06 เมษายน 2019

สังคม “สิ้นยาเสพติด” หน้าตาเป็นยังไง

อารัมภบท : สังคม “สิ้นยาเสพติด” หน้าตาเป็นยังไง จากบทเรียนการปราบปรามยาเสพติดของรัฐไทย ?

ยาเสพติด เป็นสิ่งผิดกฏหมาย เพราะกฏหมายนิยามให้ยาเสพติดเป็น “สิ่งผิด” มิหนำซ้ำยังแปะป้ายแถมท้ายด้วยคำว่า “ให้โทษ” ในยาเสพติดทั้ง 5 ประเภท  ดังนั้น การระบุฐานความผิดของผู้ใช้ยาเสพติดจึงเป็นเช่น “อาชญากร” ต้องถูกดำเนินการตามกระบวนการทางอาญา  ตลอดปีตลอดชาติที่ผ่านมา ประเทศไทยมุ่งใช้นโยบายการปราบปรามยาเสพติด ด้วยการ “ขจัดสิ้น” ทั่วแผ่นดิน

แต่เรียนถามอย่างเคารพ ว่าที่ผ่านมาประชาชนได้สัมผัส รับรู้ถึงการ “หมดสิ้น” ยาเสพติดจากสังคมไทยแล้วหรือยัง แม้กระทั่งในช่วงนโยบายกวาดล้างอย่างเด็ดขาด จริงจัง จนมีการฆ่าตัดตอน ก็ยังมีการนำเสนอข่าวจับผู้เสพ ผู้ค้ายาเสพติดรายวันได้อยู่ดี

ในทางสาธารณสุขนั้น ประเทศไทยได้เคยประกาศใช้นโยบาย ลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction) ซึ่งเป็นการลดภาวะเสี่ยงอันตราย ลดการแพร่ระบาด และการสูญเสียจากการใช้ยาเสพติด โดยเริ่มจากการทดลองประกาศใช้ในจังหวัดนำร่อง และขยายแนวทางดำเนินงานไปเป็น 36 จังหวัดทั่วประเทศ การลดทอนอันตรายจากการใช้ยาเสพติด ไม่ใช่เพียงการให้บริการเข็มฉีดยาและอุปกรณ์ฉีดที่สะอาด ในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดประเภทฉีดเข้าเส้นเลือด เพื่อลดอัตราความเสี่ยงจากการติดเชื้อเอชไอวี หรือแค่การเปิดโอกาสให้มีการบำบัดแบบ “ทางเลือก” สำหรับผู้ใช้ยาเสพติดเท่านั้น แต่กินความหมายไปถึงกระบวนการจูงใจให้เลิกยาเสพติดอีกด้วย ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยมีโครงการให้ผู้ใช้ยาขอรับอนุพันธุ์ทดแทนที่เรียกว่าเมทาโดน (Methadone : ดื่มคล้ายน้ำหวาน ตามปริมาณที่เเพทย์สั่งให้ควบคุมแทนการฉีดเฮโรอีน)

ตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ตำบลแม่แตงซึ่งมีจำนวนผู้ใช้ยาเสพติดโดยเฉพาะฝิ่นอย่างแพร่หลาย แพท์หญิงพอใจ มหาเทพ หัวหน้างานยาเสพติดและจิตเวช เคยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า “คนติดฝิ่นหลายคน เลิกไม่ได้  แต่หากมาบำบัดรักษาด้วยการกินเมทาโดน ซึ่งเป็นทางเลือกทางการแพทย์ ที่มีการควบคุมก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ใช้ยาเสพติดเหล่านี้ดีขึ้น การเข้ารับเมทาโดนอย่างต่อเนื่อง ยังสามารถจูงใจให้ชาวบ้านเลิกติดฝิ่นได้อย่างถารวรในอนาคตด้วย”

เพราะการที่ผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขได้มองเห็น และเข้าถึงจำนวนผู้ใช้ยาเสพติดอย่างแท้จริงจะทำให้สามารถวางแผนการพูดคุย จัดกระบวนการ ให้นำไปสู่การ “เลิกขาด” ยาเสพติดได้ง่ายกว่าการทำให้ประชาชนเกลียดกลัว และไม่กล้ายอมรับตัวเองว่าเป็นผู้ใช้ยาเสพติด จนทำให้ไม่กล้าแสดงตนเข้าสู่กระบวนการเลิกใช้ยาได้

ลงโทษทางอาญา เพิ่มหรือช่วยแก้ปัญหาผู้ใช้ยาเสพติด ?

