14 ธันวาคม 2020

เพราะหลังชนฝา ชาวจะนะจึงดาหน้าเข้ากรุง!

การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญเพื่อหยุดยั้งกระบวนการพัฒนาที่ไม่ให้ค่าประชาชน

“ทะเลมีทรัพยากรให้เราไม่มีหมด เพียงแต่เราอย่าไปทำลายเขา” นิเนาะ จันทิมา ชัยบุตรดี สาวมุสลิมพูดด้วยท่าทางกระฉับกระเฉง บนใบหน้าของเธอมีความแข็งกร้าวให้แก่ความอยุติธรรม แต่มีรอยยิ้มเสียงหัวเราะให้แก่เพื่อนชาวโลก ด้วยความเป็นมิตรไมตรี ตามคำสอนของหลักศาสนาที่เธอศรัทธา เธอกล่าวถึงท้องทะเลอันเป็นที่รักของเธอ


ปีนี้เธออายุ 60 แล้ว แต่เรี่ยวแรงพลังยังมีเหลือเฟือ เธอคือผู้ประสานงานหลักของกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่ปักหลักรอคำตอบจากรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ถึงความคืบหน้าที่ดูเหมือนจะดำเนินการไปอย่างรวดเร็ว ผิดวิถีทางของนิคมอุตสาหกรรมจะนะ รวดเร็วจนละเลยฟังเสียงของชาวบ้าน รวดเร็วจนชาวบ้านต้องจำจรจากบ้านเกิด เป็นระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร มานอนกลางถนนสูดมลพิษ ทั้งที่บ้านของพวกเขาอากาศดีจนน่าอิจฉา เพื่อฟังคำตอบจากรัฐบาล

...แต่ผ่านมาหลายวันแล้ว ยังไม่มีใครลงมาฟังเสียงของพวกเธอ...

“หากสร้างอุตสาหกรรมสะอาดและเพิ่มจ้างงานในพื้นที่ได้ ประชาชนก็เดือดร้อนน้อยลง และความสงบจะกลับสู่ครอบครัวชาวปักษ์ใต้ ได้อยู่ดีกินดี มีความสุข ความมั่นคงของประเทศก็จะเกิดขึ้นได้” ภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเอาไว้ในบทสัมภาษณ์ TPIPP ดันโมเดลจะนะ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ยุคนิวนอร์มอล


“ทำไมคุณถึงมาเลือกจะนะ คุณทราบไหมว่าอำเภอจะนะมีอะไรบ้าง อาหารในทะเลมันอุดมสมบูรณ์มากเลยนะ ถ้าวันข้างหน้ามีท่าเรือน้ำลึก มีนิคมอุตสาหกรรม แล้ววิถีชาวประมงเขาจะอยู่อย่างไร เรามีแต่เรือลำเล็ก ๆ หากุ้งหาปลา เป็นวิถีที่พวกเราพอใจ เราชอบที่จะอยู่อย่างนี้ เราไม่ได้ต้องการอุตสาหกรรม ไม่ต้องมาบอกว่าการสร้างของคุณจะทำให้ชีวิตชาวบ้านดีขึ้น ชาวบ้านที่จะนะมีวิถีชีวิตที่ดีอยู่แล้ว” เสียงจากนิเนาะ เล่าให้ฟังหลังจากร่วมขบวนมวลชนชาวจะนะ มาปักหลักพักค้างที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเป็นวันที่ 3

ชาวบ้านจาก อ.จะนะ จ.สงขลา ที่ขึ้นมารอบนี้มีจำนวน 40-50 คน เป็นผู้หญิงมากกว่า 40 คน เพราะผู้ชายต้องออกทะเลตามวิถีชีวิตชาวประมง ผู้หญิงจึงต้องออกมาต่อสู้ให้กับความบิดเบี้ยวของกระบวนการพัฒนา ผู้หญิงเหล่านี้ยืนอยู่แถวหน้า อาวุธที่เตรียมมาต่อสู้กับผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ครั้งนี้มีทั้ง ยาหม่อง ปลากระตักแห้ง น้ำพริก กระเป๋าเสื้อผ้า เสียงหัวเราะ และเต๊นท์คนละหนึ่งหลัง แต่ภาพด้านหลังเต๊นท์ที่รัฐบาลให้การต้อนรับพวกเขามีรั้วลวดหนาม ตู้คอนเทนเนอร์ และตำรวจตะเวนชายแดน ยืนประจำการ

