28 ปี บนเส้นทางการต่อสู้ในฐานะกลุ่มอนุรักษณ์ดงมะไฟ
ไม่จำยอม ไม่จำนน เพราะเราอยากได้บ้านแบบที่เราต้องการ
การระเบิดหินของเหมืองหินดงมะไฟ ได้สร้างความเสียหายต่อระบบสิ่งแวดล้อม และทำให้ภูเขาที่คนในพื้นที่เรียกว่า "ผาฮวก" หนึ่งในแนวเขาของเขาเหล่าใหญ่ - ผาจันใด ซึ่งเป็นที่หาหน่อไม้และเห็ดตามฤดูกาลได้จากหายไปกับเศษหิน ฝุ่นควัน เหลือเพียงรอยเว้าแหว่งจากกาารระเบิดภูเขา รอยขุดถางเพื่อเอาหินแร่เข้าสู่โรงโม่ ภาพภูเขาที่อุดมสมบูรณ์เหลือเพียงในความทรงจำ จึงได้ก่อให้เกิด กลุ่มอนุรักษ์เขาเหล่าใหญ่ - ผาจันใด ใน ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู ที่รวมตัวกันต่อสู้เพื่อคัดค้านการทำเหมืองหินดงมะไฟ ด้วยสองมือสองขาที่ก้าวเดินรวมพลังกันของคนในพื้นที่มายาวนานถึง 28 ปี
มณีนุด อุทัยเรือง หรือ อร หนึ่งในแกนนำต่อสู้คัดค้านเหมืองหินดงมะไฟ เล่าถึงชีวิตที่เปลี่ยนไป ตั้งแต่มีการระเบิดหินและทำเหมืองในพื้นที่ใกล้กับบ้านที่เธออยู่อาศัย
“ตอนเล็ก ๆ เราโตท่ามกลางภูเขาป่าไม้ อยู่กับการหาของป่า เห็ด หน่อไม้ แหล่งน้ำสะอาด นี่คือบ้านที่เราโตมา แต่อยู่มาวันหนึ่งก็มีเหมืองเข้ามา เสียงระเบิดภูเขาทุกวัน เศษหินจากการระเบิดตกใส่ไร่นา ใส่บ้านคน ทำให้ชีวิตคนที่นี่ไม่ปกติอีกต่อไป การชุมนุมคัดค้านเหมืองที่นี่ดำเนินมายาวนาน เพราะพื้นที่นี้มันไม่สามารถแสดงความเป็นเจ้าของทรัพยากรได้ ไม่สามารถมีปากมีเสียงได้ ทั้ง ๆ ที่นี่คือบ้านของเรา"
อร ยังเล่าให้ฟังว่า เหมืองส่งผลต่อชีวิตของคนในพื้นที่และส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เช่น การระเบิดของเหมืองสร้างเสียงดัง ฝุ่น มีผลต่อสุขภาพคนในพื้นที่โดยตรง เศษหินที่หล่นบนพื้นที่ไร่นาและเสียงระเบิดที่รบกวนต่อบ้านคนรอบบริเวณเหมือง และที่สำคัญยังเป็นการทำลายภเูขาให้หายไป 1 ลูก พื้นที่ป่าซึ่งเคยอุดมสมบูรณ์ก็หายไป หน่อไม้และเห็ดตามฤดูกาลที่เธอเคยหาได้ตอนเด็ก กลายเป็นเรื่องยากทันตาเห็น
“ในช่วงปี พ.ศ. 2542 - 2543 เป็นช่วงต้นของการต่อสู่เรื่องเหมืองหินที่นี่ ช่วงนั้นด้วยความเป็นเด็ก ก็ไปกับเพื่อน ๆ ญาติพี่น้อง เราก็ไปเล่นกันตรงที่ชุมนุม ตำรวจยิงปืนขู่ขึ้นฟ้า เรายังเด็ก ไม่ได้รู้อะไร จนเขามาเตะขาเต็นท์ออก คนแก่กับเด็กก็หนีออกจากเต็นท์ไม่ทัน หลังจากนั้นตำรวจใช้กระบองไล่ทุบคนที่อยู่ใต้ผ้าใบเต็นท์ เราเองก็เป็นหนึ่งคนที่หนีออกมาไม่ทัน ไม่โดนทุบแต่โดนถีบตกคลองข้าง ๆ ซึ่งมีแต่หนามไมยราบ”
แน่นอนว่าการชุมนุมคัดค้านในช่วงเวลานั้นไม่ได้รับความสนใจ ขณะที่เหมืองยังดำเนินกิจการและหาผลประโยชน์จากการระเบิดหินต่อไปได้จนหมดอายุใบอนุญาต (ใบอนุยาตในการขอเข้าทำประโยชน์หรือที่อยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ)
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2562 เรื่องราวการต่อสู้ของดงมะไฟกลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง เมื่อบริษัทแห่งหนึ่งกำลังดำเนินการเร่งการต่อใบอนุญาตในการขอเข้าทำประโยชน์เพื่อการระเบิดภูเขาทำเหมืองหินบนภูผาฮวกไปอีก 10 ปี
ทำให้กลุ่มอนุรักษ์ - เขาเหล่าใหญ่ผาจันได จึงร่วมกันเดินรณรงค์คัดค้านการให้อนุญาติทำเหมืองหินอีกครั้ง ในวันที่ 7 ธันวาคม 2562 การเดินรณรงค์คัดค้านมีอย่างต่อเนื่องกว่า 7 วัน มีระยะทางรวม 800 กม. จุดประสงค์เพื่อเดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านเหมืองหินดงมะไฟ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู โดยเริ่มเดินจากถ้ำศรีธน ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากแรงระเบิดของเหมือง ด้วยข้อเรียกร้อง 3 ประการ ประกอบด้วยประการแรกปิดเหมืองหินและโรงโม่ ต่อมาคือการฟื้นฟูภูผาป่าไม้ และสุดท้ายพัฒนาดงมะไฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
