09 กรกฎาคม 2025

ปัตตานีผนึกกำลังรัฐ-ประชาสังคม ดันแผน “one plan one ตำบลสุขภาวะ”

หนุนแก้ปัญหาสุขภาวะคนสามจังหวัดชายแดนใต้

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 เวลา 09.00-10.00 น. ณ ห้องประชุมพญาตานี ชั้น 4 อาคาร 2 ศาลากลางจังหวัดปัตตานี นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวเปิดเวทีระดมความคิดเห็นและปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เพื่อจัดทำแผนสุขภาวะกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน จัดโดย สถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม (สสป.) ภายใต้การสนับสนุนจาก สสส.สำนัก 9

โดยผู้ว่าฯ ประกาศชัดเจนบนเวทีหารือทุกภาคส่วน ให้ยึด “สุขภาวะ” เป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ผ่านแนวคิด “One Plan One ตำบลสุขภาวะ” โดยเน้นตำบลเป็นฐาน พร้อมเน้นย้ำว่าเรื่องสุขภาวะของ จ.ปัตตานี เป็นความท้าทายของทุกคนที่เกี่ยวข้อง แล้วต้องมุ่งไปที่การสร้างความร่วมมือเพื่อดูแลสุขภาวะประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

“สุขภาวะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะในบริบทของจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งที่ผ่านมามีการแยกย่อยประเด็นด้านสุขภาวะมากมาย จนเหมือนการคลำช้าง คลำตรงไหนก็เจอ วันนี้จึงต้องการให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันสร้างกลไกขับเคลื่อนในระดับตำบล ผ่านแนวคิด One Plan One ตำบลสุขภาวะ โดยตำบลมีความเหมาะสมมากที่สุด เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานครบถ้วน ทั้งเครือข่ายภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) ฝ่ายปกครอง บัณฑิตอาสา และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่พร้อมจะดูแล 100 %”

นอกจากนั้น แม่เมืองปัตตานียังเสนอให้ใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยประเมินสถานการณ์สุขภาพของคนในตำบล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเพิ่มความแม่นยำของข้อมูลสุขภาพ โดยเฉพาะปัญหาที่ซับซ้อน ควบคู่ไปกับการจัดทำคู่มือการปฏิบัติ ที่ทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงได้ โดยใช้ระบบออนไลน์แทนการจัดทำเป็นหนังสือ เพื่อประหยัดงบประมาณ รวมถึงการสร้างระบบศูนย์เรียนรู้ผ่านโลกออนไลน์ ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ง่าย โดยต้องตั้งต้นจากคนในตำบลเป็นหลัก

ท้ายที่สุด ได้ย้ำให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันสร้าง "สุขภาวะ" เป็นยานพาหนะที่จะขับเคลื่อนงานทุกเส้นทางอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงในอนาคต แต่คือในปัจจุบัน และขอบคุณที่ทุกฝ่ายร่วมกันทำให้ปัตตานีเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลง โดยเชื่อมั่นว่าความร่วมมือวันนี้ จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีในอนาคต

การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 70 คน ทั้งปลัดอำเภอจาก อ.ไม้แก่น อ.หนองจิก อ.ปะนาเระ อ.โคกโพธิ์ อ.เมืองปัตตานี พัฒนากรอำเภอ ปกครองอำเภอ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สาธารณสุขจังหวัด สำนักงานจังหวัด ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาควิชาการ 3 สถาบัน ทั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และวิทยาเขตหาดใหญ่ , มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมด้วยภาคประชาสังคมกว่า 31 องค์กร

หมอสุภัทรชี้ ประชาสังคมปัตตานีมีมากสุดในไทย แต่ขาดความร่วมมือรัฐ-ประชาสังคม เสนอใช้กลไกตำบลเชื่อมแผนร่วม

ในเวทีระดมความคิดเห็นและปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เพื่อจัดทำแผนสุขภาวะกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ คณะกรรมการกำกับทิศทางงานบูรณาการเครือข่ายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ สสส.สำนัก 9 ร่วมเสนอข้อมูลสำคัญว่า

“ภารกิจที่ภาคประชาสังคมกำลังทำอยู่นี้ ต้องเผชิญกับความท้าทายที่มีความซับซ้อนถึงสองชั้น เนื่องจากจังหวัดปัตตานีมีภาคประชาสังคมจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่ดี แต่ขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายสำคัญ เนื่องจากที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมมักทำงานในลักษณะต่างคนต่างทำ หรือทำงานเฉพาะกลุ่มของตนเอง โดยไม่เน้นความร่วมมือกับภาครัฐ แม้ภารกิจที่ดำเนินการจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตก็ตาม จังหวัดเองก็มีส่วนที่ไม่ได้ให้ความสำคัญในการร่วมมือกับภาคประชาสังคมเท่าที่ควร แม้มีการเชิญเข้ามาร่วมทำงานบ้างแต่ยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างชัดเจน”

