ร้อยเรื่องเล่า คุยเฟื่องเมืองสุรินทร์ (กับช้างกูอยู่ไหน)
ตอนที่ 1 เกษตรอินทรีย์ ความเสี่ยงกำลังดี
คำถาม
มีผัก 2 กำให้คุณเลือก กำที่หนึ่งปลูกแบบสารเคมี กำที่สองปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ คุณจะเลือกกำไหน ? เชื่อว่าหลายคนคงเลือกกำที่ 2 แต่พอเอาเข้าจริงส่วนใหญ่เราก็มักจะได้กินกำที่ 1 เพราะอะไรกัน ?
ถ้าเลือกได้ ใครๆก็อยากกินของดี มีประโยชน์กันทั้งนั้นแหละคุณผัก ผลไม้อินทรีย์ ดูเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภคอย่างเรา ที่อยากจะหันมาดูแลเอาใจใส่สุขภาพ
แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักคำว่า “เกษตรอินทรีย์” กันก่อนดีกว่า เกษตรอินทรีย์ หมายถึง การเกษตรด้วยหลักธรรมชาติ บนพื้นที่การเกษตรที่ไม่มีสารพิษตกค้างและหลีกเลี่ยงจากการปนเปื้อนของสารเคมีทางดิน ทางน้ำ และทางอากาศเพื่อส่งเสริมความอุดสมสมบูรณ์ของดิน
และถ้าบทความนี้ คือบทละคร ผู้บริโภคอย่างเรา คงเป็นนางเอกที่รอคอยความรักจากเกษตรกรผู้เป็นพระเอก ที่จะผลิดอก ออกผลผลิตแห่งความรักมาให้นางเอกได้รับประทาน ก็ดูเหมือนว่าละครเรื่องนี้คงจบแบบ Happy ending แต่โชคชะตากับไม่เป็นใจให้พระเอก เพราะดูเหมือนละครเรื่องนี้ พระเอกของเราที่อุตส่าทำดีแทบตาย ผลที่ได้รับมันกับไม่หอมหวานเหมือนผัก ผลไม้ ที่พวกเขาบรรจงปลูกกันขึ้นมา
23 กุมภาพันธ์ 2562 เราลงพื้นที่ อ.ลำดวน จ.สุรินทร์ ได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิตของเกษตรกรที่ทำการเกษตรแบบอินทรีย์ ตั้งแต่กระบวนการปลูกจนถึงการนำมาจำหน่าย ก็พบว่าการทำเกษตรอินทรีย์ที่ดูเหมือนจะเป็นความรัก ซึ่งเขาพร้อมจะส่งต่อให้กับพวกเรา มันไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย เพราะสิ่งที่เขาตั้งใจทำ ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงมากมาย แต่ถึงรู้ว่าเสี่ยงพระเอกของเราก็ยังคงต้องขอลอง
จากการพูดคุยกับเกษตรกรพบว่า การทำเกษตรอินทรีย์ คือการมีมาตรฐานตีตราสินค้า ว่าต้องได้คุณภาพ คุณอาจจะได้ราคาที่สูงขึ้น แต่ก็แลกมาด้วยความยากลำบากในการทำให้พื้นที่เกษตรกรรมของตัวเองนั้นได้มาตรฐาน มาตรฐานถึงขนาดว่า ถ้าแปลงข้าง ๆ มีคนหวังดีใช้สารเคมีช่วยไล่แมลง ทั้งที่คุณไม่ได้ใช้ มันก็ทำให้สินค้าของคุณไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ได้ไหนจะการที่พี่ๆพระเอกไม่สามารถสารเคมีในการเร่งผลผลิตได้อีก หมายความว่า ถ้าอยากให้มันงดงามพี่ๆเขาจำเป็นต้องพึ่งพาสภาพ ดิน ฟ้า อากาศ นอกเหนือจากการทำปุ๋ยอินทรีย์ที่จะพอช่วยได้
นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เกษตรกรผู้ทำการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ต้องรวมตัวกัน เพื่อจะส่งเสริมความรู้ สนับสนุนต้นทุนทั้งเมล็ดพันธุ์ กระบวนการทำการผลิต แรงงาน และเทคนิคการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อจะสามารถส่งมอบอาหารที่สะอาดปลอดภัยให้กับผู้บริโภค
ถ้าเป็นคุณ คุณคิดว่าการทำการเกษตรอย่างไหนมันน่าจะง่ายกว่ากันนะ ระหว่างจ้างเเรงงานทำ ซื้อปุ๋ย ยา มาใส่ กับการต้องพึ่งพาธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ นี่เป็นเพียงแค่ส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งที่เราได้สัมผัสจากการพูดคุยกับ คุณณัฐกร มาลัย หนุ่มโรงงานผู้มีใจรักในการทำเกษตรและผันตัวเองมาทำในสิ่งที่ตนรัก และพี่สำราช ทองเอี่ยม คณะทำงานตลาดนัดสีเขียวเมืองสุรินทร์(ตลาดเกษตรอินทรีย์) ผมเชื่อว่ามันยังมีปัจจัยที่ท้าทายอีกหลายอย่างสำหรับพระเอกผู้มีความรัก ความห่วงใย และหวังดีต่อนางเอกอย่างเรา ๆ
ก่อนละครเรื่องนี้จะจบลง ถ้าคุณยังไม่หันมารับประทานผัก ผลไม้ อินทรีย์ ผมก็จะเขียนตอนที่ 2 3 4 5……ต่อไป จนกว่าคุณจะเลิกอ่านหรือหันมากิน 555 ผมเชื่อครับว่าลึก ๆ แล้ว ทุกท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ก็อยากกินของดีกันทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ปัจจัยหลายอย่างของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ด้วยเวลา สภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ แต่อย่างน้อยถ้าเลือกกินได้บ้าง มันก็ดีต่อสุขภาพของคุณเองนะ(ด้วยความเป็นห่วง) เพราะทุกครั้งที่คุณกินผัก ผลไม้อินทรีย์ มันก็คือการส่งต่อกำลังใจให้กลุ่มพี่น้องเกษตรกร ที่ยังคงยืนหยัด สร้างสรรค์ผลผลิต ที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ ให้มีกำลังใจผลิตสิ่งดี ๆ ให้เราต่อไป และละครเรื่องนี้ก็คงจะได้จบแบบ Happy ending เสียที
ขอให้พระเอกยังคงส่งมอบความรักแด่นางเอกต่อไปตราบนานเท่านาน
Story by พจน์ ณฐาภพ