ปีใหม่ในสถานการณ์เก่า
เรื่องเล่าจากชายแดนใต้ในสายตาประชาชน
ท่ามกลางการบรรยากาศตึงเครียดเมื่อคราวกองกำลังทหารไทยปิดล้อมมัสยิดกรือเซะ ในวินาทีหนึ่งได้ยินเสียงประกาศตามสายเจ้าหน้าที่สั่งการกระจายอาวุธ ก่อนจะกลายเป็นบทสรุปตอนสิ้นสุดวันที่ 28 เมษายน 2547 ด้วยความตาย 32 ศพ จนนำไปสู่การต่อต้านของคนผู้อาศัยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพราะมองว่า ปฏิบัติการนั้นเป็นการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ มีประชาชนซึ่งอยู่ระหว่างประกอบศาสนกิจต้องเสียชีวิตรวมถึงเด็กและคนชรา...
หลังจากนั้น ได้เกิดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงบ่อยครั้ง จนกระทั่งเกิดโศกนาฏกรรมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส วันที่ 25 ตุลาคม 2547 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 85 คน
การสูญเสียจากอดีต เป็นเพียงหนึ่งในชนวนความรุนแรงที่ส่งมอบให้ปัจจุบัน ความรุนแรงที่ถูกส่งต่อไม่ใช่เพียงการเสียชีวิต แต่ชีวิตของประชาชนผู้อาศัยในพื้นที่เอง ก็ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีเสรีภาพ
(1.) ห่ากระสุนกระจายตัวทุกพื้นที่
นายู บางกอก เป็นหนึ่งในเยาวชนผู้เติบโตมาบนพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ทำให้ตัวเขาเองต้องย้ายบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์อยู่เป็นประจำ แต่ย้ายไปก็พบภาพซ้ำ ราวกับกดคัดลอก แล้วนำมาวางลงบนพื้นที่ใหม่อีกครั้ง
“ข้างบ้านผมเป็นสถานที่ราชการ เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการวางระเบิด กราดยิง มันเกิดแทบทุกวัน จนต้องย้ายออกไปอยู่บ้านพ่อ ที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส แต่ย้ายไปก็เท่านั้น กระสุนนี่หล่นลงหลังคาบ้านเป็นประจำ จนเรารู้สึกว่านี่มันเป็นความปกติในชีวิตไปเลย แค่ตื่นขึ้นมาแล้วยังมีชีวิตก็สบายใจละ”
นายู เล่าถึงชีวิตที่ต้องย้ายบ้านในปี พ.ศ.2547 เพื่อหลีกหนีสถานการณ์ความไม่สงบ แต่ก็ดูเหมือนว่าการย้ายจะไม่ใช่ทางออก เพราะทุกพื้นที่สามารถเกิดสถานการณ์ได้เช่นกัน แต่เหตุผลสำคัญจากปากของเขานั้น ไม่ได้มองว่า “ผู้ก่อเหตุ” เป็นปัจจัยสำคัญ
“คือที่นี่อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก กระบวนการกฎหมายเลยมีทั้งการจับกุมโดยไม่มีหมาย การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตรวจค้นทุกเวลา การที่ผู้ต้องสงสัยบางคน พอถูกควบคุมตัวกลับออกมา ก็มีรอยแผลมากมาย บางคนรอยจี้บุหรี่เต็มตัว การสูญเสียอิสรภาพเพราะไม่มีสิทธิประกันตัว เรียกได้ว่า ความไว้ใจเมื่ออยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐมันคือ 0 ระแวงมากกว่าการต้องย้ายบ้านบ่อยด้วยซ้ำ รวม ๆ แล้วมันก็มองหาข้อดีของการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐมากมายขนาดนั้นไม่เจอเลย ภาพรวมความรู้สึกที่มีต่อรัฐไทยเลยไม่เป็นที่แปลกใจ ถ้าคนปาตานีจะรู้สึกไม่ปลอดภัยกับกระบวนการและคนของรัฐ”
ด้วยต้นทุนต้นมากกว่า 3 แสนล้านบาท ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่รัฐไทยสูญเสียไปกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทั่งปัจจุบัน ยังไม่มีท่าทีว่าจะหารูปแบบ วิธีการใดที่เหมาะสมและนำความสงบกลับมาให้คนในพื้นที่ได้
