จน ไร้บ้าน
ชีวิตใต้สะพานของนักดนตรีกลางคืน ผู้ตกหล่นตลอดในแถลงการณ์ของรัฐ
“คุณเป็นสื่อมวลชนใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นช่วยตอบผมหน่อยได้รึเปล่า ว่าทำไมผมลงทะเบียนรับเงินไปแล้วไม่ได้”
“ผมตอบไม่ได้จริง ๆ ครับ เพราะไม่รู้ว่ารัฐบาลเขาใช้หลักเกณฑ์อะไรในการพิจารณาบ้าง เพียงแต่วันนี้ผมอยากมาคุยกับพี่ เพื่อช่วยเป็นกระบอกเสียง ไปให้คนในสังคมได้รับรู้ครับ”
“คุณเป็นสื่อ ภาษาอะไรวะ เรื่องแค่นี้ก็ตอบไม่ได้”
เสียงของชายที่อาศัยนอนใต้สะพาน ในอาการหงุดหงิด มึนเมา แสดงความไม่พอใจ เหตุเพราะผมไม่สามารถหาคำตอบในสิ่งที่เขาต้องการได้ บางทีขวดเหล้าขาวที่นอนนิ่งบนพื้นใกล้ตัวเขา อาจเป็นคำตอบสำหรับชีวิต หรือไม่ ก็เป็นแค่ตัวช่วยให้ลืมเรื่องราวเฮงซวย ที่เกิดขึ้นในชีวิตเพียงชั่วคราว
ใต้สะพานตากสิน เขตบางรัก มีกลุ่มคนไร้บ้านเกือบ 20 ชีวิตอาศัยอยู่ บ้างก็ตั้งวงกินเหล้า บ้างก็นอนแบกับพื้น ดั่งชีวิตกลายเป็นสิ่งที่ดูสิ้นหวัง จะมีบ้างที่จับกลุ่มคุยกัน ผมเดินเลี่ยงจากกลุ่มวงเหล้า เข้าไปยังบริเวณท่าเรือตากสิน ณ ที่แห่งนี้ผมได้คุยกับพี่เสก (ขอสงวนชื่อจริง) นักดนตรีประจำร้านเหล้าชื่อดังย่านพระราม 3 พี่เสกในวัย 47 ปี เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ ขนาดถึงกับเล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เกิดจากท้องพ่อท้องแม่มา รอบนี้หนักสุด…และนี่คือบทสนทนา
: ปกติพี่มีรายได้ต่อวันเท่าไหร่
700-800 บาท แต่พอเขาปิดผับก็ Game over ผมทำอาชีพร้องเพลงมาตั้งแต่เรียนจบ ไม่ให้ผมร้องเพลง ผมก็ไม่รู้จะไปทำอะไรกิน มันเหมือนคนที่เพิ่งรู้ว่าตัวเองติดแอกอฮอล์มา 13 ปี แล้วจู่ ๆ ถูกสั่งให้หักดิบ รายได้ไม่มี วิถีชีวิตเปลี่ยน ผมจะเอาเรี่ยวแรงจากไหน ขนาดให้ผมลุกขึ้นเดินตอนนี้ยังไม่ไหวเลย
: แล้วคนอื่นในวงพี่ เป็นอย่างไรกันบ้างครับ
ฉิบหาย...กันหมดนั่นแหละ มีเด็กใหม่คนหนึ่ง ไอ้นั่นซวยกว่าเขาเพื่อน ไปทำผู้หญิงท้องอีก รายได้ก็ไม่มี ไหนจะค่านม ค่าข้าวลูก จะหาจากไหนตอนนี้ นมเด็กกระป๋องหนึ่งราคาเป็นร้อย แฟนพี่เป็นแคชเชียร์ที่ร้านก็พลอยตกงานไปด้วย ตอนนี้ทะเลาะกันอยู่ พี่ถึงออกมาอยู่ใต้สะพานอย่างนี้ไง
กลุ่มแรงงานที่ทำงานกลางคืน ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลออกมา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ผมในฐานะคนทำงานกลางวัน เคยมีความคิดว่า เคอร์ฟิว ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับชีวิตผมเลย แต่เมื่อฟังเสียงของพี่เสก ผมว่าเราคงต้องมาคิดกันใหม่ ในเรื่องมาตรการต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือส่วนรวม แต่ส่งผลกระทบกับคนหลายกลุ่มอย่างรุนแรง คำพูดที่ว่าเราต้องทำเพื่อส่วนร่วม ดูไม่น่ารักก็วันนี้
: พี่รู้สึกอย่างไร เวลาคนเขาเดินผ่านไปผ่านมา พี่อายบ้างไหมที่มาอยู่อย่างนี้
มาถึงขนาดนี้ มันไม่ต้องอายกันแล้ว อดตายกับอายเอ็งจะเลือกอะไร อย่างน้อย ๆ อยู่ใต้สะพานยังพอมีข้าวกิน มีเพื่อน ค่ำมาพอเขาปิดท่าเรือก็มีที่ให้ซุกหัวนอน เมื่อคนมันไม่มีที่ไป มันไม่ต้องเหลือกันแล้ว ไอ้ความอาย
: พี่อยากให้ภาครัฐเขาช่วยเหลืออะไรเพิ่มเติมไหม
