29 เมษายน 2020

แรงงานนอกระบบ - กลุ่มคนผู้ต้องทนเดือดร้อนกับทุกยุคทุกสมัย

และเรื่องราวในวันวานของศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย ที่เริ่มต้นจากจักรเย็บผ้า

ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 มีข่าวคราวแรงงานทุกภาคส่วนถูกพักงาน เลิกจ้าง และเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นของตัวเอง นอกจากจะกลายเป็นวิกฤต ที่อาจส่งผลให้มีผู้ว่างงานมากกว่า 6.5 ล้านคนแล้ว แต่ สุจิน รุ่งสว่าง ในฐานะประธานสมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย ยังเชื่อว่า มีโอกาสที่น่าสนใจ ให้รับบาล และผู้กำหนดนโยบายของประเทศได้ลองคิดทบทวน

“พี่น้องแรงงานเราตกงาน ก็กลับบ้านเกิด ส่วนใหญ่ไปทำเกษตรกรรม แต่คำนี้มันเรียกแล้วเหมือนกลับไปทำเกษตรจะมีกิน บางคนก็ที่ดินแปลงเล็ก ๆ เป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะอยู่ได้ ยังไงความเดือดร้อนก็ตามพวกเขากลับบ้านอยู่ดี ดังนั้น รัฐควรมีการส่งเสริมกลุ่มคนเหล่านี้ ให้สามารถพัฒนาและต่อยอดอาชีพทางเกษตรกรรมได้ เพราะส่วนใหญ่พวกเขาเป็นคนรุ่นใหม่ เท่าทันเทคโนโลยี มีความรู้ สามารถเข้าถึงเครื่องมือและทักษะสมัยใหม่ได้ ซึ่งจะเป็นส่วนส่งเสริมให้ภาคการเกษตรพัฒนา หรือว่าทำงานให้เกิดนักเกษตรกรรมรุ่นใหม่ในอนาคตจากเหตุการณ์วิกฤตครั้งนี้”

ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบกรุงเทพมหานคร เป็นเพียงที่ตั้ง ซึ่งอยู่ในชุมชนเคหะร่มเกล้า เพราะหากย้อนไปตั้งแต่วันแรก พื้นที่ศูนย์แห่งนี้ มีไว้เพื่อเปิดสอนตัดเย็บเสื้อผ้าฟรี สอนสตรีและบุรุษ ที่ไม่ประสีประสาได้ลอง ‘เหยียบจักร’ กันราวกับเป็นชั้นเรียนปรับพื้นฐาน

“ถ้านับกันจริง ๆ เราทำงานมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.37 เริ่มจากการสอนใช้จักรเย็บผ้าเบื้องต้น ให้กับคนที่ต้องการเข้าทำงานโรงงาน เพราะสมัยก่อนโรงงานทอผ้า เย็บผ้าเฟื่องฟูมาก แต่ถ้าหากคุณเหยียบจักรไม่เป็น ก็อย่าหวังจะได้เข้าทำงาน เมื่อก่อนจะเป็นศูนย์นี้ จึงเป็นสถานที่รวมตัวของคนที่อยากเข้าทำงานโรงงาน ถัดมา พอมีคนในชุมชนใกล้เคียงเดือดร้อน ถูกไล่ที่ ภาคประชาสังคม และพวกมูลนิธิฯต่าง ๆ เขาก็เข้ามาใช้สถานที่ตรงนี้เป็นพื้นที่เรียนรู้ ช่วยส่งเสริมทักษะอาชีพ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานของพวกเรา ปัจจุบัน กลายเป็นว่า ถ้าใครเดือดร้อนอะไรจะมาถามหาความช่วยเหลือตรงนี้ก่อน นี่พวกวินมอเตอร์ไซค์ กับคนที่ตกงานมาให้ช่วยลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท กันสามสี่สิบคนแล้ว แต่เพิ่งได้รับไปสี่คน”