“เหตุผลที่ตัดสินใจมา เพราะว่าตอนนี้เราหลังชนฝา เราสู้มานานแล้ว รัฐบาลพยายามผลักดันให้อำเภอจะนะเป็นเมืองอุตสาหกรรม การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ก็ยังไม่ทำ ผังเมืองก็ยังเป็นสีเขียวอยู่ ยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นสีม่วง แต่รัฐบาลกลับมีมติอนุมัติให้เดินหน้าเมืองต้นแบบอุตสาหกรรม มันผิดเพี้ยน” นิเนาะบ่นให้ฟังว่า ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อยากขึ้นมา ร้อนก็ร้อน นอนก็ไม่หลับ ยุงกัดเต็มไปหมด เธอยื่นให้ดูบริเวณข้อมือ ล้วนเต็มไปด้วยตุ่มแดง

ฟังเรื่องราวของเธอแล้วก็รู้สึกเป็นกังวล และแอบเป็นห่วงไม่ได้ แต่เธอก็ทำให้เราหมดห่วง เมื่อหัวเราะออกมาและบอกว่า “ห้องน้ำก็ไปใช้วัด อิสลามขึ้นกรุงมารอบนี้ ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ เราขออาศัยอาบน้ำในวัด”

ประสบการณ์ตั้งแต่สมัยประท้วงท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย เมื่อ 20 ปีก่อน ทำให้เธอยังคงยิ้มได้กับการต่อสู้ในครั้งนี้ ก่อนที่เธอจะพูดอย่างจริงจังว่า “ถ้าเราไม่สู้วันนี้ เราก็ไม่มีโอกาสสู้แล้วถ้ามันเกิดขึ้นมา”


“อาหารเราอุดมสมบูรณ์ เราออกทะเลไปหากุ้งแชบ๊วย ได้กิโลกรัมละ 300 บาท บางทีเขาได้เป็นร้อยกิโลกรัม ทรัพยากรกุ้งหอยปูลาของเราส่งขายไปทั่วประเทศ จนถึงส่งออกไปต่างประเทศ คนทะเลไม่อด ช่วงโควิดเรายังเอาอาหารไปช่วยคนเมือง ช่วยคนหาดใหญ่” นิเนาะบอกว่าตั้งแต่เธอเกิดมา อยู่จะนะมา 60 ปี เธอไม่เคยอดอยาก บ้านของเธออุดมไปด้วยข้าวปลาอาหาร ท้องทะเลจะนะเปรียบเสมือนก้นครัวของเธอและครัวของโลก


แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2570) ที่พยายามผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นครัวของโลกนั้น เขียนวิสัยทัศน์ไว้ตอนหนึ่งว่า ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตแห่งอาเซียน ควบคู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก


“ทำไมคุณไม่เสียดายแหล่งอาหารของประเทศของชาวโลก ทำไมคุณถึงไม่หวงแหน มันไม่ใช่แค่คนจะนะกิน แต่คนได้กินกันทั้งประเทศ ถ้ามีท่าเรือน้ำลึก อาชีพประมงจะสูญหาย คุณกำลังจะทำลาย คุณคิดได้อย่างไร” นิเนาะ กล่าว

