ความสำเร็จที่ไม่เสร็จสิ้น
บอกเล่าประสบการณ์ทำงานแก้ไขปัญหาด้านเด็ก จนถึงผู้ไร้สถานะทางทะเบียน ที่เวียนมาให้ภาคประชาสังคมสุรินทร์ต้องร่วมกันให้ความช่วยเหลือ
บนพื้นที่มากกว่า 5 ล้านไร่ ไต่ระดับสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 146 เมตร ของภูมิภาคอีสานตอนใต้ของจังหวัดสุรินทร์ มีศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองตั้งอยู่ ทั้งหมด 5 แห่ง กระจายตัวกันต่างอำเภอ ทั้งในเมืองสุรินทร์และพื้นที่ห่างไกลได้แก่ อำเภอสังขะอำเภอศรีณรงค์อำเภอกาบเชิง และอำเภอพนมดงรักแม้โดยบทบาทหน้าที่จะคอยรับเรื่องร้องเรียน และช่วยเหลือกรณีพบผู้ประสบปัญหาจากการรับบริการสุขภาพในหน่วยสาธารณสุข
แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ “ความร่วมมือ” ที่ไม่ใช่เพียงร่วมงานกับศูนย์บริการในโรงพยาบาลศูนย์ ครอบคลุมทั้ง 17 อำเภอ รวมถึงหน่วยบริการระดับตำบลทุกแห่ง แต่ยังประสานการมีส่วนร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมในท้องถิ่น เพื่อส่งต่อดูแล และขยาย “การให้ความช่วยเหลือ” เพื่อครอบคลุมหลากหลายกลุ่มประชากรที่ประสบปัญหา ในการจัดกิจกรรม WE Are CSO ณc-space: coworking & coffee ถนนศรีณรงค์ ตำบลนอกเมือง ตัวแทนจากศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง เล่าถึงปัญหาในปัจจุบันที่เกิดขึ้นเช่นว่า
กระบวนการประเมินความเสียหาย ประเมินพัฒนาการ ประเมินความพิการในกลุ่มเด็กที่มีผู้เชี่ยวชาญน้อย จนทำให้เกิดความล่าช้า กระทบต่อการรักษา / สุขภาพ และสวัสดิการของเด็ก จนนำมาสู่ข้อเสนอที่เกิดขึ้นในกิจกรรม คือ การเปิดให้ภาคประชาสังคม รวมถึงสถาบันการศึกษา และท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินพัฒนาการ ประเมินความพิการในกลุ่มเด็ก เนื่องจากกลุ่มคนดังกล่าวอยู่ใกล้ชิดชุมชน มีหน้าที่โดยธรรมชาติที่สามารถช่วยแบ่งเบางานของผู้เชี่ยวชาญ และทำให้เด็กได้รับสิทธิอันพึงมีได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที...
หรือปัญหาจากการที่หน่วยบริการสาธารณสุขไม่มีบริการเรื่องยุติการตั้งครรภ์ ไม่ส่งเสริมบริการเฉพาะด้านนี้ และไม่สนับสนุนข้อมูลด้านบริการยุติการตั้งครรภ์ ทั้งที่หากย้อนไป 10 ปี มีการสำรวจพบ สถานการณ์ว่าเป็นจังหวัดที่มีสถิติการตั้งครรภ์ในวัยเรียนมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ จนมีข้อเสนอจากภาคประชาสังคม ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ต้องมีครบทุกโรงพยาบาล ควบคู่กับสถานบริการที่มีการรับฝากครรภ์ รวมถึงสถานบริการต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์บริการยุติการตั้งครรภ์และให้ความรู้เรื่องนี้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมายเยาวชน และผู้ปกครอง
หนึ่งในเจ้าหน้าที่มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีส่วนร่วมในงานช่วยเหลือดูแลเด็กกับศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองกล่าวถึงสถานการณ์เหล่านี้และงานที่ทำว่า
“ยังมีเด็กและเยาวชนถูกกระทำความรุนแรง และเข้าไม่ถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต เนื่องจากเปราะบางหลายด้าน ในพื้นที่นี้เราร่วมงานกับทุกภาคส่วนเพื่อให้ความช่วยเหลือ กลุ่มเด็กที่ถูกล่วงละเมิดหรือแสวงหาผลประโยชน์ หรือเปราะบางเพราะครอบครัวอยู่ในท่ามกลางวงจรแห่งความยากจน ส่งผลให้ขาดแคลนอย่างรุนแรง รวมถึงดูแลเมื่อเด็กและครอบครัวเกิดภัยพิบัติ ... โดยหน้าที่หลักของของเราจะคอยเกาะชิด ติดตาม ส่งต่อบริการอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดกระบวนการช่วยเหลือเป็นรายกรณี นอกจากนี้ยังมีการเสริมสร้างความรู้และฝึกอาชีพทางเลือก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขวงจรแห่งความยากจนของครอบครัวเด็ก”
ขณะที่ มีนา ดวงราษี จากศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ กล่าวถึงสถานการณ์เฉพาะด้านเด็กในจังหวัดสุรินทร์ จากประสบการณ์ตรงในการทำงานของตน โดยระบุถึงปัญหาของปัจจุบัน ที่มีนอกจากวิถีความเป็นอยู่ ปัญหาเฉพาะกลุ่ม หรือความยากจนแล้วยังมีเรื่องน่าเป็นห่วงคือเรื่อง พัฒนาการถดถอยอย่างรุนแรง