ทั้งนี้ จากการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้เน้นย้ำว่า ในแผนพัฒนาจังหวัด ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) นั้น มีตัวแทนภาคประชาสังคมอยู่แล้ว และแม้จะเปิดโอกาสให้เสนอแผนต่าง ๆ เข้ามา แต่ก็ยังพบว่าข้อเสนอเหล่านี้ไม่ค่อยได้รับการบรรจุหรือดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

จึงฝากเอาไว้ว่า ควรหาวิธีทำให้ข้อเสนอเหล่านี้ ได้รับการตอบสนองและดำเนินการอย่างแท้จริง โดยเห็นว่ากุญแจสำคัญอยู่ที่ระดับตำบล ซึ่งมีโครงสร้างรองรับอยู่แล้ว หากทุกฝ่ายสามารถร่วมมือกันอย่างจริงจัง ก็จะเกิดโอกาสสำคัญในการสร้างแผนงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม

เวทีปัตตานี เคาะแผนสุขภาวะชายแดนใต้ ปี 70–74 ดันภาคประชาสังคมร่วมรัฐ แก้ปัญหาชัดเจนตรงจุด

ในช่วงท้ายของการปรึกษาหารือ ได้มีการพุดคุยถึงทิศทางการจัดทำแผนสุขภาวะกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดนในปี 2570 - 2574 โดยที่ประชุมได้มีข้อเสนอ ดังนี้

1) เป้าหมายสำคัญคือการผลักดันให้ข้อเสนอของภาคประชาสังคมได้รับการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาจังหวัดและแผน One Plan โดยไม่ได้เน้นเฉพาะการขอรับงบประมาณจากรัฐ แต่เป็นการนำเสนอปัญหาและกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมเข้าไปสู่แผนพัฒนาจังหวัด

2) รัฐไม่ใช่อุปสรรคสำคัญในการดำเนินการเรื่องนี้ แต่ภาคประชาสังคมจำเป็นต้องบริหารจัดการภายในกลุ่มของตนเองให้มีความชัดเจนและเป็นระบบก่อน โดยกำหนดให้มีการตั้ง Core Team เพื่อประสานงานร่วมกัน และประสานงานกับภาควิชาการ เพื่อให้ข้อเสนอจากแต่ละกลุ่มมีคุณภาพและนำไปปฏิบัติได้จริง

3) ให้มีการจัดทำแผนที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Mapping) ของภาคประชาสังคมในจังหวัด เพื่อช่วยในการประสานงานระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคมให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

4) การจัดทำแผนสุขภาวะในจังหวัดปัตตานี ได้มีการแบ่งประเด็นเป็นสองมิติหลัก คือ งานที่เน้นกลุ่มประชากร เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง เด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ แม่เลี้ยงเดี่ยว และผู้มีรายได้น้อย และงานที่แบ่งตามประเด็นเฉพาะ เช่น ความยุติธรรมที่เชื่อมโยงกับเรื่องความรุนแรงมิติต่างๆ ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม อาชีพและรายได้ สุขภาพกาย และสุขภาพจิต ซึ่งทั้งสองมิตินี้จำเป็นต้องเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ โดยเน้นย้ำว่าการมีส่วนร่วมขององค์กรศาสนาเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้และต้องมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในการดำเนินงาน

5) ที่ประชุมเห็นชอบว่าธีมหลักในการยกร่างแผนมีความชัดเจน โดยเฉพาะการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ซึ่งควรมีการกำหนดรายละเอียดชัดเจนว่าในแต่ละประเด็นควรมีการดำเนินงานโดยฝ่ายใด โดยไม่ใช่การผลักภาระให้ภาครัฐดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องมีความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและประชาสังคม รวมถึงการสร้างกลไกการทำงานในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง

6) กำหนดช่วงเวลาการดำเนินการทำแผนระหว่างเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน 2568 โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการนำข้อเสนอจากภาคประชาสังคมเข้าสู่แผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างแท้จริง



เนื้อหาอื่นๆ

25 กุมภาพันธ์ 2021
01 พฤศจิกายน 2023
04 มีนาคม 2020

Copyright © 2013 THETHAIACT