ปปช.ภาคประชาสังคม
ขบวนการตาสัปปะรดเพื่อลดการทุจริตในท้องถิ่นจังหวัดร้อยเอ็ด
เสาไฟฟ้าสาธารณะต้นละ 800,000 บาท แพงเกินไปหรือไม่ ?
หากเราลองก้าวเท้าออกไปมองเสาไฟฟ้าหน้าบ้าน แล้วตั้งคำถามว่า เสาไฟหนึ่งต้นมูลค่าจะสักเท่าไหร่ อาจได้คำตอบในใจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังถูกตรวจสอบโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดร้อยเอ็ด คือ เสาไฟฟ้ารูปโหวด 3 ต้น บริเวณเขตเทศบาลเมืองซึ่งสนนราคาต้นละ 8 แสนบาท
แม้อาจจะเป็นหนึ่งจุดสนใจเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่กับความคุ้มค่าและประโยชน์ใช้สอยจึงเป็นที่มาของการตั้งคำถาม และคำถามนั้นถูกส่งเสียงจากเครือข่ายป.ป.ช.ภาคประชาสังคม จังหวัดร้อยเอ็ด โดย ดร.อุปกรณ์ ดีเสมอ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายป.ป.ช.ภาคประชาสังคมฯ กล่าวว่า “เรื่องเสาไฟฟ้านี้ สุดท้ายเราไม่ใช่คนตัดสิน ว่ามันคุ้มหรือไม่ เพราะเป็นหน้าที่ของ ปปช. ซึ่งตอนนี้เรื่องก็อยู่ระหว่างการติดตามตรวจสอบ เราทำงานแบบนี้ในนามของประชาชน ที่ต้องเป็นคนตั้งคำถาม เพื่อให้หน่วยงานในท้องถิ่นทำงานอย่างรอบคอบโปร่งใส และนำมาซึ่งประโยชน์สาธารณะจริง ๆ”
เมื่อสอบถามถึงการทำงานของเครือข่ายป.ป.ช.ภาคประชาสังคมฯ จึงได้ทราบว่า เป็นการรวมตัวกันของประชาชนมากกว่า 600 คน ครอบคลุมทุกตำบลทั้ง 193 แห่ง ในจังหวัดร้อยเอ็ด สมาชิกของพวกเขามีทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคนที่มีใจหรือจิตอาสา โดยดร.อุปกรณ์ อดีตข้าราชการเกษียณหนึ่งในผู้ร่วมริเริ่มเรื่องนี้เล่าถึงที่มาที่ไปว่า
“การทำงานของเราเริ่มจากพัฒนาคนในพื้นที่ทุกตำบล เพื่อให้ขึ้นมาเป็นแกนนำในการช่วยสอดส่องดูแล 2 เรื่องสำคัญ คือ การใช้งานและครอบครอง ห้วย หนอง คลอง บึงที่เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ รวมทั้งติดตามการก่อสร้างซึ่งไม่จำกัดว่าต้องเป็นภายใต้การดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่เมื่อมีการก่อสร้างในพื้นที่ เขาจะต้องช่วยกันดูแล เพราะพวกเขาคือผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรง และต้องเรียนว่า เราไม่ได้มีหน้าที่เดินเข้าไปขอตรวจสอบ แต่พวกเราเป็นทีมงานสังเกตการณ์ คอยสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิด หน้าที่หลักหลังจากสอดส่องแล้วหากพบข้อพิรุธ จะทำการบันทึกข้อมูลเพื่อส่งต่อไปที่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับจังหวัดเพื่อให้ทำการตรวจสอบ”
หลังจากเริ่มทำงานครบ 3 ปี เครือข่ายป.ป.ช.ภาคประชาสังคมร้อยเอ็ด พบความสำเร็จที่น่าสนใจ ด้วยเหตุที่มีโครงการซึ่งผ่านการจับตา ติดตามโดยพวกเขามากกว่า 80% นำไปสู่การแก้ไขในทางที่ดีขึ้น และหากนับเป็นจำนวนนับ พวกเขาได้ติดตามมาแล้วมากกว่า 1,000 โครงการ จากคำอธิบายของ ดร.อุปกรณ์
