06 พฤษภาคม 2019

ทุกพื้นที่ของหัวใจมีไว้ให้ ‘ยังธน’

Thinking design ภาคประชาสังคมกับงานพัฒนาย่านเมือง

“เสน่ห์ของฝั่งธนคือโรงเรียนสตรีวัดอัปสร”

‘ฮิน’ ฐากูร ลีลาวาปะ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มยังธนปล่อยแววตาทะเล้นทะลุเเว่น ขณะเล่าถึงที่มาของความคิดในการทำงานพัฒนากรุงเทพฝั่งธนบุรี  วันนี้ในห้องสี่เหลี่ยมสีเคร่งขรึมซึ่งเป็นที่มั่นของสำนักงาน CROSSs and Friends กลายเป็นจุดรวมพลของผู้คนมากหน้าหลายตา ทั้งว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร เขต 22 กรุงเทพมหานคร นักวิชาการ คนทำงานตัดต่อวีดิโอ นักศึกษาฝึกงาน เจ้าของกิจการ และที่สำคัญคือสมาชิกกลุ่มยังธน

ฐากูร เล่าว่าในตอนเรียนชั้นปีที่ 5 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก่อนจบการศึกษาเขาต้องทำวิทยานิพนธ์ แต่หนึ่งสิ่งที่ติดอยู่ในใจเขา คือถ้าคนเราทำงานเรื่องเดียวกันทำไมจะต้องไปเริ่มพื้นฐานการค้นคว้าใหม่กันหมดเลย

“ถ้าเราไม่ได้ทำเรื่องเดียวกัน เราจะร่วมทำบทนำซึ่งเป็นบทที่หนึ่งร่วมกันได้ไหม”

เขาจึงใช้พื้นที่ออนไลน์ในเฟซบุ๊ครวบรวมเพื่อนนักศึกษาผู้ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ต้องทำวิทยานิพนธ์ก่อนจบเหมือน ๆ กัน จึงเป็นการพบกันครั้งแรกของคนที่สนใจเรื่องอาคาร เรื่องผังเมือง เรื่องเชื่อมโยงพื้นที่ เรื่องประวัติศาสตร์ฝั่งธน และสนใจเรื่องเดียวกันคือ ตลาดพลู ปีนั้นเองเขาจบการศึกษาด้วยวิทยานิพนธ์ชื่อ พิพิธภัณฑ์ชุมชนตลาดพลู จากการสุมหัวเพื่อทำวิทยานิพนธ์ พวกเขาสลายตัวแบบไม่มีใครแหลกสลายไปทำงานตามความถนัด ตามความฝัน จนกระทั่งกลับมาเจอกันอีกครั้งในขวบปีที่สองด้วยคำถามว่า

“เรายังสนใจในเรื่องเดียวกันอยู่ไหม”

พวกเขากลับมารวมตัวกันอีกครั้ง พร้อมอาวุธทางความคิดที่ถูกลับคมมาแล้ว ‘ชัช’ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ เจ้าของเเฟนเพจนานาโคตรจะมีสาระ และ เมฆ สายะเสวี ผู้ก่อตั้ง CROSSs ภาคประชาสังคมที่สนใจเรื่องการออกแบบและจัดผังเมือง รวมถึงเพื่อนฝูงอีกสามสี่คนซึ่งตอบรับพยักหน้า ทำให้พวกเขาหาเวลามาเจอกันบ่อยขึ้น ขยับตัวไปทดลองทำงานตามประกาศสนับสนุนทุนและไปทำงานในเชิงพัฒนาพื้นที่รอบนอกกรุงเทพมหานคร เช่น อำเภอชุมแสงนครสวรรค์ และได้ทดลอง ได้เรียนรู้กับการรับทุนโครงการให้เปล่าเพื่อมาทำงานในพื้นที่สองสามโครงการ ระหว่างทางพวกเขาเสริมทัพความคิดด้วยข้อมูล ด้วยผู้คนที่เพิ่มเข้ามา โดยเฉพาะ จิรทิพย์ เทวกุล นักวิชาการ จากศูนย์บริการวิจัยและออกแบบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

