บ้านปันรัก
พื้นที่เเห่งการให้ไม่รู้จบ
หากสังเกตให้ดี จะพบว่าทุกวันนี้มีผู้สูงอายุใช้โทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะจำพวกสมาร์ทโฟนเพิ่มมากขึ้น สำหรับคนที่มองว่าการใช้งานอินเทอร์เน็ตถูกจำกัดอยู่แค่ในกลุ่มของวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่เท่านั้น คงต้องได้มีโอกาสคิดใหม่ เพราะในความจริงแล้วกลุ่มผู้สูงอายุ หรือคุณปู่คุณย่า เป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่แพ้กับวัยอื่นเลย จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าผู้สูงอายุในประเทศไทยร้อยละ 79.5 “ติดสังคม” ซึ่งสังคมในนิยามของผู้สูงอายุยุคไทยแลนด์ 4.0 อาจไม่ได้หมายถึงการเดินออกจากบ้านไปรำไทเก๊ก หรือสอยมะม่วงในรั้วบ้านไปแบ่งเพื่อนข้างบ้านอีกต่อไปแล้ว วันนี้จึงอขอเชิญมาทำความรู้จักกับกิจกรรมดี ๆ “สอนผู้สูงวัยใช้สมาร์ทโฟน” ซึ่งจัดโดย สมาคมบ้านปันรัก และพูดคุยกับ ดร.วีรณัฐ โรจนประภา นายกสมาคมบ้านปันรัก
ทำไมภาคประชาสังคมต้องทำงานกับผู้สูงอายุ ?
เป็นไปตามสภาพของสังคมโลกปัจจุบัน ที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุสูงมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นตามมามากมาย โดยเฉพาะเรื่องของการอยู่ร่วมกันในสังคม รวมไปถึงเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถ้าผู้สูงอายุไม่สามารถอยู่ในบริบทของสังคมปัจจุบันได้ ก็จะทำให้เกิดความหดหู่น้อยเนื้อต่ำใจ จนส่งผลกระทบต่อเรื่องสุขภาพตามมา ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องสำหรับการรองรับสังคมผู้สูงวัย คือการเปลี่ยนภาพของผู้สูงอายุ ให้กลายเป็นพลัง เปลี่ยนจากต้องดูแลเป็นมีส่วนร่วมในการพัฒนา ถ้ามองประเทศที่พัฒนาแล้วจะเห็นได้ว่าเขามีแนวทางในการแก้ไขเรื่องนี้ ด้วยการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยให้ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการสอนเทคโนโลยี มีงานวิจัยที่บอกชัดเจนว่าผู้สูงอายุที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการศึกษาเหล่านี้แม้เพียงแค่ครั้งเดียว จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นทันทีมันจะตรงกับหลักจิตวิทยา ว่าถ้าท่านสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท่านจะมีความสุข ไม่เป็นประชากรชายขอบของความสุข ที่สำคัญเราต้องเปลี่ยนทัศนคติก่อน ถ้าหากจะถามว่าวันนี้ผู้สูงอายุทำอะไรได้บ้าง และมีส่วนร่วมกับการพัฒนาอะไรได้บ้าง เราควรต้องตั้งคำถามใหม่ว่า วันนี้มีอะไรที่ผู้สูงอายุทำไม่ได้บ้างซึ่งจริง ๆ ก็คือไม่มี หรืออาจมีตามข้อจำกัดทางกายภาพบางอย่างเท่านั้นเอง ก็มีไม่น้อยในยุคปัจจุบันที่ผู้สูงอายุกลายเป็นแบบอย่างทางสังคมที่ดี เช่นปราชญ์ชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ดังนั้นถ้าเราจะชวนผู้สูงอายุมาร่วมกันพัฒนาชาติบ้านเมือง วันนี้เราจึงจำเป็นต้องข้ามผ่านทัศนคติที่ว่าผู้สูงอายุจะทำอะไรได้ !
สมาคมกำลังทำอะไรอยู่ ?
วัตถุประสงค์หลักของสมาคมบ้านปันรัก คือสถานที่ที่เปิดให้คนมา “ให้” ไม่ใช่ให้คนมาเพื่อเรียนเพียงอย่างเดียว จึงออกแบบให้เป็นเวทีในการแบ่งปัน เป็นพื้นที่กระตุ้นเร้าให้ผู้สูงอายุที่เข้ามาเปลี่ยนตัวเองจากผู้เรียน กลายเป็นผู้สอน จากผู้รับกลายเป็นผู้ให้ บางท่านบอกว่า ตัวเองรู้เเค่เรื่องบัญชี เรื่องพับกระดาษไม่กล้าเอามาสอน พอได้รู้ว่ามีคนสนใจเรียน ห้าคน เจ็ดคนเราก็เปิดพื้นที่ให้สอน ทั้งสองฝ่ายก็ดูจะมีความสุข ซึ่งที่ผ่านมาก็เกิดรูปธรรมอย่างชัดเจนว่าจากวันแรกที่ผู้สูงอายุเข้ามาเป็นผู้เรียน จะรู้สึกเศร้า เครียด หมอง แก่ แต่วินาทีที่เขาได้เปลี่ยนมาเป็นผู้ให้ปรากฏว่าจะดูสดใสขึ้น เพราะเขารู้สึกว่าตัวเองมีค่า เราเชื่อว่าถ้าจะทำให้ผู้สูงอายุเป็นพลังได้ เราต้องมีเวที มีโอกาสให้เสียก่อน ซึ่งนั่นเป็นหน้าที่ของสมาคม แล้วก็ไม่ใช่แค่หน้าที่ของรัฐ หรือใครคนใดคนหนึ่ง เราทุกคนช่วยกันเปิดพื้นที่เหล่านี้ให้ผู้สูงอายุได้เช่นกัน
จะบอกว่าความดีทำง่าย ๆ ?
เรากำลังเข้าสู้ช่วง โพสต์ โพสต์ โมเดิร์น เรียกว่าหลังสมัยใหม่เข้าไปอีก ความทันสมัยของยุค จะบอกเราว่าการทำความดีทำง่ายมาก โดยพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนเป็นคนดีอยู่แล้ว แล้วเราก็แค่รวมเพื่อนฝูง รวมเรื่องที่เราถนัดให้เข้ากับสังคมผู้สูงอายุก็ได้ เริ่มต้นจากจากให้ความรู้ผู้สูงอายุ แล้วยิ่งโลกสมัยใหม่ การทำความดีไม่เกี่ยวกับเงิน ซึ่งทั้งหมดที่สมาคมทำมาตลอด รวมทั้งมีการออกไปช่วยเหลือชุมชนช่วยเหลือโอท็อป ทั้งปีเราใช้งบประมาณ 30,000 บาท ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าถ้าไม่มีเงินก็ทำความดีได้แล้วจะรอทำไมกัน ?