03 มิถุนายน 2024

นักกฎหมายเท้าเปล่า

: จากเพื่อนผู้ใช้ยาเสพติด สู่นักปกป้องสิทธิเพื่อผู้ใช้ยา

บอย เป็นหญิงข้ามเพศ (Transwomen)ที่เริ่มใช้สารเสพติดตั้งแต่อายุ 19 ปี จุดเริ่มต้นการใช้ยาบ้าเกิดจากปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับแฟนหนุ่ม เมื่อเริ่มต้นใช้สารเสพติดก็มักจะใช้มันต่อเนื่องในเวลาที่มีปัญหาหรือความเครียด ยาเสพติดคือสิ่งบรรเทาทุกข์ตามที่บอยกล่าว

“เมื่อเริ่มใช้สารเสพติด สังคมที่มีก็จะแคบลงเรื่อย ๆ” บอยเล่าประสบการณ์ของตัวเอง “พอเวลาในหมู่บ้านจัดงานเทศกาลอะไร เราก็ไม่กล้าเข้าร่วม รู้สึกว่ามีคุณค่าน้อยลงเพราะเป็นผู้ใช้ยา”

เมื่อเสพมากขึ้นเรื่อย ๆ บอยเริ่มที่จะพกพายาเสพติดไปไหนมาไหน จนกระทั่งวันหนึ่งเธอถูกตำรวจจับในข้อหาการมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย บอยถูกตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือน การอยู่ในเรือนจำไม่ได้ช่วยให้บอยออกมาและเลิกยาเสพติดได้ เพราะสำหรับบอยปัจจัยแวดล้อมรอบตัวล้วนมีผลต่อการใช้สารเสพติดทั้งหน้าที่การงาน ชุมชนที่อาศัยอยู่และครอบครัว

“เวลาเราออกจากบ้านครอบครัวมักชอบพูดว่า ‘ออกไปเล่นยาอีกแล้ว’ บางครั้งเราคิดอยากจะเลิก แต่ไม่เคยได้รับกำลังใจจากครอบครัว”

 

จนกระทั่งบอยได้มาพบกับวิลล่ารุ่นพี่ในหมู่บ้านของเธอ อดีตผู้ใช้สารเสพติดที่ผันตัวมาทำงานเป็นนักปกป้องสิทธิเพื่อผู้ใช้สารเสพติด วิลล่าได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาและแบ่งปันความรู้ในเรื่องของการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) บอยตัดสินใจเข้ารับการบำบัดด้วยความสมัครใจที่ รพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่นเป็นเวลา 1 เดือน จนถึงตอนนี้เวลาผ่านมา 1 ปีแล้ว ที่บอยไม่ได้กลับเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

บอยเป็นหนึ่งในผู้ใช้สารเสพติดที่ยืนยันว่า บทบาทของนักปกป้องสิทธิเพื่อผู้ใช้สารเสพติดของวิลล่านั้น มีส่วนสำคัญในการช่วยให้เธอสามารถเลิกยาเสพติดได้

“ผู้ใช้สารเสพติดหลายคนไม่กล้าออกไปข้างนอก ไม่กล้าขอความช่วยเหลือ อยากให้รัฐสนับสนุนคนอย่างพี่วิลล่าให้สามารถทำงานได้มากขึ้น”

 

จากคำกล่าวของบอย จึงทำให้เกิดคำถามต่อบทบาทของนักปกป้องสิทธิในประเด็นสารเสพติด ในการเป็นกลไกที่สามารถเข้าถึงผู้ใช้สารเสพติดได้ในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน แม้วันนี้บทบาทของนักปกป้องสิทธิจะยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากภาครัฐ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นแนวทางการจัดการปัญหายาเสพติดที่ได้รับการยอมรับจากตัวผู้ใช้สารเสพติด บทความชิ้นนี้จึงอยากพาไปทำความเข้าใจบทบาทและความสำคัญของนักปกป้องสิทธิในประเด็นสารเสพติด

วิลล่า ปริบุญนะ นักปกป้องสิทธิในประเด็นสารเสพติด

เพื่อนช่วยเพื่อนเพื่อปกป้องสิทธิของผู้ใช้ยาเสพติด

“ผู้ใช้สารเสพติดไม่ใช่คนผิด หลายคนเลือกใช้ยาเพราะเจอปัญหาในชีวิตจนต้องพึ่งยาเสพติด”


