ความเชื่อที่แตกต่างไม่ใช่ปัญหา หากเริ่มทำความเข้าใจ
บทเรียนจากการทำงานของเครือข่ายหลักประกันสุขภาพ ประเด็นกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรม (ลุ่มน้ำแม่ทา) จังหวัดลำพูน
บนโลกใบนี้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจำนวนมากอยู่อาศัยในประเทศ บนเขตแดนที่ต่างกันออกไป เช่นกันกับที่ตำบลทากาศ จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ประสานงานเครือข่ายหลักประกันสุขภาพ ประเด็นกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรม (ลุ่มน้ำแม่ทา) ท่ามกลางหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงโปว์ 7 หมู่บ้านครอบคลุมประชากรกว่า 900 หลังคาเรือน พรทิพพา ดอกแก้วนาค หรือป้าพร ในฐานะผู้ประสานงานศูนย์ฯ ย้อนความให้ฟังว่า
“งานที่ศูนย์ฯเราทำเป็นเรื่องสุขภาพในทุกมิติ ครอบคลุมถึงกรณีที่เราเป็นผู้บริโภคแล้วมีปัญหาเรื่องการซื้อข้าวของหยูกยาอาหารเสริมจนได้รับผลกระทบตามมาการมาทำงานนี้สมัยก่อนอาจเป็นเรื่องสถานะ บัตรนั่นบัตรนี่ ที่มักมีปัญหาเวลาไปหาหมอ แต่ปัจจุบันด้วยความที่เราไม่ได้ทำงานคนเดียว เราได้รับความร่วมมือที่ดีจากหน่วยงานจากทางเทศบาล ทางผู้นำชุมชน จนถึงวันนี้สามารถพูดได้ว่า กะเหรี่ยงบ้านนี้จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องสถานะบุคคลแล้ว”
แม้อุปสรรคหลักเรื่องการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขของชาวกะเหรี่ยงในตำบลจะได้รับการคลี่คลาย แต่ไม่ได้หมายถึงความผาสุกในการอยู่ร่วมกันจะเกิดขึ้นแล้ว เพราะมีปัจจัยสำคัญกางกั้นขัดขวางกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากในประเทศกับบริการด้านสาธารณสุข คือ การเดินทางที่ส่วนมากจะอยู่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล และรวมถึงการสื่อสารภาษาที่อาจไม่เข้าใจกัน ป้าพรเล่าถึงเรื่องนี้ว่า
“การที่เราต้องมาทำงานนี้ ไม่ใช่เพราะจะดูเป็นผู้นำ แต่เราพอรู้ความรู้ภาษา แล้วต้องเข้าใจก่อนว่า เรื่องภาษาถิ่นที่เราใช้กันในแต่ละวันไม่ใช่ภาษาไทยกลาง อุปสรรคเวลาที่คนในชุมชนเราไปติดต่อราชการ ไปโรงพยาบาลในตำบล อำเภอ จังหวัด ด่านแรกจึงเป็นเรื่องการสื่อสาร และที่ตามมาคือ ในตำบลทากาศ มีพี่น้องกะเหรี่ยง 7 หมู่บ้าน ไม่ใช่ทุกบ้านจะอยู่ในย่านชุมชนจนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากรัฐได้ มีสองหมู่บ้านที่ต้องขึ้นเขาไป แล้วหลายคนไม่ได้ติดตามข้อมูลจนรู้เท่าทันกับคนพื้นราบ เราจึงต้องทำหน้าที่เหมือนคนคอยบอกกล่าวว่า ตอนนี้นโยบายที่ได้รับทราบมาเรื่องนั้นเรื่องนี้หากเกี่ยวกับคุณ จะสามารถเข้าถึง และใช้สิทธิอย่างไรได้บ้าง
… อย่าว่าแต่เรื่องสิทธิของตัวเองเลย บางบ้านไม่สามารถไปโรงพยาบาลตำบลเองได้ เพราะเขาไปไม่เป็น ไปเป็นก็ไม่มีคนช่วยสื่อภาษาว่าอาการเป็นยังไง ถ้าไปแบบไม่รู้อีโหน่อีเหน่จะพลอยโดนด่าโดนไล่กลับมา กะเหรี่ยงเราเลยพากันกลัวพอเจ็บป่วยจะเป็นจะตายก็ไม่กล้าไปหาหมอ หน้าที่โดยปริยายของเราจึงกลายเป็นคนพาเขาไปส่งแล้วช่วยดูเรื่องการสื่อสาร”
