องค์กรช่วยเหลือทางกฎหมายในพื้นที่ชายแดนใต้
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
นับตั้งแต่มีการประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2548 เกือบ 20 ปี ล่วงผ่านบนพื้นที่ด้ามขวานต้องเผชิญสถานการณ์ภายใต้กฎหมาย “พิเศษ” หลายฉบับสลับกันไปตามแต่ช่วงเวลาและสถานการณ์ ทั้งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 และกฎอัยการศึก
ภายใต้กฎหมายพิเศษให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าตรวจค้น และสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยไม่ต้องมีหมาย ไม่ต้องให้พบกับทนาย หรือย้ายสถานที่ควบคุมผู้ต้องสงสัย โดยไม่ให้ญาติทราบก็ได้เช่นกัน ...การอำนวยความสะดวกทางกฎหมายในพื้นที่ชายแดนลักษณะนี้นำมาซึ่งการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยรวมมากกว่า 6,000 ครั้งตามรายงานของ SpokeDark TV
แม้จะเปลี่ยนกี่ผู้นำ กับรัฐบาลรูปแบบใดก็ตาม สถานการณ์พื้นที่ชายแดนใต้ มักถูกโยนให้กลายเป็นหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคง และราวกับว่าประเทศไทยล้วนไม่มีใครสามารถจัดการสถานการณ์ปัญหาได้ดีกว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) อีกแล้ว
เมื่อไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายปกติ ท่ามกลางสถานการณ์หมิ่นเหม่และมีความเสี่ยงที่ประชาชนอาจถูกบังคับใช้กฎหมายเกินกว่าเหตุ หรือบางเหตุการณ์ที่เกิดแล้วการดำเนินคดีมีลักษณะ “ผิดปกติ” ชื่อของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จึงมักถูกเรียกขานบ่อยครั้งขึ้น
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ดำเนินงานเพื่อให้ความช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับกระทบจากกฎหมายพิเศษ กฎหมายความมั่นคง และผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยไม่จำกัดว่า ต้องเป็นมุสลิมเท่านั้น
เกาซัร อาลีมามะ หนึ่งในผู้ช่วยทนายความประจำมูลนิธิฯ เล่าถึงที่มาว่า ตนเองเริ่มทำงานให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิจากการเป็นล่ามแปลภาษาท้องถิ่นให้กับทนายจากส่วนกลาง และทนายอาสาจากพื้นที่อื่นที่เดินทางมาให้การช่วยเหลือเรื่องคดี
“การทำงานของเราต้องย้ำว่า ไม่ว่าคุณจะนับถือพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือมีความเชื่อแบบไหนเราก็ยินดีให้การช่วยเหลือ เมื่อคุณเจอกับปัญหาการละเมิดสิทธิ ... รูปแบบการทำงานของเราคือ อาสาสมัครไม่มีเงินเดือน ซึ่งบ่อยครั้งได้รับบริจาคจากชาวบ้าน กองทุนซะกาตในพื้นที่ บริการของเราก็ชัดเจนตามชื่อคือ ให้คำปรึกษา และช่วยเหลือทางคดี”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การให้ความช่วยเหลือผู้ต้องสงสัยทำให้สายตาที่รัฐมองมายังภาคประชาสังคมแบบมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมอาจไม่ใช่ด้วยท่าทีของความห่วงใย เป็นมิตร หรืออยากร่วมประสานการทำงานด้วยเท่าใดนัก
“เจ้าหน้าที่อาจมองพวกเราเป็นทนายโจร แต่ถ้าคิดให้ดี นี่คือความพยายามในการทำให้ประชาชนหันหน้าเข้าหารัฐ กล้าเดินเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่สำคัญว่าคุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อศรัทธาหรือไม่ศรัทธา แต่เราจำเป็นต้องอยู่ในกระบวนการ นอกจากนั้นงานของเราจะทำให้ประชาชนเห็นความโปร่งใส ความปกติของกระบวนการ ถ้าหากหน่วยงานทำโดยปราศจากอคติหรือไม่มีการลัดขัดตอน ไม่ใช้อำนาจเกินหน้าที่ ... เราไม่ได้ทำงานขัดแย้งกับหน่วยงานใด หรือเรียกว่าแทบจะเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทำงานกับรัฐด้วยซ้ำ ที่ผ่านมามีทั้งชาวบ้านหญิง ชาย รวมไปถึงสามเณร หรือแม้กระทั่งคนในหน่วยงานรัฐเองก็เข้ามาขอความช่วยเหลือจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน”
กว่า 70 กรณี ที่มาร้องเรียนกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมในปี พ.ศ.2566 ยังสะท้อนความไม่ปกติที่เกิดขึ้น แม้จะอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ และภายใต้ภารกิจพิเศษของรัฐที่มีทั้งมาตรการปิดล้อมเพื่อตรวจเก็บ DNA โดยไม่มีคำอธิบายให้กับชาวบ้านที่ตั้งข้อสงสัย การปิดล้อมตรวจค้น และการตั้งด่านตรวจ …แม้สุดท้ายทางออกของปัญหาที่มีมายาวนานนี้อาจหมายถึงการคืน “เสรีภาพ” ให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมถึงการยกเลิกกฎหมายพิเศษเพื่อให้เหตุการณ์ในกระแสสำนึกของผู้คนกลับเป็นปกติ
แต่เมื่อผ่านมากว่า 20 ปี ที่รัฐพยายามทำให้ “ความพิเศษ” กลายเป็นสิ่งปกติ หากวันใดเรา หรือคนใกล้ตัวเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบและต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ที่แฟนเพจ
Muslim attorney centre foundation มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม หรือโทร 081 959 2046