วิลล่า ปริบุญนะ เป็นเจ้าหน้าที่ด้าน Care and Support ของโครงการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธเอดส์ เฮลท์ แคร์ (AFH) แห่งประเทศไทย ที่ดูแลผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV รวมทั้งเป็นนักปกป้องสิทธิเพื่อผู้ใช้สารเสพติด จากการเข้าร่วมการอบรมนิติกรชุมชนประเด็นยาเสพติดกับเครือข่าย REFORM Thailand Partnership วิลล่าได้นำความรู้จากการอบรมมาใช้ในการทำงานร่วมกับชุมชน


วิลล่ามักได้รับการติดต่อมาจากผู้ปกครองของวัยรุ่นในพื้นที่ตำบลพระลับ อำเภอเมืองขอนแก่น ที่มีการใช้สารเสพติด โดยวิลล่าจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษา ให้ความรู้การลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น รพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่น ในการส่งตัวผู้ใช้สารเสพติดเข้าไปบำบัดด้วยความสมัครใจ


“เราทำงานเป็นตัวกลางในการประสานงานคนในชุมชนกับหน่วยงานภายนอก”


นอกจากนี้วิลล่ายังทำหน้าที่ในการปกป้องสิทธิให้กับผู้ใช้สารเสพติด ในกรณีที่พวกเขาถูกผู้บังคับใช้กฎหมายจับกุม วิลล่าจะเข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่พร้อมกับครอบครัวของผู้ใช้สารเสพติด หากเป็นเพียงผู้เสพ วิลล่ากล่าวว่าเธอสามารถไกล่เกลี่ยกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในการส่งตัวผู้ใช้สารเสพติดไปบำบัดได้ แต่ถ้าหากเป็นกรณีของการครอบครองยาเสพติดที่เกินขนาดหรือมีไว้เพื่อจำหน่าย วิลล่ากล่าวว่าอยู่เกินกว่าขอบเขตที่เธอจะช่วยเหลือได้


“มีเคสหนึ่งน้องเขาเพิ่งทดลองเสพยากับเพื่อน เราคุยจนเจ้าหน้าที่ปล่อยเขาออกมาและส่งไปบำบัด” วิลล่าเล่า “หลังจากนั้นผู้ใช้สารเสพติดคนนั้นก็กลับตัวกลับใจโดยอยู่ภายใต้การดูแลของเรา”


ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา วิลล่าได้ทำการส่งผู้ใช้สารเสพติดไปบำบัด 5-6 คน และมีผู้ใช้สารเสพติดอีกนับสิบคนที่อยู่ในความดูแลของเธอ นอกจากนี้เธอยังคงทำงานเชิงรุกด้วยการจัดการฝึกอบรมและการประชุม เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดให้กับคนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง


“นักปกป้องสิทธิผู้ใช้สารเสพติด ต้องทำงานภายใต้การได้รับความเชื่อใจ เราจะทำอย่างไรถึงจะให้คนในชุมชนเชื่อใจเรา และจะทำอย่างไรให้ผู้ใช้สารเสพติดมีสุขภาพที่ดี”


วิลล่ากล่าวว่าบางครั้งสังคมก็เข้าใจผิดคิดว่า นักปกป้องสิทธิผู้ใช้สารเสพติดคือการสนับสนุนส่งเสริมให้คนใช้สารเสพติด ตรงกันข้ามเธอไม่เคยสนับสนุนการใช้สารเสพติด แต่หน้าที่ของวิลล่าคือการทำให้ชีวิตคนคนหนึ่งมีสุขภาพที่ดีขึ้น เข้าไปสนับสนุนให้พวกเขาสามารถจัดการชีวิตตัวเองได้มากขึ้น และเธออยากส่งเสียงให้แก่คนในสังคมและเจ้าหน้าที่รัฐได้รับรู้ว่า ไม่ใช่ผู้ใช้สารเสพติดทุกคนจะเป็นบุคคลอันตราย


“เขาจะใช้สารเสพติดก็เป็นเรื่องของเขา เพราะคนเรามีเหตุผลและปัญหาที่ต่างกัน หน้าที่ของเราคือทำอย่างไรให้เขาสามารถจัดการปัญหาของเขาได้”