จากการลงพื้นที่สอบถามข้อมูลพบว่า โรคประจำถิ่นของผู้คนในตำบลทากาศ และในหมู่บ้านกะเหรี่ยง ไม่ต่างจากพื้นที่อื่นคือ โรคจากพฤติกรรมการอยู่การกิน ความดัน เบาหวาน หัวใจ แต่สิ่งที่ต่างออกไปเป็นการดูแลเมื่อมีคนป่วยในชุมชน ศูนย์ประสานงานเครือข่ายหลักประกันสุขภาพ ประเด็นกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรม ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงดูแล เพราะเมื่อปัญหาสุขภาพมาจากพฤติกรรม พวกเขายังทำงานส่งเสริมสุขภาพด้วยการให้คำแนะนำหลังการรักษา ทั้งการรับประทานอาหาร และการดูแลสุขภาพ
ผู้ประสานงานศูนย์ฯประเด็นกะเหรี่ยง เล่าถึงที่มาที่ทำให้หลายคนในหมู่บ้านต้องติดยาสูบว่า สมัยก่อนพวกเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไม่ได้เจริญทั่วถึงเหมือนคนเมือง หลายบ้านไม่มีไฟฟ้าใช้และส้วมหลุมถูกขุดอยู่นอกตัวบ้าน เวลาไปห้องน้ำจึงจำเป็นต้องจุดยาสูบติดตัวไปเพื่อพ่นกันยุง เมื่อหมดมวนแต่ไม่ทันเสร็จกิจจะร้องเรียกลูกหลานให้ต่อยาสูบมาให้ กลายเป็นว่าลูกหลานมันมีพฤติกรรมเลียนแบบสืบต่อกันมา
ดังนั้น ปัญหาสืบเนื่องจากพฤติกรรมของคนในชุมชนจึงไม่ใช่การได้รับอิทธิพลทางความคิด ความเชื่อ วิถีชีวิตเท่านั้น แต่หมายถึงการพัฒนาชุมชนอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นหน้าที่รัฐที่จำเป็นต้องสนับสนุนระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพราะถ้าชุมชนมีความพร้อมแล้ว หน้าที่ของศูนย์ประสานงานเครือข่ายหลักประกันสุขภาพฯ จะไม่ได้เป็นเพียงการเฝ้าดู ติดตาม ประสานงาน แนะนำให้ความช่วยเหลือ แต่จะหมายถึง การร่วมทำงานเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต ไม่ให้กระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ด้วย
ป้าพรบอกเล่าเป็นส่วนตัวว่า ความแตกต่างด้านภาษา วัฒนธรรมในการดำเนินชีวิต เป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ไม่สามารถเลิกทำงานที่ตนทำอยู่ได้ ... เธอพูดให้ฟังถึงกรณีตัวอย่าง
“มีคุณยายรายหนึ่งเขาเจ็บท้อง จนท้องแข็งท้องป่อง เจ็บทนไม่ไหวอยู่ประมาณอาทิตย์กว่า ทางบ้านเชื่อว่าโดนของ เขาลือกันว่าไปโดนของที่ปล่อยโดยไม่ได้ตั้งใจ ... ทางบ้านเลยพาไปหาเก๊าผี(หมอพิธี)ของหมู่บ้าน ลองทุกอย่างอยู่สามวันทั้งน้ำมนต์ ทั้งทำพิธีอาการไม่ดีขึ้น เราเลยเข้าไปทำหน้าที่ชวนไปโรงพยาบาลจนแกยอม ปรากฏไอ้ที่แกเจ็บท้องหมอวินิจฉัยว่า ไส้ติ่งแตกต้องผ่าออก แล้วตอนที่อยู่โรงพยาบาลเราสังเกตดูหมอจะเข้มงวด ดุ เรียกว่าด่าเลยก็ได้ แล้วมาเล่าให้เราฟังว่าคุณยายดื้อ ถุยน้ำลายใส่หมอ ซึ่งพอเราได้คุยกับยายจึงเข้าใจ มันเป็นเพราะคุณยายแกฟังภาษาหมอพยาบาลไม่รู้เรื่อง บอกให้นอนหันทางนั้นทางนี้เลยไม่ได้ตอบรับ หลายครั้งเข้าพอโดนจับ โดนพลิกตะแคงเลยขัดขืนเพราะไม่รู้เขาจะให้ทำอะไร จนโดนหมอตีแขนว่าอย่าดื้อ ๆ แล้วเขาก็มัดแขนยายไว้กับเตียงทุกครั้งระหว่างตรวจ ...
