อำเภอยิ้มเคลื่อนที่
ประชา-รัฐแม่แจ่ม คืนความเป็นคนที่หล่นหาย
กว่า 82 กิโลเมตรจากตัวอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ต้อง “บุกป่า-ตะกายดอย” ไปจนถึงบ้านผาละปิ ตั้งอยู่ในตำบลแม่ศึก ทำให้ดิฉันสาวจากเมืองทะเลซึ่งเดินทางมาที่นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตสะบักสะบอมมิใช่น้อย เพราะช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 19 กันยายน 2561 พึ่งเดินทางมาจากตัวเมืองเชียงใหม่ 3 ชั่วโมงกว่า ๆ และช่วงบ่ายต้องเดินทางต่อขึ้นดอยโดยรถกระบะโฟร์วิลทันที เพื่อติดตาม “นายอำเภอแม่แจ่ม” ซึ่งย้ายมาจากอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ไปออกหน่วย “อำเภอยิ้มเคลื่อนที่ประจำเดือนกันยายน 2561” ที่หมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งมีความยากลำบากในการเดินทางอย่างมาก หากไม่ใช่รถยนต์ที่มีสมรรถนะสูงหรือมิฉะนั้นก็ต้องเลือกใช้รถมอเตอร์ไซด์แทน
“อำเภอยิ้มเคลื่อนที่” เป็นนโยบายของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่มีความมุ่งมั่นเข้าถึงประชาชนในพื้นที่หมู่บ้านห่างไกล ไม่สามารถเดินทางมาติดต่อราชการ ณ ที่ว่าการอำเภอได้โดยตรง เป็นการอำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่าย ตามเป้าหมาย “มหาดไทยคลายทุกข์ อำเภอยิ้มบริการฉับไว ถูกใจประชาชนเดือนละครั้ง”
โดยเฉพาะการรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ต่างๆของชาวบ้านในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดในการสื่อสาร เช่นในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ โดยตรง, การให้บริการด้านการทะเบียนสำหรับประชาชนที่ตกหล่นจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ การเข้าถึงการจดทะเบียนการเกิด, การชี้แจงนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น นโยบายด้านป่าไม้ที่ดิน ด้านเศรษฐกิจ, การส่งเสริมอาชีพตามบริบทพื้นที่ ตลอดจนการขายสินค้า ตลาดในการรองรับผลผลิต , การบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนการให้ความรู้ด้านการเกษตร
ปศุสัตว์ เป็นต้น
ทั้งนี้มีหน่วยงานต่างๆร่วมออกหน่วย ทั้งปกครองอำเภอ, สาธารณสุขอำเภอ, ปศุสัตว์อำเภอ, ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ , องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ศึก , โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ , สมาชิกกองอาสารักษาดินแดง (อส.), คณะแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลเทพรัตน์เวชชานุกูล ฯลฯ กว่า 25 คน
บ้านผาละปิ ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 เป็น 1 ใน 17 หมู่บ้านของตำบลแม่ศึก สภาพพื้นที่เป็นป่าและภูเขาสูงชัน ทุรกันดาร อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีน้ำแม่หยอดไหลผ่าน มีพื้นที่ทั้งหมู่บ้านประมาณ 4,953 ไร่ โดยเป็นพื้นที่อยู่อาศัย 73 ไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่ทำการเกษตร ทำนา ทำไร่ ทำสวน มีครัวเรือนรวม 195 ครัวเรือน ประชากร 768 คน (ชาย 395 หญิง 373 คน) ส่วนใหญ่แทบทั้งหมดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ทำงานรับจ้างในภาคเกษตร นับถือศาสนาคริสต์ มีโบสถ์คริสต์ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน สังกัดสภาคริสตจักรในประเทศไทย รายได้เฉลี่ยของคนในหมู่บ้านตามเกณฑ์ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ของกรมการพัฒนาชุมชน ประมาณ 18,000 บาท/ปี และจากการสำรวจในปี 2561 มีครัวเรือนยากจนที่รายได้ไม่ถึง 30,000 บาทต่อปี รวม 115 ครัวเรือนจากทั้งหมด 195 ครัวเรือน มีกำนันบัลลังก์ ดำรงเกียรติ์พนา เป็นผู้ใหญ่บ้าน
