06 สิงหาคม 2018

ยืดอกเปิดประเด็น

เราสามารถช่วยใครก็ได้ที่อยู่ไกล แต่เด็กใกล้บ้านที่ถูกทารุณเรากลับลังเล ?

12 นาฬิกา THETHAIACT นัดหมายกับ สรรพสิทธิ์ คุมประพันธุ์ ผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อพูดคุยกันเรื่องเด็ก ๆ ในสังคมไทย บรรยากาศในห้องทำงานกรมกิจการเด็กและเยาวชนเงียบจนได้ยินแต่เสียงเครื่องปรับอากาศ ผู้ชำนาญการและอดีตผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์เด็ก นั่งสวมแว่นกระชับสายตาอยู่ต่อหน้าเรา เขายืดอกเปิดประเด็น

“ปัญหาเด็กทุกวันนี้มีเยอะแยะไปหมด แต่ปัญหาการทารุณกรรมเด็กที่เป็นเรื่องใหญ่สุดตอนนี้ไม่ใช่การทุบตีทำร้ายร่างกาย แต่เป็นการทำร้ายด้วยอารมณ์จิตใจ ด้วยการเปรียบเทียบ ด่าว่า หรือปฏิบัติกับเด็กที่อยู่ในครอบครัวเดียวกันอย่างไม่เท่ากัน มันเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งมีตั้งแต่ระดับครอบครัวเลยนะ ลองทบทวนดี ๆ ว่าวันเรารักลูกเท่ากันหรือเปล่า”

ด้วยเสียงถอนใจยาวราวคั่นบรรทัดสนทนา สรรพสิทธิ์ คุมประพันธุ์ หลบสายตาตอบคำถามที่ว่าปัญหาเหล่านี้มาจากไหน

“สถาบันหลักทั้งนั้นแหละ ครอบครัว โรงเรียนด้วย …

โรงเรียนสอนให้จำด้วยซ้ำไม่ได้สอนให้คิด การอบรมหน้าเสาธงไม่ใช่การดูแลเด็ก เพราะการดูแลเด็กไม่ใช่การพูดด้วยปาก แต่ต้องจัดระบบ มาตรการทางการบริหารด้วย ตามหลักการคือคุณต้องจัดบุคลากรหน่วยงาน ให้เอาหลักกฏหมายไปเป็นหลักปฏิบัติ ให้บริการกับเด็ก แต่เราไม่มี

อย่างดีวันนี้ถ้าเราเห็นเด็กมีปัญหาส่วนใหญ่ก็จะแจ้งตำรวจ หรือแจ้ง 1300 แต่หน่วยงานพวกนี้ส่งต่อความรับผิดชอบไม่ได้ไง เขาจะส่งให้ใคร ? ตำรวจได้เด็กมาอย่างดีก็ไปลงบ้านพักเด็กและครอบครัว ซึ่งไปลงบ้านพักเด็กและครอบครัวก็ไม่มีกระบวนการทำงานต่อ เพราะว่ากระบวนการทำงานไม่ใช่ยกให้เจ้าหน้าที่ของบ้านพัก ต้องเป็นพนักงานคุ้มครองเด็ก ไปทำงานกับครอบครัว ไปวางแผนพูดคุย ฟื้นฟู ทำแผนให้เด็กและครอบครัวกลับมาอยู่ร่วมกันได้เหมือนเดิม “

หากมองในแง่มนุษยธรรมแล้วกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นกับประเทศไทย อย่างกรณีเด็กติดถ้ำหลวงที่เชียงรายนับเป็นปรากฏการณ์ และเป็นแบบอย่างให้เห็นถึงการช่วยเหลือเด็ก เป็นการช่วยเหลือที่ไม่มีเงื่อนไข

