27 มกราคม 2021

คลองสาน ในวันที่ชีวิตไม่หวนคืน

เสียงจากคนคลองสาน ในวันที่เผชิญความเปลี่ยนแปลง

-1-

“ขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับผลกระทบที่ได้รับจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าหน่อยได้ไหมครับ”

“ไม่เอา ไม่กล้าพูด กลัว”

“กลัวเขามาไล่ที่หรอครับ”

“อืม”

-2-

“ขอสัมภาษณ์...หน่อยได้ไหมครับ”

“พูดไปมันก็ไม่ได้อะไร พูดไปแล้วถ้ามันมีผลกระทบกับพี่จะทำอย่างไร ไม่ต้องมาสัมภาษณ์หรอก คุณดูแล้วคุณก็คิดกันเอาเอง ไม่อยากให้สัมภาษณ์แล้ว..ถ้าอัดเสียงไว้ช่วยลบออกด้วยนะ”

________________________________________________________________

สองฝากฝั่ง ถนนเจริญนคร ที่เปลี่ยนไป

เวลา 8 นาฬิกาของเช้าวันอาทิตย์ที่ฝุ่น PM 2.5 ปกคลุมกรุงเทพฯ เสียงเครื่องจักรขุดเจาะ รถแม็คโครดังระงมไปทั่วย่านคลองสาน เสียงเช่นนี้ก่อตัวมาเป็นระยะเวลา 2-3 ปีแล้ว ตั้งแต่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า ช่วงเวลากลางวันยังพอทน แต่ตกกลางคืนเสียงเครื่องจักรยังคงทำงานสู้เสียงก่นด่าของชาวบ้านไม่หวาดหวั่น ใครทนได้ก็ทน ทนไม่ได้ก็ย้ายออกไป

มาวันนี้รถไฟฟ้าเปิดให้บริการแล้ว แต่การก่อสร้างยังคงดำเนินต่อไป เพราะรถไฟฟ้าทำให้ถนนเจริญนครที่เคยกว้างขวางต้องแคบลง เมื่อถนนแคบจึงต้องมาลงกับทางเท้าเพื่อขอขยายถนน คนค้าขายดั้งเดิมย่อมได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย ทั้งปัญหาฝุ่น เสียงดัง คนเดินเท้าลดน้อยลง หลายคนเลือกที่จะยอมทนต่อไปเงียบ ๆ เพราะรู้ดีว่า เสียงของตนเองนั้นเล็กเกินไป กระทั่งมาพบเจอกับชายสูงวัย ที่อาศัยถนนเจริญนครเป็นที่ทำมาหากินมาร่วม 30 ปี ชายที่ทุกวันนี้บอกกับเราว่า

“ไม่มีอะไรจะให้เสียแล้ว”

: ได้รับผลกระทบอะไรบ้างจากการก่อสร้าง ?
“กระทบสิ รถติดมาก พื้นถนนก็เสีย การค้าก็เงียบ ก็ไม่เห็นจะมีใครมาเยียวยาช่วยเหลือสนใจคนค้าขายรากหญ้าอย่างพวกเราหรอก ลุงเป็นคนท้องที่นี้ อยู่คลองสานมาตั้งแต่อายุ 11 ตอนนี้ 61 ปีแล้ว ตั้งแต่มีการก่อสร้างก็เปลี่ยนไปเยอะ เดือดร้อนกันทั่วหน้า คุณต้องเข้าใจนะ รถไฟฟ้ามันผ่านตลอด คุณค้าขายริมทางแบบนี้รถไฟฟ้ามันจอดให้คุณไหมละ ลูกค้าก็น้อยลง”


: คิดว่าจะยังขายของอยู่ที่นี่ต่อไปไหม ?
“ไม่รู้สิ ดีไม่ดีเขาก็ไล่ที่ เพราะในเมื่อขยายถนนมา ทางเท้าไม่มีเขาก็ต้องขอคืนหมด ถามว่าเขานำความเจริญเข้ามามันก็มี 2 แง่ 2 มุม ระดับคนมีเงินเขาก็บอกดี แต่คนที่หากินอยู่แนวริมถนน มันจะดีไหมละ ไม่ได้ผลประโยชน์อะไรกับเขาด้วยเลย ถนนนี่มันของใครกัน ของประชาชนหรือว่าของเขา ผมอยากจะถามเหมือนกันว่ามันของใคร คนมีเงินนี่คุณจะทำอะไรก็ได้