ปัญหาหลักของหมู่บ้านแห่งนี้ คือ ความยากลำบากในการเดินทางสู่โลกภายนอก โดยเฉพาะหากมีปัญหาด้านสุขภาพที่ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วนหรือต่อเนื่อง เนื่องจากเส้นทางยังเป็นถนนลูกรังที่หากเป็นฤดูฝนแทบจะใช้การไม่ได้ รวมถึงไฟฟ้าที่ติด ๆ ดับ ๆ และมีสัญญาณโทรศัพท์ในการสื่อสารเล็กน้อยเพียงบางจุดเท่านั้น และใช้ได้เฉพาะในวันที่ท้องฟ้าโปร่ง สถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างจากหมู่บ้านกว่า 14 กิโลเมตร ซึ่งใช้เวลาเดินทางไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมงในช่วงเวลาปกติ
นี้ไม่นับว่าพื้นที่ทั้งหมดของหมู่บ้านแห่งนี้อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และชั้น 2 ทำให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชนที่ยังติดขัดการพัฒนาในหลายด้าน ซึ่งเป็นข้อจำกัดจากตัวบทกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับหน่วยงานหลายกระทรวงที่ยังขาดการบูรณาการทำงานร่วมกัน
“หนู เรามาถ่ายรูปเล่นกันนะคะ” ดิฉันบอกเด็กน้อยคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกของคนในหมู่บ้านมาถ่ายรูปด้วยกัน เพื่อไม่ให้น้องงงงวยว่าทำไมตนเองไม่มีโอกาสไปถ่ายรูปร่วมด้วย ระหว่างที่นายอำเภอบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ กำลังมอบเครื่องอุปโภคบริโภคและเงินจำนวนหนึ่งให้กับครอบครัวที่ยากไร้ที่สุดในหมู่บ้านในนามของ “กิ่งกาชาดอำเภอแม่แจ่ม” และถ่ายรูปร่วมกับ “แม่และลูกๆของเธอ” ที่บริเวณหน้าบ้านที่อาศัยอยู่
ปัญหาสำคัญของครอบครัวนี้ นอกจากแม่ต้องเป็นฝ่ายหาเลี้ยงชีพผ่านการรับจ้างในภาคการเกษตรเพียงคนเดียวที่มีรายได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากพ่อไม่สามารถทำงานได้จากภาวะเจ็บป่วย อีกทั้งยังพบว่า บุตรทั้ง 3 คน มีปัญหาด้านสุขภาพที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากพันธุกรรมและส่งผลต่อระบบสมองและการเรียนรู้ เพราะความยากลำบากและระยะเวลาที่ยาวนานในการเดินทางไปรักษา เงินต่างๆที่ต้องใช้ยามออกนอกหมู่บ้าน เช่น ค่าเดินทาง ค่ากินค่าอยู่ ตลอดจนความรู้ความเข้าใจในโรคที่เกิดขึ้น ทำให้ครอบครัวนี้กลายเป็น “ประชากรที่ตกหล่นเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพที่ควรได้รับการรักษามาแต่เนิ่นๆ”
ต่อมาในครอบครัวที่ 2 ดิฉันต้องรีบเดินออกมาเช็ดน้ำตารื้นที่หน้าบ้านของเขา ยามที่นายอำเภอบุญลือกำลังชวนให้ชายหนุ่มคนหนึ่งถ่ายรูป ดิฉันดีใจที่เขายิ้มแบบนี้และไม่ต้องมารับรู้ความโหดร้ายของโลกนอกหมู่บ้าน ความพิการและอาการทางสมองของเขา ทำให้โลกภายในของเขาเยียวยาตนเองมากว่า 40 ปี
โลกที่ทำให้ “คน ๆ หนึ่งที่เกิดมา” กลายเป็น “ผีล่องหนไร้ตัวตน” เพียงเพราะไม่มีบัตรประชาชน ตกหล่นจากการแจ้งเกิด จากการจดทะเบียนการเกิด และในอดีตพ่อของเขาก็มีภรรยาใหม่ไปแล้วและออกไปอาศัยอยู่กับครอบครัวใหม่ที่อำเภออื่น ปล่อยให้แม่ต้องเลี้ยงดูเพียงฝ่ายเดียว ต่อมาเมื่อพ่อและแม่ได้เสียชีวิตลง ญาติที่ใกล้ชราก็ต้องมารับภาระดูแลต่อไป ทำให้เขาจึงไม่มีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลและสิทธิต่าง ๆ ที่คนพิการคนหนึ่งพึงได้รับตามที่กฎหมายกำหนดไว้
นายอำเภอบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ กล่าวว่า
“ปัญหาสำคัญไม่ใช่เรื่องอะไรเลย แต่ด้วยถนนหนทาง พื้นที่ห่างไกลมาก ยิ่ง 40-50 ปีที่แล้ว ไม่ต้องพูดถึง โอกาสที่ประชาชนจะเข้าใจ เข้าถึง ได้รับการพัฒนาเรื่องต่างๆตามมาไม่ง่าย โครงการต่างๆที่เข้ามาต้องเข้าใจบริบทพื้นฐานแบบนี้ก่อน ที่แต่ละพื้นที่ในแม่แจ่มมีความแตกต่างกัน ไม่ใช่อยากพัฒนา อยากทำอะไรก็จะทำได้ ขนาดเราเองวันนี้เดินทางมาที่นี่ยังใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง นี่รถสภาพดีๆนะ แล้วชาวบ้านล่ะจะเป็นอย่างไร