แต่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อช่วยให้สามข้อเรียกร้องนี้สำเร็จขึ้นจริง
มณีนุช ในฐานะประชาชนคนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน กล่าวถึงสิ่งที่คนในพื้นที่ควรได้รับ และประสบการณ์จากร่วมเรียนตั้งแต่เริ่มคัดค้านโครงการพัฒนาซึ่งไม่ส่งผลประโยชน์ต่อบ้านของเธอ
“เรื่องสิทธิมนุษยชน ความเป็นเจ้าของพื้นที่เป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้ ว่าที่บ้านเราไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย ทั้ง ๆ ที่มันควรจะเป็นสิทธิพื้นฐานที่เราสามารถออกแบบว่าอยากให้บ้านเราเป็นยังไง เช่น การเรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดี แม้แต่การมีสิทธิในฐานะมนุษย์คนหนึ่งตามระบอบประชาธิปไตยที่จะกำนดอนาคตของบ้านเราเอง ความไม่เป็นธรรมของเสียงพวกเราที่ออกมาคัดค้านเหมือง ทั้งคนในครอบครัวและคนในชุมชนที่ออกมาสู้กับเหมืองอย่างยาวนานเพื่อปกป้องบ้านของเรากลับไม่ถูกรับฟัง แต่กลับถูกดำเนินคดีโดยเหมืองแทน มันยิ่งทำให้เรารู้ว่าบ้านของเรา เราเป็นเจ้าของ เราต้องไม่ย้ายหนีเหมือง แต่เราทำบ้านของเราให้เป็นบ้านแบบที่เราต้องการได้ ยิ่งไม่เป็นธรรมเรายิ่งต้องกำหนดอนาคตบ้านเราให้ได้"
คงไม่มีใครสามารถกำหนดอนาคตของดงมะไฟได้ดีไปกว่าคนที่อยู่ที่นี่ จนการคัดค้านเริ่มขยับเป็นการปักหลักชุมนุมด้านหน้าทางเข้าเหมือง และเมื่อรถบรรทุกหิน 4 คันสุดท้าย ได้ขับออกจากเหมืองไปในวันที่ 2 กันยายน 2563 พร้อมกับชัยชนะขั้นแรกของกลุ่มอนุรักษ์เขาเห่าใหญ่ - ผาจันได จึงนำไปสู่การฟื้นฟูภูผาป่าไม้และพัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยมณีนุดเปิดเผยความรู้สึกหลังปิดเหมืองว่า
“พอปิดเหมืองสำเร็จ หันมามองบ้านตัวเอง มันรู้สึกบอกไม่ถูกเลยนะ นี่แหละบ้านของเรา เรามองเห็นด้านที่ดีที่สวยงาม เห็นความสุขและความหวังต่อบ้านเราเอง ไม่อยากไปอยู่ที่อื่นเลย"
จากพื้นที่ต่อสู้ แว่วเสียงของการอนุรักษ์ยังได้กำหนดทิศทางบ้านเกิดของพวกเขาให้เป็นไปตามความต้องการของเจ้าของพื้นที่ สิ่งนี้คือคุณค่าจากการต่อสู้ด้วยความหวงแหนบ้านเกิดและความต้องการอนุรักษ์ธรรมชาติของพื้นที่ เพราะนอกจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในพื้นที่ การมีเหมืองหินดงมะไฟ ยังเป็นการผูกขาดรายได้จากพื้นที่ป่า ซึ่งทุกคนสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ กลายเป็นการระเบิดหินเพื่อกำไรของบริษัทที่ประกอบกิจการแต่เพียงผู้เดียว และการจ้างงานก็ไม่ได้สามารถจ้างคนทุกคนที่ได้รับผลกระทบทั่วทั้งพื้นที่ได้
สิ่งที่หมู่บ้านผาฮวกพัฒนากำลังทำอยู่ในปัจจุบัน คือ เริ่มต้นมีร้านขายของเล็ก ๆ หน้าหมู่บ้านผาฮวกพัฒนา เพื่อนำสินค้าท้องถิ่นจากคนในพื้นที่มาขายที่หน้าร้าน จากสินค้าท้องถิ่นยังขยายไปถึงงานฝีมือ เช่น ผ้าทอ งานแกะสลัก สินค้าทำมือต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม กลุ่มอนุรักษ์เเหล่าใหญ่ - ผาจันใด ยังต้องเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้มีบริษัทหรือผู้อื่นเข้ามาหาผลประโยชน์ โดยการต่อใบอนุญาตขอเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อไม่ให้เกิดการทำเหมืองอีกครั้ง
“อนาคต มันจะไม่จบแค่พวกเราช่วยกันฟื้นฟูภูผาป่าไม้ แต่เราเชื่อว่าเราสามารถทำให้บ้านของเราเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ เพราะของดีบ้านเราไม่ว่าจะเป็นภาพเขียนสีโบราณ ถ้ำที่มีทุกภูผาและป่าธรรมชาติก็สมบูรณ์ ที่สำคัญเราอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่เรียนรู้การต่อสู้และส่งต่อความหวังให้คนที่ยังสู้อยู่ได้มีพลัง มีกำลังใจ กำหนดอนาคตของพวกเราด้วยพวกเราเองต่อไป”