29 มกราคม 2024

เอาชนะ แบบไม่มีคนแพ้

กระบวนการแก้ปัญหายาเสพติดโดยชุมชน ที่ไม่จำเป็นต้องมุ่งเป้ากำจัดให้ราบ ขจัดให้สิ้น

ในวันที่รัฐบาลโดยแกนนำหลักคือพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของนายกเศรษฐา ทวีสิน จะประกาศนโยบายชัดถ้อยชัดคำราวกับให้คำมั่นว่า จะลดปัญหายาเสพติดให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายในระยะเวลา 1 ปีโดยหนึ่งแนวทางที่มีการพูดคุยคือ การเปิดค่ายทหารรองรับเพื่อคัดกรอง และบำบัดผู้ใช้ยาเสพติด แต่นั่นดูจะห่างไกลกับความตั้งใจที่จะขยายการมีส่วนร่วมไปสู่ชุมชน ซึ่งเป็น 1 ใน 12 แนวทาง ที่รัฐบาลเองก็ประกาศเอาไว้เช่นกัน ... แต่ถ้าหากกวาดตาสำรวจดู “รูปธรรม” ของชุมชนที่สามารถจัดการปัญหายาเสพติดได้อย่างน่าสนใจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะพบชื่อของ ชุมชนกองขยะหนองแขมอยู่ในนั้นด้วยอย่างแน่นอน

จากแนวคิด “ลดความรุนแรงจากยาเสพติด (Harm Reduction)” ผ่านกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน – ภาคประชาสังคม – หน่วยงานรัฐ ทำให้วันนี้สามารถเรียกได้ว่า ชุมชนกองขยะหนองแขม กำลังเอาชนะเรื่องยาเสพติดแบบ ปราศจากคนแพ้แม้แต่รายเดียว

บรรจง เเซ่อึ้ง ประธานชุมชนกองขยะหนองแขม

เริ่มต้นด้วยความเข้าใจ แม้อาจขัดใจ

บรรจง เเซ่อึ้ง ประธานชุมชนกองขยะหนองแขม อธิบายถึงสถานการณ์ว่า หากย้อนกลับไปในอดีตชุมชนนี้เป็นหนึ่งในชุมชนที่ประสบปัญหายาเสพติดไม่ต่างจากชุมชนอื่น ด้วยสภาพแวดล้อมที่การแพร่ระบาดรุนแรง และราคาในการเข้าถึงตัวยานั้นจับต้องได้

“ที่ระบาดหนักคือยาม้า หรือยาบ้า เคยมีลูกบ้านโดนจับติดคุกเยอะสุดคือ 40 ราย ...ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้เสพ ผู้ใช้ ไม่ใช่คนขาย”

ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้นำชุมชนจำเป็นต้องคิดถึงการช่วยเหลือดูแลคนอื่น ๆ จึงเริ่มมีการดำเนินโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการบ้านที่ 2 ของเด็กโดยพาเด็กในชุมชน ไปทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ต่อมาพัฒนาเป็นการชวนไปเยี่ยมเพื่อนในคุก และทำงานกับผู้พ้นโทษทั้งดูแลร่างกาย จิตใจ ตลอดจนการตั้งเครือข่ายแม่ที่มีคนในครอบครัวใช้ยา โดยบทเรียนสำคัญจากการทำงานของประธานชุมชนพบว่า ลูกบ้านที่ใช้ยาเสพติดของเขา ส่วนใหญ่ขาดความรักความเอาใจใส่ แต่แทบทุกรายอยากเลิกพฤติกรรมใช้ยาเสพติด

“ผมคิดว่าพอใช้ยาแล้วถูกจับได้ครั้งหนึ่ง มันกลายเป็นถูกมองแบบนั้นไปตลอด มันอยู่ท่านกลางความหวาดระแวง เพราะไปไหนใครก็ถามเลิกยัง – เมื่อไหร่จะเลิก แม้กระทั่งครอบครัวก็ตั้งคำถาม ซึ่งการทำงานของเราก็เริ่มจากอุดหนุนผู้ใช้ยาไปรับเมทาโดนที่ ศูนย์บริการสาธารณสุขบางแค เพราะจะเลิกขาดมันลำบากไปรับยาทดแทนก่อน ใครไปแสดงตัวไปแบบสมัครไป ชุมชนก็จะให้ข้าวสารเพิ่มอีกถุง วิธีนี้มีผู้ใช้ยาแสดงตัวครบ 30-40 คน”