โดยการละเมิดสิทธิผู้ใช้สารเสพติดไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในระดับผู้บังคับใช้กฎหมายเท่านั้น แต่เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับครอบครัวและชุมชนในการถูกตีตราว่าเป็นอาชญากร คนขี้ขโมย เป็นบุคคลอันตรายที่ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ วิลล่าเข้าใจความรู้สึกนี้ดีเพราะเคยเป็นผู้ใช้สารเสพติดมาก่อนในสมัยวัยรุ่น


“เราดีใจเวลาส่งน้องไปบำบัดและพวกเขากลับมาสามารถทำงานและสร้างตัวได้”


วิลล่ากล่าวในตอนท้ายต่อประเด็นนี้ว่า สำหรับเธอมันเป็นความรู้สึกภาคภูมิใจ จากการที่วันหนึ่งเคยเป็นผู้ใช้สารเสพติด จนมาถึงวันที่เธอได้มาเป็นนักปกป้องสิทธิเพื่อผู้ใช้สารเสพติดคนอื่น

จากซ้ายเกื้อกูล มาลากุล, กิฟ และวิลล่า ปริบุญนะ นักปกป้องสิทธิในประเด็นสารเสพติด จากการอบรม ‘นิติกรชุมชนประเด็นยาเสพติด’

นักปกป้องสิทธิผู้ใช้สารเสพติด ≠ การสนับสนุนให้คนมาใช้สารเสพติด

“แนวคิดนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกำลังจะบอกว่าความมืดมนเหล่านั้นทลายลงได้ ถ้าเพียงคุณไม่สยบยอมต่อการถูกละเมิดสิทธิ เพราะการที่คุณยอมตั้งแต่แรกทำให้คุณไม่ออกมาใช้สิทธิของคุณเอง”


แนวคิดของการสร้างนักปกป้องสิทธิผู้ใช้สารเสพติด เกิดขึ้นมาจากที่ผู้ใช้สารเสพติดส่วนใหญ่ยอมจำนนกับการถูกละเมิดสิทธิ เพราะคิดว่าตัวเองเป็นคนผิดกฎหมาย ดังนั้นการลุกขึ้นมาต่อสู้เมื่อตนเองถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางกฎหมายจึงมีน้อย ซึ่งการทำแบบนั้นยิ่งไปเพิ่มให้ปริมาณการละเมิดสิทธิในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดสูงขึ้น


จารุณี ศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย (FAIR) ได้จัดอบรม ‘นิติกรชุมชนประเด็นยาเสพติด’ อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างนักปกป้องสิทธิผู้ใช้สารเสพติดขึ้นมา ได้กล่าวถึงความพยายามที่จะเข้าไปส่งเสริมให้ชุมชนของผู้ใช้สารเสพติดลุกขึ้นมาเข้าใจเรื่องของสิทธิมนุษยชน และเข้าใจหลักกฎหมายเบื้องต้น เพื่อใช้ในการช่วยเหลือและป้องกันการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนรวมทั้งสิทธิทางกฎหมาย

เราอยากเห็นภาพผู้ใช้สารเสพติดทุกคนรู้สิทธิของตัวเอง ใช้สารเสพติดแบบจัดการตัวเองได้ ถ้ารู้ว่าตัวเองถูกละเมิดสิทธิก็สามารถจัดการตัวเองได้เบื้องต้น


จารุณีกล่าวว่าการใช้สารเสพติดแบบจัดการตัวเองไม่ใช่การสนับสนุนให้คนมาใช้สารเสพติด หลักการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด คือการลดอันตรายทำให้ผู้ใช้สารเสพติดปลอดภัยจากผลกระทบ โรคแทรกซ้อนและภาวะการใช้ยาเกินขนาด เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้ใช้สารเสพติดก็สามารถกลับมาอยู่ร่วมในสังคมได้ และการสร้างนักปกป้องสิทธิผู้ใช้สารเสพติดก็เป็นหนึ่งในช่องทางที่ทำให้ผู้ใช้สารเสพติดมีที่พึ่งและมีผู้ให้คำปรึกษาที่พวกเขาไว้ใจ ทั้งในแง่สิทธิและกฎหมาย สุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมทั้งเรื่องความสัมพันธ์ของผู้ใช้ยากับครอบครัวและคนในชุมชน

จารุณี ศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย (FAIR)