(2.) เมื่อความรุนแรงไม่ได้ส่งต่อแค่บาดแผลและจิตใจ แต่ส่งไปถึงรายได้และความมั่นคงในชีวิต
แม้จุดเริ่มต้นของความรุนแรงจะเกิดขึ้นมานานเกือบ 20 ปีแล้วก็ตาม แต่วันเปลี่ยน เวลาผ่าน ขึ้นปีใหม่อีกกี่รอบ ความรุนแรงยังคงเกิดต่อเนื่อง และมีผลต่อการใช้ชีวิตของคนปาตานี ทั้งการทำงาน วิถีชีวิต จิตใจ และเศรษฐกิจมาโดยตลอด นายูเล่าเพิ่มเติมว่า
“พอสถานการณ์มันเกิดขึ้นตลอด ตั้งแต่เด็กจนโต มันทำให้เราเวลาอยู่บ้าน มักจะใช้ชีวิตแตกต่างจากตอนนี้ ที่มาทำงานอยู่กรุงเทพ ถ้าอยู่บ้านเราจะไม่ใส่หูฟังเล่นมือถือ ฟังเพลง หรือฟังอะไรทั้งนั้น เพราะไม่รู้ว่าสายฝนจะมาเมื่อไหร่ สายฝนบ้านเราบางทีมันเป็นกระสุนไง จะต้องพร้อมไปหลบใต้เตียงตลอดเวลา
หรือแม้แต่ตอนที่เขาปิดหมู่บ้านหลายแห่ง ก็ส่งผลให้คนในพื้นที่ที่ต้องไปกรีดยาง ไปดูแลต้นทุเรียน ไปทำการเกษตรได้รับผลกระทบ เมื่อวันฮารีรายอรอบล่าสุดก็มีการล้อมปิดหลายหมู่บ้าน ทีนี้แม้แต่นายจ้างก็ยังมีรายได้ไม่มั่นคง มันก็ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างไปด้วย จากอาชีพที่ไม่หลากหลาย ก็แทบจะหาอะไรทำไม่ได้ เพราะสถานการณ์มันเยอะ ความไม่สงบทำให้พื้นที่ไม่พัฒนา นักศึกษาจบใหม่อย่างเรา ก็มีแต่ต้องเข้ากรุงเทพมาหางาน เพราะที่บ้านค่าแรง เงินเดือนต่าง ๆ มันน้อย เราก็เหมือนนักศึกษาคนอื่น เรียนมาทั้งชีวิตค่าแรง 18,000 ยังพออยู่ได้ในกรุงเทพ แต่ถ้ากลับบ้านเนี่ยเงินเดือน 15,000 ยังหายากเลย ปัจจุบันในพื้นที่จึงมักจะเป็นคนสูงอายุอยู่กัน ไม่ก็เด็กที่ยังอยู่เรียนในโรงเรียน”
นายู ยกแก้วจิบชาพร้อมกระซิบติดตลกว่า ชาที่บ้านของเขาใส่น้ำตาลครึ่งแก้ว แต่ราคาถูกกว่ากรุงเทพ จากนั้นจึงปล่อยให้บทสนทนาดำเนินต่อ ...
นายู ออกความเห็นต่อสถานการณ์ที่บ้านว่า ด้วยความที่งบสนับสนุนการศึกษาน้อย ประกอบกับ พื้นที่ถูกควบคุมด้วยกฎอัยการศึก อาจเป็นเพราะประวัติศาสตร์ความเป็นชนชาติ เพราะอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของคนปาตานี เลยทำให้ไม่มีงบสนับสนุน มีเพียงแต่การควบคุมด้วยกฎหมายพิเศษ ทำให้บ้านของเขาแตกต่างจากจังหวัดอื่น
“การไม่อนุญาตให้เราเป็นตัวเราเองตามอัตลักษณ์พื้นเพเนี่ย มันเหมือนบังคับให้พวกเราต้องรู้สึกปกติ รู้สึกภาคภูมิใจไปกับการดูแลในรูปแบบนี้ของรัฐส่วนกลาง ดังนั้นปกติแบบตกกะปิก็ได้”
สำหรับนายู ความรุนแรงกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับเขา เพราะหากไม่มองให้เป็นแบบนั้น ก็จะดำเนินชีวิตได้ยาก ความรุนแรงจึงถูกนับเป็นเรื่องปกติไปอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ขณะคนในพื้นที่เองก็ไม่ได้อยากเห็น รวมทั้งตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะรัฐบาลไหน สิ่งที่ผู้มีอำนาจจากส่วนกลางทำ คือยิ่งเพิ่มอำนาจให้ข้าราชการในพื้นที่ เพิ่มงบประมาณสนับสนุนข้าราชการ เพิ่มมาตรการในการใช้ชีวิตของประชาชน ทั้งการตั้งด่าน และการบังคับเก็บข้อมูลพันธุกรรม(DNA) โดยไม่ถามหาความสมัครใจ รวมทั้งการใช้กฎหมายพิเศษ
แต่ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับเยาวชนอย่างนายู คือการถูกลิดรอนเสรีภาพการแสดงออก โดยเฉพาะตั้งแต่ยุครัฐบาลทหาร
