เติมยาสามัญให้เต็มตู้ เพื่อร่วมกับชุมชนสู้โรค

15 มีนาคม 2023

ชวนระดมยาสามัญประจำบ้านให้เครือข่ายชาติพันธุ์ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

เพราะยาสามัญที่จะใช้แจกจ่ายในชุมชนเมื่อมีคนป่วยไข้ เกลี้ยงไปแล้ว จึงขอชวนทุกคนร่วมกันมาเติม ...

ที่หมู่ 3 บ้านแม่ลานหลวง ตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่สูงขึ้นไปจากศูนย์กลางของอำเภอ 29 กิโลเมตร ด้วยสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ทำให้การเดินทางเต็มไปด้วยความยากลำบาก ต้องใช้เวลามากกว่า 1 ชั่วโมง และจะลำบากมากขึ้นในฤดูฝน

โดย ตำบลยางเปียง มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั้งสิ้น 2 แห่ง ท่ามกลางประชากรอาศัยอยู่ถึง 17 หมู่บ้าน มากกว่า 15,000 คน หากนับเฉพาะเจาะจงที่บ้านแม่ลานหลวง มีผู้อาศัย 180 หลังคาเรือน หรือราว 1,000 คน และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ในหมู่บ้านนี้แม้มีโรงพยาบาลสาธารณสุขตำบล แต่ก็เปิดทำการเพียงสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง (หรือไม่เปิดเลย)

แน่นอนว่า ไม่มีใครเลือกวันเจ็บป่วยของตัวเองได้ เมื่อเกิดอาการป่วยไข้นอกเวลาทำการของโรงพยาบาลฯ พวกเขาจึงหันหน้าไปพึ่งพายาสามัญประจำบ้านจากที่ทำการเครือข่ายชาติพันธุ์อำเภออมก๋อย โดยมีพิบูลย์ ธุวมณฑล อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน และตัวแทนเครือข่ายชาติพันธุ์อมก๋อยพร้อมด้วยเพื่อนบ้าน เป็นคนจัดการดูแล จัดยาเบื้องต้นให้

จนกลายเป็นที่รู้กันว่า หากเจ็บไม่เจียนตาย คนในหมู่บ้านจะต้องมาถามหายาสามัญจาก “ตู้ยาชุมชน” แห่งนี้ทุกทีไป

และวันนี้ ...วันที่ตู้ยาสามัญชุมชนบนดอยสูงแทบไม่เหลือเพื่อแจกจ่าย ไทยแอ็คร่วมกับ กลุ่มคนไทยหัวใจฟู จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมระดมยา 11 อย่าง เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยาสามัญในการช่วยเหลือดูแลสุขภาพคนบนพื้นที่สูง โดยจะระดมยาจำเป็นตามคำแนะนำของเภสัชกร และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ดังต่อไปนี้

ผู้สนใจร่วมระดมยาสามารถดำเนินการได้ 2 วิธีดังนี้


1. สมทบทุนเพื่อจัดซื้อยา โดยการโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

เลขที่ 020166465097 ชื่อบัญชี เครือข่ายชาติพันธุ์อำเภออมก๋อย

(ปิดรับการสมทบทุนในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2566)

.

.

2. จัดส่งยาสามัญไปที่ นายพิบูลย์ ธุวมณฑล

เลขที่ 100 หมู่ 3 บ้านแม่ลานหลวง ต.ยางเปียง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ 50310

สามารถส่งได้ตลอดเวลา แม้พ้นเวลาระดมทุน

FAQ : คำถามที่อาจพบบ่อย

ทำไมเครือข่ายฯ จึงไม่ไปขอรับยาจำนวนมาก ๆ จาก รพสต. มาสำรองไว้ ?

: จากการพูดคุยของตัวแทนเครือข่ายชาติพันธุ์อมก๋อยกับเจ้าหน้าที่รพสต. ได้ข้อสรุปว่า การขอเบิกยามาสำรองเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนนั้น ไม่สามารถทำได้ และทุกครั้งที่มีการใช้บริการ รพสต.ห้ามขอยาเกินปริมาณ อีกปัจจัยสำคัญคือ ต้องมาขอให้ตรงกับวันที่มีเจ้าหน้าที่เท่านั้น ...

ทั้งนี้ กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน จำเป็นต้องเดินทางลงไปยังโรงพยาบาลอำเภอ(ห่างออกไป 29 กม.) ซึ่งเป็นเรื่องยากลำบาก และต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก

การระดมยาอาจช่วยได้เป็นครั้งคราวไม่ยั่งยืน เรื่องนี้จะมีวิธีแก้ปัญหาในภายภาคหน้าได้อย่างไร ?

: แม้ภายภาคหน้าจะมีแต่เรื่องต้องคำนึงถึง แต่ภายภาคนี้สำคัญกว่า และสำคัญที่สุด ไทยแอ็คจึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการระดมยาสามัญประจำบ้าน เท่าที่สามารถดำเนินการได้ เพื่อให้ปัญหาในภายภาคนี้ทุเลาบรรเทาลงก่อน

แต่มิใช่ปราศจากความพยายาม หากย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2564 เครือข่ายชาติพันธุ์อมก๋อย ได้เข้ายื่นหนังสือผ่านที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ขอขยายเพิ่มสถานที่บริการด้านสาธารณสุข โดยการเสนอปัญหาปริมาณประชากร/ผู้ป่วยในตำบลมีจำนวนมาก และเป็นพื้นที่ห่างไกลจากโรงพยาบาลประจำอำเภอ... แต่จนถึงปัจจุบัน เรื่องดังกล่าวก็เงียบหายไปอย่างไร้ร่องรอยโดยไม่มีความคืบหน้า

21 มีนาคม 2566 จากการเปิดรับระดมยาสามัญ ในขั้นต้นได้รับความอนุเคราะห์จากมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และเครือข่าย COM-COVID

และเครือข่ายภาคประชาสังคมที่จะร่วมเติมยาเข้าตู้ ซึ่งผู้ประสานงานได้รับแจ้งว่า เป็นชุดยาคงค้างจากช่วงเเพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 จำนวนหนึ่งที่อาจมีประโยชน์ และนำส่งตามที่อยู่แล้ว

28 มีนาคม 2566 ไทยแอ็ค จัดส่งยาสามัญประจำบ้านที่ได้จากการร่วมระดมของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เมื่อผู้ให้บริการเอกชนนำลงกล่องแล้ว ยรรจุได้ 10 กล่อง ไปยังเครือข่ายชาติพันธุ์อำเภออมก๋อย

ทั้งนี้ โดยไม่ได้ใช้งบประมาณจัดส่งจากการระดมทุน (ร่วมสนับสนุนการจัดส่งโดย สถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม) ขณะที่ยอดระดมทุน อยู่ที่ 2,640 บาท


เติมยาสามัญให้เต็มตู้ เพื่อร่วมกับชุมชนสู้โรค เป้าหมาย 20,000 บาท

ความสำเร็จโครงการ

13%

ยอดบริจาคขณะนี้ (บาท)

2,640
ปิดรับแล้ว

บริจาคเพื่อช่วยเหลือสังคม

จำนวนทุนที่ยังต้องการ

0

บาท

จำนวนคนออกแรงที่ยังขาด

0

คน

สิ่งของที่ยังขาด

638

ชิ้น

Copyright © 2013 THETHAIACT