เมื่อทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็น คนไร้บ้าน
ถอดความจากการล้อมวงคุยกับเครือข่ายคนไร้บ้าน - ความเป็นธรรมทางสุขภาพของประชากรกลุ่มเฉพาะ
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย อาทิ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการสำรวจแจงนับภาพรวมประชากรคนไร้บ้านทั้งประเทศไทย ในพื้นที่สาธารณะและศูนย์พักคนไร้บ้านต่าง ๆ พบว่ามีคนไร้บ้านในประเทศไทยอยู่ราว 2,719 คน จนมาถึงสถานการณ์โควิด-19 ก็ยิ่งเเนวโน้มเพิ่มปริมาณมากขึ้น
แม้ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายจะกลายเป็นรูปธรรมการให้ความช่วยเหลือทั้ง โครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง การจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน แต่เป็นเพียงการบรรเทาปัญหา เพื่อให้คนไร้บ้านได้รับการดูแลเพียงช่วงหนึ่ง
และเพื่อหารือแนวทาง โดยนำข้อมูลการจากสำรวจมาแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น รวมถึงทบทวนการเรียนรู้ปัญหาคนไร้บ้านร่วมกัน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ศูนย์พัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านปทุมธานี (บ้านพูนสุข) ได้จัดเสวนาล้อมวงคุย “ความเป็นธรรมทางสุขภาพของประชากรกลุ่มเฉพาะ และ เรื่องราวของคนไร้บ้าน” ร่วมด้วย สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. (สน.9) มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ภาคีเครือข่ายภาควิชาการ และภาคประชาสังคมจากทุกภูมิภาค
โดยสมพร หารพรหม เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวถึงคนไร้บ้าน ให้ฟังว่า เป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการของรัฐ เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า ทะเบียนบ้าน หรือกลุ่มที่ไม่มีบัตรประชาชน โดยทางมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยมีการสำรวจจำนวนคนไร้บ้านมาตั้งแต่เริ่มทำงานปี พ.ศ.2544 แต่เป็นการสำรวจเฉาะพื้นที่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ จนถึงปี พ.ศ.2562 จึงขยายการสำรวจร่วมกับองค์กรต่าง ๆ 662 องค์กรทั่วประเทศ ทำให้ได้ทราบถึงข้อเท็จจริงว่า คนไร้บ้านมีอยู่ทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่ในเมืองใหญ่
“แม้คนไร้บ้านทั่วประเทศเราจะมีไม่เยอะถ้าเทียบกับประเทศอย่างญี่ปุ่น ซึ่งเฉพาะเมืองโตเกียวมี 33,000 คน แต่ทำไมรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงการแก้ปัญหาคนไร้บ้านไม่ได้ ซึ่งแต่ก่อนเราอาจเข้าใจว่าคนไร้บ้านคือคนที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจเลยต้องมานอนพื้นที่สาธารณะ แต่เอาเข้าจริงหลังจากเราได้ลงพื้นที่ไปพูดคุย เราได้ทราบว่า คนไร้บ้าน 1 คน ไม่ได้มีปัญหาเดียวแต่มีหลายปัญหาซ้อนทับกัน บางคนหางานไม่ได้ หรือได้งานแต่โดนโกง อายตัวเอง รู้สึกท้อ ไม่มีรายได้ ก็เริ่มอาศัยพื้นที่สาธารณะ คือตอนแรกเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ต่อมาเกิดปัญหาล้มเหลวภายใน ปัญหาทางสังคมไม่กล้ากลับบ้าน และยังไม่รวมถึงปัญหาอื่น อย่างความพิการกาย หรือพิการจากจิต ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้คนหลุดออกมาเป็นคนไร้บ้าน ซึ่งทำให้เราได้คำตอบว่าทำไมรัฐบาลถึงแก้ปัญหานี้ไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาที่ซ้อนทับและเชื่อมโยงไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้ประเด็นคนไร้บ้านไม่ได้ถูกหยิบยกและเอาเป็นประเด็นสำคัญ” นายสมพร กล่าว
