หมู่บ้านคาเซ
อีกไกลแค่ไหนจนกว่าจะใกล้มีไฟฟ้าใช้บอกที
ความมืดสีดำ
รัตติกาลไร้แสงไฟ หมู่บ้านคาเซในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลสุนทรภู่ ตำบลชากพง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ตั้งโดดเดี่ยวใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ขนาบทั้งหมู่บ้าน ด้านหนึ่งติดริมน้ำคลองลาวน หลังแนวไม้ใหญ่รอบหมู่บ้านล้วนถูกจับจอง เป็นพื้นที่พัฒนาในเชิงพาณิชย์ ถัดไปประมาณ 800 เมตรจากหมู่บ้านมีถนนตัดผ่าน แต่หมู่บ้านคาเซยังคงไร้ไฟฟ้าใช้งาน เสมือนไม่มีตัวตนอยู่แท้จริงในพื้นที่จังหวัดระยอง จังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรมากที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดที่พัฒนาให้สอดรับกับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ของรัฐบาลยุค คสช. เป็นคำถามที่ชาวบ้าน 50 กว่าชีวิต ไม่เคยได้รับคำตอบจากหน่วยงานรัฐว่า ทำไมหมู่บ้านของพวกเขาถึงยังไม่มีไฟฟ้าใช้
“ไปขอไฟฟ้ามาแล้ว การไฟฟ้าเขาก็ได้แต่พูดว่า ‘จ้ะ จ้ะ’ เคยเดินทางไปหานายกเทศบาล ก็เข้าไปไม่ถึง เขาไม่ให้เราเข้าพบ”
ชาติ หญิงชราหนึ่งในสมาชิกหมู่บ้านคาเซกล่าว เธอย้ายมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่อายุ 15 ปี (มีหมู่บ้านตั้งอยู่ก่อนเธอย้ายเข้ามา) จนถึงปัจจุบันอายุของเธอก็ 67 ปีแล้ว เป็นเวลาอย่างน้อย 52 ปี ที่พิสูจน์ได้ว่าพื้นที่แห่งนี้มีชีวิต และต้องการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่ประชากรไทยควรได้รับทุกคนคือ ไฟฟ้า
ด้านดำรงค์ สุวรรณโชติ รองประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคลองลาวน ซึ่งกำลังพยายามผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ในพื้นที่เขตคลองลาวนกล่าวว่า “เรื่องของไฟฟ้า ตอนนี้มันยังไม่มีอะไรคืบหน้า ทางเทศบาลยังนิ่ง ๆ อยู่ สิ่งเดียวตอนนี้ที่พวกเขาพอจะช่วยกันได้คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน พยายามประชาสัมพันธ์ เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม จะได้เห็นว่ามันยังมีพื้นที่ตกหล่นเช่นนี้อยู่ ทั้ง ๆ ที่พื้นที่โดยรอบเจริญหมดแล้ว แต่ยังมีกลุ่มคนไม่ได้รับสิทธิ์อยู่”
แต่สุทธิธรรม เลขวิวัฒน์ ที่ปรึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนคลองลาวนให้ความเห็นว่า “ถ้าในอนาคตหมู่บ้านคาเซได้เป็นที่รับรู้ ออกสื่อสาธารณะมากขึ้น คิดว่าในไม่ช้าไฟฟ้าคงจะเข้ามา”
หากย้อนไปกว่า 20 ปี หมู่บ้านแห่งนี้มีชื่อว่า ‘บ้านตะกาดบัวผุด’ มีความเชื่อที่เล่าสู่ต่อกันมาว่า ตะกาดในความหมายของชาวบ้านคือดินทรายสีขาว (แต่เมื่อลองสืบค้นข้อมูลจากภายนอกพบว่า ตะกาด หมายถึงที่ดินซึ่งอยู่หลังหาดชายทะเลขึ้นไป แต่มีนํ้าเค็มซึมขึ้นไปถึง) และมันมีบัวผุดขึ้นมาจากแอ่งน้ำ จากการลงพื้นที่เรายังไม่พบแอ่งน้ำดังกล่าว มีเพียงบ่อน้ำบาดาลไว้ใช้สำหรับตักน้ำขึ้นมาอุปโภค
“ชื่อคาเซ มันมาจากละครช่อง 7 ลูกสาวดูแล้วชอบ เลยเอามาตั้งชื่อหมู่บ้าน เอาตามชื่อละครซะเลย” ชาติเล่าถึงที่มาของชื่อหมู่บ้าน ซึ่งนำมาจากละครเรื่อง เก็บแผ่นดิน ที่เข้าฉายในปี 2544 และถูกนำมา ฉายใหม่อีกครั้งในปี 2563 เป็นเรื่องราวของ ชนเผ่าคาเซ(นามสมมุติ) ต่อสู้เพื่อรักษาแผ่นดินจากรัฐบาลสหพันธ์รัฐซาวิน ก่อนจะมีผู้ร่วมเดินทางคนหนึ่งถามขึ้นมาว่า ป้าไม่มีไฟฟ้าแล้วดูทีวี ดูละครได้อย่างไร ?