ถ้าวันนี้เขามาไล่ที่ลุงอีก ก็ยังมองไม่เห็นทางเลยนะ ว่าจะไปไหน ก็อาจจะนู่นละ...ไม่ยิงตัวตาย ก็กินยารมควันให้มันตายจะได้จบ ๆ ผมเปิดมา 27 ปีลูกค้าผมเยอะเยะ ถ้าให้ผมย้ายไป ให้ผมต้องไปนับ 1 ใหม่หรอ อายุผมขนาดนี้แล้ว”


: ได้รับความช่วยเหลืออะไรบ้างไหมครับในสถานการณ์แบบนี้ ?
“จะมาช่วยอะไร มันไม่มีช่วยหรอก ขนาดรัฐบาลบอกว่าจะช่วยช่วงโควิด และคนอย่างเราใช้โทรศัพท์เก่า ๆ มันจะได้ไหม มันจะทันเขาไหม ที่แจกเงินกัน มันจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อโทรศัพท์รุ่นใหม่ ทำไมถึงไม่แจกตามบัตรประชาชนอันนี้ผมก็ไม่เข้าใจ ผมไม่ได้แค่ชีวิตเดียวนะ แมวอีก 5-6 ชีวิต”


: อยากจะฝากอะไรกับผู้ที่เกี่ยวข้องไหม
“บอกไปก็เท่านั้น เหมือนเป่าปี่ให้ควายฟัง เขาจะมาสนใจอะไร เรียกร้องไปก็น้ำเน่า เวลาพูดคุณพูดดี แต่ถึงเวลาจริงก็เงียบหาย ความเก็บกดคนเรามันเยอะนะ เมียผมก็เพิ่งตายไป แล้วถามว่าผมจะมีกำลังใจทำอะไรไหม มาเจอสถานการณ์แบบนี้ จะหากินอย่างไร พูดไปน้ำตาแม่งก็ร่วง ระดับรากหญ้ายิ่งหากินยิ่งยาก (เสียงสั่นเครือ) ไม่มีหวังหรอก”


ชายสูงวัยถอดแว่นตา หยิบผ้าเช็ดหน้าค่อย ๆ ซับน้ำตาอย่างช้า ก่อนจะอุ้มแมวตัวโปรดของแกมาไว้ในอ้อมแขน สำหรับผู้ชายหนึ่งคน การร้องไห้ต่อหน้าคนแปลกหน้าไม่ใช่เรื่องที่ใครคงอยากทำ

ชีวิตชายขอบริมกำแพงมหานคร

ข้ามถนนมาอีกฟาก ฝั่งที่ติดห้างใหญ่ ริมทางเท้าถูกสร้างไว้อย่างดีผิดกับอีกฝั่ง บรรยากาศร่มรื่นด้วยต้นไม้ แสงสี บ่งบอกถึงการเป็นแลนมาร์คแห่งใหม่สำหรับมหานครกรุงเทพ ภายใต้กับความหรูหราขนาดใหญ่กลางฝั่งธนบุรี ยังคงหลงเหลือตรอกเล็ก ๆ อาณาเขตอยู่ชิดติดกัน มีเพียงกำแพงสูงใหญ่กั้นไว้ กำแพงที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจนในประเทศแห่งนี้

ทางเดินถูกห้อมล้อมไปด้วยกำแพงสูงทั้งสองฝั่ง ลึกจากริมถนนพอสมควร หากเลี้ยวขวาและเลี้ยวซ้ายเดินเข้าไปในซอยลึกคุณจะเจอกับรั้วสังกะสีเก่า ๆ มีเสื้อผ้าตากอยู่เรียงราย น้ำที่เน่าเสียสีส่งกลิ่นเตะจมูก ขยะเป็นสิ่งประดับประดาสองข้างทาง และหากมองตามเสียงน้ำมันในกระทะกำลังเดือดได้ที่ คุณอาจพบเข้ากับหญิงชราสักคน ที่กำลังยืนทอดไข่ดาว โดยมีหลานสาวยืนมองดูอยู่ไม่ห่างในบ้านหลังเก่าสภาพผุพัง คุณอาจปล่อยภาพเหล่านั้นผ่านสายตาไป