บรรจง บรรยายถึงข้อกังวลหากบุคคลอื่นมองเข้ามาในชุมชนว่า เมื่อคนใช้ยาเลิกได้ชั่วครั้งชั่วคราวเขาก็จะกลับมาเสพอีกโดยหยิบยกเรื่องการทำงานของเครือข่ายแม่ที่มีลูกใช้ยา ซึ่งได้การสนับสนุนโดยเครือข่ายสตรีไทยคาทอลิก ที่มีการทำงานร่วมด้วยมาตลอดโดยเน้นให้ครอบครัวเป็นหนึ่งเดียวกับลูกเพื่อให้เขาเหล่านั้นไว้วางใจจนเกิดความไว้ใจกันในชุมชน

ซึ่งเหตุผลที่ต้องทำงานอย่างรอบด้านนั้นประธานชุมชนกองขยะหนองแขมย้ำว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการแก้ไขปัญหายาเสพติดจะทำแค่เอาผู้เสพไปหักดิบบำบัดเพื่อให้เลิกเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่หนทางสู่ความสำเร็จ ซึ่งแน่นอนว่าการทำงานภายใต้กฎหมายที่ระบุว่ายาเสพติดเป็นเรื่องผิดอาจขัดใจทั้งคนในชุมชนเอง และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เรื่องนี้บรรจง ย้อนความหลังให้ฟังว่า

“ช่วงแรก ๆ ที่ผมทำเรื่องลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด ด้วยการค้นหาชักชวนให้ลดปริมาณนั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับรองสารวัตรบางหน่วยงานมาขอชื่อผม 12 คน บอกจะประสานติดตามดูแล แต่พอได้ชื่อไป ท่านก็ล่อบทไฟท์เตอร์รวบจับเขาหมด จนเราได้คุยกันถึงความร่วมมือ ทำความเข้าใจกันว่า ท่านกำลังทำลายกระบวนการลดอันตรายของชุมชนนะ สุดท้ายก็คลี่คลายได้ สิ่งนี้คือการทำความเข้าใจเรื่อง Harm Reduction และจะเป็นก้าวแห่งความสำเร็จที่สำคัญ เพราะงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติด ไม่เคยลงมาถึงผู้เสพ ผู้ติดเลย ชุมชนเราจึงพยายามลงทุนเรื่องงบประมาณเพื่อดูแลเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องจนได้รับความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานรัฐและมูลนิธิต่าง ๆ ”

ปัจจุบัน ชุมชนกองขยะหนองแขมมีผู้ใช้ยาเสพติดร่วมในกระบวนการตามนโยบายHarm Reduction ของชุมชนแล้วกว่า 40 คน จาก 176 หลังคาเรือน

ทำลายมายาคติเรื่องยาเสพติด หากอยากพิชิตปัญหา

“ทัศนคติกับผู้ใช้ยาเป็นเรื่องสำคัญ วันนี้สังคมมองยาเสพติดเป็นเรื่องน่ากลัว มองแบบเหมารวมทั้งผู้เสพและผู้ค้า ทั้งที่น่าจะสื่อสารให้มีการตัดการต้นตอ คือโรงงานผลิต และคนค้าแต่เราก็จะเห็นแต่แพ็คเกจสร้างภาพจำว่า ใช้ยาแล้วหลอน คลุ้มคลั่ง ใช้ความรุนแรง วันนี้หากเราจะเน้นนโยบายบำบัดคิดว่าต้องบำบัดผู้นำชุมชน บำบัดพ่อแม่ บำบัดสื่อมวลชนด้วย”

เพราะเหตุผลของการเริ่มต้นใช้ยาเสพติดของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน และระดับขั้นของการพึ่งพิงยาก็ไม่เหมือนกันทุกราย บางคนแค่ใช้เพื่อลิ้มลอง บางรายใช้ยาเพื่อการสันทนาการหรือความรื่นรมย์ในการปฏิบัติงาน และยังมีคนที่จำเป็นต้องพึ่งพิงยาเสพติดในการดำเนินชีวิตอยู่จริง ๆ ซึ่งสัมพันธ์กับการดำเนินงานบำบัด รักษา และฟื้นฟูฯ ผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดของกระทรวงสาธารณสุข ที่แบ่งประเภทผู้รับบริการเป็น “ผู้ใช้ / ผู้เสพ / ผู้ติด”

