เพราะเป็นประชาชนจึงต้องทนเสียสละ ?
ตอน : ความเสียสละโดยไม่จำยอมของมึดา นาวานารถ กับโครงการเขื่อนผันน้ำยวม ให้คนภาคกลาง
โลกใบนี้มีด้วยเหรอความเสียสละ มันต้องได้อย่างเสียอย่าง แต่โครงการผันน้ำยวม มันเรียกร้องให้ชาวบ้านลุ่มน้ำยวมเสียสละชีวิต บ้านเกิด ใครก็ตามที่มาขอให้เราเสียสละ ลองถามตัวเองดูว่าคุณพร้อมจะเสียสละสิ่งเหล่านี้ไหม บ้านของพวกเราหลังหนึ่งสร้างกันมาทั้งชีวิต แต่อยู่ ๆ ต้องมาถูกทำลายในพริบตา” เป็นเสียงจาก มึดา นาวานารถ หนึ่งในตัวแทนชาวบ้านพื้นที่ลุ่มน้ำยวม หมู่บ้านท่าเรือ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ออกมาต่อต้านโครงการผันน้ำยวม
โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคกลาง โดยกรมชลประทานมีแนวคิดแก้ไขปัญหานี้ด้วยการดูดน้ำจากแม่น้ำยวม ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำสาละวิน ลอดผ่านอุโมงค์ใต้ดิน เพื่อนำน้ำดังกล่าวเติมเข้าไปให้เขื่อนภูมิพล โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วย
1.ปากทางออกอุโมงค์ส่งน้ำ ที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
2.พื้นที่กองวัสดุจากการขุดเจาะ(จุดทิ้งดิน) ที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่อื่น ๆ 3.ระบบอุโมงค์ส่งน้ำ
4.สถานีสูบน้ำบ้านสบเงา
5.อ่างเก็บน้ำยวม
6.ถนนเข้าเขื่อน
7.เขื่อนผันน้ำยวม
เขื่อนผันน้ำยวมเป็นตัวแปรสำคัญของโครงการนี้ เมื่อชาวบ้านในลุ่มน้ำยวมกำลังมองว่า เขื่อนจะเข้ามาทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไป ป่าไม้ ปริมาณน้ำ พันธุ์ปลาพื้นถิ่น และความหลากหลายทางชีวภาพที่กำลังจะสูญหายไปในพื้นที่ จึงเป็นที่มาว่า “ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นจริง ชาวบ้านสู้ตายแน่นอน”
เราชวนมึดา ในฐานะตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำยวม พูดคุยถึงเสียงที่รัฐพยายามทำให้มันเบาลง ผ่านการขายฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง
(1) ขายฝันพัฒนาเขื่อนน้ำยวมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
“จะมีใครที่ไหนขับรถมาตั้งไกลเพื่อมาดูเขื่อน ทุกวันนี้เรามีสิ่งที่ดีอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะโปรโมทสิ่งที่ดีเหล่านั้นอย่างไร”
มึดาเริ่มเล่าเรื่องจากประเด็นที่ภาครัฐพยายามบอกกับชาวบ้านในพื้นที่ว่า โครงการนี้จะเข้ามาเพื่อพัฒนาบริเวณเขื่อนน้ำยวม ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่เธอคิดว่าสิ่งนี้คือการขายฝันชาวบ้าน ทั้งยังเป็นการทำลายแหล่งท่องเที่ยวดั้งเดิม เช่นจุดชมวิวแม่น้ำสองสี ที่อาจจะหายไปจากการเข้ามาของเขื่อน และหากภาครัฐอยากช่วยชาวบ้านในพื้นที่จริง ควรนำงบประมาณเข้ามาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ไม่ดีกว่าหรือ?