ผมหยุด...เพื่อขอพูดคุยกับเธอ

: ทุกวันนี้ทำอาชีพอะไรอยู่หรือครับ ?
“ป้าขายข้าวแกง ขายต้มเลือดหมู อยู่หน้าปากซอย ตอนนี้ขายได้นิด ๆ หน่อย ๆ เพราะเกิดโควิด เศรษฐกิจไม่ดีด้วย บ้านนี่ก็เช่าเขามา 7-8 ปีแล้ว ปลายเดือนนี้ก็ต้องย้ายไปอยู่ท้ายซอย อนาคตป้าก็ไม่รู้นะว่าเขาจะรื้อหมดไหม คือตั้งแต่เขามีการก่อสร้าง ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงกับชีวิตเราค่อนข้างเยอะ แต่ก่อนเรายังพอขายของริมถนนได้ แต่พอมีการก่อสร้างก็โดนเบียดบัง ที่เคยมีเขาก็ใช้สร้างถนนเบียดเราหมด เขาคงไม่อยากให้เราไปทำมาหากินเกะกะเขา”


: แล้วได้รับความช่วยเหลืออะไรบ้างไหม ?
“ก็ไม่ได้อะไร เขาไม่มาสนใจหรอกว่าใครจะเป็นอะไร ทุกวันนี้ก็อยู่กับพี่สาว หลานอีก 2 คน พ่อแม่มันก็ทิ้งไป คนโตมัธยม 1 คนเล็กอนุบาล 2 เราค้าขายเป็นหลักได้บ้างไม่ได้บ้าง ไม่ได้ก็หากู้ร้อยละ 20 มันไม่มีทางเลือก เดี๋ยวต่อไปเขาก็ขยับเสาไฟฟ้าเข้ามาอีก ทางเดินมันก็ยิ่งแคบลง ก็ยังไม่รู้ว่าจะขายของได้ไหม เพราะอย่างไรเขาก็คงต้องเอาทางเดินไว้ให้คนเดินไปห้างได้สะดวกก่อน”


: แต่การมีห้างสรรพสินค้าขึ้นมา มันก็อาจทำให้เราขายดีขึ้นไม่ใช่อย่างนั้นหรือ ?
“ขายดีน่ะมันแต่ก่อน สมัยมันยังมีก่อสร้างอยู่ ขายพวกคนงานมันขายง่าย แต่คนเดินไปเดินมาก็มีมาซื้อเหมือนกัน แต่ขายยาก เราขายกล่องละ 20 บาท ยังมาต่อเราเหลือ 3 กล่อง 50 บาทอีกคิดดู มันต้องไหวนะทุกวันนี้ เราไม่มีอาชีพสำรอง พูดก็พูดเถอะ เมื่อก่อนขายดีกว่านี้เยอะ ตอนที่ขายต้มเลือดหมู แท็กซี่จอดกินกันเต็ม ตั้งแต่มีการก่อสร้างก็ไม่ได้แล้ว ลูกค้าหายหมดมันจอดรถไม่ได้ ตั้งแต่ช่วงที่เขามาเริ่มสร้างห้าง ป้าเริ่มกู้เงินใช้มาตลอด 7-8 ปีแล้ว ดอกเบี้ยร้อยละ 20 ทุกวันนี้ยังไม่ถูกเขากระทืบก็บุญแล้ว ถ้าไม่กู้ชีวิตมันไปต่อไม่ได้ หลานไปโรงเรียนไม่มีเงิน ยังไงมันต้องให้พอมีเงินมาหมุน ยังนึกในใจ สมัยนี้ใครไม่กู้โคตรเชย ฮ่าๆ ปากกัดตีนถีบกันไป เราใกล้จะหมดแรงแล้ว ไม่รู้จะลุยต่อไปอีกได้แค่ไหน”