“แต่ก่อนมีแผงโซลาเซลล์ มันยังใช้ได้เทศบาลเขามาติดให้ แต่แบตเตอรี่มันเสีย ตอนนี้เลยอดดู ได้แต่ตั้งทีวีจอดำไว้ในบ้าน”
หญิงชราพูดแกมหัวเราะ พร้อมความหวังว่าเธอจะกลับมาดูทีวีได้อีกครั้งในเร็ววัน “พอไม่มีไฟ ชาวบ้านคนรุ่นใหม่หลายคนเขาก็ย้ายไปอยู่ข้างนอก แต่ถ้ามีไฟ ฉันคิดว่าเดี๋ยวเขาก็เข้ามากัน”
อยากอยู่ตรงนี้ นานกว่านี้
“เราถือว่าเรามีบ้านเลขที่มีทะเบียนบ้าน เราไม่ไปไหนทั้งนั้น จะมาไล่อย่างไรป้าก็ไม่ไป ป้าถามใครเขาก็ว่า ให้ป้าอยู่ไปเลย ไม่ต้องไปไหน”
ชาติบอกกับเราระหว่างนั่งคุยกันบริเวณเพิงพักหน้าบ้านของเธอ อีกหนึ่งปัญหาของที่นี่ คือเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน พื้นที่หมู่บ้านคาเซ เป็นที่ดินซึ่งไม่มีโฉนด เป็นที่สาธารณะ และตอนนี้พื้นที่ริมสองฝั่งคลองลาวน ล้วนทยอยถูกจับจองจากเหล่านายทุน ที่เข้ามาพัฒนาพื้นที่เป็นบ่อกุ้ง ฟาร์ม โรงงานต่าง ๆ หมู่บ้านคาเซ เหมือนกำลังถูกล้อมรอบเป็นไข่แดงอยู่ตรงกลาง
“แพ้ก็อยู่ ชนะก็อยู่ ” คือคำขาดที่ชาติยืนยันหนักแน่นกับเราหลายต่อหลายครั้ง
“เราอยู่กันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายายแล้ว บรรพบุรุษเราก็คนพื้นที่ในจังหวัดระยอง ความเป็นมาแต่เดิมคือ พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ว่าง ชาวบ้านสมัยนั้นเลยเข้ามาจับจองกัน เมื่อก่อนคือที่ตรงไหนว่างเขาก็เข้าไปอยู่” เธอบอกกับเราก่อนที่ชาวบ้านในพื้นที่อีกคนจะเสริมขึ้นมาว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ “สวนทาน” คนโบราณที่รวยเขาจะยกที่ดินให้เป็นการทำทาน ใครอยากมาอยู่ก็อยู่ได้
ดำรงค์ให้ข้อมูลเรื่องที่ดินในพื้นที่หมู่บ้านคาเซว่า “ชาวบ้านเขาก็อยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ ไม่ได้ไปเรียกร้องสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของที่ดินอะไรมาก แค่เขาทำกินหาเลี้ยงชีพ มันก็แทบไม่พออยู่แล้ว มาอยู่ในพื้นที่แบบนี้ยิ่งโดนกดดันเข้าไปอีก” ดำรงค์ลังเลอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะพูดถึงเรื่องผลประโยชน์ของที่ดินบริเวณดังกล่าว “มันเกี่ยวกับพวกบริษัทที่อยู่แถบนี้ด้วยนะ มันมีผลประโยชน์เรื่องทรายขาว ในพื้นที่คาเซก็พอมีทรัพยากรที่มีมูลค่าอยู่” ดำรงค์กล่าวด้วยน้ำเสียงเป็นกังวล ก่อนที่สุทธิธรรม เลขวิวัฒน์ ที่ปรึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนคลองลาวน จะเพิ่มเติมข้อมูลว่า
