สงครามไม่ใช่ทุกสิ่งอย่าง
เมื่อทหารพรานไม่จับปืน แต่มือของเขาก็ไม่เคยว่างเปล่าอีกเลย
หากเราค้นหาคำว่า “ทหารพราน” ในอินเทอร์เน็ต จะพบความหมายว่า ‘เป็นกำลังทหารราบเบา ซึ่งลาดตระเวนตามแนวชายแดนไทย และเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพไทย ทหารพรานถูกฝึกให้ติดอาวุธเพื่อพร้อมทำการรบ’ แต่สงครามไม่ใช่ทุกสิ่งอย่างของบ้านเมืองและชีวิต จึงมีทหารพรานบางหน่วยลุกขึ้นมา “แอ็ค” เพื่อร่วมกับชาวบ้านแก้ไขปัญหาในชุมชน
กรมทหารพราน 32 ตั้งอยู่ที่อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน นอกจากจะมีบุคลากรผู้ชำนาญการรบแล้ว พวกเขายังมี “ครูฝาย” ถึง 12 นาย หากนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 แล้ว ทหารพรานในฐานะครูฝายเหล่านี้ นำกำลังเข้าสู่สมรภูมิสร้างฝายมากกว่าไล่ยิงฝ่ายตรงข้ามเสียอีก
53 ตัว คือจำนวนฝายในจังหวัดน่านที่มาจากน้ำมือของครูฝายร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ ในเรื่องนี้ ร้อยโท พิทักษ์พล จิตอารีย์ ผู้บังคับกองร้อย ทหารพรานที่ 3201 จ.น่าน และหัวหน้าชุดวิทยากรครูฝาย ต้องมองซ้ายมองขวาให้ดีก่อนจะเล่าที่มาให้ฟังว่า
“เราเป็นทหารพราน ต้องคลุกคลีกับประชาชนที่อยู่ตามแนวชายแดน ซึ่งเขาบ่นให้ฟังตลอดว่า งบประมาณของรัฐกว่าจะลงมาช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำแล้งน้ำท่วมมันช้ามาก ช้าถึงขนาดบางคนรอจนลูกโตแล้ว พองบลงมาถึง ปัญหาเก่ายังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาใหม่ก็มารออยู่แล้ว พอฟังนานวันเข้าเราก็เลยมาคุยกับผู้บังคับบัญชาว่า พวกเราสามารถจะพาคนในชุมชนทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำของชาวบ้านโดยไม่ต้องรอเงินรัฐได้ไหม จึงเป็นที่มาของการทำฝายมีชีวิตที่เราไปศึกษามาจากพี่น้องภาคใต้”
ฝายมีชีวิต คือฝายรูปแบบใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้แก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย เป็นการสร้างฝายโดยใช้โครงสร้างจากธรรมชาติและวัสดุในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ เชือก กระสอบปุ๋ย การสร้างฝายมีชีวิต เป็นการยกระดับน้ำขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำ และเป็นฝายน้ำล้นที่น้ำจะไหลผ่านฝายตลอดเวลา ทำให้ช่วยลดปัญหาเรื่องน้ำแล้งน้ำท่วมไปได้พอสมควร
“ถ้าไม่มีน้ำ หรือน้ำเเล้ง ชาวบ้านก็ไม่สามารถทำมาหากินได้ ฝายจะเป็นตัวช่วยยกระดับน้ำ เติมน้ำใต้ดิน เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และทำให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตัวเอง และที่สำคัญยิ่งกว่า คือฝายมีชีวิตจะช่วยชะลอเมื่อน้ำหลาก ทำให้ชุมชนทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ได้มีเวลาระบายน้ำได้ทัน”