คลองสานพลาซ่า กับคืนวันที่ไม่อาจหวนมา

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2552 ก่อนที่รถไฟฟ้าจะมีการเชื่อมต่อจากฝั่งพระนครมาฝั่งธนบุรี ท่าเรือคลองสาน ถือเป็นเส้นทางสัญจรหลักให้คนสองฝากฝั่งได้สัญจรเดินทาง อีกทั้งบริเวณคลองสาน ยังเป็นแหล่งรวมของรถเมล์หลากหลายสาย ให้คนใช้เดินทางเป็นพาหนะหลักในยุคสมัยก่อนมีรถไฟฟ้าเข้าถึง


นอกจากจะเป็นทั้งท่าเรือ ท่ารถหลักในย่านฝั่งธนแล้ว บริเวณท่าเรือคลองสาน ยังเป็นที่ตั้งของ คลองสานพลาซ่า แหล่งช้อปปิ้งชื่อดังของวัยรุ่นในบริเวณนี้ แต่เมื่อวันเวลาเปลี่ยน การดำเนินชีวิตของคนย่อมเปลี่ยนไป ห้างสรรพสินค้า การค้าขายออนไลน์ ได้เข้ามาแบ่งผลกำไรจากธุรกิจในท้องถิ่น ปัจจุบัน คลองสานพลาซ่าจวนใกล้ถึงวันอวสานแล้ว จากคำบอกเล่าของแม่ค้าที่ยังทนอยู่จนถึงวันสุดท้าย

: ขายของที่คลองสาน พลาซ่านี่มากี่ปีแล้ว ?
“ขายมา 10 ปีแล้ว ตั้งแต่เป็นลูกจ้างเขา จนมาลงทุนเปิดร้านขายชุดชั้นในเอง ตอนที่เปิดร้านใหม่ วัน ๆ หนึ่งแทบไม่ได้หยุดเลย ปกติคลองสานพลาซ่าเสาร์-อาทิตย์ คนจะเยอะมาก เดี๋ยวนี้คุณดูสิ มันเงียบมาก การเดินทางของลูกค้าเขาเปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้มีทั้งรถไฟฟ้า มีเรือของทางห้าง แต่ก่อนมีเรือตรงนี้ที่เดียว เขาก็ต้องมาข้ามตรงนี้ ยังพอมีคนเดินผ่านไปผ่านมา เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนก็เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ถ้าจบจากตรงนี้แล้ว เราก็คงจะไปหาอย่างอื่นทำ ที่มันไม่ต้องลงทุนสูง มันก็ใจหายนะเราอยู่มานานร่วม 10 ปี”

: ช่วงนี้ที่ร้านเป็นอย่างไรบ้าง ?
“อีกไม่นานปิดแล้ว ไม่ได้หมายถึงปิดร้านนะ แต่หมายถึงปิดกิจการ เราขายของแทบไม่ได้เลยทุกวันนี้ ค่าเช่าที่ 2 ล็อค เดือนละหมื่นเจ็ด ทุกวันนี้ขายได้วันหนึ่งยังไม่ถึง พัน อันนี้คือสู้สุด ๆ เลยนะตั้งแต่โควิดรอบที่แล้ว แต่พอมาระลอกนี้อีก มันไม่รู้จะสู้ยังไง”


: คนค้าขายมาเจอแบบนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง ?
“มันก็ท้อนะ ถ้ามันไม่ไหวก็ต้องถอย เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น พื้นที่ตรงนี้เราก็ไม่ได้มีหวังแล้วว่ามันจะกลับมาคึกคัก เจ้าของที่เขาก็ไม่ได้รมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ให้มันทันยุคทันสมัย ทุกวันนี้กว่าพี่จะได้เปิดบิล บางทีเที่ยง-บ่ายโมง ทั้งที่เปิดร้านตั้งแต่ 7 โมงเช้า แล้วราคาสินค้าเรามันก็ไม่ได้กำไรสูง ค่าแรงของเราวัน ๆ หนึ่งแทบจะไม่ต้องคิดเลย แค่หาค่าเช่าจ่ายเขาให้ได้ก่อนก็พอทุกวันนี้”

