11 กันยายน 2018

แปลตรงตัว

NGO คืออะไร?

NGOS คืออะไร?

NGOs ย่อมาจากคำว่า Non-Governmental Organizations แปลตรงตัว คือ องค์กรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐ และรู้จักกันในอีกหลากหลายชื่อ เช่น องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร องค์กรสาธารณะประโยชน์ หรือ องค์กรพัฒนาเอกชน (อพช.) โดยคนส่วนใหญ่ที่ทำงานในสายนี้และคนภายนอกจะเรียกกันด้วยอักษรย่อว่า เอ็นจีโอ (NGO)

NGOs (Non-Governmental Organizations) อยู่ในหมวดขององค์กรเอกชน ซึ่งลักษณะขององค์กรเอกชน ก็คือ เป็นองค์กรที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากแหล่งเงินทุนทั้งจากภายนอกและภายในประเทศที่มีระเบียบวาระ การกำหนดทิศทางและนโยบายขององค์กรเพื่อมุ่งบริการสาธารณะประโยชน์โดยไม่แสวงหาผลกำไร (ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงผู้ที่มาทำงานตรงนี้จะไม่ได้รับค่าตอบแทน เพียงแต่ค่าตอบแทนก็จะขึ้นอยู่กับการบริหารของแต่องค์กรซึ่งจะมีนโยบายแตกต่างกันออกไป) จะเห็นได้ว่าความหมายของเอ็นจีโอนั้นค่อนข้างกว้างและครอบคลุมองค์กรเกือบทั้งหมดที่ทำหน้าที่เพื่อสาธารณะประโยชน์และงานพัฒนาในทุก ๆ ด้านของสังคม  มีการศึกษาที่ชื่อ The International Classification of Development NGOs จำแนกประเภท NGOs เป็นกลุ่มต่าง ๆ ตามรูปแบบกิจกรรม อุดมการณ์และเป้าหมายขององค์กร ไว้ดังนี้

  • กลุ่มวัฒนธรรมและการฟื้นฟูที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม
  • กลุ่มที่ทำงานด้านการศึกษาและงานวิจัย
  • กลุ่มที่ทำงานด้านสุขภาพอนามัย
  • กลุ่มที่ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์
  • กลุ่มที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม
  • กลุ่มที่ทำงานด้านการพัฒนาและการเคหะ
  • กลุ่มที่ทำงานด้านกฎหมาย สิทธิมนุษยชนและการเมือง
  • กลุ่มที่ทำงานด้านการเชื่อมประสานและการส่งเสริมอาสาสมัคร เช่นองค์กรเครือข่าย องค์กรข้อมูลข่าวสาร
  • กลุ่มที่ทำงานด้านกิจกรรมระหว่างประเทศ
  • กลุ่มที่ทำงานด้านศาสนา
  • สมาคมต่าง ๆ

เอ็นจีโอ ในประเทศไทยมีบทบาทในสังคมมายาวนานกว่า 40-50 ปี ทั้งนี้ในสังคมไทยเอ็นจีโอนั้นมีทั้งที่เป็นกลุ่มบุคคลและองค์กร ซึ่งรวมไปถึงมูลนิธิหรือหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ ที่ทำงานด้านการพัฒนา หากลองยกตัวอย่างองค์กรเอ็นจีโอตัวเก๋าและเป็นที่รู้จักของประเทศไทย ก็เช่น สภากาชาดไทย (สภากาชาดก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน ตั้งแต่ในยุค ร.ศ. 112 หรือ พ.ศ. 2436 นั่นเอง)

เพื่อให้เห็นภาพ เคยมีคนจัดกลุ่มประเภทของเอ็นจีโอไทยไว้ดังนี้

กลุ่มแรก เป็นองค์กรเล็กๆ และไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแต่อย่างใด อาจเป็นโครงการที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจเท่านั้น คนที่ทำงานในองค์กรเหล่านี้บางคนอาจมาจากภาครัฐบาลหรือภาคธุรกิจ เพื่อต้องการที่จะช่วยเหลือสังคม เช่น กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในหลายพื้นที่ หลายจังหวัด คนเหล่านี้ส่วนมากจะทำด้วยใจรัก เสียสละทั้งแรงกายและแรงเงิน