หลังจากการลงพื้นที่ทำงานของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย พบว่ามีคนจำนวนมากที่ยังติดภาพว่าคนไร้บ้านหรือบางคนอาจติดภาพว่าเป็นคนเร่ร่อน จรจัด เป็นกลุ่มคนที่ต้องสงเคราะห์ให้ความช่วยเหลือ เป็นต้นว่า ไม่ที่อยู่ หาที่อยู่ให้ ไม่มีงาน หางานให้ แต่ไม่ได้ถามว่าเขาอยากทำหรือเปล่า หรือได้สอนเขาไหม ซึ่งการทำงานของมูลนิธิที่ผ่านมา ได้พยายามทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพยายามปรับความเข้าใจ ทำงานแบบบูรณาการ อย่างเช่น พี่น้องคนไร้บ้าน จ.ปทุมธานี ที่ไม่มีบัตรประชาชน เราก็ทำงานร่วมกับเครือข่ายคนไทยไร้สิทธิและเทศบาลรังสิตเพื่อทำบัตรประชาชนให้ ก็เป็นการทำงานที่เชื่อมภาคีกัน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาและสร้างกลไกระดับพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้านให้เข้าถึงระบบสวัสดิการต่างๆ ของรัฐได้
“หรืออย่างการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูฯ คนไร้บ้าน เช่น ศูนย์พัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านปทุมธานี เราก็มีการจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้คนไร้บ้านสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น ๆ ในสังคม มีที่พักพิง ไม่ต้องเร่ร่อนนอนตามที่สาธารณะ แทบทุกเดือนที่นี่จะมีคนไร้บ้านมาอยู่แบบชั่วคราวเป็นส่วนใหญ่ ศูนย์นี้จะมีความพิเศษตรงที่มีพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ ข้อเสียก็คือว่าการเดินทางค่อนข้างลำบาก ไม่ค่อยสอดคล้องกับพี่น้องคนไร้บ้านที่อยู่ในเมืองเท่าไหร่ ศูนย์แห่งนี้เลยจะรองรับพี่น้องในย่านรอบนอก อย่าง รังสิต ดอนเมือง ที่นี่สามารถรองรับได้ประมาณ 700 คน แต่ที่ผ่านมามีแค่ 40-50 คน ปัจจุบันเหลืออยู่ 24 คน ช่วงโควิดพีคสุดมีมาอาศัย 50 กว่าคน แต่จะมีหลายกลุ่ม เพราะว่าเราทำเป็นศูนย์พักคอย เพื่อรอการส่งต่อการรักษาตามสิทธิด้วย อันนี้ก็เป็นสถานการณ์ที่ผ่านมาที่ศูนย์ของเราช่วยเหลือพี่น้องในช่วงยากลำบาก นอกจากการช่วยเหลือทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย ที่นี้ก็จะเป็นพื้นที่ในการพัฒนาเรื่องคุณภาพชีวิตด้านอาชีพ กับสุขภาวะด้านสุขภาพ เพราะเราทำงานเชื่อมกับหลายส่วน แต่เน้นในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีเป็นหลัก” นายสมพร กล่าว
ทางด้าน อนรรฆ พิทักธานินท์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนิยามคนไร้บ้านว่า คือกลุ่มประชากรที่ขาดแคลนปัจจัย 4 โดยเฉพาะในด้านที่อยู่อาศัย หรืออาจมีบ้าน แต่มาใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะ เนื่องจากขาดแคลนความมั่นคงทางชีวิตและรายได้ ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจด้วยวิธีแจงนับปี พ.ศ. 2562 ทำให้ได้เห็นภาพรวมของคนไร้บ้าน ขณะเดียวกันก็ได้ทำงานเชิงวิจัย เพื่อให้ได้ข้อมูลวิชาการเชิงลึก เพื่อทำงานเชิงนโยบายให้มีประสิทธิภาพ จนพบข้อมูลว่ากว่า 30% ของคนไร้บ้านที่ย้ายถิ่นฐานจากต่างจังหวัด เข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ ได้กลับบ้านปีละครั้ง และหลายเคสที่บ้านก็ไม่รู้ว่าตัวเขาไร้บ้าน รวมถึงตัวเลขของคนไร้บ้านช่วงก่อนโควิด-19 คนที่ออกมาเป็นคนไร้บ้าน อายุอยู่ระหว่าง 45-50 ปี เพราะเป็นช่วงอายุที่หากตกงานแล้วจะมีปัจจัยด้านอายุหรือด้านสุขภาพมาเป็นตัวแปรในการได้รับเลือกทำงานอีกครั้ง ทำให้ประสบกับปัญหาในการเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยอันมั่นคงได้