ทีนี้เรื่องน้ำลายพอเรามาเจอ ได้คุยกับยายประกอบกับการที่เราอยู่ในชุมชน มันทำให้เข้าใจเลยว่ากะเหรี่ยงบ้านเราจะเคี้ยวยาเส้นเพื่อรักษาฟัน ยิ่งคนเฒ่าคนแก่แกเคี้ยวทุกวัน จะเป็นจะตายต้องได้เคี้ยว แล้วพอเคี้ยวนาน ๆ น้ำลายมันเยอะ แกมีกระโถนขยะตั้งข้างเตียง พอมัดแกก็ลุกขึ้นมาถุยไม่ได้ พอน้ำลายมันเต็มปากหายใจลำบาก แกเลยปล่อยออกข้าง ๆ ไม่ได้ตั้งใจจะถุยใส่หมอพยาบาลอะไร แต่ในมุมคนมาดูแลเขาก็ตัดสินแล้วว่าแกไม่มีมารยาท สุดท้ายคือรายนี้ได้ผ่าไส้ติ่ง กลับมาบ้านพักฟื้นแล้วหายดี แต่หน้าที่ของเราคือต้องพยายามอธิบายความเชื่อ ความรู้พื้นฐานเรื่องภาษาและวัฒนธรรมของคนในชุมชนเราให้หมอฟัง ... ไม่รู้หรอก ว่าจะทำให้เจ้าหน้าที่เขาเข้าใจ แล้วนำไปปรับปรุงการทำงานอย่างไรไหม แต่เราทำหน้าที่ของเราเพื่อสื่อสารให้ทุกฝ่ายรู้ข้อมูลระหว่างกันและกันเรียบร้อยแล้ว”
นอกจากคำบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ แล้ว หากตรวจสอบผลการทำงานของศูนย์ประสานงานเครือข่ายหลักประกันสุขภาพฯ ประเด็นกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมในช่วงระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะพบว่า พวกเขามีการรายงานสถานการณ์ดูแล ส่งต่อการรักษาและ ประสานงานร่วมกับหน่วยบริการสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยเดือนละ 3 ราย โดยบทบาทสำคัญคือการร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข ออกเยี่ยมบ้านติดตามอาการ ช่วยหาสถานที่แยกตัวสำหรับผู้ป่วย ช่วยส่งข้าวส่งน้ำและประสานงานกับโรงพยาบาลการทำงานภาคประชาสังคมในลักษณะนี้ป้าพรย้ำว่า ไม่ได้ต้องการคำชื่นชมหรือโล่รางวัล แต่เธอเห็นว่าบางเรื่องที่สามารถช่วยกันก่อนได้ จำเป็นต้องช่วย เพราะถ้าสุดท้ายแล้วในชุมชนนี้ไม่เหลือคน ไม่เหลือใครความเป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยงก็จะหายไปเช่นกัน...