เลือดสีรุ้งกับบทบาทจำเลยในสังคม
ถอดความจากเวทีเสวนา ไม่รับบริจาคเลือดกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ถึงเวลาต้องทบทวน
ถ้อยคำของปุญชรัศมิ์ ตาเลิศ Miss Queen Rainbow sky ปี 2018 และเจ้าหน้าที่จากสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย บนเวทีเสวนา ไม่รับบริจาคเลือดกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ถึงเวลาต้องทบทวน
เธอเล่าว่า ตั้งใจไปบริจาคโลหิตกับทางสภากาชาดไทย ซึ่งก่อนไปบริจาคเธอได้ทำการตรวจร่างกายพร้อมกับเอกสารยืนยันการตรวจโรค หากเมื่อเวลาของการคัดกรองมาถึง เธอกลับไม่ได้รับโอกาสอย่างที่ตั้งใจไว้ เพราะเพศภาวะของเธอไม่ตรงกับเพศกำเนิด
เพศภาวะ หรือ Gender คือเสรีภาพด้านความหลากหลายที่มนุษย์ควรได้รับเมื่อเติบโตขึ้น ไม่จำกัดเพียงเพศโดยกำเนิด ปัจจุบันเพศภาวะมีไม่ต่ำกว่า 18 เพศ นับแต่อดีตเรื่อยมา ผู้คนบนโลกต่างตระหนักถึงความแตกต่างและเกิดการยอมรับตัวตนของกันและกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงอย่างนั้น การต่อสู้เพื่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย กลับคล้ายว่ายังเป็นเรื่องยากเย็น เช่นในกรณีของปุญชรัศมิ์ ที่สุดท้ายแล้วความปรารถนาดีของเธอต้องถูกทำลายลง “ถ้าเรามีความเสี่ยง เราไม่มาบริจาคหรอก เราเข้ามาบริจาคเพราะเลือดเรามีประโยชน์ต่อคนในสังคม”
ในอดีต ช่วงเวลาที่การแพทย์ยังไม่พัฒนาและครอบคลุมมากนัก ก็อาจกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ตามที่มีการอ้างอิงจากงานวิจัย และใช้เป็นบรรทัดฐานการให้บริการของสภากาชาดมาจนถึงปัจจุบัน แต่ในเวลานี้ วงการแพทย์พัฒนามาไกลกว่านั้นมากแล้ว ‘ความเชื่อ’ เหล่านั้นล้วนถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง ซึ่ง ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า “ไม่ว่าไหนเพศใดก็มีความเสี่ยงได้ การรับบริจาคเลือด ควรใช้พฤติกรรมเสี่ยงเป็นเกณฑ์การตรวจ ไม่ใช่บอกว่าคนเพียงบางกลุ่มเสี่ยง”
ยิ่งในสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับไวรัส Covid-19 โลหิตในปริมาณที่เพียงพอสำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรตระหนักถึง ศาสตราจารย์เล่าว่า ในหลายประเทศมีการพัฒนากฎเกณฑ์ ปรับเปลี่ยนกฎหมายตามวิวัฒนาการของเครื่องมือทางการแพทย์ หน่วยงานในประเทศเราก็ควรพัฒนาเช่นกัน
ในทางกฎหมายที่ถูกเขียนมาเนิ่นนาน ถ้อยคำที่ใช้อธิบายกฎเกณฑ์ของสภากาชาดไทยยังคงมีการนิยามว่า หนึ่งในพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ คือ การมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ต่อเรื่องนี้ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คุณอารีวรรณ จตุทอง ให้คำอธิบายบนเวทีเสวนา เธอกล่าวถึงโครงการวิจัยเรื่อง กฎหมายว่าด้วยความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติ โดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปี 2560 งานวิจัยชิ้นนี้ ได้วิเคราะห์และวางแนวทางเพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิ์ของมนุษย์ สิ่งนี้สามารถนำมาใช้อธิบายได้ว่า เหตุใดการต่อสู้เรื่องความเท่ากันของมนุษย์ จึงมองเห็นแสงสว่างปลายทางได้เลือนราง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศนี้
“นอกเหนือจากการเปลี่ยนทัศนคติของสังคมแล้ว ยังต้องดูถ้อยคำที่ปรากฏและเผยแพร่ต่อสาธารณะ การเลือกปฏิบัติอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เราควรมีกฎหมายที่ครอบคลุมทุกมิติ และเก็บรายละเอียดให้ได้มากที่สุด” ปฏิบัติหน้าที่แทนกรรมการสิทธิฯอธิบาย
ความเท่าเทียมไม่ใช่แค่เรื่องเพศภาวะเท่านั้น การไม่รับบริจาคโลหิตจากกลุ่มรักร่วมเพศ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ความหวังจะนำมาซึ่งหนทางอยู่เสมอ เช่นเดียวกับที่ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล โฆษกคณะกรรมธิการการศาสนาศิลปะและวัฒนธรรมสภาผู้แทนราษฎร หนึ่งในผุ้ร่วมเสวนาได้พูดถึงกรณีนี้ว่า
“สาเหตุที่มาทำงานการเมือง คือเพื่อเป็นตัวแทนของผู้มีความหลากหลายในประเทศไทย” ธัญญ์วารินคือหนึ่งคนที่ผลักดันเรื่องกฎหมายการมีตัวตนและความเท่าเทียมในด้านต่าง ๆ ทั้งกฎหมายสมรสเท่าเทียม และกฎหมายเรื่องการเกณฑ์ทหาร ธัญญ์วารินอภิปรายในสภาและบอกเล่าเรื่องราวนี้ต่อสื่อมวลชนหลายต่อหลายครั้ง กระนั้น ผลลัพธ์ที่ได้กลับคือ คนในสังคมยังต้องเผชิญการถูกเลือกปฏิบัติเช่นเดิม
เธอตั้งคำถามว่า ทำไมการเป็นคนธรรมดาจึงยากนักสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเรื่องสมรส การสร้างครอบครัว ความก้าวหน้าในอาชีพ ทำไมจึงยากไปหมดในทุก ๆ บริบท เธอเสนอว่า “เราต้องให้ความรู้สังคมในทุกรูปแบบ ทุกกระบวนการ ต่อให้แก้ปัญหาของสภากาชาดได้ มันก็ยังมีคนไม่เข้าใจ… การทำความเข้าใจว่าเราทุกคนมีความเท่าเทียม คือการแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุด”
ในขณะที่ กิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย องค์กรที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยได้มีพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และในฐานะตัวแทนของผู้ปฏิบัติงานภาคประชาสังคมกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยมาไม่น้อยกว่า 10 ปีได้ร่วมแลกเปลี่ยนและเสนอทางออกที่น่าสนใจในช่วงท้ายว่า
“ขอให้การกำหนดหลักเกณฑ์ในการรับบริจาคเลือด นำความเป็นมนุษย์ของทุกคนมาเป็นกรอบ และขอให้มีมาตฐานในการคัดกรองที่เป็นมาตรฐานเดียวสำหรับทุกคน ที่สำคัญ ประเทศไทยควรมีกฎหมายที่คุ้มครอง ป้องกัน ช่วยเหลือ เยียวยา เมื่อมีการเลือกปฏิบัติสำหรับคนทุกกลุ่มได้แล้ว การที่ภาคประชาสังคม 9กลุ่มประชากรร่วมกันเสนอเรื่องนี้ เป็นข้อเสนอหนึ่งที่จะทำให้ปัญหาการเลือกปฏิบัติในประเทศคลี่คลายลง”