“ถ้าเกิดภัยพิบัติ เราทุกคนจะไม่สนสถานะของเด็กเลยว่าเป็นใครมาจากไหน มีสถานะบุคคลหรือไม่ มันจะเกิดการระดมเข้าไปช่วยเหลือเด็กทันที ตัวอย่างเช่นกรณีเด็กติดถ้ำที่ขุนน้ำนางนอน เป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดี เป็นการ Action ที่เป็นประโยชน์ ทำเลยไม่ต้องรอให้ใครสั่ง ใครถนัดและชำนาญการอะไรก็เอาสิ่งเหล่านั้นออกมาช่วยให้เกิดประโยชน์สูงงสุด บางคนไม่รู้จะทำอะไรถนัดซักเสื้อผ้าให้กับเจ้าหน้าที่ก็มีประโยชน์ นี่เป็นต้นแบบของสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันที่ทุกคนไม่นิ่งเฉยต่อปัญหา” เหมือนว่าจะเป็นเรื่องดีที่ได้ฟังแต่สุดท้ายความเห็นจากผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติบอกว่า

“คนจำนวนมากไม่มีปัญหากับการเลือกปฏิบัติในกลุ่มเด็กไร้สัญชาติ บางคนตั้งแง่เลือกปฏิบัติเองเสียด้วย เช่น กรณีเด็กที่ติดอยู่ในถ้ำ ก็ถามว่าทำไมต้องไปให้สัญชาติคนพวกนี้ด้วย ผมก็สงสัยว่า อ่าวถ้ามึงไม่ให้สัญชาติแล้วมึงจะให้เขาอยู่ในประเทศแบบที่ไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้เลยหรือ ถ้างั้นให้ติดอยู่ในถ้ำเหมือนเดิมก็ไม่ต่างกัน ปัญหาของเด็กจึงเป็นปัญหาร่วมของสังคม แต่เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไป สถานการณ์ด้านเด็กก็เปลี่ยนด้วย เดิมทีไม่ว่าเด็กจะอยู่ที่ไหนผู้ ใหญ่ทั้งลุงป้าน้าอาจะเข้าไปร่วมดูแล เกิดปัญหาอะไรก็ช่วยคนละไม้คนละมือ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ เดี๋ยวนี้ต่างคนต่างอยู่ เด็กจะเป็นยังไงก็ช่าง สังคมเราจะเอาแบบนั้นใช่ไหม ?”

ต่อเมื่อถามถึงภาคประชาสังคมกับการมีส่วนร่วมดูแลพัฒนาเด็ก สรรพสิทธิ์ คุมประพันธุ์ ไม่รีรอที่จะตอบคำถาม “สังคมไทยเป็นสังคมที่เอื้ออาทรณ์ แต่ต้องเป็นวาระที่มีเหตุการณ์สำคัญหรือวิกฤต ซึ่งจริง ๆ แล้วภาวะแบบที่คนมีความเอื้ออาทรณ์ต่อกัน มีความรู้สึกที่จะช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน คนที่กำลังมีปัญหาควรเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น ใคร ๆ ก็ได้สามารถมาเป็นภาคประชาสังคมโดยที่ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อธุรกิจ เพื่อแสวงหาผลกำไรหรือเป้าหมายทางการเมือง การเอาทรัพยากรที่ตัวเองมีมาช่วยเหลือคนอื่น ไม่ใช่แค่การให้เงิน แต่แบ่งปันจากทรัพยากรที่ตัวเองมี เรื่องพวกนี้คนในสังคมสามารถตัดสินใจเองได้ ในการมามีส่วนร่วมพัฒนาสังคม มันทำให้เกิดความสมบูรณ์แบบ”

ทุกคำถามที่สุภาพบุรุษคนนี้ตอบ เหมือนกับกำลังตั้งคำถามให้ทุกคนร่วมกันคิด ว่าเราสามารถช่วเด็กคนไหนก็ด้ที่อยู่ไกลออกไป แต่เด็กใกล้บ้านที่ถูกครอบครัวทารุณกรรมเรากลับลังเลใช่ไหม ?

เนื้อหาอื่นๆ

11 กันยายน 2018
01 พฤษภาคม 2021
12 ธันวาคม 2022

Copyright © 2013 THETHAIACT