“ที่บอกว่า 80% นำไปสู่การแก้ไขในทางที่ดีขึ้น ไม่ได้หมายความว่ามันจะถูกแก้ไขให้เป๊ะ ๆ เพราะบางที สิ่งที่ถูกแก้ไขอาจจะไม่ได้สมบูรณ์ดังใจ แล้วในหนึ่งปีเราวางแผนกันไว้ว่า อย่างน้อยต้องเฝ้าดูโครงการตรวจสอบสาธารณะประโยชน์ของแผ่นดิน 100 แห่ง และจับตาดูโครงการก่อสร้างของรัฐ 300 จุด ... คือถ้ามีคำถามว่าโห ทำไมตั้งเป้าเยอะจัง ต้องบอกว่าทุกวันนี้ภายใต้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ เขาให้ท้องถิ่นสรุปโครงการต่าง ๆ แล้วนำขึ้นแสดงบนเว็บไซต์ ซึ่งมันก็มีข้อมูลในแต่ละปี มีปริมาณให้เราเห็นอยู่แล้ว และจังหวัดร้อยเอ็ดใหญ่ติดหนึ่งในสิบของภาคอีสาน มีประชากรโดยประมาณเกือบ 1.3 ล้านคน เป้าหมายที่เราวางเอาไว้เลยไม่ได้เกินเลยจากความเป็นจริง และยิ่งต้องเพิ่มความร่วมมือจากคนในชุมชนให้มากขึ้น เพื่อครอบคลุมครบถ้วนทุกโครงการด้วยซ้ำ หากทำได้”
จากตัวเลขสถิติ จึงเป็นที่มาของการสอบถามถึงแนวทางการทำงาน เพราะหากสังเกตจะพบว่า เครือข่ายป.ป.ช.ภาคประชาสังคมร้อยเอ็ดไม่ได้เพียงเฝ้าจับตาโครงการขนาดใหญ่ซึ่งมีมูลค่าสูงเท่านั้น ยังผูกพันไปถึงการดูแลพื้นที่สาธารณประโยชน์ และพร้อมติดตามโครงการที่อาจส่อต่อการทุจริต แม้โครงการจะถูกจัดสรรภายใต้งบประมาณเล็กน้อยด้วย
“สำหรับพวกเรา แนวทางการทำงานเบื้องต้นมีสองส่วนคือ ดูโครงการที่มีการจัดจ้างราคาสูงมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ก็เหมือนพวกเราเข้าใจกันแหละ ไม่ใช่ไอ้โครงการต่ำกว่าล้านจะได้มาตรฐาน จึงต้องหมั่นสุ่มขึ้นมาดูด้วย แล้วยิ่งโครงการของรัฐที่ต่ำกว่าห้าแสนเปิดช่องให้ใครมาทำสัญญาก็ได้ ยิ่งต้องคอยสังเกต... ถ้าให้ตอบชัด ๆ ว่าใช้แนวทางไหน คือ ใช้ทั้งตัวเลขและความรู้สึก เพราะหลายโครงการมันก็อยู่หน้าบ้านสมาชิกเรา แค่เดินออกไปไม่กี่ก้าวก็มองด้วยตาเปล่าเห็น มันจึงจำเป็นต้องคอยสอดส่องดูแล”
ความสำเร็จของการรวมกลุ่มประชาชนเพื่อติดตามป้องกันการทุจริต อาจไม่สามารถตีเป็นมูลค่าตัวเลข เพราะพวกเขาไม่ใช่ผู้ตัดสิน แต่การตั้งคำถามทำให้ประชาชนมาร่วมกันเกาะติด และรับรู้ถึงกระบวนการพัฒนาท้องถิ่นซึ่งประชาชนเป็นผู้ร่วมใช้ประโยชน์จึงสำคัญกว่า
แม้ขณะนี้ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดว่า เสาไฟฟ้าสาธารณะต้นละ 800,000 บาท แพงไหม ? แต่ในสายตาของประชาชนบางกลุ่ม นั่นหมายถึงการใช้เงินงบประมาณโดยไม่คุ้มค่า ... ในท้ายที่สุด ดร.อุปกรณ์ ดีเสมอ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายป.ป.ช.ภาคประชาสังคม จังหวัดร้อยเอ็ด ย้ำเรื่องสำคัญว่า
“การทำงานของเราไม่ได้มุ่งจับผิดใคร แต่เราเป็นตัวแทนของผู้จะใช้หรือรับประโยชน์จากสิ่งที่หน่วยงานรัฐกำลังทำให้ ซึ่งต้องได้ความคุ้มค่าและมาพร้อมการใช้จ่ายเงินภาษีที่ไม่ทุจริต”