ถอดบทเรียนก่อนเลือกตั้งกับ We Fair
ว่าด้วยเรื่องนโยบายสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตสังคมและประชาชน
วีแฟร์เผย กระแสตอบรับรัฐสวัสดิการจากพรรคการเมืองลดลงกว่าช่วงเลือกตั้ง 4 ปีก่อน เนื่องจากการเมืองไม่บีบคั้นเท่า พร้อมระบุพรรคการเมืองกังวลเรื่องงบประมาณ และติดกรอบความคิด จึงขอช่วยเหลือแค่คนจนไม่ให้สวัสดิการถ้วนหน้า
ในโอกาสที่การหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปกำลังจะมาถึงอีกครั้ง เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ วีแฟร์ (We Fair) ได้จัดกิจกรรม “รณรงค์ชุดข้อเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการต่อพรรคการเมือง” เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2566 ที่โรงแรมทีเคปาร์ค เพื่อนำเสนอนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตสังคมต่อพรรคการเมือง จากนั้นระหว่างวันที่ 17 - 20 มกราคม 2566 เครือข่ายวีแฟร์ได้ทยอยไปยื่นข้อเสนอต่อพรรคการเมือง 15 พรรค ทั้งพรรคฝ่ายค้าน พรรคฝ่ายรัฐบาล และพรรคที่ยังไม่มี ส.ส. ในสภา
การยื่นหนังสือให้พรรคการเมืองรับข้อเสนอครั้งนี้ไม่ได้มีเป็นครั้งแรก เพราะวีแฟร์เคยยื่นข้อเรียกร้องมาแล้วในช่วงก่อนการหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ เมื่อปี 2562
“กระแสครั้งที่แล้วถูกตอบรับมากกว่า ในแง่ว่ามันถูกปกครองมาโดยการรัฐประหาร ทำให้การตอบรับนโยบายในการมองคุณภาพชีวิต มีความสนใจมากกว่าในช่วงปัจจุบัน”
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่ายวีแฟร์ ชี้แจงเมื่อถูกขอให้เปรียบเทียบผลตอบรับระหว่างครั้งนี้กับเมื่อ 4 ปีก่อน และว่า "โดยภาพรวมทุกพรรคต่างตอบรับข้อเสนอ และจะนำไปพิจารณา ส่วนพรรคที่ตอบรับชัดเจนมากคือ พรรคประชาชาติ พรรคก้าวไกล และพรรคเสรีรวมไทย ด้านพรรคเพื่อไทยมีประเด็นหลักคือ การเน้นเรื่องสร้างรายได้ ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ให้น้ำหนักกับเรื่องรัฐสวัสดิการ"
ผู้อำนวยการเครือข่ายวีแฟร์เปิดเผยอีกว่า พรรคชาติพัฒนากล้าเห็นด้วยกับข้อเสนอบางส่วน เนื่องจากนโยบายของพรรคชาติพัฒนากล้าเน้นไปที่ด้านอื่น อาทิ การจัดเก็บภาษี และเครดิตบูโร พรรคพลังประชารัฐยอมรับว่า ทำเรื่องสวัสดิการประชาชนได้น้อยกว่าที่สัญญาเอาไว้ พรรคประชาธิปัตย์ออกมารับข้อเสนอเพราะมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับตนเอง พรรคภูมิใจไทยยังไม่ค่อยชัดเจน ส่วนพรรคสร้างอนาคตไทยสนับสนุนให้เรียนฟรี
จากการพูดคุยกับพรรคการเมืองหลายพรรคพบว่า ยังไม่มีความชัดเจน นิติรัตน์ประเมินเรื่องนี้ว่า เกิดจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มีบีบคั้นมากเท่าเมื่อ 4 ปีก่อน สิ่งที่วีแฟร์ทำได้ต่อไปคือ ในช่วงก่อนเลือกตั้งต้องติดตามและประสานงานกับพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อให้พรรคนำข้อเสนอไปร่างเป็นนโยบายพรรค ส่วนช่วงหลังตั้งรัฐบาลใหม่ วีแฟร์จะให้เวลา 3-6 เดือนแล้วมาตรวจสอบว่า สิ่งที่พรรคการเมืองรับปากได้นำไปสู่การปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน
ต่อเมื่อสอบถามถึงสาเหตุที่พรรคการเมืองไม่นำเรื่องรัฐสวัสดิการไปสู่การปฏิบัตินั้น ผู้อำนวยการเครือข่ายวีแฟร์ระบุว่า
"เรื่องแรกทุกพรรคการเมืองกังวลเรื่องการจัดทำงบประมาณเพื่อทำนโยบายรัฐสวัสดิการ ตนเองขอตำหนิกรอบกฎหมายที่ทำให้พรรคการเมืองมีข้อจำกัดในการจัดทำนโยบายให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ อาทิ ไม่สร้างภาระงบประมาณระยะยาว ซึ่งเป็นการปิดกั้นจินตนาการ เรื่องที่สองเป็นเรื่องของกรอบความคิดของพรรคการเมืองบางพรรค ว่าจะให้ความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มก่อนไม่ให้ถ้วนหน้า เช่น พรรคไทยสร้างไทยจะให้ความช่วยเหลือแค่คนจน แต่ก็เห็นการคลี่คลายและปรับตัวของพรรคการเมืองพอสมควร"
ซึ่งเรื่องนี้นิติรัตน์ย้ำถึงย้ำว่า จำเป็นต้องสร้างการเรียนรู้กับภาคประชาสังคมให้มากขึ้น และวีแฟร์จะทำงานกับเครือข่ายประชากรกลุ่มเฉพาะ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและร่วมกันขับเคลื่อนผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการ ส่วนทางออกจากความกังวลของพรรคการเมือง เรื่องการใช้งบประมาณจำนวนมากในด้านรัฐสวัสดิการ ผู้อำนวยการเครือข่ายวีแฟร์ระบุชัดเจนว่า
"ถ้าพรรคการเมืองมีเจตจำนงทางการเมือง เรื่องที่มาของงบประมาณไม่ใช่สาระสำคัญ เนื่องจากรัฐบาลสามารถหารายได้มากขึ้นด้วยการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพ และพัฒนาระบบภาษีให้มีบทบาทในการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม"
ทั้งนี้ จากใบแถลงข่าวกิจกรรมเครือข่าย WE FAIR พบพรรคการเมือง 15 พรรค ระหว่างวันที่ 17 - 20 มกราคม 2566 พวกเขามีข้อเรียกร้องสำคัญต่อพรรคการเมือง 3 ข้อ ได้แก่
1) สร้างสัตยาบันต่อประชาชน ในการผลักดันนโยบายหาเสียงสร้างเป็นนโยบายของรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหาร และผลักดันกฎหมายในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ
2) สร้างประชาธิปไตย สร้างรัฐธรรมนูญใหม่ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ถอนตัวจากระบอบประยุทธ์ ส่งทหารกลับกรมกอง
3) สร้างรัฐสวัสดิการ นโยบายสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตสังคมและประชาชน สร้างโอกาส สร้างรายได้ สร้างการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการเสมอกันทั้งการศึกษา การรักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัย ค่าแรงที่เป็นธรรม บำนาญถ้วนหน้า เงินอุดหนุนรายได้พื้นฐาน สร้างสังคมประชาธิปไตยที่คนในสังคมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
บูรพา เล็กล้วนงาม เรียบเรียง