จนกระทั่ง พวกเขาตัดสินใจจะร่วมมือลงเเรงอย่างจริงจังเพื่อทำงานพัฒนาพื้นที่ธนบุรี จิรทิพย์ เล่าให้ฟังเสียงดังว่า

“เราอยากทำงานพัฒนาในย่านนี้ บนพื้นฐานของการพัฒนาเมือง เริ่มจากการคิดเรื่อง Thinking design ปัญหาของการทำงานพัฒนาสังคม คือ ทำงานบนพื้นที่เดียวกัน กลุ่มเป้าหมายเดียวกัน ต่างคนต่างทำ ใช้ข้อมูลกันคนละชุด ยังธนจึงเริ่มต้นสนใจทำงานข้อมูลของกลุ่มคนที่สนใจงานภาคประชาสังคมในเรื่องการพัฒนาเมืองโดยกำหนดพื้นที่เพียงกรุงเทพฝั่งธนบุรีก่อน”

ยังธน เริ่มต้นใช้วิธีการประกาศผ่านสื่ออนไลน์ เชิญชวนเพื่อน ๆ ที่สนใจงานภาคสังคม ภาคประชาชนมาเจอกัน มารวมตัวมาแบ่งปันข้อมูลกันในกิจกรรมเวิร์กช็อป ‘จุดรวมธน’ โดยใช้การประชาสัมพันธ์และรับสมัครผ่านเเฟนเพจแทบทั้งสิ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้ได้พบเจอคนที่สนใจมาร่วมกิจกรรมมากมาย เช่น เจ้าของร้านอาหาร ลูกหลานผู้สืบสานกิจการร้านก๋วยเตี๋ยว และคนเก่าแก่ในย่านธนบุรี ที่มีความทรงจำดี ๆ และมีบันทึกเรื่องราวในตัวเอง เมื่อได้กลุ่มคนที่มารวมกันจากพื้นฐานความรัก อยากเห็นการพัฒนา “ฝั่งธน” จึงเกิดเป็นการเริ่มต้นสำคัญของ กลุ่มยังธน

“เราอยากจะพัฒนาอะไรในย่านของเรา” เป็นโจทย์เดียวของการมาพบปะ พบเจอ ร่วมคิดไปด้วยกัน

“มีไอเดียมากมายผุดขึ้นมาในการทำงาน ทั้งเรื่องการพัฒนาเชิงศิลปะ สถาปัตยกรรม และการดำเนินชีวิต มีการนำเสนอเรื่องพระเจ้าตากแดดที่จะใช้อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินที่วงเวียนใหญ่เป็นหมุดหมายของการนำเสนอพื้นที่สำคัญย่านธนบุรี ด้วยการนำมาทำเป็นนาฬิกาแดด ซึ่งจะทำให้ผู้คนในพื้นที่ผูกพัน หวงแหน และอยากพัฒนาพื้นที่รอบบ้านของพวกเรา มีบางกลุ่มคิดถึงเรื่องการทำงานด้านเยาวชน และการอนุรักษ์ และการรักษาพื้นที่สำคัญของเมือง” เมฆ ช่วยย้อนนึกถึงวันที่พวกเขาร่วมแรงกันเริ่มต้นเวิร์กช็อป ‘จุดรวมธน’ จนกลายเป็นเรี่ยวเเรงสำคัญ และเป็นทิศทางให้กับกลุ่มยังธน

หลังจากจบกิจกรรม ทำให้พวกเขารู้ตัวเองว่าสิ่งสำคัญที่ยังธน กำลังเสนอตนทำงานคือ เป็นพื้นที่กลางในการรวบรวมบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ทำงานพัฒนาสังคมมาร่วมกัน โดยไม่จำเป็นว่ายังธนต้องเป็นเจ้าของประเด็น หรือพื้นที่งานของใครเลย

“ใครก็ได้ที่อยากจะทำอะไรเพื่อธนบุรี แล้วอยากจะเชื่อมต่อขอความช่วยเหลือ หรือหาพรรคพวกมาทำงานเพื่อพัฒนา แต่สิ่งที่พวกเราชาวยังธนมีความถนัดคือเรื่องสถาปัตย์ เรื่องผังเมือง ยังขาดมิติด้านสังคมที่เราต้องค้นหาเครือข่าย ซึ่งถ้าหากถ้าคุณเข้าถึงยังธนในทางกิจกรรมไม่ได้ ก็สามารถเข้าถึงยังธนในรูปแบบออนไลน์ได้ เพราะเราอยากให้ยังธนเป็นกลุ่มคนที่ทำงานทั้งออนไลน์ (online)และ ออนกราวนด์ (on ground)”