เป็นเรื่องน่าแปลกที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นครัวของโลก แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามทำลายความเป็นครัว ให้หมดสิ้นไปทีละแห่ง ๆ ครัวที่มีแต่เครื่องไม้เครื่องมือ แต่ไร้ซึ่งแหล่งวัตถุดิบชั้นเลิศ มันจะกลายเป็นครัวที่สมบูรณ์ไปได้อย่างไรกัน เวลาล่วงเลยมาตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม อากาศในเมืองกรุงเย็นสบาย ต้อนรับพี่น้องจากจะนะเมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ล่วงเลยผ่านมาจนถึงวันที่ 12 ธันวาคม อากาศร้อนอบอ้าว จนชาวเมืองอย่างเรายังรู้สึกทรมาน คงไม่ต้องพูดถึงการนอนกลางสี่แยกบนพื้นบางมะตอยร้อน ๆ กระทั่งเข้าสู่วันที่ 13 ธันวาคม ฝนเจ้ากรรมก็ดันโหมกระหน่ำตกลงมา ทั้งเต้นท์ เสื้อผ้า ข้าวของต่างเปียกโชก และเช้าวันที่ 14 ธันวาคม กรุงเทพฯต่างถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่น PM2.5 การเดินทางมาปักหลักหน้าทำเนียบครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องน่าสนุกนัก


ยังคงไร้วี่แววเสียงจากฝั่งรัฐบาล คงอาจเป็นเพราะติดวันหยุดยาว เจ้าหน้าที่คงอาจจะยังหลับพักผ่อนอยู่ก็เป็นได้ แต่สำหรับชาวบ้านจากอำเภอจะนะนั้น แม้แต่เสี้ยววินาทีเดียวต่อจากนี้ก็หยุดไม่ได้เสียแล้ว เพราะนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึก กำลังเข้ามากลืนกลินลมหายใจของชาวบ้านจะนะ ลมหายใจของท้องทะเล ถ้าหยุดเรียกร้อง อีกฝั่งก็พร้อมที่จะลุกคืบทันที นิเนาะจึงยืนยันอย่างหนักแน่นว่า “เราจะปักหลัก จนกว่ารัฐบาลจะลงมาคุยกับเรา เรามีความหวัง ถึงแม้หัวใจของพวกเขาจะขึ้นสนิม มารอบนี้เราต้องได้อะไรกลับไป เพราะมีพี่น้องที่บ้านคอยฟังคำตอบ”

เช้าวันนี้ที่บริเวณริมฟุตบาท ใกล้ทำเนียบรัฐบาล ชาวบ้านและผู้ได้รับผลกระทบจากกระบวนการพัฒนาจะนะ กำลังลงมือทำกับข้าวมื้อเช้า กลิ่นหอมของไข่เจียว ปลากระตักทอด น้ำพริกกะปิ ลอยล่องจนมาถึงวงสนทนา นิเนาะชวนทุกคนไปทานข้าวเช้าด้วยกัน ยากจะตอบปฏิเสธ แม้ไม่อยากรบกวนข้าวปลาอาหารที่มีอย่างจำกัด แต่นิเนาะบอกว่า อาหารเรามีไว้แบ่งปันกัน มากินด้วยกันมื้อนี้กับข้าวอาจจะน้อยไปหน่อย แต่ถ้าวันข้างหน้ามีโอกาส นิเนาะจะพาไปกินปูเป็นกะละมัง ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้าวปลาอาหาร แต่ทำไมถึงต้องถูกทำลาย ?


“ความหิวกระหายของคนรวยไม่เคยหมดจากหัวใจของเขา มีเท่าไหร่ก็ไม่พอ แต่สำหรับคนจะนะ ทุกวันนี้เราเพียงพออยู่แล้ว เราไม่เคยเรียกร้องอะไรจากใคร ในทะเลเรามีกุ้งหอยปูปลา สมบูรณ์อยู่แล้ว ถ้าคุณยังคิดที่จะเดินหน้าทำต่อ คุณจะมีตราบาปในจิตใจของพวกคุณตลอดไป ในสิ่งที่คุณทำร้ายชีวิตของพวกเรา” เป็นคำกล่าวอวยพรก่อนมื้ออาหารที่แปลกที่สุดตั้งแต่เคยได้ยินมา ก่อนที่นิเนาะ และกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จะเริ่มมื้ออาหาร