กลุ่มที่สอง เป็นโครงการ หรือกลุ่ม หรือชมรม แต่เป็นกลุ่มที่ใหญ่กว่ากลุ่มแรก มีเจ้าหน้าที่ประจำ อาจมีสองคน สามคน หรือบางแห่งอาจขออาสาสมัครจากที่อื่นมาช่วยโดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้หรือจ่ายให้บางส่วน เช่น การขออาสาสมัครจากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมมาช่วย(อาสาสมัครจาก มอส. หรือมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เป็นคนหนุ่มๆ สาวๆ ที่ส่วนมากเพิ่งจบปริญญาตรีและมีอุดมการณ์อยากทำงานช่วยเหลือคนยากคนจนหรือคนที่ด้อยโอกาสในสังคม เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบันก็เคยทำงานในมูลนิธิแห่งนี้มาก่อน) หรือบางหน่วยงานก็จะมีอาสาสมัครจากต่างประเทศมาช่วยทำงานให้โดยไม่รับค่าตอบแทน แต่ระยะเวลามักไม่นานนักเช่น หนึ่งปี หรือสองปี

กลุ่มที่สาม เป็นองค์กรที่พัฒนามาจากกลุ่มที่หนึ่งและกลุ่มที่สอง และจะมีเจ้าหน้าที่ประจำมากขึ้น มีโครงการมากกว่า 1 โครงการ มีงบประมาณที่ได้จากการเสนอโครงการและได้งบประมาณมาสนับสนุนการทำงาน มีทั้งได้รับจากภาครัฐ เช่น จากกองทุนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมากได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนนี้ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กองทุนนี้นิยมให้หน่วยงานภาครัฐมากกว่า โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษา) นอกนั้นก็แหล่งทุนจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันนี้หาแหล่งสนับสนุนยากขึ้น เพราะหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนหลายแห่งจะหันไปช่วยประเทศที่พัฒนาน้อยกว่าประเทศไทยมากขึ้น เช่น กัมพูชา ลาว เวียดนาม เป็นต้น

กลุ่มที่สี่ เป็นองค์กรที่คนของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐเป็นผู้จัดตั้งขึ้น ซึ่งมีทั้งที่ตั้งเป็นโครงการ เป็นชมรม และที่จดทะเบียนเป็นทางการเป็นมูลนิธิ หรือสมาคม และที่ตั้งขององค์กรเหล่านี้มักอยู่ในหน่วยงานของรัฐนั่นเอง รวมทั้งบางครั้งก็จัดสรรเงินจากหน่วยงานรัฐนั้นมาให้ทำงาน คนของรัฐ ซึ่งส่วนมากมีตำแหน่งสูงๆ จะเข้ามาสวมหมวกอีกใบ เช่น เป็นประธานมูลนิธิบ้าง เป็นนายกสมาคมบ้าง จะอาศัยชื่อเสียงหรือตำแหน่งหน้าที่การงานที่ทำอยู่เป็นเครดิตขอทุนจากต่างประเทศบ้าง จากองค์กรระหว่างประเทศที่มีตั้งอยู่ในและนอกประเทศบ้าง มาทำโครงการเฉพาะกิจ อาจมีการจ้างเจ้าหน้าที่มาทำงานเฉพาะโครงการตามระยะเวลาของโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนมา เช่นหนึ่งปี สองปีหรือมากกว่านั้น เจ้าหน้าที่มาทำงานเต็มเวลานี้มักเรียกว่า ผู้ประสานงาน ซึ่งเอ็นจีโอ ในคราบของรัฐอย่างนี้เห็นได้ในกระทรวงบางกระทรวง เช่น ที่กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น กลุ่มสุดท้าย คือ องค์กรระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็นจีโอ(INGO) องค์กรเหล่านี้มักมีองค์กรแม่อยู่ที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น องค์กร CARE นานาชาติ ประเทศไทย ที่มีองค์กรแม่อยู่สหรัฐอเมริกา มูลนิธิเพิร์ล เอส บัค(Pearl S. Buck สหรัฐอเมริกา) วายเอ็มซีเอ (Young Men Christian Association) เอฟเอชไอ (Family Health International) และที่เข้ามาตั้งในไทยล่าสุด คือ กรีนพีซ (Green Peace) ซึ่งองค์กรเหล่านี้มีทั้งที่เข้ามาสนับสนุนหรือร่วมมือกับเอ็นจีโอ ในประเทศไทยและที่เข้ามาทำกิจกรรมเอง โดยการจัดจ้างคนในประเทศนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ แต่ส่วนมากระดับหัวหน้ายังเป็นชาวต่างประเทศที่ส่งเข้ามา งบประมาณส่วนมากมาจากองค์กรแม่ในต่างประเทศ ซึ่งส่วนมากได้ทุนมาจากการรณรงค์รับบริจาคทั่วไป