“ไม่ยุติธรรมตั้งแต่เริ่มต้นโครงการแล้ว ตามหลักกฎหมายก่อนจะเริ่มทำโครงการ ต้องมาให้ข้อมูลกับชาวบ้าน แต่ที่ผ่านมาคือไม่มีการให้ข้อมูลเลย”
มึดาตั้งข้อสังเกตถึงเอกสารการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) โดยเธอเรีกยว่า EIA ร้านลาบ คือเอกสารการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการผันน้ำยวม ใช้รูปจากการที่ชาวบ้านถูกนัดพบและรับประทานอาหาร แต่กลับนำรูปภาพและชื่อมาอ้างว่า เป็นการให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น ที่น่าสลดใจซ้ำสองคือ EIA ฉบับนี้ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2564 โดยมีรองนายกรัฐมนตรีพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ เป็นประธาน
“สังคมตอนนี้หลายคนบอกคนเท่ากัน แต่เอาตามตรงในฐานะคนชาติพันธุ์ ภาครัฐยังไม่ได้มองเราเป็นพลเมืองชั้นเดียวกันกับคนในเมือง อย่างโครงการนี้ที่พยายามผลักดัน โดยไม่นับเสียงของคนชาติพันธุ์ ก็เห็นได้ชัดเจนแล้วว่ารัฐมองชาติพันธุ์อย่างไร”
มึดาตั้งข้อสังเกตว่า โครงการขนาดใหญ่ส่วนมากมักจะเข้าไปทำในพื้นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะรัฐมองว่าคนกลุ่มไม่มีศักยภาพและยอมคนง่าย จึงเป็นช่องว่างของรัฐที่คิดว่าคนกลุ่มนี้อ่อนแอ คนกลุ่มนี้ไม่ต่อต้าน เมื่อมีคนออกมาต่อต้านรัฐจะป้ายสีว่าเป็น NGO ไม่ใช่คนในพื้นที่
“เขาจะมองว่าคนกลุ่มนี้มันซื่อ คนชาติพันธุ์มักจะอ่อนน้อมถ่อมตนให้กับคนที่แต่งตัวดี ๆ คนที่มีการศึกษา สิ่งนี้บางครั้งนำไปสู่โอกาส ให้กับคนข้างนอกมาหาประโยชน์ ที่ผ่านมาคนในพื้นที่ฟัง เชื่อ เคารพพวกคุณ เพราะเขาคิดว่าคุณก็จะเคารพเสียงของพวกเขา แต่สุดท้ายคุณก็ไม่ได้ฟัง
“ตอนนี้ชาวบ้านถอยจนสุดกำแพงแล้ว เขาถอยกว่านี้ไม่ได้แล้ว ถ้าเขาถอยหลังจากนี้ไป เขาจะสูญเสียทุกสิ่งอย่างที่เขามี”
(2) ลุ่มน้ำยวมมีชีวิตจิตวิญญาณ อย่าทำลายด้วยการสร้างเขื่อน
“แม่น้ำสายนี้แหละ…ที่ทำให้เรามีการศึกษาที่ดี
แม่น้ำสายนี้แหละ…ที่ทำให้เรามีชีวิตที่ดี
แม่น้ำสายนี้แหละ…ที่ทำให้เรามีความมั่นคงในชีวิต
แม่น้ำสายนี้แหละ…ที่เป็นแหล่งอาหารให้เรา”
สำหรับมึดาแล้วแม่น้ำยวม และพื้นที่ป่าไม่ได้มีความสำคัญกับเธอเพียงแค่คนเดียว แต่มันคือทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ และเมื่อแม่น้ำสายนี้ให้ชีวิตแก่เธอ นั่นกำลังหมายความว่า คนในพื้นที่ตรงนั้น ก็กำลังได้รับชีวิตจากสายน้ำยวมเช่นกัน
“คนในพื้นที่เขารักษาป่า รักษาความอุดมสมบูรณ์ให้แม่น้ำยวมไหลอย่างอิสระตามธรรมชาติ อยู่ ๆ โครงการนี้มาจากไหน คุณบอกว่าน้ำเป็นของประเทศไทยต้องเอาไปให้คนภาคกลาง แล้วคนในพื้นที่ละ? คุณกลับบอกว่า คนในพื้นที่เป็นคนส่วนน้อยที่จะต้องเสียสละ”
