กลุ่มรักษ์โตนสะตอ
การดูแลรักษาคือส่วนหนึ่งของการพัฒนาชุมชน
กลุ่มรักษ์โตนสะตอ ประกอบด้วยสมาชิก 23 คน ซึ่งล้วนเป็นประชาชนในนิยามของรัฐ คือ ไม่มีสังกัด ไม่ถูกบรรจุในองค์กรใด แต่รวมกลุ่มกันเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบพื้นที่บ้านเหมืองตะกั่ว ตำบลหนองธง อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง
แม้ข้อความข้างต้นจะดูห้าวห้วน เพื่อสื่อสารถึงตัวตนคนทำงานของสมาชิกกลุ่มรักษ์โตนสะตอ แต่สิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง และควรแจ้งให้ทราบจากข้อเท็จจริงคือ สมาชิกในกลุ่มทุกคน ได้รับตำแหน่งต่าง ๆ อย่างน้อยคนละ 1 ตำแหน่ง ในฐานะประชาชน เช่น สมาชิกราษฎรอาสาสมัครพิทักษป่า (รสทป. - ถูกจัดตั้งโดยกรมป่าไม้ร่วมกับกองทัพภาคที่ 1-4 ) , อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม. - ถูกจัดตั้งโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม) , อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม. – บุคคลที่ได้รับการอบรมตามหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด)
ในทางภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์นั้น พื้นที่โดยรอบบ้านเหมืองตะกั่ว รายล้อมด้วยหลักฐานทางธรรมชาติ ที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์มากมาย ทั้งน้ำตกโตนสะตอ สวนสละ ต้นกาแฟสายพันธุ์เก่าแก่ รวมถึงทุเรียนบ้านที่ยืนต้นมากว่า 200 ปี แม้สิ่งเหล่านี้ จะเป็นเป้าหมายการดำเนินงานอนุรักษ์ของกลุ่มรักษ์โตนสะตอ แต่สิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญที่สุดคือ การจัดการน้ำ
หากย้อนกลับไปเมื่อกลางปี พ.ศ.2563 เราจะเห็นภาพข่าวปรากฏกลุ่มบุคคลราว 50-60 คน นั่งรถไฟฟรีจากภาคใต้ขึ้นมาปักหลักชุมนุมพักค้างหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว นั่นคือการปรากฏตัวบนหน้าสื่อครั้งแรก ๆ ของกลุ่มรักษ์โตนสะตอ ด้วยภาพที่เคยเห็นผลกระทบ ซึ่งเกิดกับเกษตรกรผู้อาศัยโดยรอบอ่างเก็บน้ำป่าบอน ที่สร้างห่างออกไปเพียง 8.9 กิโลเมตร ทำให้กลุ่มรักษ์โตนสะตอตระหนักดีว่า หากพื้นที่รอบบ้านพวกเขา ไม่มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี ข้ออ้างเรื่องการสร้างเขื่อนขึ้นมาเพื่อกักเก็บน้ำอาจถูกหยิบมาใช้ และจะทำให้ทรัพยากรในหมู่บ้านของพวกเขาต้องจมหายไปตลอดกาล
เดชา เหล็มหมาด ตัวแทนกลุ่มฯ เล่าว่า “พวกเราพยายามร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการพัฒนาแหล่งน้ำของชุมชน เพื่อทำให้แม่น้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้านเป็นสายน้ำสีเขียว ซึ่งหมายถึงการมีระบบนิเวศน์สมบูรณ์ มีการทำข้อตกลงเรื่องการใช้ประโยชน์จากลำน้ำสาธารณะ และการกำหนดมาตรการร่วมกันในการจับสัตว์น้ำ เพราะในพื้นที่นี้มีปลาขึ้นชื่อ คือปลาพลวง เป็นปลาเศรษฐกิจจึงมีความต้องการจับเยอะ การดำเนินงานของพวกเรา ก็ทำเพื่อไม่ให้จำนวนของสัตว์น้ำเหล่านี้ลดลงอย่างรวดเร็ว และพิสูจน์ให้คนทั่วไปเห็นว่า การดูแลรักษา มีค่าเท่ากับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของชุมชน และอุดช่องว่างทางเหตุผลที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนบนพื้นที่บ้านเรา”
นอกจากนี้ พวกเขายังทำข้อตกลงร่วมกันในการจัดการถ่ายทอดองค์ความรู้ และแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กเยาวชนในชุมชนอย่างน้อยเดือนละครั้ง ในรูปแบบตั้งแต่การอบรมสัมมนา การจัดกิจกรรมซ่อมสร้างพื้นที่สาธารณะ ท้ายที่สุดตัวแทนกลุ่มรักษ์โตนสะตอ ให้ความเห็นต่อเรื่องการรวมกลุ่มของพวกเขาว่า
“การรวมกลุ่มกันเองแบบนี้ แม้จะมีรูปแบบที่ไม่ต่างจากการร่วมกลุ่มที่ถูกจัดตั้งโดยภาครัฐ แต่ในระดับปฏิบัติการจริง เราไม่ได้รวมกันเพื่อจุดประสงค์เดียว เพราะการร่วมงานกัน มันคือการนำปัญหาทั้งชุมชนมาขึ้นโต๊ะคุยกัน หาทางออกร่วมกัน นอกจากนี้การรวมกลุ่มกันของเรา มันสามารถปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ตามปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาได้ เช่น ช่วงหน้าฝน พอเน้นการท่องเที่ยวไม่ได้ กรีดยางไม่ได้ พวกเราก็จะพากันทำงานพัฒนาอาชีพกัน มันคือการปรับตัวตามวิถีชิวิตของชุมชน หากว่ามีหน่วยงานที่จะเข้ามาสนับสนุน เราก็จะดูวัตถุประสงค์ของการเข้ามา ถ้าอะไรไม่ตรงตามความประสงค์ของชาวบ้าน เราก็ต้องปฏิเสธ มันคือการทำงานแบบมุ่งเน้นผลประโยชน์ของชุมชนเราเป็นหลัก”