จากข้อมูลพบว่าองค์กรเอ็นจีโอในยุคแรกนั้นกลุ่มศาสนามีบทบาทมากที่สุด โดยมีอุดมการณ์ทางศาสนาให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ผู้ตกทุกข์ได้ยาก อีกกลุ่ม คือกลุ่มนักศึกษาตามสถาบันต่างๆรวมตัวกันเป็นกลุ่มอาสาสมัครออกไปช่วยสร้างห้องสมุด สร้างโรงเรียนหรือสอนหนังสือตามพื้นที่ชนบท(จนกลายมาเป็นวัฒนธรรมการออกค่ายอาสาในปัจจุบัน)

งานขององค์กรพัฒนาเอกชนในช่วงนี้ เน้นการให้ความรู้และการสงเคราะห์แก่กลุ่ม ผู้ด้อยโอกาส ผู้ที่ขาดแคลน และผู้ที่ประสบปัญหาขั้นพื้นฐาน ซึ่งแน่นอนว่าทิศทางการทำงานของเอ็นจีโอนั้นก็จะแปรผันและปรับเปลี่ยนตามสภาพสังคม เศรษฐกิจและการเมืองในแต่ละยุคสมัย เช่น ใน “ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน” (พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๙) เป็นยุคที่ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เกิดการตื่นตัวปัญหาที่ที่ดำรงอยู่ในสังคมหลากหลายมากขึ้น จากที่เคยให้ความสำคัญเพียงปัญหาในพื้นที่ชนบทก็เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น และเริ่มมุ่งเน้นไปที่เรื่องสิทธิมนุษยชนและการละเมิดสิทธิมากขึ้น หลังจาก

นั้นเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มมีความความขัดแย้งและนำไปสู่ความรุนแรง องค์กรเอ็นจีโอหลายกลุ่มก็ได้ลดบทบาทตัวเองลงจากสภาพปัญหาทางด้านการเมืองและการควบคุมจากรัฐบาล

ในช่วงนี้เองกลุ่มทางด้านด้านศาสนาก็ได้เข้ามามีบทบาทอีกครั้งโดยการใช้หลักธรรมในการสร้างแนวทางสันติวิธี ก่อนที่องค์กรพัฒนาเอกชนจะกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งอย่างหลากหลายในยุคที่เรียกว่า “ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ” เอ็นจีโอจึงมีหน้าที่การทำงานด้วยกันหลากหลายหน้าที่ตามแต่แนวทางและวิสัยทัศน์ที่แต่ละองค์กรมองเห็น หรือตามแต่ละประเด็นที่องค์กรนั้นๆขับเคลื่อน ซึ่งจะออกมาในรูปแบบของการระดมชาวบ้านเพื่อลุกขึ้นมาต่อต้านความไม่ชอบธรรมบางอย่าง การทำงานวิจัย การทำข่าว การทำสื่อ หรืออื่นๆอีกมากมาย โดยทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวแทนพลังอำนาจของประชาชนเพื่อเข้ามาคานอำนาจและตรวจสอบการทำงานให้เป็นไปอย่างชอบธรรมของทางรัฐบาลหรือองค์กรธุรกิจต่างๆ รวมถึงเป็นกระบอกเสียงให้กับภาคประชาชนในการออกมาร้องเรียนสิทธิของตนเองและความไม่เป็นธรรมในประเทศเพื่อสาธารณะประโยชน์ด้วยเช่นกัน

เรียบเรียงโดย: ลักษณพร ประกอบดี

เนื้อหาอื่นๆ

22 มกราคม 2024
28 กุมภาพันธ์ 2020
08 พฤษภาคม 2023

Copyright © 2013 THETHAIACT