อื่น ๆ (เสียงจากเทปที่ถูกบันทึก)

  • "เขารีบทำมากที่สุด ไม่รู้ว่าเพราะอะไร กฎหมายเมืองไทยเอื้อแก่นายทุนกับผู้มีอำนาจ ไม่ได้เอื้อให้ประชาชน"
  • "พวกเราเคลื่อนไหวกันมาตลอกตั้งแต่สมัยท่อส่งก๊าซ ไทย-มาเลเซีย ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว เราก็สู้กันมาตลอดเป็น 10 ปี สลายการชุมนุม 20 ปีที่ผ่านมาเราเรียกร้อง เคลื่อนไหวตลอด จนมาถึงยุครัฐบาล คสช นี่แหละ เขาผพยาพามผลักดันมากเลย ให้เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหรรม รีบร้อนกันมาก"
  • เสียงรถหวอดังขึ้นระหว่างบทสทนา สายตาของพี่น้องต่างจับจ้องไปที่ รถคันดังกล่าว ก่อนพบว่ามันเป็นแค่รถกู้ชีพ
  • "ในพื้นที่ตอนนี้ความอุดมสมบูณ มันยิ่งกว่าเก่า เพราะเขากันไม่ให้เรือใหญ่เข้ามา ส่วนดีของรัฐบาลนี้ก็มีนะ คือเขาห้ามเรือใหญ่ไม่ให้เข้ามา ส่วนดีมีเราก็ชม"
  • "ถ้าสูญเสียทะเล ความเป็นชุมชนก็สูญเสีย เพราะว่าพวกเราต้องย้ายออกไปแน่นอน"
  • "เราจะอยู่อย่างไร ท่ามกลางมลพิษ คุณไม่คิดสงสารคนทั้งอำเถอบ้างหรือไง ถ้าที่ตรงนี้ต้องเป็นนิคมอุตสาหกรรม"
  • "มีข้อมูลว่า ตอนนี้เขากว่านซื้อที่ดินไป 16,000 ไร่"
  • "เขาว่าจะทำ EIA นะ แต่นิเนาะคิดว่าเขาจะทำก็เพื่อเป็นพิธีการ ถ้าเขาฟังเสียงชาวบ้าน เราไม่ดั้นด้นกันขึ้นมาหรอก
  • "เราไม่เคยขึ้นมา มีเพียงส่งตัวแทนมายื่นหนังสือ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ"
  • "คุณมาบอกว่ามีโรงงานชีวิตพวกเราจะดีขึ้น ชีวิตใครกันเหรอที่ดี กับค่าแรงวันละ 300 บาท ชีวิตพวกเขานั่นแหละที่จะดีขึ้น"
  • "มา 3 วันแล้ว รัฐบาลยังไม่มีส่งคนมาคุยด้วยสักคน มีแต่จะมารวบเรา อย่างน้อยส่งคนมาถามสารทุกข์ สุขดิบบ้างก็ได้ ยืนยันเลยว่า เราจะปักหลัก จนกว่ารัฐบาลจะลงมาคุยกับเรา และจะมีพี่น้องขึ้นมาสมทบอีกเรื่อยๆ"
  • "เรามีแต่ผู้หญิง สองเท้าสองมือ มาบอกรัฐบาล หยุดเถอะ หยุดนิคมอุตสาหกรรม แล้วมาคุยกันจริง ๆ ว่า สิ่งไหนที่มันเป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ คิดแต่จะทำลาย ทำไมคุณไม่คิดจะรักษาสิ่งแวดล้อมไว้บ้าง"

เนื้อหาอื่นๆ

28 สิงหาคม 2018
04 มีนาคม 2020
17 มกราคม 2019

Copyright © 2013 THETHAIACT