และจากงานศึกษาเรื่อง Drug harm in the UK: a multi criteria decision analysis พบข้อเท็จจริงว่า พฤติกรรมใช้ยาเสพติดหากเรียงลำดับความอันตรายจากน้อยไปหามากจะได้เป็น กิน – สูบ/นัตถ์ – ฉีด แต่เมื่อดูรายละเอียดสิ่งเสพติดที่สามารถทำอันตรายทั้งต่อตนเองและผู้อื่นได้มากสุดกลับพบชื่อของ “แอลกอฮอล์” ซึ่งเป็นสิ่งไม่ผิดกฎหมายมาอับดับแรกก่อนจะเป็นประเภทเฮโรอีน

ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับการบอกเล่าของหนึ่งในเจ้าหน้าที่กลุ่มส่งเสริมการเข้าถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพและสังคม (APASS) ภาคประชาสังคมที่ดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้ใช้ยาเสพติด ที่ระบุว่า

“ประการแรก คือ ต้องยอมรับให้ได้ คือ ยาเสพติดไม่มีวันหมดไป แม้จะบอกว่าสังคมต้องปลอดยาเสพติดอย่างไร เพราะตัวยาเองก็มีการพัฒนาไปเรื่อย แล้วทั้งสังคมและระบบบำบัดของเราเน้นบังคับให้เลิก แต่ไม่เริ่มหาจุดเหมาะสมที่ปลอดภัยในการใช้ยา คือ หากมองพฤติกรรมการใช้ยาเป็นพฤติกรรมเสพติด ต้องบอกว่าคนเราสามารถเสพติดสิ่งต่าง ๆได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเสพติดการช้อปปิ้ง เสพติดการพนัน แม้กระทั่งกาแฟแต่ยาเสพติดเป็นสิ่งที่ถูกระบุว่าผิดกฎหมาย เราจึงให้ค่ากับคนที่มีพฤติกรรมเสพติดสิ่งนี้ว่าคนไม่ดี ซึ่งเรื่องนี้มาจากความที่ไม่เข้าใจ หรือไม่พยายามทำความเข้าใจ และเชื่อมโยงทุกความผิดว่ามีต้นเหตุจากยาเสพติด ทั้งที่ข้อเท็จจริงอาจไม่เกี่ยวเลย”

เช่นกันกับ ร.ตอ. เลิศชาย สังข์ทอง รองสวป.สน.หนองค้างพลูที่ยอมรับว่า การค้นหา จับกุม เพื่อปราบปรามก็อาจไม่ได้รับผลดีเท่ากับการมีชุมชนช่วยดูแล ภายใต้กระบวนการ Harm Reduction

“ด้วยบทบาทของตำรวจ คือเราต้องทำการค้นหาผู้เสพแล้วนำมาบำบัดตรงนี้เจ้าหน้าที่เองก็จำเป็นต้องเข้าใจไม่ใช่ทุกอย่างมันเป็นสีดำไปทั้งหมดจนมุ่งใช้แต่อำนาจ บังคับใช้แต่กฎหมาย อย่างตัวผมเองมาเริ่มทำงานกับชุมชนกองขยะนี้ ด้วยการการันตีกับเขาว่า ถ้าอยากลองเข้ากระบวนการเลิกยา คุณจะไม่ได้ถูกจับกุม เราจะสนับสนุนคุณตามความจำเป็นด้วยนะ แรก ๆ คงไม่มีใครเชื่อหรอกที่ตำรวจจะมาพูดแบบนี้ แต่ถ้ามีการเริ่มต้นแล้วเขาเห็นรูปธรรมเห็นความชัดเจนจากเรา เขาก็พากันออกมาแสดงตัว มันทำให้เราสามารถเข้าถึงผู้ใช้ยาจริง ๆ และสามารถวางแผนปฏิบัติการป้องกัน ป้องปรามที่ใช้กับชุมชนได้จริงมากกว่า”

แม้ชุมชนกองขยะหนองแขมจะเป็นแค่หนึ่งตัวอย่าง ที่ไม่อาจการันตีได้ว่าการจัดการปัญหายาเสพติดจะประสบความสำเร็จ แต่อย่างน้อยนี่คือหนึ่งในหลักฐานที่พิสูจน์ว่า การเอาชนะยาเสพติดสามารถเกิดขึ้นได้แบบไม่มีคนแพ้ ไม่มุ่งเพียงวิธีการจับกุม คุมขัง จนผู้ใช้ยาเสพติดหนึ่งคนต้องสูญสิ้นความเป็นคน เพราะถูกให้เริ่มต้นเป็นอาชญากร

เนื้อหาอื่นๆ

08 พฤษภาคม 2023
29 เมษายน 2020
28 พฤศจิกายน 2019

Copyright © 2013 THETHAIACT