04 พฤศจิกายน 2024

ประชาสังคมลำพูนกับภารกิจช่วยเหลือ ดูแลผู้ป่วยจิตเวชในพื้นที่ห่างไกล

ตลอดระยะเวลา1 ปี ในการดำเนินโครงการพัฒนาความร่วมมือแก้ไขปัญหา การเข้าถึงบริการสุขภาพของรัฐในชุมชนชาติพันธุ์ที่ห่างไกล จังหวัดลำพูน โดยประชาสังคมจังหวัดลำพูน ได้มีการสำรวจข้อมูลกลุ่มประชากรชาติพันธุ์ - ชนเผ่าพื้นเมือง ที่เข้าถึงบริการสุขภาพของรัฐด้วยความยากลำบาก ในสามตำบลได้แก่ ต.ทาแม่ลอบ ต.ทากาศ อ.แม่ทา จ.ลำพูน จนเกิดข้อค้นพบสำคัญคือ ภายใต้ความยากลำบากยังมีประชากรที่อยู่ร่วมกับภาวะปัญหาสุขภาพจิตหรือจิตเวช มากถึง 97 คน ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มจิตเวชโดยตรง ที่เป็นผลมาจากการใช้สารเสพติดหรือคนในครอบครัวใช้สารเสพติด แล้วเกิดผลกระทบกับคนในครอบครัว 33 คน ส่วนที่เหลือมากจากสาเหตุอื่นเช่น การเจ็บป่วย พิการ เศรษฐกิจ


แล้วภาวะจิตเวชคืออะไร ? … ภาวะจิตเวช คือภาวะที่มีความผิดปกติทางจิตใจอารมณ์หรือพฤติกรรมมีผลให้เกิดความทุกข์ทรมาน หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองป่วย หรือบางคนรู้แต่ไม่ไปพบแพทย์ หรือไม่สามารถไปพบแพทย์ได้ด้วยข้อจำกัดด้านต่าง ๆ จนทำให้อาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอันตรายถึงชีวิตได้


ซึ่งประเด็นเกี่ยวกับภาวะจิตเวชนี้ กลายเป็นประเด็นที่หลายหน่วยงานให้ความสนใจ จนเกิดเป็นประกาศองค์การบริหารส่วนตำบลทาแม่ลอบ เรื่อง การแต่งตั้งคณะทำงานบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ตำบลทาแม่ลอบ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่อย่างไรก็ตามการสนับสนุนและการดูแลจากหน่วยงานรัฐก็ยังคงมีข้อจำกัดสำหรับหลายพื้นที่ เช่น ชุมชนที่อยู่ห่างไกลอย่างบ้านห้วยห้อมใน และบ้านแม่สะแงะ ที่ คุณเกรียงไกร ป่างนิเวศน์  ได้มีโอกาสได้ลงไปทำงานในพื้นที่ในฐานะคณะทำงานฯ โดยเจ้าตัวให้สัมภาษณ์ว่า

เกรียงไกร ป่างนิเวศน์ คณะทำงานบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ตำบลทาแม่ลอบ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน

“ในพื้นที่ห่างไกลนั้นมีความเหลื่อมล้ำทางสวัสดิการของรัฐ บุคลากรทางการแพทย์ก็มีน้อย การให้บริการเฉพาะด้านโดยเฉพาะเรื่องสุขภาพจิตจึงเป็นเรื่องรองของการที่พื้นที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีถนนคอนกรีต รถโรงพยาบาลไม่สามารถเข้าถึงได้ เราจึงเริ่มต้นการดูแลเรื่องสุขภาพจิตในแบบอาสาสมัคร โดยทั้ง 3 ตำบลจะมีอาสาสมัครเข้าไปเยี่ยมผู้ป่วย ทำการพูดคุยและจัดกิจกรรมกลุ่มให้ทำ เช่น การทอผ้า การปลูกผัก และการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต มีหลายเคสที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นจากกินยาประจำเช้า - เย็น ปรับยามาเป็นกินเพียงตอนเย็น บางรายก็สามารถหยุดยาได้โดยยังอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์”


จากกรณีตัวอย่างนี้ทำให้เห็นว่า การรักษาด้วยยาจากแพทย์อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอสำหรับผู้ที่มีภาวะจิตเวช เนื่องจากสภาพแวดล้อมก็เป็นสิ่งสำคัญ ในการดูแลสุขภาพจิตของตัวเองหากสภาพแวดล้อมดีสุขภาพจิตเราก็จะดี หากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมก็อาจทำให้สุขภาพจิตเราแย่ลง การมีภาคประชาสังคมทำงานกระจายตัวไปตามที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพให้ทุกชีวิตให้กับทุกคนได้เช่นกัน

บรรยากาศพื้นที่ปฏิบัติงาน

เรียบเรียง โดย พิชชาพร เตชะ และ จิณณพัต สุขหู กลุ่มเยาวชนบ้านหมื่อสะลี่ จากช่อง "หมื่อสะลี่วาไรตี้"



เนื้อหาอื่นๆ

25 มีนาคม 2021
18 มกราคม 2020
20 มีนาคม 2019

Copyright © 2013 THETHAIACT