โดยกระบวนการสร้างนักปกป้องสิทธิเพื่อผู้ใช้สารเสพติดนั้น จะเริ่มต้นจากการเปิดรับสมัครกลุ่มเป้าหมายที่เป็นทั้งผู้ใช้สารเสพติด อดีตผู้ใช้สารเสพติด หรือคนทำงานกับผู้ใช้สารเสพติด โดยผู้สมัครจะต้องมีแผนการทำงานหรือโอกาสที่จะได้ใช้องค์ความรู้นั้นในการช่วยเหลือเพื่อนผู้ใช้ยา ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการคัดเลือกมาได้แล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการฝึกอบรม ตั้งแต่ความรู้ขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน บทบาทและหน้าที่ของนักปกป้องสิทธิ ความรู้เบื้องต้นทางกฎหมาย รวมทั้งการฝึกปฏิบัติในการช่วยเหลือเคสและการติดตามผลหลังการฝึกอบรมเป็นระยะ จารุณีมองว่าการสร้างนักปกป้องสิทธิจำเป็นต้องมีการติดตามผลและเข้าไปสนับสนุนพวกเขาอย่างสม่ำเสมอ


“ปัญหาตอนนี้คือนักปกป้องสิทธิของเรายังมีความไม่มั่นใจ สถานการณ์จริงที่เขาเจอมันไม่ตรงไปตรงมา เราไม่ได้ต้องการให้นักปกป้องสิทธิแค่รับฟังเรื่องราว แต่อยากให้เขาเห็นเรื่องการถูกละเมิดสิทธิแล้วไม่อยู่เฉย ลุกขึ้นสู้หรือส่งเสียงมาที่หน่วยงานของเรา”


นอกจากนี้นักปกป้องสิทธิผู้ใช้สารเสพติดยังต้องเผชิญความท้าทายในการถูกยอมรับจากภาครัฐ แม้ว่าพวกเขาจะได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มชุมชนของผู้ใช้ยาเสพติด แต่จารุณีมองไปข้างหน้าว่าอยากให้งานด้านการปกป้องสิทธิได้รับการยอมรับจากภาครัฐ เป็นงานที่ทำแล้วได้รับค่าตอบแทน และมองเห็นว่านี่คือกลไกที่จะช่วยลดอันตรายต่อทั้งผู้ใช้สารเสพติดและช่วยเหลือชุมชนที่มีผู้ใช้สารเสพติดสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัยและเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน อยากเปลี่ยนมุมมองสังคมด้วยว่าชาวบ้านเขาปกป้องสิทธิของตัวเองได้ถ้าเขามีข้อมูล ไม่จำเป็นต้องเป็นวิชาชีพเพียงอย่างเดียว


“คนเหล่านี้ไม่กล้าไปทำงาน ไม่กล้าออกไปรับบริการสุขภาพ ไม่กล้าออกไปใช้ชีวิต” จารุณีกล่าว “ดังนั้นนักปกป้องสิทธิกำลังไปเคาะประตูบอกว่า ถ้าคุณเจอสถานการณ์พวกนี้ขอให้คุณบอก เราจะหาทางช่วยเหลือคุณให้เชื่อว่าเราช่วยคุณได้”


ในขณะที่เรื่องนี้ยังไม่ถูกยอมรับอย่างชัดเจนในสังคมไทย แต่ก็สามารถยืนยันได้ว่าเรื่องนี้มีความจำเป็นต่อชุมชนเป็นอย่างยิ่ง เห็นได้จากการที่บทคัดย่อของจารุณี ที่นำเสนอเรื่องการสร้างนักปกป้องสิทธิ ได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปนำเสนอผลงานในงาน AIDS 2024 ที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 ถึง 26 กรกฎาคม 2024


“เราไม่ได้ทำงานเพื่อให้สารเสพติดจากผิดกฎหมายเป็นถูกกฎหมาย เรากำลังพูดถึงการลดทอนความผิดทางอาญากับผู้เสพเพราะเรามองว่าเขาเป็นมนุษย์ ฉะนั้นการที่สังคมไปมองว่าเขาเป็นอาชญากร มันพรากโอกาสในชีวิตของเขา เพราะว่าทางเดียวที่เขาจะอยู่ได้ในสังคมคือในคุก ซึ่งชีวิตของคนที่อยู่ในคุกมันคือการถูกพรากอิสระในการใช้ชีวิตไปหมดเลย”