แรงงานนอกระบบ หากนิยามตามสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข คือผู้ใช้แรงงาน ที่ทำงานโดยไม่มีสัญญาการจ้างงาน ไม่มีนายจ้างตามกฎหมายแรงงาน หรือเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ไม่ได้ทำงานอยู่ในสถานประกอบการของนายจ้าง ไม่มีค่าจ้างหรือค่าตอบแทนที่แน่นอน ประธานสมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทยช่วยเพิ่มเติมเรื่องนี้ว่า

“แรงงานนอกระบบก็คือคนที่ทำงานอิสระ ทั้งคนขับแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ ทำไร่ ทำนา แม่ค้าหาบเร่แผงลอย เสริมสวย คลุมไปถึงกระทั่งแพทย์ที่ออกมาเปิดคลินิกอิสระ แต่ถ้าเพิ่มอีกนิยามก็คือ เป็นกลุ่มคนที่รัฐไม่ค่อยเห็นความสำคัญ ไม่ค่อยลงมาพัฒนา หรือมาช่วยเหลืออะไรหรอก”

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า จำนวนแรงงานนอกระบบมีสัดส่วนถึง 62% ของแรงงานทั้งหมด หรือกว่า 23 ล้านคน แม้เป็นประชากรแรงงานกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยกับแรงงานนอกระบบ มักไม่ค่อยได้รับการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องปัญหาการได้รับค่าจ้างไม่เป็นธรรม และการจ้างงานที่ไม่ต่อเนื่อง การตั้งศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบกรุงเทพมหานครจึงเกิดขึ้น เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของแรงงานภายใต้กฎหมาย รวมทั้งคอยสร้างความเข้าใจ การรับรู้ การเข้าถึงสิทธิ และการคุ้มครองทางกฎหมายให้แก่แรงงานนอกระบบอีกด้วย

“ไม่ใช่เป็นเพียงศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ แต่ที่ตรงนี้ยังเป็นศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเรื่องหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน คอยรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ได้รับผลกระทบ จากการเข้ารับบริการด้านสุขภาพ แต่ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดแบบนี้ บอกตรง ๆ ว่าให้เป็นกี่ศูนย์ เราก็ช่วยแรงงานที่ได้รับผลกระทบได้ไม่ทั่วถึง ดังนั้น จึงต้องฝากความหวังไว้กับภาครัฐ และนโยบายที่จะตามมาหลังจากนี้ ซึ่งหวังว่าจะสามารถเยียวยาพวกเราทุกคนได้อย่างถ้วนหน้า”

นอกจากนี้ คุณสุจิน รุ่งสว่าง ยังบอกเล่าเรื่องราววันวาน ที่เหล่าแรงงานนอกระบบ ได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมให้ตัดเย็บชุดนักเรียน สำหรับแจกเด็กนักเรียนในกรุงเทพมหานคร ตามนโยบายเรียนฟรี รวมทั้งได้โควตาในการจ้างงานแทนบริษัทเอกชน เช่น การตัดต้นไม้ หรือดูแลสวนไม้ในสถานที่ราชการ ซึ่งปัจจุบัน ทุกสิ่งอย่างที่เล่านั้นนั้นห่างหายไปนาน จนกลายเป็นอดีตเสียแล้ว

ท้ายที่สุดภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้แรงงานนอกระบบประสบปัญหา ขาดแคลนรายได้ ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบกรุงเทพมหานคร จึงพยายามดิ้นรน ด้วยการเปิดรับทำและจำหน่ายหน้ากากอนามัยชนิดผ้าราคาถูก อีกทั้งยังได้เปิดพื้นที่เพื่อรับบริจาคข้าวสาร อาหารแห้ง และสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตจากทุกคนที่สนใจ เพื่อนำไปช่วยเหลือให้คนในชุมชน และผู้ได้ระบผลกระทบอย่างทั่วถึงต่อไป หากอยากร่วมสนับสนุนชุดข้าวสาร อาหารแห้ง สามารถนำส่งได้ที่ 101/349 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร 10520 หรือติดต่อประสานงานกับไทยแอ็คได้ ทั้งทางแฟนเพจ "ไทยแอ็ค" และอีเมล thethaiact@gmail.com

เนื้อหาอื่นๆ

09 ธันวาคม 2022
21 มีนาคม 2020
15 สิงหาคม 2020

Copyright © 2013 THETHAIACT