โควิดระลอกใหม่ กับหนทางเอาตัวให้รอดของคนตัวเล็ก
กองทุนภาคประชาสังคม กับการสนับสนุนกิจกรรมด้านความมั่นคงทางอาหาร
เพราะร่องรอยผลกระทบระลอกที่ผ่านมา ยังคงไม่จางไปจากคนไทยหลายสิบล้านคน จนคล้ายเป็นภาวะวิกฤตเกิด “คนจนใหม่” ในทุกสาขาอาชีพ ... ตกงาน เข้าไม่ถึงสิทธิ ไม่สามารถรับสวัสดิการจากรัฐได้เพราะข้อจำกัดต่าง ๆ เศรษฐกิจฝืดเคือง ...
เมื่อการเยียวยาให้ความช่วยเหลือจากรัฐส่วนกลางทำได้ไม่ทั่วถึง หลายกลุ่มคนจึงเริ่มหาทางออกโดยการพึ่งพาตัวเอง เพื่อประคองปัจจุบันเอาไว้กอบกู้สถานการณ์ในอนาคต และภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 “กองทุนภาคประชาสังคม” ซึ่งเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นมาสนับสนุนกลุ่มคนที่มองเห็นปัญหา และอยากมีส่วนร่วมแก้ไข รวมไปถึงอยากหาหนทางในการพัฒนาสังคมมิติต่าง ๆ ได้ให้การสนับสนุนกิจกรรม โครงการด้านความมั่นคงทางอาหารมากถึง 12 โครงการ ครอบคลุม 6 จังหวัด ทั่วทุกภูมิภาค ด้วยงบประมาณ 240,000 บาท
และเรื่องราวต่อจากนี้ อาจมีแนวทางให้ทุกคนได้หวังอยู่บ้าง ว่าถ้าหากเกิดการระบาดขึ้นอีกครั้ง และวิถีชีวิตไม่สามารถดำเนินได้ตามปกติ การกลับมาตั้งหลักด้วยแนวทางรวมกลุ่มเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ตัวเอง และชุมชน จะเป็นหนทางสำคัญให้สังคมไทยข้ามพ้นวิกฤตไปด้วยกัน
เมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง
เดิมทีจังหวัดสุรินทร์ ถูกขนานนามให้เป็นเมือง “เกษตรอินทรีย์” แต่ในยุคสมัยที่วิถีเกษตรกำลังเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมเกษตร การเก็บเมล็ดพันธุ์ เพื่อเพาะปลูกทำได้ยากพอกันกับการลงแปลงปลูก ประคบประหงมให้ผลผลิตนั้นเติบโต ที่ตำบลอู่โลก อำเภอลำดวน หากมองจากแผนที่ประเทศไทย อยู่ใกล้ชายแดนกัมพูชา มากกว่าใกล้กับกรุงเทพมหานครเสียอีก แต่ระยะทางไม่ได้เป็นเหตุผลหลัก ที่ประชากรหลายร้อยคนของตำบลนี้ “ตกหล่น” หลุดพ้นจากสายตาการช่วยเหลือของรัฐบาล ทั้งเงินเยียวยา 5,000 บาท และเงินอุดหนุนเกษตรกร(ที่ล่าช้า)
กลุ่มนิเวศน์เกษตรศิลป์ จึงได้เริ่มชักชวนเด็กเยาวชน ซึ่งเป็นลูกหลานคนในตำบล ร่วมกับอาสาสมัครกว่า 10 ครอบครัว หรือมากกว่า 20 คน ดำเนินโครงการสวนผักครอบครัวยิ้ม โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมเมล็ดพันธุ์ ไม่ใช่เพื่อคนเพียง 10 หลังคาเรือน แต่เพื่อแจกจ่ายให้กับ ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ไม่ต่างจากการแจกหน้ากากอนามัย
พวกเขาหวังว่า อย่างน้อยหากการเจริญงอกงามของผลผลิตไม่เป็นอย่างที่หวังก็ยังมีพื้นที่สร้างสรรค์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเกษตร และอย่างยิ่งปลูกเพื่อส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนมี “ไม้แดก” ไว้หากินยามลำบากเช่นนี้ และเป็นการพยุงพื้นที่สีเขียวของเมืองเกษตรอินทรีย์จังหวัดสุรินทร์ ให้คงอยู่อย่างมีคุณภาพต่อไป จนถึงวันนี้จากเพียงไม่กี่ครอบครัว กลายเป็นมีผู้ได้รับประโยชน์จากการ “เพาะพันธุ์” ครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 110 คน ใน 60 ครอบครัวแล้ว
