24 มิถุนายน 2024

ประชาสังคมผู้อุดช่องว่างผ่านงานบริการอย่างรอบด้าน ในจังหวัดพะเยา

รายงานโดย : กมลชนก เรือนคำ

ตลอดทั้งวันที่ 23 มิถุนายน 2567  ที่ห้องประชุมศูนย์บริการที่เป็นมิตรน้ำกว๊านสีรุ้ง ได้จัดกิจกรรม Focus Group ภาคประชาสังคมกับการดำเนินงานด้านบริการสาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหา/พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพะเยา โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมคือ ตัวแทนภาคประชาสังคม เช่น ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จังหวัดพะเยา, สภาคนพิการทุกประเภท จังหวัดพะเยา

โดยจังหวัดพะเยาเป็นจังหวัดเล็ก ๆ ในภาคเหนือมีประชากรมากกว่า 4.5 แสนคน จากการสำรวจของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบปัญหาที่เกิดกับ “คน” ทุกกลุ่มอย่างมาก ทั้งเด็กในครอบครัวยากจน ปัญหาผู้มีรายได้น้อยและไร้ที่พึ่ง ปัญหาสืบเนื่องจากสังคมสูงวัย ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การมีคุณแม่วัยใสและบุคคลตั้งครรภ์ไม่พร้อม รวมทั้งยังหลงเหลือปัญหาการค้ามนุษย์ที่ถูกรายงานในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็มีความหลากหลายของกลุ่มประชากรเฉพาะ ทั้งบุคคลเพศหลากหลาย (LGBTIQAN+) คนพิการที่มีจำนวนถึง 5.53% ของประชากร รวมทั้งกลุ่มผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี และผู้ได้รับผลกระทบจากการเป็นผู้บริโภค

ซึ่งบางปัญหานั้น กลายเป็นเรื่องที่ถูกหลงลืมจากภาครัฐ หรือหน่วยงานยังไม่ได้ให้ความใส่ใจมากนัก เช่น ปัญหาเกี่ยวเนื่องกับคนพิการในการเข้าถึงบริการสาธารณะ และการเดินทาง / การคัดกรองส่งต่อดูแลเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มพนักงานบริการทางเพศ และบุคคลเพศหลากหลาย เป็นต้น

ชรีพร ยอดฟ้า ตัวแทนจากสภาคนพิการทุกประเภท จังหวัดพะเยากล่าวในช่วงต้นว่า “การให้ความรู้เพื่อให้คนเข้าถึงสิทธิอาจไม่เพียงพอ เพราะคนพิการรู้จักสิทธิ์ แต่เข้าไม่ถึงสิทธิ”

และประสบการณ์จากการทำงานของศูนย์บริการคนพิการของตน พิสูจน์แล้วว่า คนพิการอยากมีงานทำ มีความต้องการที่เหมือนคนปกติทั่วไป คนพิการในจังหวัดเล็ก ๆ เข้าถึงการศึกษาได้ยาก พวกเขาอยากศึกษา อยากฝึกอาชีพมีทักษะเพื่อการดำรงชีวิต เพราะที่ผ่านมาสวัสดิการจากภาครัฐไม่เพียงพอต่อ ทำให้การดำเนินชีวิตในแต่ละวันยังคงเป็นไปด้วยความยากลำบาก ลักษณะการทำงานของตนจึงเริ่มจากการประคับประคอง ช่วยเหลือครอบครัวคนพิการที่จำเป็นต้องเข้ารับบริการสาธารณสุข โดยการจัดรถส่งต่อและเป็นผู้ช่วยดูแลมาโดยตลอด นอกจากปัญหาเฉพาะแล้วยังพบปัญหาตามสถานการณ์เช่นกรณีล่าสุด ได้รับร้องเรียนจากคนหูหนวกว่า ถูก SMS หลอกลวงจากมิจฉาชีพ แม้จะมีการพยายามช่วยเหลือแต่ยังติดขัดที่การประสานหาล่ามในพื้นที่

