20 ตุลาคม 2018

สุขภาพที่ดี

สร้างสุข มุสลิมไทย

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย คือชื่อหน่วยงานที่เป็นต้นสังกัดของ รีนา แสงเอี่ยม คำว่า “สร้างสุข” นั้นไม่ได้หมายถึงมุสลิมใด ๆ ในประเทศกำลังทุกข์ร้อนอยู่ แต่หมายถึง สุขภาวะ และสุขภาพที่ดี ของมุสลิมทั่วประเทศไทย เธอเล่าว่าในองค์กรมีการทำงานด้านสุขภาพ และการลดปัจจัยเสี่ยงจากโรค NCDs (Non-communicable diseases) หรือ โรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง แต่เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะการบริโภคและการสูบบุหรี่ รวมทั้งยังได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนา 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยได้เริ่มดำเนินงานแล้วในจังหวัดยะลา

รีนา เล่าประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ให้ฟังว่า “สำหรับอิสลาม พวกเราเชื่ออยู่แล้วว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้าง ในวันข้างหน้าเราต้องกลับไปหาพระองค์ ดังนั้นกลยุทธ์การพูดคุยกับชุมชนในพื้นที่เ ราจึงไม่ทิ้งการนำความเชื่อทางศาสนาเป็นหนึ่งในทางเลือก เพื่อให้ชุมชนของเราปราศจากอบายมุขมาใช้ แต่เราไม่ได้ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการทำงาน เพราะหากคุณบอกใครที่ไม่รู้จักว่า อย่าสูบบุหรี่นะ คงไม่มีคนเชื่อ แต่ในศาสนาอิสลามหากเราเคยได้ยินคำว่า ฮาลาล ฮารอม ซึ่งฮาลาลไม่ได้แปลว่ากินได้อย่างเดียว แต่หมายถึงสิ่งที่ดีสำหรับมุสลิม ปลอดภัยสำหรับมุสลิมด้วย แต่ฮารอมคือสิ่งตรงข้ามที่ศาสนาห้าม บุหรี่คือหนึ่งในนั้น เพราะเป็นสิ่งมึนเมาทำร้ายคนรอบข้าง การไปพูดคุยเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้คนเลิกบุหรี่ได้ แต่หากสามารถทำงานผ่านผู้นำศาสนา ก็จะสร้างตัวอย่างที่ดีให้กับศาสนิกชนที่พร้อมใจอ่อนปฏิบัติตามได้มาก ในฐานะลูกหลานคนพื้นที่ การทำงานกับพี่น้องมุสลิมนั้นไม่ยาก เพราะเรารู้วิธีการเข้าหา เข้าถึง ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจ เคารพความแตกต่างทางศาสนา ซึ่งทำให้บางครั้งเราถือปฏิบัติแตกต่างกัน”

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีคนไทย 6.5 ล้านคนที่สูบบุหรี่ แต่มีมากถึง 17.3 ล้านคน ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน โดยประชาชนภาคใต้ครองแชมป์อัตราการสูบบุหรี่สูงสุดคือ 24.65% และมีอัตราประชากรผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านทุกวันสูงสุดของประเทศ คือ 37.3% ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ ทำให้มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างสังคมปลอดบุหรี่มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 สามารถลดปริมาณนักสูบหน้าเก่า และป้องกันไม่ให้มีนักสูบหน้าใหม่ รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของชุมชนไม่ให้เอื้อต่อการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ

แม้การทำงานใกล้ชิดพื้นที่ และแวดล้อมไปด้วยผู้คนซึ่งมีความเชื่อเดียวกันจะเป็นเรื่องง่าย แต่อุปสรรคสำคัญกลับกลายเป็นเรื่องทัศนคติ และและภาพจำของสังคม  “แม้เราจะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา ร่วมพัฒนาสังคมในทางหนึ่ง แต่การรวมตัวกันของพี่น้องมุสลิม กลายเป็นถูกคนภายนอกมองว่า ต้องเป็นเรื่องไม่ดี มีความสุ่มเสี่ยง อาจเป็นภัยต่อความมั่นคง ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ส่วนตัวนั้น แค่จะโดยสารเครื่องบินไปต่างจังหวัด ยังโดนตรวจค้นเข้มงวดขึ้นกว่าคนอื่นเพราะเราสวมฮิญาบ การเข้มงวดเป็นสิ่งที่ดี แต่เข้มงวดแบบมีนัยะสำคัญเช่นตรวจค้นสองรอบ สแกนกระเป๋าสองรอบเพื่อให้แน่ใจว่าเราไม่อันตรายนั้นผิดปกติ ซึ่งเรื่องนี้เราต้องเข้าใจร่วมกันก่อนว่า มุสลิมไม่ใช่สัญลักษณ์ของความรุนแรง และการที่ผู้แสดงตนว่านับถืออิสลามต้องถูกปฏิบัติแตกต่างจากคนอื่นทั่วไป ทำให้เกิดช่องว่างของความไว้ใจระหว่างคนไทยด้วยกันเองทำให้การทำงานในทุกมิติร่วมกันลำบากขึ้น”

จากภาพความเป็นจริงที่ผ่านมา เหมือนกับว่าเมื่อมีกิจกรรมที่คนมุสลิมทำ ชาวไทยพุธจะขัดขวยหรือไม่กล้าเข้าร่วมแม้เป็นกลุ่มสันทนาการ ให้ความรู้ รณรงค์ เช่นเดียวกันหากมีกิจกรรมทางสังคมของคนไทยพุธ ชาวไทยมุสลิมก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองจะเข้าไปร่วมได้หรือไม่ นั่นจึงกลายเป็นอุปสรรคหลักในการทำงานพัฒนาสังคมในพื้นที่ ซึ่งมีอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม ' '

จึงไม่ใช่หน้าที่ใคร ที่จะต้องช่วยกันทำงานเพื่อไม่ให้ความแตกต่างหลากหลาย กลายเป็นการกีดกันผู้ที่มีความแตกต่าง เพราะเราทุกคนสามารถร่วมเป็นหนึ่งในกระบวนการพัฒนาสังคมได้เช่นกัน

เนื้อหาอื่นๆ

01 พฤศจิกายน 2023
08 มีนาคม 2019
06 กุมภาพันธ์ 2023

Copyright © 2013 THETHAIACT