ขณะที่จังหวัดเชียงราย ภายหลังประเทศไทยมีการประกาศพระราชกำหนดฉุกเฉิน เกิดภาวะบังคับให้ปิดสถานประกอบการ และสร้างอุปสรรคในการเดินทางของประชาชน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อครอบครัวแรงงานรับจ้างกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมืองและแรงงานอพยพเป็นอย่างมาก เฉพาะอย่างยิ่งประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสิทธิทั้งสถานะบุคคล จนไม่ต้องพูดถึงความช่วยเหลือ /เยียวยาจากกองทุนต่าง ๆ ของรัฐ
จึงได้เกิดโครงการศึกษาพัฒนาพันธุ์พืชพื้นบ้านและเกษตรอินทรีย์ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ปลอดภัยขึ้น ในบ้านพักศูนย์การเรียน ครอบครัว และชุมชนของเด็กชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองขึ้น โดยใช้ศูนย์การเรียนม่อนแสงดาววิชชาลัย ต.ดอยลาน อ.เมือง จ.เชียงราย เป็นศูนย์กลาง เพื่อทำให้ เด็กเยาวชนและครอบครัวกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 40 คน ได้เรียนรู้ ริเริ่มจัดเก็บดูแลรักษา เมล็ดพันธุ์ พันธุ์พืช พันธุ์ไม้พื้นบ้าน เพื่อสร้างคลังอาหารพื้นเมืองหล่อเลี้ยงพวกเขาในยามที่ปราศจากการช่วยเหลือ
จากรายงานจนถึงเดือนกรกฎาคม พวกเขามีเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น ซึ่งจัดเก็บไว้ได้จำนวนไม่น้อยกว่า 50 ชนิด แต่ที่สำคัญ ภายหลังจากเมล็ดพันธุ์สมบูรณ์นั้นแตกใบกลายเป็นพืชผัก ก็ช่วยให้พวกเขาผ่านสถานการณ์ยากลำบากนี้ไปได้อย่างน้อยก็ในแต่ละวัน
เกษตร Part time
มือคู่ที่เคยหยิบจับชิ้นส่วนละอันพันละน้อยในโรงงานเป็นประจำ ตั้งแต่เวลา 7 โมงเช้าไปจนถึง 5 โมงเย็น เมื่อมีคำสั่งชะลอการผลิต งานการซึ่งเคยเหนื่อยหน่าย กลับเป็นประกายความหวังเดียวในการเลี้ยงดูชีวิตของพวกเขา จนวินาทีที่เกินฝืน โรงงานและอุตสาหกรรมหลายแห่งในแถบปริมณฑล และชานเมืองกรุงเทพมหานครถูกปิด แรงงานและฉันทนาสาวเย็บผ้าหลายร้อยชีวิตถูก “ลอยแพ” เมื่อถึงที่สิ้นสุดแห่งความจำทน ใครจะรู้ว่าคนเราสามาถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้
ในชุมชนเคหะชุมชนร่มเกล้า, แฟลตเอื้ออาทรลาดกระบัง, และชุมชนหลังคาแดง ซึ่งถูกนับเป็นพื้นที่แออัดด้วยจำนวนประชากรมากกว่า 3,000 ครัวเรือนกว่าครึ่งนั้นเป็นกลุ่ม “แรงงานนอกระบบ” ที่ไม่ได้มีชีวิตผูกติดกับสวัสดิการใดจากรัฐ บ้างรับจ้างเหมาค่าแรงรายวัน บ้างเป็นฉันทนารับช่วงต่อมาเย็บผ้าโหล บ้างเป็นพนักงานร้านอาหาร บ้าง...เป็นพนักงานบริการ