จารุณีกล่าวทิ้งท้ายในประเด็นนี้ว่าผู้ใช้สารเสพติดไม่จำเป็นต้องอยู่ในเรือนจำ หรือจำเป็นต้องรับโทษทางอาญา แต่สังคมสามารถดูแลพวกเขาได้ในทางอื่นไม่ใช่การลงโทษทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว เพราะผู้ใช้สารเสพติดมากกว่า 70% นั้น สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติเมื่อพวกเขามีความรู้และความเข้าใจ และการมีนักปกป้องสิทธิจะช่วยให้สังคมเคารพพวกเขาในฐานะมนุษย์ และส่งเสียงว่าต่อให้พวกเขาเป็นคนผิดกฎหมาย ก็ไม่มีใครมาสามารถละเมิดสิทธิพวกเขาได้

เครือข่าย REFORM Thailand Partnership ไปยื่นข้อเสนอต่อสปสช. เพื่อผลักดันเชิงนโยบายด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) ที่อยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชน

มองมุมใหม่เมื่อผู้ใช้สารเสพติดไม่ใช่อาชญากร การบังคับใช้กฎหมายไม่ใช่ทางออกของทุกเรื่อง

“ไม่ว่าอย่างไรผู้ใช้สารเสพติดก็คือคนที่ต้องอยู่ร่วมกันกับสังคมเดียวกันกับเรา”

เสียงจาก เอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ หนึ่งในหน่วยงานรัฐที่ทำงานร่วมกับเครือข่าย REFORM Thailand Partnership จัดกิจกรรมอบรม ‘นิติกรชุมชนประเด็นยาเสพติด’ ขึ้นมา เอมอรมองว่าในบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ มีข้อจำกัดในการเข้าถึงผู้ใช้สารเสพติดที่เป็นคนกลุ่มเปราะบางและมักถูกตีตราจากสังคม ดังนั้นกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดจึงไว้ใจกลุ่มเพื่อนผู้ใช้ยากันเองมากกว่า

“ให้เขาร้องเรียนผ่านเครือข่ายของพวกเขา ผ่านแนวคิดเพื่อนช่วยเพื่อนน่าจะสนิทใจมากกว่า”

หลักการทำงานของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จึงเป็นไปในรูปแบบการสนับสนุนภาคประชาสังคม ในเรื่องที่อยู่นอกขอบเขตของการบังคับใช้กฎหมาย และสนับสนุนการทำงานของนักปกป้องสิทธิผู้ใช้สารเสพติดตามขอบเขตที่กฎหมายกำหนด

“เราต้องแยกประเภทของผู้ใช้สารเสพติดให้ได้ก่อน เพราะบางกลุ่มไม่จำเป็นต้องไปทำอะไรกับเขาเลย” อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกล่าว “บางกลุ่มเราควรปล่อยให้พวกเขาได้ใช้ชีวิต พวกเขามีสิทธิที่จะเลือก เราก็ช่วยเหลือเขาเท่าที่จะช่วยได้ แต่กลุ่มที่ถึงขั้นใช้ยาเสพติดจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ กลุ่มนี้รัฐโดยเฉพาะผู้บังคับใช้กฎหมายต้องเข้าไปดูแล”

โดยในอนาคตเอมอรมองว่าสามารถที่จะทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมในประเด็นยาเสพติดได้มากขึ้น ทั้งการสนับสนุนองค์ความรู้ การจัดทำบัตรประจำตัวนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยให้ภาคประชาสังคมทำหน้าที่เป็นแนวหน้าในการรับปัญหามาจากในพื้นที่ และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจะทำหน้าที่ช่วยเหลือสนับสนุน ในงานที่เกินขอบเขตขององค์กรภาคประชาสังคม

“ภาคประชาสังคมทำงานเหมือนด่านหน้าที่เผชิญกับปัญหา ภาครัฐทำงานตามกฎระเบียบซึ่งบางทีอาจไม่เป็นไปตามความคาดหวังของภาคประชาสังคม แต่ละส่วนมีจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง ฉะนั้นถ้าเราร่วมมือกันทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม จะปิดจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งซึ่งกันและกันได้” เอมอรกล่าวทิ้งท้าย

เอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

ทางด้าทนายสมชาย หอมลออ ทนายความทางด้านสิทธิมนุษยชนมองว่าอีกหนึ่งกลไกสำคัญสำหรับเรื่องนี้คือนักกฎหมายตั้งแต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภาที่เป็นคนออกกฎหมาย และผู้บังคับใช้กฎหมายตั้งแต่เจ้าหน้าที่ปปส. ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ทุกภาคส่วนจำเป็นที่จะต้องรู้จักและเข้าใจหลักการลดการอันตรายจากการใช้สารเสพติด รวมทั้งอีกหนึ่งกลไกสำคัญอย่างทนายความ