ยิ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบชายแดนอีก ปัญหาความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ เข้าไม่ถึงสุขภาวะที่ดีที่ประชาชนพึงได้รับก็ทับถม มีช่องว่างที่ตกหล่นมากขึ้น วันนี้นายอำเภอทราบแล้ว สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอำเภอจัดการปัญหานี้ทั้ง 2 เคสแล้วอย่างเร่งด่วนที่สุด และรายงานปัญหาให้ผมทราบเป็นระยะๆหากติดขัดอะไร เพื่อให้เขาได้รับสิทธิที่เขาต้องได้รับอยู่แล้ว ให้ได้รับเร็วที่สุด ให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนกลับคืนมา
เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ให้ประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ห่างไกล ไม่ให้ถูกทอดทิ้ง ไม่ถูกหลงลืม นี้คือเป้าหมายการทำงานของผม นายอำเภอไม่ได้นิ่งนอนใจใดๆ
แต่ที่ผ่านมาด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทั้งความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ข้อกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ในฐานะที่ตอนนี้ผมเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดที่อำเภอนี้ ผมขอโทษและน้อมรับข้อผิดพลาดนี้ และกำลังแก้ไขเยียวยาจัดการอยู่
ดูง่าย ๆ อย่างเรื่องหมอกควันไฟป่า ที่เป็นปัญหาหลักมากของพื้นที่แม่แจ่มจนกลายเป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทย ตั้งแต่ผมมาดำรงตำแหน่งนายอำเภอที่นี่ ผมสานต่อนโยบายรัฐบาลโดยทันที ทำอย่างไรให้ hotspot ที่แสดงการเผาไร่เป็นศูนย์ เท่ากับศูนย์
ตัวชี้วัดที่สำคัญเรื่องนี้ คือ จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันต้องน้อยที่สุด จากเดิมสมัยปี 59 มี hotspot แสดง 30 จุด ผู้ป่วย 7,244 คน ต่อมาปี 2560 มี hotspot แสดง 28 จุด ผู้ป่วย 5,640 คน จนมาถึงปีล่าสุด มี hotspot แสดง 19 จุด ผู้ป่วย 2,925 คน นี้เป็นนัยยะสำคัญมากในการทำงาน
ผมเชื่อว่ากลไกทางการที่อำเภอมีอยู่แล้วทำงานได้ดี ทำอย่างไรให้ฟังก์ชั่น (function) ได้จริงมากกว่า ทำอย่างไรให้พวกเขาเห็นว่า นายอำเภอเอาจริง ทำจริง ไม่ใช่ใช้แต่ลูกน้อง มีคนเรียกผมว่า นายอำเภอผีบ้า นายอำเภอเอ็นจีโอ นายอำเภอบ้านนอก ทำงานกับนายอำเภอคนนี้เหนื่อยมากแต่ก็สนุกมากเช่นกัน เพราะลูกน้องทำอะไร นายอำเภอทำด้วย ลูกน้องนอนในป่า เฝ้าไฟป่า นายอำเภอก็ไปนอนด้วย ไปอยู่ด้วย ไปแก้ปัญหาด้วยกันให้ทันท่วงที
แนวทางที่ผมทำคือ ในอำเภอแม่แจ่มมี 7 ตำบล คือ แม่ศึก , ช่างเคิ่ง , ท่าผา , บ้านทับ , แม่นาจร , ปางหินฝน และกองแขก ซึ่งมีบริบทพื้นที่ กลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน ทั้งกะเหรี่ยง , ม้ง , ลัวะ , คนเมือง ดังนั้นผมตั้งปลัดอำเภอขึ้นมาดูแลในแต่ละตำบล ทำหน้าที่คล้ายๆ commander เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของแต่ละตำบลเลยในการออกแบบการแก้ไขปัญหาต่างๆในพื้นที่ มีทั้งหมด 7 คน 7 กลุ่มไลน์ (line) ในการร่วมกันแก้ปัญหา ใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือทำงาน ดึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล หมอตำบล และกลไกระดับตำบล ระดับหมู่บ้านต่างๆที่เป็นองค์กรชุมชน องค์กรประชาชน ที่เรียกว่าภาคประชาสังคมมาร่วมกันทำงาน
ที่ผ่านมาอาจเป็นเพียงเรื่องทำหน้าที่เฉพาะแก้ไขปัญหาหมอกควัน ซึ่งก็เห็นแล้วว่า มันได้ผลจริง ลดปัญหาได้จริง ผู้ป่วยลดลงอย่างเห็นได้ชัด แปลว่า กลไกที่มีอยู่ในชุมชน ในระดับตำบลทำงานได้ดีมาก หากเราเข้าใจสถานการณ์แต่ละตำบล มีข้อมูลยืนยันการทำงาน มีประชาชนในพื้นที่พร้อมให้ความร่วมมือรัฐ เป็นประชา-รัฐแม่แจ่ม เป็นหุ้นส่วนการทำงานในอำเภอที่แท้จริง