หากไม่ตาแฉะหรือพร่ามัวเกินไป จะเห็นว่าจากการสำรวจ วิจัย ของสถาบันทางวิชาการ ต่างชี้ปัญหาสถานการณ์นักโทษล้นคุก ของบ้านเราว่าเกินกว่า 70 % มาจากคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทั้งจากการเป็นผู้เสพและผู้ค้า การลงโทษโดยมุ่งเน้นกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงอาจไม่ใช่วิธีทางเดียวที่จะพาประเทศไทย “เอาชนะ” ยาเสพติดได้เสียแล้ว

มิถุนายน 2559 เป็นข่าวใหญ่ในหลายสำนัก เรื่อง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม(ในขณะนั้น) เสนอแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยการปลด เมทแอมเฟตามีน ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ เพราะมองว่าการปราบปรามด้วยวิธีรุนแรงอาจไม่ได้ผล และยอมรับว่าองค์ประกอบของยาเสพติดอย่างกัญชา และฝิ่น สามารถนำมาเป็นยารักษาโรคได้

แต่ก็อย่างที่ทราบกันดี นโยบายที่พูดถึงทางเลือกในการจัดการยาเสพติดนอกจาก กวาดล้าง จับกุม ส่งเข้าค่ายบำบัด ในประเทศ “สีขาว” กลายเป็นเรื่อง “โลกสวย” ไม่สามารถคลอดออกมาได้ ถูกฆ่าตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์ความคิด

ในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา กระบวนการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะถูกพิจารณาโดยศาลยาเสพติด (Drug Court) มิใช่พิจารณาร่วมกับคดีอาญาทั่วไปอย่างในประเทศไทย และประเทศเนเธอแลนด์เป็นประเทศแรก ๆ ที่เริ่มต้นใช้นโยบาย “ลดทอนความเป็นอาชญากรรม” (Decriminalization) ของผู้ใช้และครอบครองยาเสพติดไม่เกินปริมาณที่อาจถูกกฏหมายระบุว่า “เป็นผู้ค้า” โดยการกำหนดโทษ และความผิดของ “ผู้ใช้ยาเสพติด” ให้เหมาะสมกับเจตนารมณ์ในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ (มีการลงโทษโดยวิธีการกักบริเวณ สั่งให้ทำงานเพื่อสังคม ฯลฯ) นับเป็นการลดช่องว่างระหว่าง “รัฐ” กับผู้ใช้ยาเสพติด เรียกคืนกลุ่มผู้ใช้ยาในประเภทไม่ต้องพึ่งพิง ให้กลับสู่สังคมได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ที่สำคัญยังลดอำนาจผูกขาดของ “ผู้ค้า” ในตลาดมืด เหมือนเป็นเชือกชักกะเย่อที่ค่อย ๆ ลากคนจากอีกฝั่งมืดมิด มาปรากฏตัวต่อหน้าแสงไฟ เพื่อทำให้ผู้เสพมุ่งสู่กระบวนการเลิกขาด ไม่ใช่เพื่อให้กระบวนการทางสังคม กฏหมาย มารุมจ้วงแทงจนไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แบบที่รัฐไทยทำ !

Clickbait จอมปลอมพาดหัวโดยสำนักข่าวรัฐไทย

ผู้ใช้ยาเสพติดในประเทศไทย ในครั้งหนึ่งถูกนิยามว่าเป็น “ผู้ป่วย” แต่เป็นผู้ป่วยประเภทที่ทั้งปีทั้งชาติ แทบไม่มีวันได้เห็นหน้าหมอ เจอก็แต่ตำรวจ ทหาร ผู้คุม ในกระบวนการ “คืนคนดี สู่สังคม”