ขณะที่การดำเนินงานของศูนย์บริการที่เป็นมิตรน้ำกว๊านสีรุ้ง พบอุปสรรคนอกจากการเข้าถึงสิทธิด้านต่าง ๆ แล้วยังมีเรื่องสำคัญคือ อคติและการตีตราในสังคม ตัวแทนผู้ร่วมสนทนาได้ยกตัวอย่างซึ่งได้ยินมาจากการประชุมวาระหนึ่งในระดับจังหวัดว่า “ยิ่งมีกฎหมายให้คนสมรสเพศเดียวกัน อัตราการเกิดก็จะน้อยลง ทำให้ประเทศเป็นสังคมสูงวัยที่แก้ไขไม่ได้”

ต่อเรื่องดังกล่าว นอกจากทำได้เพียงโต้แย้งแล้ว ศูนย์บริการสุขภาพที่เป็นมิตรน้ำกว๊านสีรุ้ง ยังได้แสดงผลการดำเนินงานให้บริการด้านต่าง ๆ ต่อคนหลากหลายทางเพศ โดยปีที่ผ่านมานั้นดำเนินงาน 4 ด้าน ได้แก่ พื้นฟูอาชีพแรงงานนอกระบบ ให้บริการตรวจคัดกรองโรคติดต่อ ทางเพศสัมพันธ์ และส่งต่อผู้มีอาการของโรคต่าง ๆ ไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิ มีการออกหน่วยประเมินพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ / ประเมินสุขภาพจิตในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี และยังดำเนินโครงการ โรงเรียนครอบครัว เพื่อสร้างพื้นที่สื่อสารที่ปลอดภัยให้กับคนทุกวัยด้วย

ทางด้านศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา โดยตัวแทนคือ อรนิภา หล้าเฟย และ ปราณปรียา วิเชียรกันทา ให้ภาพถึงการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคว่า

“เรามีเรื่องร้องเรียน ขอความช่วยเหลือในปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่าเดือนละ 35 ราย ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีการไกล่เกลี่ย และสร้างพื้นที่พูดคุยสร้างความเข้าใจกัน ปัญหาเฉพาะที่พบมากในพื้นที่มี 3-4 กรณี คือ ระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลต่อการเดินทางที่ไม่ปลอดภัย, ปัญหาสายไฟฟ้า – สายสื่อสารที่ไม่ถูกใช้งานถูกปล่อยทิ้ง ทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตคนในชุมชน, ปัญหาจากถุงลมนิรภัยที่ไม่ปลอดภัย, และปัญหาถูกละเมิดสิทธิจากผู้ประกอบการเมื่อเป็นผู้เช่าพักในหอพัก อาคาร บ้านเช่าต่าง ๆ รวมทั้งปัญหาที่เกิดจากเทคโนโลยีคือการถูกหลอกลวงในการซื้อบริการ (สินค้าไม่ตรงปก – ได้รับสินค้าไม่ตรงรายการ – ถูกหลอกให้โอนเงิน)”

โดยศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้บริการประชาชน ในการรับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่เรื่องสินค้าและบริการ การขนส่ง ยานพาหนะ จนไปถึงการบริการด้านสุขภาพ นอกจากทำงานกับผู้บริโภคแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการทำ MOU กับผู้ประกอบการ

จากกิจกรรมครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นบทบาทสำคัญขององค์กรภาคประชาสังคม คือ การให้ความช่วยเหลือ ให้บริการอย่างทันท่วงทีกับกลุ่มเป้าหมาย เพราะไม่ใช่แค่เพียงที่กล่าวมา แต่ในจังหวัดพะเยายังมีการทำงานอีกหลายมิติ ทั้งการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสิทธิบัตรทอง ให้ความช่วยเหลือเฉพาะกักลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี การปรับสภาพแวดล้อมและพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยให้ผู้มีความจำเป็น นอกจากนั้นยังครอบคลุมถึงบริการด้านการพัฒนาทักษะอาชีพ และการรวมกลุ่มเกษตรกร/การประมงด้วย นี่จึงแสดงให้เห็นว่า ภาคประชาสังคม เป็นหนึ่งบทบาทสำคัญที่จะช่วย อุดช่องว่างผ่านงานบริการอย่างรอบด้าน ในจังหวัดพะเยาต่อไป

เนื้อหาอื่นๆ

12 พฤศจิกายน 2022
19 ตุลาคม 2020
06 พฤษภาคม 2019

Copyright © 2013 THETHAIACT