01 ตุลาคม 2022

ปกป้อง – อีกหนึ่งช่องทางการช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา

ผลผลิตจากการทำงานร่วมกันของภาคประชาสังคมและหน่วยงานรัฐ

ปกป้อง คือระบบรับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการถูกละเมิดสิทธิด้านเอดส์ เพศภาวะ และปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติจากความเป็นกลุ่มประชากรเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ, พนักงานบริการทาง, ผู้ใช้สารเสพติด, ประชากรข้ามชาติ, ผู้ถูกคุมขัง รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่า

โดย “ปกป้อง” ถูกออกแบบมาให้ใช้งานบนพื้นฐานการรักษาความลับของผู้ร้องเรียน ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่แค่ผู้ถูกละเมิดสิทธิเท่านั้นที่จะร้องเรียนได้ เพราะระบบรับเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหาออนไลน์นี้ ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคน องค์กรภาคประชาสังคม หรือผู้เเทนที่พบเห็นการถูกกีดกันจำกัด ลิดรอนสิทธิและถูกเลือกปฏิบัติ สามารถเข้ามาใช้งานได้อย่างง่ายดาย และหากเรื่องของคุณมีความเร่งด่วนก็สามารถแจ้งให้เป็น “เรื่องเร่งด่วน” ได้ จากนั้นข้อมูลการร้องเรียนจะถูกส่งต่อไปยังผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ กรมควบคุมโรคฯ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานอัยการสูงสุด มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ มูลนิธิรักษ์ไทย เครือข่ายสุขภาพและโอกาส มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ

ซึ่ง นางสาวสิริพร ภิยโยทัย จากกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค ได้ให้ความเห็นถึงระบบรับเรื่องร้องเรียนนี้ว่า “ปกป้องจะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการทำให้ประเทศไทยดำเนินนโยบายยุติปัญหาเอดส์ได้ เพราะตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา อุปสรรคหลักของการยุติเอดส์ในบ้านเราไม่ใช่เรื่องเทคนิคการแพทย์ หรือการขาดแคลนยา ขาดแคลนความรู้ในการป้องกันตนเอง แต่เป็นเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากการเป็นกลุ่มเปราะบางการทำงานของปกป้องจะเริ่มจากให้คุณส่งเรื่องร้องเรียน แล้วคุณจะได้รับรหัสเป็นตัวเลขเพื่อนำไปติดตามความคืบหน้าได้ เมื่อได้รับเรื่องแล้วจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ใกล้เคียงคุณประสานงานต่อ เพื่อให้การช่วยเหลือรายกรณี...คือหลังจากนี้หากท่านใดพบเห็นปัญหา เช่น ถูกบังคับตรวจเอชไอวี ถูกเปิดเผยสถานะการติดเชื้อเอชไอวี หรือปัญหาอื่น ๆ ที่เป็นการถูกเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากการที่คุณเป็นกลุ่มประชากรต่าง ๆ สามารถเข้าไปพิมพ์ค้นหาคำว่า สวัสดีปกป้องได้เลย แล้วระบบจะนำทางคุณไปแจ้งเรื่องร้องเรียนอย่างสะดวกรวดเร็ว”

ทางด้าน พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี ก็ร่วมยืนยันให้เห็นถึงปัญหาว่า “ปัจจุบันความก้าวหน้าและพัฒนาการทางการแพทย์ โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันและการรักษาเอชไอวีในประเทศไทยก้าวหน้ามาก มีทั้งยาที่ป้องกันการติดเชื้อฯทั้งก่อนและหลังมีความเสี่ยงในการรับเชื้อ มีบริการอุปกรณ์ป้องกัน รวมทั้งหากเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ก็สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานได้ เพราะยาต่าง ๆ ถูกจัดให้อยู่ในชุดบริการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะเห็นว่าเรื่องเหล่านี้เรามาไกลมาก แต่หากสำรวจจะพบปัญหาที่ใหญ่กว่าซึ่งมาจากความเข้าใจ ทัศนคติ จนนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น การกีดกันโดยบังคับตรวจเลือดก่อนเข้าทำงาน และหากพบว่ามีเชื้อเอชไอวีจะไม่รับเข้าทำงาน ทั้งที่ทราบดีว่าการแพร่กระจายเชื้อนั้นมีโอกาสเป็นไปได้น้อย และผู้ติดเชื้อเองก็เข้าถึงยาต้านไวรัส

หากวิเคราะห์ดูในมุมนายจ้างสถานประกอบการอาจจะมองว่า คนเหล่านี้เข้ามาแล้วจะมีเรี่ยวแรงทำงานไหม ยกของหนักได้หรือเปล่า ซึ่งหมอก็ต้องยืนยันว่ามันไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อฯเลย งานศึกษาวิจัยพบแล้วว่า ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีมี Productivity ในการทำงานไม่ต่างจากผู้ไม่ติดเชื้อ หรืออาจมองปัญหาวันลาวันหยุด ด้วยเงื่อนไขทางสุขภาพจะมีไหมเพราะต้องไปรับตาตามนัดบ่อย ๆ หมอก็ต้องขอบอกอีกว่า ปัจจุบันระบบสาธารณสุขกำลังพิจารณาขยับการนัดรับยาให้นานขึ้นคือ 6 เดือน หรือ 1 ปี ...แล้วก็มีงานศึกษาวิจัยอีกเหมือนกันที่ยืนยันตัวเลขว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะลางานมากกว่าคนอื่นเพียงแค่ 1/10 วัน หรือถ้ารวมทั้งปีในสถานการณ์เข้าถึงยาต้านแบบนี้คือจะไม่ถึง 3 วัน ที่มีโอกาสลางานมากกว่าคนอื่น”

ดังนั้น การมีระบบรับเรื่องร้องเรียนชื่อ “ปกป้อง” ขึ้นมาจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน จึงเป็นหนึ่งการทำงานสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประสบปัญหาประหยัดเวลา ประหยัดต้นทุนในการคลี่คลายความทุกข์ใจของตัวเองเมื่อถูกเลือกปฏิบัติ และยังเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการให้การช่วยเหลือต่าง ๆ จากทั้งหน่วยงานรัฐและองค์กรภาคประชาสังคม

นี่อาจนับเป็นหนึ่งผลสำเร็จจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อปกป้อง พิทักษ์สิทธิของประชาชน โดยปัจจุบันหากท่านมีความจำเป็นหรือต้องการใช้บริการปกป้อง สามารถค้นหาได้หลายช่องทาง เช่น พิมพ์คำค้นหา “สวัสดีปกป้อง” หรือ กดที่ลิ้งค์ https://crs.ddc.moph.go.th/crisis/public/


เนื้อหาอื่นๆ

13 กันยายน 2022
04 มีนาคม 2020
28 พฤศจิกายน 2019

Copyright © 2013 THETHAIACT