“จำได้ว่าตั้งแต่เข้าปี 63 คนที่กล้าแสดงออก มักจะโดนคุกคาม การรวมตัวกันเพียงแค่ใส่เสื้อผ้ามลายู ก็อาจถูกมองเป็นภัยความมั่นคง การไปควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ก็มีข้อหาเรื่องฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน เอาไปเข้าค่าย 7 วัน และใช้กฎหมายตัวอื่นเล่นงานอีก กว่าจะไปถึงการส่งตัวขึ้นศาล การตรวจเก็บน้ำลายกระพุ้งแก้ม การบังคับสารภาพด้วยความรุนแรงหนักขึ้น หรือการละเมิดด้วยการถ่ายรูปบัตรประชาชน ทุกกระบวนการเจ้าหน้าที่มีความชอบธรรม แต่กลับไม่มีกฎหมายคุ้มครองประชาชน สิ่งเหล่านี้มันสะสมอยู่ในใจของผู้ถูกกดขี่ มันอยู่ในวิถีที่ประชาชนไม่ได้ให้ความยินยอม”
(3.) เสรีภาพที่ถูกปรามด้วยข้ออ้างความเปราะบางทางประวัติศาสตร์
จากการสะสมของอารมณ์ของผู้คน นำไปสู่ความต้องการเพื่อจะเปิดพื้นที่ทางการเมือง ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเฉพาะเรื่องเสรีภาพ-สันติภาพ ภายใต้แนวคิดให้คนทุกกลุ่มได้นั่งลงคุยกัน แต่การจะพูดคุยได้ต้องลดอาวุธ วางอำนาจลง แล้วมาร่วมกันเปิดพื้นที่จริง มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์และศิลปะ ตลอดจนการมีพื้นที่สังสรรค์เล่นเกม...แต่จนแล้วจนรอด ก็เหมือนความพยายามของคนรุ่นใหม่กลายเป็นท้าทายอำนาจรัฐ
“คุณคิดดูว่าบอร์ดเกมประวัติศาสตร์ยังถูกควบคุม ทั้งที่มันเป็นแค่ไพ่การ์ดที่ชวนผู้เล่นเรียงลำดับเหตุการณ์ช่วงผนวกรวมปาตานีเข้ากับสยาม ถูกยึดถูกห้ามเพราะประเด็นร้อยหวาย ซึ่งเป็นเรื่องราวที่มีในนิยามประวัติศาสตร์ แต่รัฐอ้างว่า หมิ่นเหม่และมีความเปราะบางทางประวัติศาสตร์ ทำให้การ์ดเกมเป็นภัยความมั่นคง คนผลิต คนเล่นโดนคุกคาม และใช้องค์กรศาสนามาบอกว่านี่เป็นการเล่นพนัน ผิดหลักการศาสนาอิสลาม”
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ถูกตั้งข้อสงสัยว่า เป็นเพียงการป้ายสีประชาชนให้กลายเป็นศัตรูต่อความมั่นคงของรัฐหรือไม่ เพราะไม่ใช่แค่ในเรื่องประชาธิปไตยที่เกิดกระแสผู้คนออกมาเคลื่อนไหวแล้วถูกป้ายสีจากรัฐ ว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง แต่การรวมตัวเพื่อคัดค้านนโยบายสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำลายพื้นที่และชีวิตของประชาชน เช่น การต่อสู่ของ ชาวบ้านจาก อ.เทพา หรือแม้แต่ อ.จะนะ จ.สงขลา ก็ถูกโยงให้เกี่ยวกับขบวนการบีอาร์เอ็น
(4.) พื้นที่ทดลองการควบคุมประชาชนและพัฒนาอำนาจของกลไกรัฐส่วนกลาง
นอกจากนายู บางกอกแล้ว ไทยแอ็คได้ร่วมพูดคุยกับ รุสลาน มูซอ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าววาร์ตานี หนึ่งในสื่อที่เกาะติดและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างต่อเนื่อง บก.จากวาร์ตานี เริ่มให้ความเห็นว่า
“ที่ผ่านมาอำนาจข้าราชการเข้มแข็ง หยั่งรากลงลึก เราเป็นเหมือนพื้นที่ทดลองใช้การควมคุมประชาชน เช่น การบังคับลงทะเบียนซิม ต่อมาบังคับใช้ทั่วประเทศ พื้นที่ของเราเหมือนเป็นที่นำร่องในการใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อจัดการคนเห็นต่าง จากนั้นค่อยขยายไปใช้กับคนในพื้นที่อื่น ๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อถามหาสิ่งที่ดีกว่า...