อย่างแรกต้องบอกว่าพี่เข้าใจ จะให้เปิดผับบาร์มันคงยาก มันเป็นสถานที่แออัด คนมาก็มุดหัวกันอยู่ข้างในนั้น มันเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด คือเราคิดถึงส่วนรวมประเทศชาตินะ เข้าใจดีว่าทำไมเขาต้องปิด แต่เขาก็ต้องรับรู้ว่า คนกลุ่มพี่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ ตั้งแต่เด็กเสิร์ฟไปจนถึงเจ้าของร้าน อย่างน้อยอยากให้เขาเห็นใจกันบ้าง หาทางช่วยเหลือคนกลุ่มพี่ด้วย
สำหรับข้อเสนอที่อยากจะให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้าน ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ พี่สมพร หารพรม เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับคนไร้บ้านโดยตรง ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจต่อการแก้ไขปัญหาไว้ดังนี้
เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่คนไร้บ้านควรจะได้รับ เช่น ช่องทางที่คนไร้บ้านทุกคนจะได้สิทธิในการเข้ารับการรักษาพยาบาลเฉกเช่นคนทั่วไป ต้องยอมรับว่า มีคนไร้บ้านหลายชีวิต ที่ขาดหลักฐานทางทะเบียน จึงทำให้ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ ทั้งที่คนกลุ่มนี้ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยมากที่สุด ทั้งจากเชื้อไวรัส และโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการขาดสุขลักษณะอนามัยที่ดี แต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแล เท่าที่ควร
เรื่องปากท้อง รัฐควรมีจุดบริการอาหารให้กับพี่น้องคนไร้บ้านอย่างเพียงพอ มิใช่เป็นการที่คนไร้บ้าน ต้องรอรับความช่วยเหลือจากภาคประชาชน อาทิเช่น ตู้ปันสุข และอย่างที่เราเห็นกันแล้วว่า มันเป็นการกระทำที่แก้ไขปัญหาระยะสั้นเท่านั้น เพราะเมื่อกระแสผ่านไป ตู้ปันสุขหลายแห่ง ก็คงเหลือไว้เพียงแต่ความว่างเปล่า ไร้ซึ่งสิ่งของเหมือนช่วงแรก กระแสความนิยมเข้ามาและผ่านไปในประเทศของเรา แต่ความหิวโหยของผู้คนยังอยู่คงเดิม
สุดท้ายอยากให้ควรคำนึงถึง คือ มาตรการที่จะทำให้คนเหล่านี้สามารถตั้งหลักได้ โดยเฉพาะเรื่องของการจัดหางาน ซึ่งก็ตรงกับปัญหาของพี่เสก และคนไร้บ้านอีกหลายคนในช่วงนี้คือ การไม่มีงานทำ หลายคนที่ได้พูดคุยด้วย ล้วนแล้วแต่เคยเป็นคนธรรมดา ทำงานหาเช้ากินค่ำ เพื่อจ่ายค่ากิน ค่าเช่าหอพัก แต่เมื่อไม่มีงานทำ จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการออกมาอยู่ข้างถนนได้ ช่วงวิกฤตที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า สวัสดิการของรัฐทั้งสวัสดิการขั้นพื้นฐาน และการเยียวยา ช่วยเหลือที่ผ่านมา ไม่สามารถช่วยเหลือพวกเขาได้เลย ในช่วงเวลาที่เขาต้องเดือดร้อน
บริเวณท่าเรือตากสิน บทสนทนาระหว่างผมกับพี่เสกยังดำเนินต่อ เราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันอยู่นาน ส่วนใหญ่แล้วคนไร้บ้านหน้าใหม่อย่างพี่เสก จะชอบเล่าเรื่องของตัวเองให้ฟัง การมีคนรับฟังคงเป็นอีกหนึ่งสิ่ง ที่ทุกคนต้องการในยามวิกฤตอย่างนี้ ข้อเสนอที่อยากให้ภาครัฐพิจารณา อันดับแรกสำหรับผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องยาก แต่คือการที่รัฐบาลลงมาฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง หากท่านทั้งหลายได้ลงมาในพื้นที่ข้างถนนแบบนี้บ้าง บางทีท่านอาจจะเห็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนชัดเจนขึ้น
หรืออย่างน้อย ๆ ท่านจะได้รับรู้ว่า มีประชาชนอีกจำนวนมากเท่าไหร่ ที่ได้รับผลกระทบ “จนไร้บ้าน” มาอาศัยนอนตอนใต้สะพานเช่นนี้
_________________________________
เรื่องและภาพโดย ณฐาภพ สังเกตุ