จากการประสานความร่วมมือผ่านคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบกรุงเทพมหานคร ทั้ง 3 ชุมชน กำลังดิ้นรนด้วยการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างใกล้ศูนย์กลางของประเทศ ให้กลายเป็นแปลงเกษตรเพื่อชุมชน โรงเรือนเลี้ยงเห็ดให้คนในชุมชนที่ขัดสนได้มาอาศัยนำไปกิน ทั้ง 3 พื้นที่ได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารจากกองทุนภาคประชาสังคม ระหว่างดำเนินการ เราได้เห็นเกษตรกรที่ไม่คุ้นเคยกับดินมากหน้าหลายตาหมุนเวียนกันมาช่วยเตรียมแปลงปลูก ทั้งในยางรถยนต์ ในบ่อซีเมนต์ ไปจนถึงการเตรียมแปลงปลูกบนลังโฟม
ด้วยข้อจำกัดเชิงพื้นที่ แต่ไม่มีข้อจำกัดด้านแรงงานและจิตใจ หลังฝนแรกกรกฎาคมนี้ทิ้งช่วงไป พวกเขาหวังว่าอย่างน้อย 388 หลังคาเรือน กับอีก 48 ห้องพักบนตึกเอื้ออาทรระแวกเดียวกันนี้ จะไม่ต้องมีใครเดือดร้อนเพราะความหิวโหยอีก
เช่นกันกับภูธร เพราะไม่ใช่ทุกคนจะเกิดมาเป็นเกษตรกรได้ บ้านพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิเด็กชนเผ่าลุ่มน้ำโขง กำลังปรับพื้นที่โดยรอบบ้านกลางนา หมู่ที่ ๕ ตำบลป่าซาง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ให้กลุ่มเป้าหมายพี่ชาวอาข่า ผู้ไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง ทั้งเข้าไม่ถึงสิทธิการช่วยเหลือจากรัฐ 2 แปลง แบ่งเพาะพันธุ์พริก และปลูกผักโตไว เพื่อให้เด็กและครอบครัวมากกว่า 10 หลังคาเรือน ผ่านพ้นวิกฤตการทางอาหารครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน
ไม่ต่างจากศูนย์พัฒนาการศึกษาเพื่อลูกหญิงและชุมชน และโฮงเฮียนเกิ่งวัน บ้านผาแตก มีกลุ่มเด็กเยาวชนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา ซึ่งมาจากครอบครัวกลุ่มผู้อพยพจากประเทศพม่า รวมทั้งชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงที่สนใจไม่น้อยกว่า 50 ครอบครัว ที่ได้ลงแรงเริ่มเพาะปลูกเพื่อรอวันเก็บเกี่ยวผลผลิตกันไปแล้ว
ผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่เด็ก เยาวชน หรือคนวัยทำงาน แต่ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในหลายหมู่บ้าน ก็ตกกระไดพลอยโจนกันไปด้วย กลุ่มน้ำกว๊านสีรุ้งจังหวัดพะเยา ซึ่งตั้งแต่เริ่มมานั้น ถนัดงานด้านส่งเสริมคุ้มครองสิทธิในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และงานสนับสนุนการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถึงวันนี้ ต้องออกสำรวจและรวบรวมกลุ่มผู้สูงอายุ จากบ้านภูเงิน ตำบลแม่ปืม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยากว่า 70 คน สะบัดแข้งขา ลุกขึ้นมาจับจอบจับเสียม ปลูกผักกินเพื่อแบ่งเบาภาระของลูกหลาน แม้ผ่านฝนแดดและมีประสบการณ์มาหลายปี แต่เสียงบ่นจากผู้สูงอายุหลายคนในชุมชนส่งมาว่า “ตั้งแต่มีนาคมมานี้ผลผลิตไม่ได้ดั่งใจหวัง ซ้ำเติมกันเข้าไป แต่ยังดีที่ไม่แปลงล่ม ยังพอเหลือให้แบ่งกันกินบ้าง”
การตลาดเพื่อแบ่งปัน