“เรื่องทรายขาว แน่นอนพื้นที่แถบรอบหมู่บ้านคาเซ มีโรงงานขนาดใหญ่ล้อมรอบ และนายทุนเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมด จะยังเหลือแต่หมู่บ้านคาเซที่ยังเป็นพื้นที่สาธารณะ เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ถ้าไม่มีคนเข้าไปอยู่ ที่ดินแถบนี้ก็ไม่น่าจะเหลือแล้วผมเองเคยถามชาวบ้านว่า ไม่อยากเป็นเจ้าของที่ดินหรือ? ชาวบ้านเขาก็บอกว่า มันเป็นที่ดินของหลวง หลวงเคยบอกพวกเขาว่า สามารถอยู่ได้ชั่วลูกชั่วหลาน เขาจึงไม่เดือดร้อนและไม่เรียกร้องอะไร ขอให้เขามีสิทธิ์ได้อยู่เขาก็พอใจแล้ว”
“เมื่อก่อนก็เริ่มจาก 2-3 ครอบครัว พอมีลูกมีหลานก็ขยับขยายกันไปเรื่อย ๆ แต่ก่อนอยู่กันสบายกว่านี้ แต่เดี๋ยวนี้เขาบีบคั้นพวกเราเหลือเกิน” ชาติ แทรกขึ้นมา น้ำเสียงของเธอถ่ายทอดความลำบาก ที่คนในหมู่บ้านคาเซต้องเผชิญ ได้เป็นอย่างดี เธอพูดถึงสมัยก่อนที่ยังไม่มีถนนตัดผ่าน การจะออกสู่โลกภายนอกไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งอาชีพของคนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ คืออาชีพรับจ้างทั่วไป ด้วยความที่ชาวบ้านไม่มีที่ทำกินสำหรับทำการเกษตรได้ จึงต้องอาศัยการรับจ้างอื่น ๆ
“ใครจ้างตรงไหนเราไปตรงนั้น รับจ้างทั่วไป ป้าทำไม่ไหวก็ให้ลูกทำ มีเผาถ่านขายด้วย แต่ก่อนใครจ้างไปดำนาเกี่ยวข้าว ไปทำตุ้มหอย ให้ทำอะไรป้าทำหมด”
จุดแวะพัก
สายลมยามบ่ายพัดโชยมาดับร้อน บรรยากาศภายในหมู่บ้านร่มรื่นสะอาดสะอ้านสบายตา แทบไม่เห็นขยะเกลื่อนกลาด มีเงาไม้ใหญ่ปกคลุมทั่วบริเวณหมู่บ้าน
บ้านเรือนเรียงรายตั้งอยู่ไม่ห่างกันนัก บ้านส่วนใหญ่ทำจากไม้กึ่งปูนซีเมนต์ มีดวงไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์ของผู้ที่เข้ามาท่องเที่ยวและบริจาคให้ ตั้งตระหง่านอยู่กลางหมู่บ้าน เคียงคู่แผงโซล่าเซลล์อีกแผง ที่เทศบาลนำมาติดตั้ง แต่มันพังแล้ว