อนรรฆ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ข้อมูลเชิงลึกทางวิชาการ เป็นปัจจัยสำคัญในการทำงาน และการจัดวงคุยกับภาครัฐ ภาคประชาสังคมต่าง ๆ เพื่อนำไปออกแบบนโยบายตได้ เช่นในอดีต เวลาเรามองว่ากลุ่มคนไร้บ้านเป็นกลุ่มเดียว แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เรามีงานวิจัยที่ทำให้เห็นว่า คนไร้บ้านมีทั้งกลุ่มคนไร้บ้านถาวร และคนไร้บ้านหน้าใหม่ ซึ่งจากการทำงานเราจะเห็นได้ชัดว่า คนไร้หน้าใหม่ที่เพิ่งไร้บ้านปีสองปี มีความพยายามอยากกลับไปมีที่อยู่อาศัย แต่หลายเคสที่เป็นคนไร้บ้านถาวร ความหวังน้อยลง ความมั่นใจในตัวเองก็น้อย
ซึ่งงานวิจัยทางวิชาการทำให้เราได้ทราบว่า นอกจากความช่วยเหลือและแก้ปัญหา ป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านถาวร ยังต้องฟื้นฟูสภาพจิตใจควบคู่ไปด้วย คืองานวิชาการจะไม่มีคุณค่า ถ้าไม่ถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือ ให้พี่ๆ น้อง ๆ เครือข่ายคนไร้บ้านได้เอามาพูดคุยกัน เพื่อหาทางแก้ปัญหาเชิงนโยบาย ยกระดับความมั่นคงทางชีวิต เช่น พัฒนาทักษะด้านแรงงานที่เหมาะสมกับแต่ละบริบทพื้นที่ หรือ การจัดหางานที่เหมาะกับทักษะในรูปแบบต่าง ๆ”
ขณะที่ ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) กล่าวถึงภารกิจว่าเป็นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ พร้อมกับระบุด้วยว่าสำหรับทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทย โดย สสส. ตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสุขภาพ ที่ผ่านมา สสส.ได้ร่วมส่งเสริมเครื่องมือในการสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้าน ทั้งให้ความสำคัญต่อข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ รวมถึงข้อมูลเรื่องสถานะสุขภาพ ก็เป็นสิ่งสำคัญต่อการออกแบบกระบวนการสร้างเสริมสุขภาวะของคนไร้บ้าน ในการฟื้นฟูศักยภาพ เพื่อให้คนไร้บ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ และกลับคืนสู่คุณภาพชีวิตที่ดีได้โดยเร็ว
ภรณี ยังกล่าวถึงเป้าหมายการทำงานร่วมกับเครือข่ายไร้บ้าน เพิ่มเติมว่า
“เราคงไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าถ้าสำเร็จ จะไม่มีคนไร้บ้านในสังคมไทย เพราะเราไม่เชื่อว่าไม่เป็นแบบนั้น ในประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก ก็ยังมีคนออกมาอาศัยในพื้นที่สาธารณะ เพราะการไร้เป็นคนบ้าน เป็นการตัดสินใจของคนไร้บ้านเองว่าต้องการจะกลับไปอยู่บ้านหรือในสังคมเดิมหรือเปล่า ถ้าต้องการสิ่งนั้นเราก็พร้อมจะเติมเต็มให้ แต่ถ้าเกิดไม่ต้องการ เขาก็ควรเป็นคนไร้บ้านที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือมีทางเลือกที่อยู่อาศัยที่มั่นคงขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราเคารพการตัดสินใจของคนไร้บ้านที่มีสิทธิตัดสินใจในชีวิตในเนื้อตัวของตัวเอง”
อย่างไรก็ตาม ในการล้อมวงคุย เพื่อทบทวนการเรียนรู้ปัญหาคนไร้บ้านร่วมกันในครั้งนี้ เครือข่ายคนไร้บ้านเห็นว่า ตัวเลขคนไร้บ้านเป็นตัวสะท้อนความความสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ รวมถึงการแก้ปัญหาคนไร้บ้านต้องมองหลายมิติและใช้ข้อมูลเชิงวิชาการ เพื่อออกแบบกระบวนการส่งเสริมสุขภาวะให้เหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ
อีกทั้งยังวางแนวทางการขยับเป้าหมายต่อไป ว่านอกจากทำงานกับคนไร้บ้านเชิงลึกแล้ว ยังต้องการสื่อสารให้ทุกคนได้รับรู้ในวงกว้าง ว่าประเด็นคนไร้บ้านเป็นประเด็นของทุกคน และทุกคนมีความเสี่ยงที่เราจะเป็นคนไร้บ้านได้ เนื่องจากความเปราะบางทางสังคมต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ฉะนั้นหากทุกภาคส่วนในสังคมมองเห็นปัญหาคนไร้บ้านในประเทศไทย ก็จะนำไปสู่การประเมิน วิเคราะห์เพื่อวางแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกันต่อไป
.
.