ทุกเช้าวันพุธตั้งแต่เวลา 09.00 น. ที่กาดก้อมหริภุญชัย หรือตลาดนัดสีเขียวจังหวัดลำพูน จะเป็นศูนย์รวมผลผลิตเกษตรอินทรีย์ และเป็นสถานที่ให้เกษตรกรจากเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดลำพูน ได้มาจัดจำหน่ายผลผลิตจากแปลงเกษตร เป็นพื้นที่ซื้อขายโดยตรงให้แก่ผู้บริโภค บรรยากาศเป็นไปอย่างอบอุ่น ได้รับการสนับสนุนด้วยดีมาโดยตลอด กระทั่งมีคำสั่งและมาตรการเข้มงวด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ทำให้ความซบเซาเข้ามาตีสนิทกับเกษตรกร และผู้บริโภค สมาคมเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดลำพูน จึงได้ขอรับการสนับสนุนทุนจากกองทุนภาคประชาสังคม ในการนำเงินไปบริหารจัดการตลาด ตั้งจุดล้างมือชนิดเท้าเหยียบ จุดคัดกรองโควิด สนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันโควิด และติดป้ายประชาสัมพันธ์ให้เฝ้าระวังระหว่างจับจ่ายใช้สอย เรียกความคึกคักกลับมาสู่ตลาดนัดสีเขียวได้อีกครั้ง เป็นหนึ่งในตลาดที่ขานรับวิถีจับจ่ายแบบ New Normal ได้เป็นอย่างดี
ครั้งนี้ ทำให้ครอบครัวเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ 12 หลังคาเรือน ไม่ต้องแหวกว่ายในวังวนความเดือดร้อนนานเกินไป นอกจากสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคแล้ว ยังอำนวยความสะดวกให้กับมาตรการควบคุมโรคต่าง ๆ ของรัฐอย่างไม่ย่อหย่อน
แต่การตลาดเพื่อแบ่งปัน ไม่ได้จำกัดในรูปแบบของ “ตลาดนัด” เท่านั้น เมื่อชมรมคนพิการ ชมภูม่วนใจ จากอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากได้รับการสนับสนุนให้ชักชวนคนพิการ ผู้ดูแล และครอบครัวคนพิการในตำบล 10 ครัวเรือนมาปลูกผักเพื่อหากินกันในครอบครัวแล้ว ยังได้มีการวางแผนเพื่อเริ่มดำเนินภารกิจด้านการตลาด หวังให้คนพิการมีงานทำ และสร้างกลุ่มผู้บริโภคที่ร่วมรับผิดชอบความเสี่ยงของเกษตรกร
โดยดำเนินโครงการปันด้วยใจให้ด้วยรัก มีการบริหารจัดการแบ่งช่วงเวลาการผลิตในกลุ่มเกษตรกรและครอบครัวคนพิการทั้ง 10 ครอบครัว พร้อมกับเปิดรับสมาชิกผู้บริโภคที่พร้อมจ่ายค่าผักล่วงหน้า จากนั้นเมื่อผลผลิตงอกงามจากมือผู้ปลูก จะทำการจัดส่งผักที่ปลูกได้ให้ผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกทุกสัปดาห์
ซึ่งเป็นการนำแนวคิดการตลาดแบบสมัยใหม่ แบบแบ่งปัน และเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เน้นให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งหากประสบความสำเร็จ นอกจากคนพิการในตำบลสารภีจะมีรายได้แล้ว ยังเป็นการทำให้เกิดการแก้ปัญหาขาดแคลนอาหารของคนเมืองอีกด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับครอบครัว ชุมชน จากการสนับสนุนของกองทุนภาคประชาสังคมเท่านั้น นอกจากนี้ภารกิจของกองทุนฯ ยังสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการเฝ้าระวัง ติดตามปัญหาคอรัปชั่นในพื้นที่ / สนับสนุนการตรวจสอบและแก้ปัญหาผลกระทบจากการพัฒนา ทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสนับสนุนนวัตกรรมต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาของสังคมด้วย
ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดการเปิดรับโครงการได้ที่แฟนเพจไทยแอ็ค หรือเว็บไซต์ www.thaicivilsociety.com และ www.thethaiact.com