20 มีนาคม 2019

เรื่องเล่าเมื่อเรามีนัดกับณัฐ เกษตรกรใจใหญ่แห่งบ้านโชคใต้

วันนี้เรามีเรื่องเล่าจากสุรินทร์ ถิ่นที่มีอากาศร้อนมากมาย ล้อมวงกันเข้ามา ดิฉัน โสภา ทองสิมา ในฐานะ “ป้า” คนหนึ่งจะเล่าให้ฟัง ก่อนอื่นทีมงานได้มีโอกาสไปเยี่ยมสวนมะเดื่อฝรั่งอินทรีย์ของคุณนัด นัฐกร มาลัย

เริ่มกันที่คุณนัดเป็นใคร ทำไมเราถึงต้องไปพบ ไปเสวนาด้วย คุณนัดเป็นคนบ้านโชกใต้ ตำบลลำดวน จังหวัดสุรินทร์ ชายที่เรียนปริญญาตรี และปริญญาโท สายเกษตร จบออกมาจนได้ทำงานในโรงงานใหญ่ที่จังหวัดนครราชสีมา คุณนัดผู้ไม่เคยหยุดนิ่งมองหาอาชีพเสริมอยู่ตลอดเวลา ตอนแรกอยากปลูกเมล่อน (Melon) แต่ปัญหาคือ เมล่อนต้องการการดูแลเอาใจใส่อย่างมาก จึงไม่ตอบโจทย์คนทำงานไกลบ้าน ไกลแปลงเกษตรเช่นเขา ช่วงแรกหาข้อมูล ทดลองปลูกมะเดื่อฝรั่งอินทรีย์ เพราะเห็นว่าการขายกิ่งพันธุ์ฟิกนั้นรายได้ดี จึงอยากจะลองดู

ทำไปทำมา เวลาดูแลแทบจะไม่มี ประกอบกับแม่ไม่สบาย จึงตัดสินใจลาออกจากงานมาอยู่บ้านเพื่อดูแลแม่ และตอนกิ่งพันธุ์ขายอย่างจริงจัง

เมื่อเพาะต้นจนโตและสามารถตอนกิ่งขายได้ เริ่มมีคนรู้จัก ยอดสั่งซื้อก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ จากนั้นก็เริ่มมีสื่อทั้งโทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์เข้ามาที่สวนแห่งนี้ ทำให้คนรู้จักมะเดื่อฝรั่งอินทรีย์มากขึ้น กลายเป็นว่า ตอนนี้คุณนัดมุ่งเน้นการตอนกิ่งพันธุ์ขายเป็นหลัก

จากหนุ่มโรงงานไกลบ้าน จึงผันตัวเองจนกลายมาเป็นเกษตรกรปริญญาเต็มตัว ตอนนี้คุณนัดเริ่มปลูกผักอินทรีย์ ที่มากกว่ามะเดื่อฝรั่งส่งขายให้โรงพยาบาลลำดวน โรงเรียนและร้านอาหารที่สนใจด้วย ผักที่ส่งประกอบด้วย กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักชี ต้นหอม ถั่วฝักยาว แตงกวา บวบเหลี่ยม ฟักทอง และน้ำเต้า โดยทยอยปลูกผลผลิตออกแค่ไหนส่งเท่านั้น

พร้อมกันนี้นี้ในสวนของคุณนัด ก็ยังมุ่งศึกษาพัฒนาการตอนกิ่งพันธุ์มะเดื่อฝรั่งอินทรีย์ให้หลากหลายสายพันธุ์ เช่น ออสเตรเลีย พานาซี โคนาเดีย อิตาลีไนท์ กรีนอนซู ไวท์จีนัว บราวตุรกี ทุกวันนี้ขยายกำลังการผลิตเป็น 2 โรงเรือน

หัวใจของเกษตรอินทรีย์ เน้นเรื่องธรรมชาติที่มีความเกื้อกูลกัน จะเห็นว่าสวนเกษตรอินทรีย์นั้นจะมีหญ้าขึ้นเยอะ เพราะต้องการใช้หญ้าเหล่านั้นในการควบคุมความชื้นของดินและล่อแมลง แมลงจะได้ไม่มากินพืชผักที่ปลูก ส่วนเคล็ดลับในการปลูกพืชอินทรีย์ที่คุณนัดบอกเล่าให้ฟังคือ การใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรมาปรับใช้กับแปลงทุกแปลงให้เกิดประโยชน์

มีคำแนะนำสำหรับผู้สนใจการทำเกษตรอินทรีย์ อย่างแรกคือต้องอดทน ระยะแรกผลผลิตอาจจะยังไม่ดี ไม่ค่อยสวย แต่จะดีขึ้นในระยะยาว ต้องพยายามศึกษา หาความรู้เพิ่มเติม ทดลองอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการหาเครือข่ายเช่นกัน การมีเครือข่ายจะช่วยส่งเสริมเรื่องโอกาสในการเข้าถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ สามารถหาตลาดเพื่อรองรับผลผลิตได้กว้างขวางขึ้น นอกจากนั้นยังสามารถตั้งมาตรฐานของสินค้าและตั้งราคาเองได้

ความคาดหวังของผู้ชายตัวเล็กหัวใจใหญ่คนนี้ คือ อยากสร้างสวนมะเดื่อฝรั่งแห่งนี้ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ครบวงจร เอาความรู้ที่มีมาต่อยอดให้คนในชุมชนเพื่อเป็นวิทยาทาน

คำพูดที่คุณนัดพูดแล้วป้าประทับใจมากคือ “เกษตรอินทรีย์นั้น คนในชุมชนสามารถทำได้ เพราะเรามีวัตถุดิบพร้อมอยู่ในทุกที่ เราก็นำสิ่งที่มีมาทำประโยชน์ได้อีกหลายอย่าง เพียงแต่คนในชุมชนไม่รู้เท่านั้นเอง”

นี่คือเรื่องของมะเดื่อฝรั่งอินทรีย์ ที่ผู้ปลูกไม่ได้มุ่งเพียงหารายได้ แต่ยังวางเป้าหมายให้เกิดสิ่งยิ่งใหญ่ที่สุดคือ ความรู้ที่มีทั้งหมดเพื่อเป็นวิทยาทานสู่ชุมชน

สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณ กิจกรร We Are CSO : ภาคประชาสังคม ใคร ๆ ก็เป็นได้ ตอน อาร์ตเเท้เหลา ที่สนับสนุนในการค้นหาเรื่องราวดี ๆ มาเล่าสู่กันฟัง และภาพถ่ายบางส่วนจาก ณัฐาภพ สังเกตุ สำหรับใครที่อยากไปร่วมกิจกรรมแบบนี้สามารถติดตามได้ที่เเฟนเพจ ไทยแอ็ค

เรื่องโดย โสภา ทองสิมา

เนื้อหาอื่นๆ

04 มีนาคม 2020
20 ตุลาคม 2018
01 พฤศจิกายน 2023

Copyright © 2013 THETHAIACT