เสรีภาพที่มีของประชาชนในพื้นที่เริ่มลดน้อยลง แม้ประชาชนจะพยายามร่วมนำเสนอทางออกของปัญหา กลายเป็นว่าประชาชนมีปากเสียง เสี่ยงต่อการถูกคุกคาม เหมือนการรวมกลุ่มของประชาชนจะเป็นการคัดค้านรัฐไปทั้งหมด เพราะนอกจากไม่รับฟังแล้ว ยังพยายามควบคุม สั่งการ สั่งห้ามอยู่เสมอ สังเกตง่าย ๆ ว่า ใครออกมาเคลื่อนไหว หรือเริ่มพูดเรื่องในพื้นที่ที่ต่างจากแนวทางของรัฐ ก็จะถูกคุกคามถูกติดตามถึงที่บ้าน ที่ทำงาน จนคนเหล่านั้นต้องถอยออกจากการเคลื่อนไหว”
(5.) ข้อเสนอแสนง่ายในสายตาประชาชน
ด้วยประสบการณ์ทำงาน และการพบเจอเหตุการณ์ต่าง ๆ ผ่านครรลองสายตา บรรณาธิการบริหารสำนักข่าววาร์ตานี กล่าวถึงทางออกและข้อเสนอของเขาต่อกรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ว่า
“สิ่งที่รัฐไทยควรทำเป็นสิ่งแรก คือเปิดพื้นที่เสรีภาพ สร้างกระบวนการสันติภาพที่ไม่คุกคามประชาชน ยอมรับและรับฟังความคิดเห็น รวมถึงความต้องการของประชาชนจริง ๆ ที่ผ่านมาหลายปัญหาไม่ถูกพัฒนา และแก้ไข เป็นเพราะรัฐไม่เปิดพื้นที่ให้เกิดการพูดคุย การเปิดพื้นที่ให้มีเวทีพูดคุยเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ หากประชาชนในพื้นที่มีเสรีภาพ ไม่ถูกคุกคาม ใช้ชีวิตได้ปลอดภัย การพูดคุยจึงจะเกิด แต่หากรัฐไทยยังใช้กฎหมายพิเศษเช่นนี้อยู่ ไม่มีอะไรรับรองได้ว่า เมื่อคนสามจังหวัดพูดสิ่งที่ต้องการออกไปแล้วจะไม่ถูกจับกุม หรือคุกคาม
สิ่งสำคัญที่รัฐไทยต้องยอมรับคือ ยอมรับว่าคนปาตานีก็คือคน เรามีอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ภาษา ยอมรับว่าเราต่างกัน อย่าไปเอาวัฒนธรรมจากส่วนกลางมาบังคับให้เราต้องเป็นเหมือนกัน แม้เราต่างกันแต่เราก็คือคน รัฐไม่จำเป็นต้องปฏิบัติกับเราด้วยความรุนแรง แค่เพียงรัฐเริ่มลดอำนาจ ปลดมาตรการบางอย่าง เพื่อให้คนในพื้นที่มีสิทธิ มีเสียงและเสรีภาพ นั่นอาจนำมาซึ่งการคืนความปกติให้ประชาชนเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกวัน คือการที่รัฐไทยปฏิบัติกับคนนอกศูนย์กลางของตน ด้วยการไม่ยอมรับและยัดเยียดสิ่งที่ศูนย์กลางต้องการให้พื้นที่อื่น แม้ประชาชนในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกัน
ต่อมารัฐไทยต้องปรับตามยุคสมัย ประชาชนพัฒนาตัวเองไปมากกว่ารัฐ มองคนเป็นมนุษย์ไม่ใช่ชนชั้น แต่รัฐยังไม่พัฒนา รับฟังประชาชนในแต่ละพื้นที่ให้ได้ อย่ายัดเยียดนโยบายจากส่วนกลาง แต่เปลี่ยนมารับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ ลองเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้ออกแบบพื้นที่ของเขาเอง ไม่ใช้ให้รัฐมากำหนดให้ นี่คือสิ่งที่รัฐที่ดีควรทำ”