แล้วแบบนี้ไม่ว่าหน่วยงานใด หรือเอกชน ประชาสังคม เข้ามาทำงานในพื้นที่ก็จะราบรื่น ทำงานได้ด้วยกันอย่างบูรณาการ เพราะไม่ได้แค่มุ่งเน้นการช่วยเหลือแบบประชาสงเคราะห์เท่านั้น หากแต่มีลักษณะที่เป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกิดเครือข่ายประชาชนแม่แจ่มที่แข็งแรงและมีจิตอาสา เสียสละเวลา แรงใจแรงกายมาช่วยภาครัฐทำงานทางสังคมด้วยกัน ถือเป็นการลงทุนทางสังคมตามแนวคิดประชาสังคมอย่างชัดเจน จัดการปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม”
เสียงคำอธิษฐานตามศาสนาคริสต์ด้วยภาษาปกาเกอะญอที่สั่นเครือของกำนันบัลลังก์ ดำรงเกียรติ์พนา กำนันตำบลแม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ดังแว่วมาให้สดับ นี้เป็นครั้งแรกในชีวิตของเขาตั้งแต่เป็นกำนันมาหลายสิบปีที่นายอำเภอได้มอบหมายให้ดำเนินการเช่นนี้ได้ ภายหลังจากเสียงบทเจริญพระพุทธมนต์จบลงไปก่อนหน้านั้นแล้ว
การผสานวัฒนธรรมพื้นถิ่นของท้องที่ที่มีประชาชนที่นับถือทั้งศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ที่พอๆกันก่อนเริ่มประชุมเวทีทางการของอำเภอในเรื่องต่าง ๆ นี้ย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญมากของหลักการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้เป็นวิธีการทรงงานมาตลอดรัชสมัย
จากการเริ่มต้นครั้งแรกในพื้นที่ มาวันนี้กลายเป็นวัตรปฏิบัติของการประชุมทางการระดับอำเภอทุกครั้งไป แม้หลายคนอาจมองเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับนายอำเภอบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์แล้ว “ชายหนุ่มจากบ้านเกิดอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท พื้นที่ทำงานของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นโครงการพัฒนาชนบทแห่งแรกขององค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย” นี้คือเรื่องใหญ่มากและเขาให้ความสำคัญยิ่งนัก
เมื่อพ่อของเขา คือ หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่นักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชนในยุคแรกนั้น ที่มี “เรือง สุขสวัสดิ์” นักพัฒนาที่ลงไปทำงานกับชาวบ้านอย่างใกล้ชิดในพื้นที่ชัยนาท ได้บ่มเพาะสานต่อความคิดเรื่อง “ไปหาชาวบ้าน อยู่กับเขา เรียนรู้จากเขา วางแผนกับเขา ทำงานกับเขา เริ่มจากสิ่งที่เขารู้ สร้างจากสิ่งที่เขามี สอนโดยชี้ให้เห็น เรียนจากการทำ” เป็นหมุดหมายประจำใจ ให้ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางพื้นที่เป็นฐานในการทำงานมาจวบจนวันนี้
ดิฉันพลิกเอกสารฉบับหนึ่งที่เป็นคำสั่งให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ” ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ พ.ศ.2561 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา
นี้คือกลไกระดับอำเภอที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนที่สุดในการขับเคลื่อนสร้างสุขภาวะประชาชนในพื้นที่ทั้งองคาพยพไม่ให้ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง บูรณาการเป้าหมาย ทิศทางและยุทธศาสตร์ร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีความเป็นเจ้าของและภาวะการนำร่วมกัน เป็นจุดคานงัดสำคัญ ซึ่งวันนี้กลไกอำเภอแม่แจ่มนำโดยนายอำเภอบุญลือ กำลังดำเนินตามเส้นทางนี้เพื่อการเข้าถึง “สิทธิ เสียง สุขภาวะ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน
ชายขอบกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่” อย่างแท้จริง
บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
นักวิชาการสถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม (สสป.)
กันยายน 2561