หากเปรียบฝั่งธนเป็นบุคคล ป่านนี้คงจะเติบโตผ่านร้อน หนาว ลม ฝน จนกลายเป็นบุคคลมีอายุผู้ทรงคุณค่า แต่ยังคงถูกหลงลืมไปจากการพัฒนาของสังคมกลุ่มยังธน จึงไม่ใช่แค่สถาปนิก นักออกแบบที่มารวมตัวกันคิดเรื่องการออกแบบเท่านั้น แต่พวกเขาวาดหวังว่าประชาชนฝั่งธนบุรีจะเป็นย่านที่ทุกคนเชื่อมโยงถึงกัน เมื่อมีปัญหาร่วมกันแก้ไข เมื่ออยู่ในช่วงเวลาปกติจะร่วมกันคิด ร่วมกันลงมือทำงานเพื่อพัฒนาสังคม เป็นย่านที่ร่มเงาของต้นไม้ยังหลงเหลืออยู่ และทำให้ทุกคนสามารถเดินได้ ออกมาใช้ชีวิตได้โดยไม่ตัดขาดจากกัน นอกจากนั้นยังมีการออกแบบ พัฒนาเมืองที่ใส่ใจพื้นที่สาธารณะ

สิ่งที่พวกเขากำลังริเริ่มดำเนินงานเป็นครั้งแรก และมีแผนจะขอความร่วมมือจากทุกคน คือการจัดการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนใน 8 ชุมชนฝั่งธนบุรี เพื่อเชื่อมโยงเรื่องราวของชุมชนกับการทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งสนามแรกที่พวกเขาจะทำการเเข่งขันคือ พื้นที่ชุมชนรอบป้อมป้องปัจจามิตร ป้อมที่มีแฉกคล้ายหัวลูกศรห้าแฉก แต่ปัจจุบัน หลงเหลือไว้เพียงสองแฉก และถูกทิ้งให้ร้างไร้ซึ่งคนภายนอกสนใจ พวกเขาหวังว่าเมื่อเขี่ยลูกเล่นฟุตบอล ไปจนถึงผู้ตัดสินเป่าหมดเวลาตลอดฤดูกาลแข่งขันนั้นจะสามารถสร้างการเรียนรู้แก่เด็ก เยาชน และคนในชุมชน สนใจเรื่องการอนุรักษ์พื้นที่ และพัฒนาย่านเมืองเก่าแห่งนี้ เพื่อให้คนและเมืองมีคุณภาพชีวิตดี ๆ ร่วมกันได้

ดังนั้น ถ้าคุณอยู่ฝั่งธน ควรจะให้การสนับสนุนพวกเขา ถ้าคุณไม่ใช่คนฝั่งธน ก็สนับสนุนพวกเขาได้เช่นกัน

และถ้าหากวันนี้มีใครถามว่า ยังธน คือใคร ให้ช่วยไปคัดลอกข้อความที่เราก็คัดลอกมาอีกทีนี้บอกออกไป ว่า “ยังธน” คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อาศัยในย่านฝั่งธนบุรี ผู้เล็งเห็นถึงศักยภาพและของดีที่ซุกซ่อนอยู่ในย่านธนบุรีรวมทั้งโอกาสการพัฒนาด้านต่าง ๆ ตั้งแต่เศรษฐกิจและสังคมด้วยกระบวนการทำงานของผู้คนที่หลากหลาย ผ่านการสำรวจวางแผนสะสมข้อมูลงานออกแบบ และเปิดโอกาสให้ไอเดียต่าง ๆ เกิดขึ้นจริง อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อย่านฝั่งธนบุรีในทุกมิติ

Thethaiact

some pic from :

ยังธน

เนื้อหาอื่นๆ

02 มกราคม 2023
18 กันยายน 2022
15 มกราคม 2024

Copyright © 2013 THETHAIACT