เสียงจากเจ้าของบ้านตัวจริง

แดดยามเที่ยงลอยขึ้นอยู่เหนือศีรษะ เสียงการก่อสร้างซ่อมแซมท่อน้ำประปาใต้พื้นถนนยังดำเนินอยู่ รถของการไฟฟ้าจอดเรียงราย พนักงานจากการไฟฟ้าทำการซ่อมแซมเสาไฟฟ้าอย่างขะมักขะเม่น ถนน 4 เลน ของเจริญนครถูกปิดกั้นให้เหลือเพียง 2 เลน มันแทบจะไม่หลงเหลือรูปรอยของความเป็นถนน เพราะถูกเบียดบังด้วยเครื่องจักรและอุปกรณ์การก่อสร้างต่าง ๆ การก่อสร้างรถไฟฟ้าที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้เดินทางกันได้อย่างสะดวกสบาย ภายใต้ความขมขื่นของอีกหลายชีวิต ที่ทำได้เพียงแค่รอให้ทุกอย่างมันจบลงโดยเร็วที่สุด

: ผลกระทบที่เราได้รับจากการก่อสร้างพวกนี้เป็นไงบ้าง ?
“เสียงดังกลางคืนนอนไม่ได้ 2 ปีแล้ว ร้องเรียนแล้วเหมือนเดิม ไม่ได้แก้ไขอะไรให้ บ้านทรุด ฟุตบาทพื้นแตกร้าวหมด เขาบอกให้รอเสร็จงานทั้งหมดจะมาแก้ไขให้
เราอยู่ตรงนี้มา 12 ปี เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจน อากาศตอนนี้ไม่ดีเลย จากเมื่อก่อนเข้าฤดูหนาวลมจะพัดโชยสบาย ตอนนี้แสงแดดไม่มีเข้ามาเลย ตึกบังลมบังแดดหมดเลย”


: เคยคิดจะย้ายออกไปไหม ?
“ไม่! เพราะเราหากินอยู่ตรงนี้...แต่ต่อให้ไม่มีการก่อสร้างแล้ว เราก็ไม่ได้อานิสงฆ์อะไรกับเขาด้วยเลย ส่วนมากคนเขาเข้าห้าง รถไฟฟ้าก็ส่งคนไปจ่อปากทางเข้าห้าง อยู่ดี ตรงหน้าบ้านเราเขาซ่อมท่อประปาแตกมาหลายรอบแล้ว ถนนหนทางเละหมดเลย จริง ๆ ปัญหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขารู้อยู่แล้ว เขาจะทำหรือไม่ทำมากกว่าแค่นั้นแหละ


: เจอสถานการณ์แบบนี้มีความเครียดบ้างไหม?
“ไม่หรอก เราไม่เครียด มันชินไปแล้ว จะเครียดตรงที่มันหาเงินไม่ได้เท่านั้น ลูกค้าเดินทางเข้ามาไม่ได้ เพราะว่าเขาปิดถนนหมด ใครจะอยากเข้ามา ยิ่งมาก่อสร้างหน้าบ้านเราอย่างนี้ ลูกค้าที่ไหนจะเข้ามา ปิดร้านปิดบ้านไปเลยซะยังดีกว่า มันชินแล้ว เขาก่อสร้างกันจนเราปรับสภาพได้แล้ว ขอแค่ให้เราขายของได้เหมือนก่อนก็พอใจแล้ว”


ธนบุรีในความเปลี่ยนแปลง

นอกจากพื้นที่คลองสานแล้ว ฝั่งธนบุรีหลายพื้นที่ ล้วนต้องพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงผ่านโครงการ สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เมื่อความเจริญแผ่ขยายจากฝั่งพระนคร และพื้นที่บริเวณติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาล้วนเป็นที่หมายตาหของเหล่านักพัฒนาที่ดินทั้งภาครัฐและเอกชน