“ผู้บังคับใช้กฎหมายเน้นใช้อำนาจ มองผู้ใช้ยาเป็นอาชญากร เพราะกฎหมายระบุไว้ให้เป็นความผิด” ทนายสมชายอธิบาย “ทนายความจึงต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมเข้าใจเรื่องนี้”  ในฐานะการเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชนของสมชายมาทั้งชีวิต เขาเน้นย้ำว่าการใช้กฎหมายต้องยึดถือหลักความยุติธรรมคือกฎหมายสูงสุด และความยุติธรรมก็คือหลักสิทธิมนุษยชนที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

“คนทำผิดกฎหมายไม่ใช่อาชญากรทุกคน เพราะการมีขึ้นของกฎหมาย มีทั้งที่เป็นธรรมและไม่เป็นธรรม”

โดยในประเด็นข้างต้นทนายสมชายก็ได้เชื่อมโยงถึง ‘พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย’ ที่ถึงแม้กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มุ่งตรงต่อผู้ใช้สารเสพติด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ใช้สารเสพติดมักเป็นกลุ่มคนที่ถูกเจ้าหน้าที่จำกัดเสรีภาพด้วยการตรวจค้นจับกุมและควบคุมตัว รวมทั้งถูกทารุณกรรมและละเมิดสิทธิมาโดยตลอด

“ผู้ใช้สารเสพติดแม้ถูกละเมิดสิทธิก็ไม่มีใครอยากมายุ่งเกี่ยว แม้แต่ทนายความเองก็ไม่อยากเข้าไปเป็นทนายความแก้ต่างให้ เพราะกลัวสังคมมองว่าเป็นทนายช่วยเหลือคนติดยา”

ดังนั้นการมีอยู่ของพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย จึงช่วยไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ถูกต้อง กฎหมายกำหนดว่าในการจับกุมเจ้าหน้าที่ต้องติดกล้องบันทึกและต้องแจ้งหน่วยงานต้นสังกัด อัยการ ฝ่ายปกครอง หรืออย่างน้อยถ้าญาติพี่น้องรู้ว่าญาติตัวเองถูกจับ ก็สามารถที่จะติดตามหรือสอบถามหน่วยงานเหล่านี้ได้

อย่างไรก็ดีกฎหมายฉบับนี้ยังมีช่องว่างอยู่ ถ้าเจ้าหน้าที่จับกุมการทำความผิดเกี่ยวกับการจำหน่าย หรือผลิตยาเสพติด พวกเขามีอำนาจในการควบคุมตัวได้ 3 วัน โดยที่ไม่ต้องส่งพนักงานสอบสวน ซึ่งเรียกช่วงเวลา 3 วันนี้ว่า ‘การขยายผล’ อันตามมาซึ่งการรีดข้อมูล รีดทรัพย์ รวมทั้งการลวนลามทางเพศ

“นักกฎหมายต้องพยายามเข้าใจเรื่องนี้และพยายามที่จะตีความกฎหมายนี้ (พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย) ไปในเชิงของการคุ้มครองสิทธิ มากกว่าการยกเว้นหรือการจำกัดสิทธิ”

ทนายสมชายแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะหน่วยงานที่ออกกฎหมายอย่างรัฐสภา ที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองซึ่งมักจะกำหนดนโยบายเพื่อที่จะหวังคะแนนนิยม อย่างเช่นล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในที่ประชุมหารือการแก้ไขปัญหายาเสพติด ว่าขอให้กระทรวงสาธารณสุขแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ โดยปรับลดให้เหลือ 1 เม็ด และขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องสื่อสารกับผู้ปฏิบัติงานให้ชัดเจนว่า ไม่ว่าจะมียาเสพติดกี่เม็ดก็ผิด หากพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นผู้เสพจะถูกแจ้งข้อหาครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งแนวนโยบายดังกล่าวอาจนำมาซึ่งช่องทางการละเมิดสิทธิต่อผู้ใช้สารเสพติดของผู้บังคับใช้กฎหมาย ดังนั้นหน้าที่ของนักกฎหมาย ทนายสมชายได้ฝากไว้ในตอนท้ายว่า