“ไม่ใช่แค่ทำงานศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองอย่างเดียว แต่เรายังอยู่ใกล้ชิดกับมูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชนที่มีศูนย์ดูแลเด็กด้วย ปัจจุบันเราทราบกันดีว่า บ้านเราเจอกับการที่มีเด็กเกิดน้อย ยังไม่พอเกิดน้อยแต่มีพัฒนาการที่ถดถอย จากการลงพื้นที่เราเจอเด็กลักษณะแบบนี้ทุกศูนย์อย่างน้อย 3 – 4 ราย เรียกได้ว่ามีมากกว่า 10% ของจำนวนเด็กที่เราเจอ หรือหากนับจำนวนที่เราร่วมติดตาม ดูแลใกล้ชิดจะได้มากกว่า 60 คน ที่อยู่ในภาวะรุนแรง ซึ่งหมายถึงการไม่เข้าใจภาษา ไม่สามารถดูแล ไม่อยู่ภายใต้การกำกับควบคุมจนไม่สามารถเรียนรู้ได้ จึงต้องให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับผู้ปกครอง”
นอกจากการดูแลด้านเด็กแล้ว ในฐานะศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ ยังเห็นอีกหนึ่งคลื่นปัญหาที่กำลังถา โดยเฉพาะในมิติสุขภาพที่เกิดในระบบ คือ การไม่สามารถใช้สิทธิบริการสาธารณสุขของกลุ่มผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ปัจจุบันพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ได้มีการจัดตั้งกลไก ’ศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน’ เพื่อจะช่วยส่งต่อ สนับสนุน และช่วยให้บุคคลตกสำรวจหรือไร้สถานะทางทะเบียนได้เข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน
“เรื่องนี้เกิดขึ้น เนื่องจากการที่เราเห็นคนไทยไร้สิทธิจำนวนไม่น้อยในพื้นที่ ทั้งคนไร้บ้าน คนมีบ้านแต่ไม่เคยแจ้งเกิด คนที่ไม่สามารถสืบหาญาติได้ บุคคลไร้เลข 13 หลัก คนที่เคยอยู่ในกระบวนการรักษาทางจิต รวมถึงคนที่มีเลขบัตรแต่ไปติดอยู่ทะเบียนบ้านกลาง โดยศูนย์อำนวยการฯที่ตั้งขึ้นมานี้จะช่วยดำเนินการที่จำเป็น สำหรับการพิสูจน์สิทธิ ส่งหนังสือติดตามกระบวนการพิสูจน์สิทธิของคนที่อยู่ในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแล้ว รวมถึงประสานหน่วยบริการสุขภาพ เพื่อไม่ให้เกิดการปฏิเสธบริการ แม้ของปีที่ผ่านมาจะเริ่มจาก 6-7 ราย แต่จากข้อมูลของอาสาสมัครทั้ง 17 อำเภอ ที่ได้ร่วมงานพบว่า มีการส่งต่อข้อมูลมายังเราอยู่ตลอด ปัญหาที่พบเป็นเรื่องของการไม่มีแม้กระทั่งบัตรหัว 0 ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิใด ๆ ได้”
บทบาทของศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ไม่เพียงให้คำปรึกษา แต่เป็นการพาทำ ชวนไปติดตาม และดำเนินการส่งหนังสือทวงถาม เมื่อเกิดความล่าช้าในกระบวนการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ท้ายที่สุดสิ่งที่ มีนา ดวงราษี อยากฝากหากอยากเห็นปัญหาเหล่านี้คลี่คลายได้รับการแก้ไข คือ ประชาชนต้องรู้สิทธิ รู้ข้อมูล หน่วยงานต้องประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจ ให้ข้อมูลอย่างแจ่มชัดในที่ทางที่สามารถเข้าถึงได้ และสำคัญสุด คือการอำนวยความสะดวกของหน่วยงาน ที่ทำให้นายทะเบียนมั่นใจ กล้าให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยปราศจากอคติ(การให้รอซ้ำซาก เพราะรอมาตั้งนานแล้ว) และการเลือกปฏิบัติทั้งทางนโยบาย(โควตา)
เหล่านี้เป็นเพียงรูปธรรมของงานภาคประชาสังคมที่เกิดขึ้นกับบางกลุ่มเป้าหมายพื้นที่ ซึ่งสามารถเรียกได้ว่าเป็น “ความสำเร็จ” ของการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มพูนเครือข่ายปฏิบัติงานทั้ง เอกชน และภาคประชาสังคมด้วยกันเอง หากแต่น่าเสียดายถ้านี่จะกลายเป็นเพียง “ความสำเร็จที่ยังไม่เสร็จสิ้น” เมื่อปัญหายังถาโถมและต้องรอให้หน่วยงานรัฐมาเติมเต็มและมีส่วนช่วยเหลือพร้อมทำงานร่วมกันในทุกระดับ
สำหรับท่านที่สนใจสามารถร่วมติดตามการดำเนินงานของทั้ง 3 องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ตามที่กล่าวถึงได้ที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง อ.เมืองสุรินทร์ โทรศัพท์ : 089-719-3331 และ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย