หิ่งห้อยน้อย พื้นที่ปลอดภัยในการสื่อสารของเด็กและเยาวชน
บทสัมภาษณ์ รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มหิ่งห้อยน้อย แหล่งเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ และเป็นมิตรกับทุกคน
เมื่อฉันอายุได้ 12 ปี ฉันเห็นพ่อของตัวเองกำลังร้องขอความช่วยเหลือ ร่างกายของพ่อตอนนั้นบิดเบี้ยวด้วยความเจ็บปวด แม่ได้ลั่นกุญแจเอาไว้ให้ฉันอยู่ในบ้าน ในขณะที่ทุกคนพาพ่อไปที่โรงพยาบาลกันหมด เช้าวันต่อมา ฉันพบว่าร่างของพ่อไม่ขยับเขยื้อน ร่างพ่อเย็น เป็นเหมือนกับก้อนหินก้อนหนึ่ง
ฉันมีคำถามมากมายในหัว ความตายคืออะไร?
ความเงียบทำให้ฉันรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีใครเข้ามาอธิบายให้ฉันเข้าใจว่าความตายคืออะไร ฉันไปที่ห้องสมุด ค้นหาหนังสือเด็กที่จะอธิบายว่าความตายมันคืออะไรกันแน่
แล้วฉันก็พบว่ามีหนังสือเล่มหนึ่งที่ตัวละครในนั้นสูญเสียใครบางคนในชีวิตไปไม่ต่างจากฉัน จากนั้นเป็นต้นมาฉันจึงเริ่มยอมรับว่าพ่อของฉันจะไม่มีวันกลับมาอีกแล้วนั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้ฉันฝันที่จะเป็น
สมัยนั้นไม่ได้มีหนังสือที่สื่อสารกับเด็กวัยรุ่นเกี่ยวกับเรื่องความรู้สึกเหล่านี้ ประเด็นหลายอย่างที่ถูกปิดกั้นไม่ได้ถูกเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา เช่น เพศ,การหย่าร้าง,ความพิการ และเรื่องอื่น ๆ ฉันเลยเริ่มโครงการของฉันที่ชื่อว่า “หิ่งห้อยน้อย” ขึ้น หิ่งห้อยน้อยที่จะเป็นแสงสว่างดวงเล็ก ๆ ท่ามกลางความมืดมิด
(ข้อความจาก รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม หิ่งห้อยน้อย พื้นที่ออนไลน์ที่เป็นแหล่งเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และเป็นมิตรกับทุกคน โดยเฉพาะสำหรับเด็กและเยาวชนในประเด็นอ่อนไหวที่ผู้ใหญ่ให้คำตอบได้ยาก)
ในวันที่เทคโลยีไม่ใช่กำแพงข้อจำกัดด้านเพศและวัย แต่กลายเป็นสะพานเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้มนุษยชาติ การค้นหาคำตอบให้คำถามของเด็กเยาวชน อาจไม่ได้ตั้งต้นจากผู้ปกครอง หรือพ่อแม่อีกต่อไป ทำให้เกิดกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมในนาม “หิ่งห้อยน้อย” ซึ่งมุ่งสนับสนุนให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตั้งคำถาม หาคำตอบ และแสดงออกทางความคิดเห็นต่อเรื่องอ่อนไหวในสังคมได้อย่างตรงไปตรงมา วันนี้ ไทยแอ็คชวน รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มหิ่งห้อยน้อย มาร่วมกระพริบไฟดวงเล็ก ๆ ให้ทุกคนได้เห็นกัน
: หิ่งห้อยน้อย นิยามตัวเองว่าเป็นพื้นที่พูดคุยในประเด็นอ่อนไหวในสังคม ประเด็นอ่อนไหวคือเรื่องไหน ?
