก็จะมีช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่าเลิกติดตามเขาคนนั้นไม่ได้ หรือติดการ ซื้อสินค้า ติดกาแฟ ซึ่งหากดูที่มูลเหตุอาจมาจากเรื่องเดียวกัน คือความเคยชิน หรือความทุกข์ใจบางอย่างในชีวิต จนต้องพึ่งพิงบางพฤติกรรมทำให้เกิดการเสพติด แต่ด้วยความที่การใช้ยาฯมีผลต่อตัวเอง สังคมเอย กฎหมายเอยเลยบอกว่ามันผิด จนเกิดเป็นการตัดสินว่ามันไม่ดี คนที่ใช้ก็ต้องไม่ดีไปด้วย ทั้งที่จริง ๆ แล้วชีวิตคนหนึ่งคนอาจจะไม่ใช่มีแค่สีขาวกับสีดำ การทำงานกับผู้ใช้ยาเสพติดจึงไม่ได้หนักหนาสำหรับเรา”

อัมพรรัตน์ ประไพวงศ์ - ผู้จัดการปัญหารายบุคคล (Case Manager) กลุ่มมอบความหวัง

ผู้จัดการเคสของกลุ่มมอบความหวังบอกเพิ่มเติมว่า การได้มาทำงานกับปัญหา ได้เห็น ได้มีส่วนร่วมในการค่อย ๆ แก้ไขปัญหา ช่วยทำให้เธอเห็นมูลเหตุและปัจจัยที่ทำให้ผู้ใช้ยาเสพติดหลายคนตัดสินใจพึ่งพิงการใช้ยาฯ และสิ่งสำคัญคือ การทำงานของเธอนั้น ไม่ได้เริ่มจากการตั้งธงเป็นเป้าหมายว่า จะต้องพาคนมาเข้ารับการบำบัด หรือต้องชักชวนให้คนเลิกใช้ยาเสพติดให้ได้เพียงอย่างเดียว

“เรามองว่าการเลิกยาเสพติดเป็นทางเลือกที่จะเลิกหรือไม่เลิกก็ได้ แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าการเลิกยาเสพติดคือต้องผ่านการไปบำบัดเท่านั้น พอเราได้มาทำงาน ได้อยู่กับความจริง ได้เข้าไปเป็นเพื่อนพวกเขา ได้ร่วมเป็นหนึ่งประจักษ์พยานของชีวิตพวกเขาในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ไม่ว่าจะทุกข์หรือสุข เพื่อยืนยันว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นจริง แล้วเมื่อไหร่ที่ได้รับความไว้วางใจ ไม่ได้ตัดสินความดีเลวของเขา มันก็จะทำให้เราได้ข้อมูลเพื่อนำไปแก้ปัญหา แล้วเราก็จะกลับมาพร้อมวิธีการเเก้ปัญหาที่หลากหลายให้พวกเขาเลือกบนพื้นฐานว่า ถ้าคุณยังไม่อยากทำ ไม่อยากเลือกก็ไม่เป็นไร”

ปัจจุบันอัมพรรัตน์ ต้องดูเเลสมาชิกผู้ใช้ยาเสพติดที่มีความต้องการแตกต่างกันทั้งหมดมากกว่า 1,000 รายนั้น ด้วยตัวเองพร้อมกับเพื่อนร่วมงานในกลุ่มซึ่งเธอบอกว่าในจังหวะของชีวิตตอนนี้เธอมีความสุขที่ได้เป็นผู้ช่วยเหลือ แต่เมื่อถูกถามถึงอุปสรรคสำคัญ ของการทำงานภาคประชาสังคม อดีตอาจารย์นักวิทยาศาสตร์สาวประเมินจากสายตาและประสบการณ์อย่างน้อย 45 วัน ของเธอแล้วตอบว่า

“หลาย ๆ ครั้งเราเจอว่า การทำงานของกลุ่มหรือองค์กรเล็ก ๆ ที่ต้องรับทุน หรือพึ่งพาเเหล่งทุนใหญ่ ซึ่งให้ทุนมาพร้อมกับข้อกำหนดและมีวิธีการ คือมีเครื่องมือมาให้อยู่แล้ว อาจแก้ไขปัญหาที่มีสภาพแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ แต่ละบุคคลไม่ได้จริง ดังนั้นการทำงานภาคประชาสังคม นอกจากสำรวจตัวเอง ว่าอยากไปมีส่วนร่วมแก้ปัญหาตรงไหนแล้ว ก็จำเป็นต้องดูที่มา ดูวิธีการทำงานที่ไม่ขัดต่อเสียงของหัวใจด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ทำงานไปพร้อมกับกรอบของผู้พิจารณาให้ทุนแต่อย่างเดียว อันนี้ไม่นับรวมว่างานภาคประชาสังคม คือ การมีส่วนร่วมกับการพัฒนาประเทศ ซึ่งย้ำว่านี่เป็นงาน เเต่มาพร้อมค่าตอบเเทนที่สวนทางกัน”

และนั่นคือทั้งหมด นั่นคือ GIVE HOPE หรือกลุ่มมอบความหวัง ติดตามการทำงานของพวกเขาเพิ่มเติมได้ที่

https://www.facebook.com/GiveHopeGroup/

เนื้อหาอื่นๆ

06 เมษายน 2019
09 สิงหาคม 2020
28 พฤศจิกายน 2019

Copyright © 2013 THETHAIACT