“วันแรกที่มีคนมาเที่ยวใหม่ ๆ เขาถามว่าป้ามีไฟฟ้าไหม ก็บอกเขาว่าไม่มี แล้วป้าอยู่อย่างไร ก็บอกว่าอยู่กับธรรมชาติ และกลางคืนป้านอนอย่างไร ป้าบอกว่าใช้พัดลม พัดลมมือพัดน่ะ พอเขากลับไปไม่รู้มันเกิดอะไร เทศบาลเข้ามาถามว่า ใครเป็นคนลง Facebook ป้าบอกไม่รู้ ป้าเล่นไม่เป็น แล้วเหมือนเขาไม่พอใจเราตั้งแต่ตอนนั้น”
ย้อนไปตั้งแต่ช่วงปี 2562 ทางวิสาหกิจชุมชนคลองลาวน เริ่มจัดทำการท่องเที่ยววิถีชุมชนขึ้นมา โดยอาศัยพื้นที่คลองลาวน เป็นสถานที่โปรโมทนักท่องเที่ยวให้ได้มาเยี่ยมชม เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางอนุรักษ์ธรรมชาติจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ที่รุกคืบสองฟากฝั่งคลองลาวน หมู่บ้านคาเซเป็นอีกหนึ่งจุดแวะพัก ในทริปการท่องเที่ยววิถีชุมชนนี้ ทำให้หมู่บ้านที่ไม่เคยปรากฏโฉมต่อสายตาคนภายนอก ไม่มีแม้ข้อมูลปรากฎอยู่ในอินเตอร์เน็ต หรือ Location อยู่ใน Google map ได้เป็นที่รับรู้ของคนภายนอก
“ป้าชอบเวลาคนข้างนอกเข้ามาเยี่ยมชมนะ มันสนุกดี เขาจะได้รู้ได้เห็น ว่าเราอยู่กันอย่างไร” กลิ่นกะปิหอมโชยมา ในขณะที่หญิงชรากำลังหยิบมีดปอกมะม่วงเปรี้ยวให้เรากิน ดูเหมือนชาติจะสนุกกับการได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวจริง ๆ
อาทิตย์ยามบ่ายย้ายตัวเองจากกลางท้องฟ้า เขยิบเข้าใกล้เส้นขอบฟ้าทุกขณะ เราเดินไปลงเรือกลับบริเวณท่าเรือไม้เก่า ๆ ของหมู่บ้านคาเซ สองฝั่งคลองบริเวณนี้ยังมีต้นไม้อยู่มาก เมื่อเทียบกับเส้นทางที่เราผ่านมา พลขับเรือยนต์ติดเครื่องยนต์ดังหึ่ง ใบพัดเรือหย่อนลงใต้ผิวน้ำเกิดคลื่นกระเพื่อม เรือขนาด 8-10 ที่นั่งของชาวบ้านวิสาหกิจชุมชนคลองลาวน กำลังพาเราไปยังจุดหมายต่อไปของการท่องเที่ยว บริเวณจุดชมวิวปากอ่าวติดหาดแม่พิมพ์
ชาติยืนนิ่งอยู่ริมตลิ่ง สายตาของเธอมองดูนักท่องเที่ยวค่อย ๆ เดินทางกลับจนลับสายตา
“อยากได้สิไฟฟ้า ใครจะไม่อยากได้” คำพูดของหญิงชราหนักแน่น “อย่างไรเราก็ไม่ไป แพ้ก็อยู่ ชนะก็อยู่” และยึดมั่นในอุดมการณ์ หมู่บ้านคาเซยังคงอยู่ รอคอยการเข้าถึงไฟฟ้า และการได้อยู่อาศัยในผืนแผ่นดินแห่งนี้ต่อไป
________________________________
เรื่อง : ณฐาภพ สังเกตุ
ภาพ : อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี / ณฐาภพ สังเกตุ