“ในการช่วยเหลือผู้ใช้สารเสพติดนักกฎหมายหรือทนายความ จะต้องทำให้กระบวนการยุติธรรมได้รู้

ความเป็นมาที่เขาต้องใช้ยาเสพติดเพราะอะไร ความกดดัน ครอบครัว ความยากจน ความขัดแย้ง การถูกชักจูง หลงผิด ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือให้เขามีชีวิตอยู่ได้เหมือนคนปกติต่อไป”

เครือข่าย REFORM Thailand Partnership กลุ่มที่พยายามผลักดันการนำหลักการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm reduction) มาใช้อย่างครบวงจร

เมื่อเราไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นคนที่สังคมคาดหวังเหมือนกันทุกคน

“อยากให้สังคมมองเห็นว่าคนใช้สารเสพติดไม่ใช่คนเลวร้าย มันมีดีมีชั่วเหมือนกันหมดในทุกสังคม อย่าไปตัดสินจากการที่เขาใช้ยาเสพติดอย่างเดียว” 

บอยได้บอกในวันที่เธอเลิกใช้สารเสพติดแล้ว และตอนนี้ก็ทำงานเพื่อรับผิดชอบครอบครัว เธอเป็นหนึ่งในตัวอย่างของผู้เคยใช้สารเสพติดที่มองว่าสารเสพติดถ้าใช้อย่างถูกวิธีก็สามารถควบคุมอันตรายได้ และบอยได้บอกว่าตั้งแต่ที่เธอเคยใช้สารเสพติดมา ก็ไม่เคยออกไปสร้างความเดือดร้อนให้กับสังคม ในขณะที่จารุณี ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย (FAIR) ก็พยายามสร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้สารเสพติดกล้าออกมาใช้ชีวิต โดยที่สังคมเองต้องลดการตีตรา และการละเมิดสิทธิด้วยการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งหลายครั้งจารุณีก็มองว่า

“บางสิ่งเป็นการทำเกินความเป็นมนุษย์กับผู้ใช้สารเสพติด โดยอ้างกฎหมายมาเป็นเครื่องมือว่าคุณผิดกฎหมาย แต่ไม่ว่ากฎหมายฉบับไหน คุณไม่สามารถไปละเมิดสิทธิมนุษยชนและความเป็นมนุษย์ได้”

ซึ่งลำพังโดยบทบาทของนักปกป้องสิทธิเพื่อผู้ใช้สารเสพติดนั้น ไม่มีอำนาจมากพอในแก้ไขปัญหา จึงต้องอาศัยนักกฎหมาย ทนายความ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงและปกป้องสิทธิ เพราะความซับซ้อนของการทำงานกับผู้ใช้สารเสพติดคือการถูกตีตราด้วยกฎหมาย ความรุนแรงของมันคือการนำกฎหมายมาใช้ในการละเมิดสิทธิได้ตลอดเวลา ซึ่งไม่ว่าผู้ใช้สารเสพติดหรือไม่ว่าใครจะทำผิดหรือถูกกฎหมาย พวกเขาต้องถูกเคารพในสิทธิมนุษยชน ต้องได้รับการคุ้มครองขั้นพื้นฐานในการใช้ชีวิต ได้รับบริการสุขภาพและการศึกษาเฉกเช่นคนทั่วไป 

และในตอนท้ายของบทความชิ้นนี้ วิลล่าในฐานะนักปกป้องสิทธิเพื่อผู้ใช้สารเสพติด ก็มองย้อนกลับมาถึงคนที่เธอต้องทำงานด้วยอย่างผู้ใช้สารเสพติดว่า ก่อนที่จะได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากภายนอก พวกเขาเองก็ต้องเห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่ยอมให้ใครมาละเมิดศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์เพียงเพราะว่าการใช้สารเสพติด และการใช้สารเสพติดก็ไม่ได้หมายถึงการเป็นคนไม่ดีเสมอไป

“เราอยากบอกกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดว่า เราไม่ได้เป็นคนบ้าคลุ้มคลั่งอย่างที่ข่าวออก เราไม่ใช่บุคคลอันตรายและเราก็ไม่ใช่ผู้ป่วยเสมอไป”

เนื้อหาอื่นๆ

19 กุมภาพันธ์ 2020
06 สิงหาคม 2023
06 พฤษภาคม 2019

Copyright © 2013 THETHAIACT