ก่อนอื่นต้องบอกว่า หิ่งห้อยน้อย ทำงานกับเด็กและเยาวชน เราตั้งใจทำงานกับกลุ่มเป้าหมายเด็กตั้งแต่อายุ 4 ปี ไปจนถึง 18 ปี จริง ๆ เราเริ่มจากการผลิตสื่อ และสร้างแพลทฟอร์มพื้นที่ออนไลน์ที่เป็นมิตรสำหรับเด็ก คือเป็นเว็บไซต์ หรือกลุ่มแบบไหนก็ได้ ที่เปิดกว้างให้เด็กมาคุยกัน มาตั้งคำถาม มาค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ตอนนี้เราเลยมีเว็บไซต์ที่เปิดพื้นที่สนทนาสำหรับเด็กชื่อ www.hinghoynoy.com หรือ หิ่งห้อยน้อยคลับ ซึ่งเอาไว้พูดคุยในประเด็นที่ที่อ่อนไหว อย่างเรื่องที่ผู้ใหญ่ไม่อยากให้เด็ก ๆ รู้ แต่เด็ก ๆ อยากทำความเข้าใจ เช่น เรื่องเพศศึกษา การคุกคามทางเพศ ท้องไม่พร้อม อนามัยเจริญพันธุ์ เรื่องการหย่าร้าง การกลั่นแกล้งรังแก ความหลากหลายทางเพศ เอาเป็นว่าเรื่องไหนก็ตามที่เด็กสงสัย และอยากจะคุยกับใครสักคน เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์นั้น ๆ ในช่วงชีวิต และรับฟังความทุกข์ความกังวลใจที่พวกเขามี และค้นหาทางออก หาวิธีในการแก้ไขปัญหาในช่วงเวลานั้นของชีวิต เพราะเราเริ่มจากการให้ความสำคัญกับสิทธิเด็ก เด็กมีสิทธิจะคิด จะพูด และกำหนดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของพวกเขาเอง
: ถ้าอย่างนั้นที่ไปที่มาของ “หิ่งห้อยน้อย” คืออะไร ?
เริ่มจากส่วนตัวเคยทำงานเป็นนักพัฒนาหนังสือสำหรับเด็ก เราเรียนจบสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก และทำงานภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับเด็กมาหลายปี ด้วยความที่ตัวเองสนใจประเด็นสังคมที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็ก เราเลยคิดว่า อยากจะทำงานที่ช่วยทำให้เด็กคลายทุกข์ คลายกังวลกับสิ่งที่ตัวเองยังไม่รู้ หรือว่า อยากจะถามใครสักคนเวลาที่พวกเขาโดดเดี่ยว มันก็เลยกลายเป็นการพัฒนาเว็บไซต์หิ่งห้อยน้อยขึ้นมา ซึ่งเป็นทั้งชื่อพื้นที่และองค์กรด้วย เราเป็นเหมือนตัวแทนของเพื่อนคนหนึ่ง ที่รับฟังและคอยช่วยหาคำตอบให้กับเด็ก ๆ ในความมืด ความมืดในที่นี้หมายถึงประเด็นที่เด็กพูดไม่ได้ หรือไม่มีโอกาสได้เข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น
ดังนั้น “หิ่งห้อยน้อยคลับ” นอกจากการรับฟังแล้ว เราก็ต้องเป็นมิตรกับเด็กทุกคน เพื่อสนับสนุนให้เด็ก ๆ ได้มีสิทธิทุกอย่าง ที่จะเข้าถึงและรับรู้ ที่เราตั้งชื่อหิ่งห้อยน้อย เพราะว่า หิ่งห้อยสำหรับเด็ก เหมือนเป็นสัญลักษณ์ของความหวัง ความฝัน และจินตนาการ อีกอย่างเพราะว่าหิ่งห้อยเป็นแมลงที่สามารถจะดำรงชีวิตได้ในสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ ถ้ามีมลพิษ อากาศไม่ดี น้ำเน่าเสีย หรือไม่มีป่าที่ดีแล้ว หิ่งห้อยจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ซึ่งเหมือนกับที่เด็กต้องการการเติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดี ต้องการการใส่ใจ ดูแลและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตต่อไป เราก็เลยใช้หิ่งห้อย และ น้อยมารวมกัน ซึ่งในที่นี้เราก็หมายความถึง เด็ก ๆ ที่สามารถเปล่งแสง เปล่งประกายความฝันและจินตนาการจากตัวเองได้ เมื่อเขาได้รับการสนับสนุนด้วยข้อมูล และภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดีนั่นเอง
: การทำงานที่ผ่านมาเป็นไปด้วยดีใช่ไหม ?
อาจจะนะ เพราะเราเริ่มจากการขอเป็นตัวเลือกของเด็ก หิ่งห้อยน้อย จริง ๆ แล้วคือส่วนหนึ่งของการศึกษาทางเลือกนะ แล้วหิ่งห้อยน้อยก็เป็นน้องใหม่ในแวดวงภาคประชาสังคมมาก ความสำเร็จสำคัญ คือ การมีเด็ก ๆ มาใช้บริการในพื้นที่ของเรา เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กเริ่มตั้งคำถาม มีความคิดที่เรียกว่า Critical thinking หรือความคิดที่มีวิจารณญาณได้ด้วยตัวเองแล้ว ส่วนตัวคิดว่านั่นน่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่าประสบความสำเร็จมากในการทำงานนะ
: ถ้าอย่างนั้นช่วยเล่ารูปธรรมความสำเร็จจากงานที่ผ่านมาหน่อย ?