นอกจากต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ชาวบ้านลุ่มน้ำยวม อาจจะต้องสูญเสียวิถีชีวิต วัฒนธรรมดั้งเดิมไป โดยจะมีอย่างน้อย 10 กว่าหลังคาเรือนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง จนต้องย้ายออกจากพื้นที่ โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าจะได้ค่าชดเชย และจะย้ายไปอยู่ที่ไหน
“ชาวบ้านไม่รู้เลยว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ถึงแม้จะได้เงินหลักล้านสักพักมันก็หมด แต่สิ่งที่เขาอยู่ทุกวันนี้มันไม่มีวันหมด เขาไม่ได้ต้องการมีเงินวันนี้เพื่อกินไปอีก 10 ปี วิถีชีวิตของคนชาติพันธุ์เขาหาวันนี้ เพื่อกินวันนี้ แต่อยู่ดี ๆ คุณมาทำโครงการทำลายชีวิตของเขา นั่นหมายความว่าสิ่งที่เขาสร้างมาทั้งชีวิตกำลังถูกทำลาย”
มึดามองว่าการผันน้ำไปให้คนภาคกลางไม่ใช่การแก้ไขปัญหา เพราะภาคกลางไม่ได้ขาดแคลนน้ำ แต่ขาดการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ที่ผ่านมาการบริหารจัดการน้ำ ถูกรัฐคิดและทำ โดยไม่เปิดโอกาสให้คนในประเทศได้มีส่วนร่วมจัดการ
“มักง่ายไปรึเปล่า…คุณน่าจะรู้ว่าโครงการแบบนี้มันไม่ยั่งยืนผิดหลักธรรมชาติ เราคิดว่าคนในทุกลุ่มน้ำต้องจัดการตัวเองไม่ใช่เอาลุ่มน้ำหนึ่ง ไปให้คนอีกลุ่มน้ำหนึ่งแบบนี้”
มึดาทิ้งท้ายในประเด็นเรื่องพื้นที่บ้านเกิดของเธอว่า ทุกวันนี้รัฐแทบไม่ต้องไปจัดการช่วยเหลือเรื่องน้ำ อาหาร ให้กับคนในลุ่มน้ำยวม พวกเขาพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ และการที่เขาพึ่งพาตัวเองได้นั้น นั่นเท่ากับกำลังช่วยประเทศอยู่ หากเทียบกับคนเมืองที่รัฐต้องจัดการช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา และยิ่งเห็นได้ชัดอย่างยิ่งในช่วงเวลาวิกฤตโควิด ที่มีทั้งคนตกงาน คนล้มป่วย คนไร้บ้าน เต็มเมือง
“โควิดมาฉันก็โดดลงไปในน้ำได้กินปลา เข้าป่าก็ได้ผัก เผือก มัน กิน ทรัพยากรธรรมชาติจุนเจือช่วยเหลือภาครัฐอยู่ แต่รัฐกลับมองไม่เห็น ถ้าคนในลุ่มน้ำยวมไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เหมือนคนในเมือง รัฐต้องหางบประมาณอีกเท่าไหร่เพื่อมาช่วยเหลือ ?”
(3) ใจเขาใจเรา เสียงถึงคนภาคกลาง
“โครงการผันน้ำยวม อยากให้คุณมองกลับกันว่า ถ้าโครงการนี้ไปเกิดขึ้นในบ้านของคุณ ไปทำลายวิถีชีวิต พรากบ้านเกิด พรากความมั่นคงทางอาหาร คุณจะรู้สึกอย่างไร ถ้าหากคุณหวงแหน ไม่อยากสูญเสียทุกอย่างไป คนที่นี่ก็รู้สึกเช่นเดียวกันไม่ต่างไปจากคุณ”
ดังที่กล่าวไปตอนต้น โครงการนี้อธิบายง่าย ๆ คือการเอาน้ำจากแม่น้ำยวม มาให้เขื่อนภูมิพล นำมาซึ่งผลประโยชน์ในการมีน้ำใช้ของคนลุ่มน้ำเจ้าพระยาในภาคกลาง
มึดายังคงเชื่อมั่นในคนภาคกลาง ว่าถ้าหากได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ได้รู้ว่ามีคนกลุ่มหนึ่งต้องเสียสละชีวิต เธอเชื่อมั่นว่าคนภาคกลาง ที่จะเป็นคนได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้ พวกเขาก็ไม่อยากให้เกิดการสูญเสียเช่นกัน