ชุมชนมัสยิดบางอ้อ ซอยจรัญสนิทวงศ์ 86 เขตบางพลัด เป็นอีกหนึ่งกรณีที่พบเจอการเปลี่ยนแปลง จากโครงการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาของกทม. ที่ส่งผลกระทบกับตัวชุมชนริมแม่น้ำ ทั้งในด้านของปัญหาสิ่งแวดล้อม(น้ำท่วม) ความปลอดภัย(การเข้ามาในชุมชนของคนภายนอก) และการทำลายรากเหง้าความเป็นชุมชนเก่าแก่ คำบอกเล่าของบังดุลย์ อดุลย์ โยธาสมุทร เลขานุการประจำมัสยิดบางอ้อ เล่าให้ฟังว่า


“กระแสความต้องการของสังคม ผู้คนมากมายอยากใช้ชีวิต ทำกิจกรรมติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา การก่อสร้างขนาดใหญ่มากมายจึงเกิดขึ้นสนองความต้องการของคนในสังคม แต่ล้วนส่งผลกระทบต่อผู้คนดั้งเดิมทั้งสิ้น เราจะมีเมืองอนุรักษ์บางส่วนไว้ในกรุงเทพมหานครได้ไหม เรามีย่านธุรกิจอย่างสีลม บางรัก เรามีเขตเกษตรกรรมแถวมีนบุรี หนองจอก เราอยากจะขอบางส่วนของธนบุรีให้เป็นเขตอนุรักษณ์ท้องถิ่นบ้าง”

การอนุรักษ์มิใช่การต่อต้านการเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง สำหรับบังดุลย์การเข้ามาของความเจริญเติบโต ควรอยู่ภายใต้ข้อจำกัดให้ประชาชนคนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วม มันควรเจริญภายใต้เงื่อนไขที่ทุกฝ่ายมีความสงบสุข ไม่ใช่นึกอยากจะทำอะไรก็ทำโดยไม่คำนึงถึงคนที่อยู่มาก่อน


“เวลาเราเดินทางไปที่ไหน เราก็อยากเห็นความเป็นมา พัฒนาการของเขา ไม่ใช่เห็นเพียงความเติบโตศิวิไลซ์ใน ณ ปัจจุบัน เราควรไปเห็นที่มาของเขา เพื่อที่จะเห็นที่ไปในวันข้างหน้า” บังดุลย์กล่าวกับเราถึงความคิดเห็นที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงในฝั่งธนบุรี


ในส่วนความคืบหน้าของโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้ มีการชะลอโครงการเงียบไป ภายใต้ความเงียบสงบที่ไม่มีการชี้แจงความคืบหน้าหรือประชาสัมพันธ์ใด ๆ นิ่งสงบสยบทุกสิ่งโดยที่ประชาชนได้แต่นั่งรออกสั่นขวัญแขวน บังดุลย์เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามผลักดันอัตลักษณ์ของชุมชนมัสยิดบางอ้อ ให้ออกไปสู่สายตาคนภายนอก ผ่านมัสยิดเก่าแก่ที่สร้างในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 อาหารท้องถิ่น(ข้าวอาซูรอ) การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้คนภายนอกได้เข้ามาท่องเที่ยวเยี่ยมชม เพื่อให้ทุกภาคส่วนยังคงเห็นคุณค่าของชุมชนเก่าแก่ในย่านฝั่งธนบุรี


“การดึงสิ่งใหม่ ๆ เข้ามา มันอาจหมายถึงก็ผลักรากเหง้าบางอย่างออกไป กรุงธนบุรีมีเสน่ห์ของตัวเองอยู่หลายแห่ง เพียงแต่เราจะร้อยเรียงเชื่อมโยงกันอย่างไร ให้ยังคงอนุรักษ์ไว้ซึ่งสิ่งที่เป็นมรดกของฝั่งธนบุรี” บังดุลย์กล่าวทิ้งท้ายก่อนจบบทสนทนา

เนื้อหาอื่นๆ

04 กุมภาพันธ์ 2022
04 มีนาคม 2020
29 มีนาคม 2019

Copyright © 2013 THETHAIACT