หนำซ้ำหากพิจารณาประกอบเรื่อง “ค่าใช้จ่ายรายหัว” และ “เป้าหมายผู้เข้าอบรม” ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ปปส.) ตั้งขึ้นมาสำหรับการ “บังคับบำบัด” ในแต่ละปี อาจทำให้คิดได้ว่าเรากำลังผจญภัยไปในยุคโจรสลัด ที่มีการล่าค่าหัว โดยที่คนล่ามีได้เพียงฝ่ายเดียวคือ “เจ้าหน้าที่รัฐ” อย่างนั้นหรือ ? แล้วเป็นไปได้หรือไม่ว่าการส่งคนเข้าสู่กระบวนการบำบัดในแต่ละครั้ง เป็นการเรียกกลับมาซ้ำ เพื่อเพิ่มยอดหัวคิวให้คนบางกลุ่ม

ย้อนไปปี พ.ศ.2560 จากการพูดคุยในค่ายบำบัดยาเสพติดแห่งหนึ่งของจังหวัดระยอง ระหว่างช่วงพักกิจกรรมคาบเกี่ยวของวันที่ 3 และวันที่ 4  สมาชิกผู้ร่วมอบรมมากกว่า 5 คน เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงเรียบเฉยไม่ยินดียินร้ายว่า

“อยู่ดี ๆ ทหารตำรวจ ผู้ใหญ่บ้านก็ไปที่บ้าน ไปเชิญมาช่วยเข้าร่วมอบรมหน่อย เพราะผมเคยเข้าค่ายแบบนี้มาแล้ว แล้วหมู่บ้านผมก็มีพวกอยู่ในบัญชีดำเยอะ”

หากรัฐปฏิบัติกับ “ผู้ป่วย” ของชาติด้วยการกวาดล้างจับกุม โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว (ฆ่าคนตาย ยิงเสือดำ ทำอะไรนอกจากใช้ยายังมีสิทธิได้ประกันตัว) เพราะหากวันนี้คุณเป็นหนึ่งคนที่โดนจับกุมในข้อหาเสพยาเสพติด กระบวนการยุติธรรมจะกักตัวคุณไว้เพื่อรอตรวจพิสูจน์ ว่าคุณเป็นผู้มีสารเสพติดในร่างกายจริงหรือไม่

ขั้นตอนระหว่างรอพิสูจน์ ตามกระบวนการทางกฏหมายจะใช้เวลาประมาณ 45 วัน จะสั้นหรือนานนานกว่านั้นไม่อยู่ในฐานะที่ประชาชนจะตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้ แต่ในระหว่าง “รอพิสูจน์” สถานที่อาศัยซุกหัวชั่วคราว(แต่นานเป็นเดือน) ของคุณที่เป็น “คนป่วย” คือสถานตรวจพิสูจน์ ซึ่งตั้งอยู่ใน “คุก” เข้าประตูเดียวกันกับคุก เป็นแดนย่อยแดนหนึ่งแปะป้ายบอกไว้ว่า สถานตรวจพิสูจน์ ที่สำคัญไปกว่านั้น คือการใช้ระเบียบปฏิบัติแบบเดียวกับ “นักโทษ” ต้องตัดผมสั้น ต้องล้วงทวารหนัก

หากผลการพิสูจน์พบว่าร่างกายของคุณมีสารเสพติด หรือต้องขยับจาก “บุคคลรอพิสูจน์” เป็นผู้มีความผิดในฐานะผู้เสพยาเสพติด จะต้องถูก “บังคับบำบัด” (จริง ๆ ระหว่างรอพิสูจน์ก็มีกระบวนการบังคับบำบัด ส่งตัวไปเข้าค่ายก่อนแล้ว) และรอการพิจารณาโทษ ในระหว่างต้องโทษนั้นกรมราชทัณฑ์ จะมีการเปิดสอนทักษะวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อรองรับในกรณีที่ออกไปแล้ว “ผู้ป่วย” จะไม่มีงานหรือหางานทำไม่ได้

แต่มีเรื่องชวนสงสัยว่า จะฝึกอาชีพกันไปทำไม เพราะเมื่อพ้นโทษออกไปก็อาจเอาไปใช้จริงไม่ได้เลย เช่น การส่งเสริมอาชีพด้วยการสอนนวด ต่อให้จะเก่งกว่าหมอวัดโพธิ์อย่างไร ก็เป็นหมอนวดไม่ได้ เพราะพระราชบัญญัติการสาธารณสุข ในมาตรา 23 วรรคสุดท้ายระบุว่า “เว้นแต่พ้นโทษมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 1 ปี”

คำถามสำคัญ สำหรับบรรทัดนี้คือ ตั้งแต่เริ่มกระบวนการ จับกุม รอพิสูจน์ ตัดสินโทษ ชดใช้โทษ หมอหรือบุคลากรทางการแพทย์ของ “ผู้ป่วย” เหล่านี้มีอยู่ที่ไหนกัน ?

ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก ?

หัวข้อข่าวของวันที่ 4 เมษายน 2562 หลายแหล่งรายงานว่า ตำรวจบุกค้นมูลนิธิข้าวขวัญสุพรรณ ตรวจเจอของกลาง เป็นกัญชา 200 ต้น และควบคุมตัวคนงานของมูลนิธิ 5 คนไปสอบสวน โดยภายหลังทราบว่า เป็นของ นายเดชา ศิริภัทร กรรมการบริหารมูลนิธิฯ

มูลนิธิข้าวขวัญ เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ทำงานที่ดำเนินงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตร เพื่อให้เหมาะสมกับท้องถิ่น พัฒนาพันธุกรรมข้าว และพืชพื้นบ้าน ส่งเสริมและสนับสนุนการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี เพื่อให้ชาวนาหลุดพ้นจากการครอบงำของทุนผูกขาด และเป็นองค์กรภาคประชาสังคมไม่กี่เจ้า ที่เปิดสอนผสมพันธุ์ข้าว นับเป็นโรงเรียนเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคกลาง

หากตัดภาพลักษณ์ของความเป็น “องค์กร” ออกไป เพราะตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในข่าวกัญชาเหล่านั้นถูกระบุว่าเป็นของ นายเดชา แต่เพียงผู้เดียว เแต่มื่อมองดูที่เป้าหมายการเพาะปลูกและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชา จนถึงขั้นการสกัดและการกลั่นน้ำมันกัญชาของ เดชา ศิริภัทร เขาทำไปเพื่อ การรักษาโรค

โดยเริ่มต้นจากการศึกษาทดลอง จนพัฒนาความร่วมมือกับ “วัดแห่งหนึ่ง” ในจังหวัดพิจิตร ริเริ่มแจกน้ำมันสกัดกัญชาให้แก่ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก ลมบ้าหมู และโรคประเภทที่ “โรงพยาบาลแจ้งว่าอาจอยู่ได้อีกไม่นาน” ภายหลังได้การบันทึกเป็นสถิติการรักษาหาย พบว่ามีคนป่วยโรคมะเร็งที่มาทดลองกินน้ำมันกัญชาแล้วหาย นายเดชา ศิริภัทร จึงไม่ลังเลจะออกลุย เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดกับคนเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บของคนทั่วไป แต่เขายังกังวลเรื่องของการไปขัดผลประโยชน์ของบริษัทผู้จัดจำหน่ายยาซึ่งเป็นทุนผูกขาดกลุ่มใหญ่ในประเทศไทย

“ที่ผ่านมายังไม่ได้ขอ หรือดำเนินการอย่างเป็นเรื่องราว เพราะมันยังผิดกฏหมายอยู่ แต่ในเร็ว ๆ นี้ ผมจะเข้าพบ ปปส. เพื่อขอของกลางกัญชามาสกัดทำยารักษาโรคมะเร็งอย่างจริงจัง”

เดชา ศิริภัทร ให้สัมภาษณ์กับ ไทยแอ็ค ในวันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2562 ก่อนพาคณะเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศ สปป.ลาว และก่อนข่าวการบุกค้นมูลนิธิข้าวขวัญไม่กี่ชั่วโมง คำถามที่ตามมาคือ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่ล่วงรู้มาก่อนเลยหรือ ว่าเป็นเวลานับปีที่ เดชา ได้จัดให้มีการแจกน้ำมันสกัดกัญชา เพื่อรักษาโรคโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ?

แล้วทำไมจึงเลือกบุกค้น ตอนที่เจ้าของบ้านเขาไม่อยู่ เรื่องนี้ ไทยแอ็คชวนจับตาดูว่าใครกันแน่เป็นมะพลับ ใคกันแน่เป็นตะโก

เนื้อหาอื่นๆ

21 พฤษภาคม 2023
21 กรกฎาคม 2020
19 ตุลาคม 2020

Copyright © 2013 THETHAIACT