มากไปกว่านั้นถ้าคนภาคกลางได้รู้ว่า ความสูญเสียที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ แต่ที่ผ่านมาทุกคนได้ตระหนักรู้แล้วว่า การทำลายป่าทำลายแหล่งน้ำ คือสาเหตุหนึ่งของอุทกภัยที่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรให้คนภาคกลาง ได้รับรู้ข้อมูลโครงการนี้อย่างรอบด้าน
สำหรับมึดา ความหวังในการต่อต้านโครงการผันน้ำยวมตอนนี้ คือพยายามใช้ทุกช่องทางตามกฎหมาย เธอยื่นหนังสือไปถึงกรมชลประทาน, ประธานรัฐสภา, กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, และสหประชาชาติ
“ตอนนี้ชาวบ้านสู้ตายถ้ามันเกิดขึ้น ไม่ใช่คนลุ่มน้ำยวมเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ เพราะโครงการนี้มันมีทั้งเขื่อน อ่างเก็บน้ำ สถานีสูบน้ำ อุโมงค์ สายไฟฟ้าแรงสูง นั่นหมายถึงพี่น้องชาติพันธุ์อีกหลายสิบหมู่บ้านที่เขาพร้อมจะสู้
ถ้าโครงการนี้ยังคงดำเนินต่อ พลังของชาวบ้านจะเกิดขึ้น หลังจากนี้รัฐจะเห็นตัวตนของคนชาติพันธุ์ เขามีตัวตนวิถีชีวิต และไม่ใช่ใครก็ไม่รู้ที่ถูกตีตราเป็นพลเมืองชั้น 2 ชั้น 3 ที่คุณกำลังไม่ให้ความสำคัญ”
โดยโครงการนี้กำลังจะเข้าสู่มติ ครม. เพื่ออนุมัติทำโครงการในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นผลจากการที่ EIA ฉบับดังกล่าวผ่าน และถ้าหากผ่านมติ ครม. ขั้นตอนต่อไปก็คือ การจัดหางบประมาณในระดับหมื่นล้านบาท ภายใต้ข้อกังขาว่า ประเทศเรามีเงินเยอะถึงขนาดนั้นจริง ๆ หรือ ทั้งที่ยังเจอวิกฤตเศรษฐกิจปากท้องมากมาย รวมทั้งกระแสที่จะให้ทุนจีนเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งอย่างไรเสียก็ต้องมีสักคนที่ต้องเสียสละ อาจจะเป็นคนลุ่มน้ำยวมหรือแม้แต่คนทั้งประเทศ
“ถ้ามีใครยังไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่เสียสละ ก็เปรียบเทียบง่าย ๆ ก็แล้วกัน ว่าถ้าวันหนึ่ง โครงการนี้เปลี่ยนที่ก่อสร้างไปที่บ้านเกิดคุณ และคุณต้องสูญเสียบ้านเกิด พลัดพรากจากคนที่คุณรัก แผ่นดินที่คุณเกิด คุณยอมไหมล่ะ? จะมีสักกี่คนที่จะยอมเสียสละแบบนี้”
____________________________________
ล้อมกรอบ :
ในท้ายที่สุดมึดาเล่าถึงความกังวลส่วนตัวที่เห็นนักเคลื่อนไหว หรือแม้กระทั่งวัยรุ่นที่ลุกขึ้นมาพูดถึงปัญหาส่วนรวม ทั้งที่โดนจับกุม คุมขัง หรือกระทั่งถูกตามข่มขู่คุกคามว่า
“ทุกครั้งที่กรมชลประทานลงมา เขาก็มักจะถามหาว่า มึดามาไหม มึดาอยู่ไหน ในที่ประชุมก็มีการพยายามดัก ไม่ให้เราพูดในที่ประชุม และครั้งล่าสุดที่เรารู้สึกไม่โอเค คือกรมชลประทาน ลงไปหาพี่สาว ไปคุยกับพี่สาวเราว่า นี่พี่สาวมึดาใช่ไหม ทางการรู้จักมึดาดี เขาไปบอกพี่สาวเราอย่างนั้นได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงคือเราไม่ได้รู้จักกัน พฤติกรรมแบบนี้หมายถึงอะไร ? มีความพยายามจะขู่ หรือคุกคามเราหรือเปล่าหากเรายังจะพูดเรื่องนี้ต่อไปเรื่อย ๆ”