ถ้าให้ยกตัวอย่าง มันมีกิจกรรมที่ระดมผ้าอนามัยซักได้ เรื่องนี้น่าจะชัดเจนที่สุด เพราะมันเริ่มจากการที่เด็กพูดคุยกันถึงเรื่องประจำเดือน ต่อมาก็มีข่าวเรื่องผ้าอนามัยขึ้นราคา พวกเขาก็มาแสดงความคิดเห็น บางคนแชร์ปัญหา แชร์เรื่องราว เมื่อมีการพูดถึงมากขึ้น พร้อมกับการมาของโควิด-19 เราก็ถามเด็ก ๆ ว่า มีใครอยากจะลองใช้ผ้าอนามัยซักได้เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมบ้าง หลายคนเขาติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ก็เริ่มสนใจ และบอกว่าเขาอยากจะใช้ผ้าอนามัยซักได้ด้วยตัวเอง หลังจากทดลองใช้ก็เกิดการเรียนรู้ และหาทางผลิตมันขึ้นมาด้วยการเย็บมือด้วยตัวเอง เราคิดว่ากระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริงมันเกิดแล้ว จากการที่พวกเขาตั้งคำถาม หาความรู้ แล้วนำสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นความรู้ มาทดลองใช้ ท้ายที่สุดก็นำไปช่วยเหลือคนอื่น ช่วงที่ผ่านมาเลยมีทั้งการนำผ้าอนามัยใส่ไปในตู้ปันสุข นำไปมอบให้กับเด็ก และผู้หญิงชายขอบ เพราะสำหรับคนบางกลุ่ม ผ้าอนามัยถือเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย การได้มีส่วนช่วยเหลือกันตรงนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กหลายคนเกิดประกายอยากทำงานด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมมากขึ้นด้วย
: แล้วอุปสรรคสำคัญในการทำงาน ของหิ่งห้อยน้อยคืออะไร ?
คือตัวพวกเราเองนี่แหละ หิ่งห้อยน้อยเหมือนทำงานหลายอย่าง หลายประเด็น บางทีเวลาสื่อสารไปแล้วคนอาจจะงง จริง ๆ เราไม่งง เพราะเราทำงานเกี่ยวกับเรื่องที่เด็กพูดไม่ได้ หรือเรื่องอ่อนไหวในสังคม แต่ด้วยความที่เรื่องพวกนี้ ผู้ใหญ่หรือสังคมไม่ให้เราพูดกับเด็กไง เราก็เลยต้องพูดผ่านการทำงาน ผ่านสื่อที่ต้องคิดเยอะ คิดละเอียดอ่อนหน่อย อย่างพูดเรื่องเพศกับเด็ก ที่โรงเรียนอาจจะพูดได้ไม่หมด พูดบนเฟซบุ๊กบางทีก็ถูกแบน ถูกปิดกั้น อุปสรรคที่ยากที่สุด จึงน่าจะเป็นความคิดของสังคม ที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นระบบที่เรียกว่า ระบบเซ็นเซอร์ ซึ่งมันก็ซับซ้อน มีหลายระดับ ยิ่งปิดกั้นหลายระดับ การทำงานของเราก็จะต้องใช้ความพยายามมากขึ้น
: คำถามสุดท้าย ใครสามารถเป็นหิ่งห้อยน้อยได้บ้าง ?
ต้องบอกว่าทุกคนสามารถเป็นหิ่งห้อยน้อยได้ แค่ตั้งคำถามกับชีวิต หาคำตอบที่เหมาะสมให้กับตัวเอง แล้วก็ลงมือทำมัน ถ้าอยากจะแวะมาทำความรู้จักหิ่งห้อยน้อยมากขึ้น เราก็เพิ่งเปิดเว็บไซต์ เรามีการให้เด็กที่สนใจเข้ามาเป็นสมาชิก โดยทุกคนจะเป็นสมาชิกนิรนาม เพื่อที่จะไม่ถูกคุกคามเพราะข้อมูลของตัวเอง หรือละเมิดสิทธิ โดยให้ความสำคัญกับทุกเสรีภาพในการแสดงออก ทุกคนเข้ามาระบาย มาสอบถาม มาหาคำตอบของเรื่องราวที่สงสัยหรือเป็นกังวลได้ ส่วนใครอยากจะช่วยผลิตสื่อที่จะพูดถึงประเด็นอ่อนไหว พวกเราก็ยินดี ตอนนี้เราทำงานผ่านเครือข่ายใครอยากจะร่วมพัฒนาสื่อด้วย อยากจะทำให้งานตรงนี้มันส่งไปถึงเด็ก ๆ มากขึ้น เราก็ยินดีนะ
________________________________________________________
ภาพประกอบจาก : www.hinghoynoy.com