จากคำบอกเล่าของ ร้อยโท พิทักษ์พล ทรัพยากรสำคัญนอกจากวัสดุอุปกรณ์ในท้องถิ่นแล้ว สิ่งที่จะขาดไม่ได้คือ แรงงานคน โดยเฉพาะคนในชุมชน เพราะทุกครั้งที่ทำฝายมีชีวิตจะมีชาวบ้านวันละ 20-30 คน วนเวียนมาให้ความช่วยเหลือคนละไม้คนละมือ ซึ่งหน้าที่ของทหารพรานอย่าง ร้อยโท พิทักษ์พล คือประสานงานและคอยเป็นที่ปรึกษา
“ทุกครั้งก่อนมีการลงมือทำฝายมีชีวิต เราในฐานะส่วนราชการจะทำเวทีให้ชาวบ้านได้แลกเปลี่ยนพูดคุยและหามติในการทำงานร่วมกัน มันไม่ใช่การไปบังคับให้ชาวบ้านทำ เพราะเรื่องนี้ประโยชน์ก็จะตกกับทุกคน ตอนนี้บางหมู่บ้านเขาระดมทรัพยากรกันเอง ทั้งไม้ไผ่ เชือก กระสอบ ข้าวปลาอาหาร ก่อนหน้านี้ทางหน่วยจะช่วยสนับสนุนในส่วนที่ขาด ระยะหลังมานี่ ชาวบ้านลุกขึ้นมาระดมความร่วมมือและทรัพยากรกันเองได้ดีกว่าเราไปทำให้เสียอีก”
ในบทสนทนามีหนึ่งข้อความที่ ร้อยโท พิทักษ์พล ย้ำสองรอบว่า ขอให้ทุกคนได้รู้ว่าพอมีน้ำ พืชก็จะเจริญเติบโตได้โดยธรรมชาติ ปลายทางมันวนกลับมาหาพวกเราในฐานะคนบริโภค ถ้าเกษตรกรปลูกผักโดยไม่ใช้สารเคมี เพราะได้น้ำดีตลอดปี เราก็จะได้กินผักที่ไม่ใช้สารเคมี เกษตรกรเองก็จะได้ลดต้นทุน
“การขยับตัวลุกขึ้นมาเเก้ปัญหาโดยไม่ต้องสนสถานะว่าเราเป็นใครนี่ สุดท้ายผลประโยชน์ก็จะเกิดกับทุกคนนั่นแหละ อย่ามองมันเป็นเรื่องไกลตัว อย่างข้าราชการมักถูกพูดว่าเป็นไอ้พวกเช้าชามเย็นชาม เข้าถึงยาก แต่พอเราทำฝายมีชีวิตในชุมชนที่เขาเป็นผู้นำนะ ถ้าเขาเลือกจะขี่รถผ่านหน้าชาวบ้านที่กำลังลงมือลงเเรงทำฝายกันก็เป็นเรื่องน่าอาย ส่วนใหญ่พอเลิกงาน เลยกลายเป็นว่า ข้าราชการในพื้นที่ที่เราทำฝายก็จะออกมาช่วยกันคนละไม้ละมือ แล้วถ้ามีปัญหาอื่น มันจะถูกพูดคุยแก้ไขกันตรงนั้นด้วย”
การร่วมมือกันแก้ปัญหา และพัฒนาสังคมจากทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ดูเป็นเรื่องที่ยากจะเกิดขึ้น แต่ในจังหวัดน่าน อย่างน้อยการทำฝายมีชีวิตก็แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของทุกฝ่ายเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการแก้ปัญหาสังคม เพราะหากทุกคนเฝ้ารอเพียงการแก้ปัญหาจากรัฐ ก็อาจไม่ทั่วถึงเพราะบางครั้งรัฐใหญ่เกินไปสำหรับเรื่องเล็ก ๆ
“เพราะว่ากว่าจะรองบประมาณรัฐมันนาน ภัยพิบัติรวมถึงปัญหามันมาไม่เลือกเวลา ไม่สนว่าคุณมีงบประมาณหรือเปล่าหรอก กลไกการมีส่วนร่วมกันแบบนี้มันจึงสำคัญมาก เราในฐานะข้าราชการในท้องที่ มีความน่าเชื่อถือชวนชาวบ้านที่มีแรงงาน มีภูมิปัญญา ช่วยเขาประสานหาเอกชนซึ่งพอจะสามารถสนับสนุนเรื่องข้าวของที่จำเป็นในการก่อสร้างได้ ถ้าทุกชุมชนมีส่วนร่วมกันแบบนี้ ทุกฝ่ายก็ดูจะมีความสุขนะ”
ปัจจุบัน เครือข่ายฝายมีชีวิตกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ทำให้หลายคนรู้จักทหารพรานบางคนในฐานะครูฝายมากกว่าทหารไปแล้วด้วยซ้ำ เหมือนกับที่ ร้อยโท พิทักษ์พล จิตอารีย์ ทิ้งท้าย
“ตอนนี้นะทุกที่ที่ผมไป ไม่มีใครเรียกผู้กอง เขาจะเรียกผมว่าครู ผมมีความสุขมากที่ได้ลุกขึ้นมาแก้ปัญหา แล้วทำให้ชาวบ้านอยากพัฒนาสังคมนี้ร่วมกัน”