Spirits of the Marginalized
: เมื่อกลางใจคือชายขอบ - ส่วนหนึ่งจากงานวันชนเผ่าพื้นเมืองสากล 66
สายฝนเคล้าเสียงดนตรีจากหลากหลายพี่น้องชาติพันธุ์ จบกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับงาน "Spirit of the Marginalized จากจิตวิญญาณแห่งความชายขอบ" ที่จัดขึ้นในช่วงเย็นของวันที่ 8 ส.ค. 2566 ณ ร้าน JungFood จรัญสนิทวงศ์ 91 แยก 4 ตั้งอยู่ไม่ไกลจาก Mrt สถานีบางอ้อ ที่สำหรับคนที่พลาดการไปร่วมงาน ยังคงสามารถเข้าไปร่วมชมนิทรรศการสำรวจเรื่องราวแห่งความเป็นชายขอบ จนถึงวันที่ 22 ส.ค. 2566
งานเริ่มต้นหลังสายฝนสงบ เสียงพิณนุ่ม ๆ จาก หนุ่มภูไท ชายขอบ ที่สอดแทรกด้วยความเชื่อเรื่องผีและบรรพบุรุษของชาวภูไท โดยในระหว่างที่เสียงดนตรีบรรเลงไปนั้น เหล่าพี่น้องชาวมอแกลนและชาวมันนิ ก็ได้เสิร์ฟเครื่องดื่มสมุนไพรจากกลางเขาที่มีชื่อว่า ‘ไอ้เหล็กยัดครู’ รวมทั้งมีเครื่องดื่มพื้นบ้านอีกหลายชนิด ที่แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมการดื่มของพี่น้องชาติพันธุ์นั้น มีความหลากหลายและยึดโยงอยู่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเอง
เสียงดนตรียังคงบรรเลงและสับเปลี่ยน ประหยัด เสือชูชีพ หยิบเตหน่าเครื่องดนตรีพื้นบ้านของชาวปะกาเกอะญอขึ้นมาบรรเลง พร้อมกันกับที่ วุฒิ บุญเลิศ นักวิชาการอิสระที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ ได้จับไมค์ออกมาเล่าถึงเรื่องราวความเชื่อของพิธีผูกจิตทารกกับต้นไม้ในกลุ่มชาวปะกาเกอะญอ รวมทั้งมีการแสดงสาธิตพิธีการสู่ขวัญของพี่น้องชาวปกาเกอะญอ ให้ผู้เข้าร่วมงานได้เห็นวิถีชีวิตและประวัติความเป็นมาของพิธีการดังกล่าว
อีกหนึ่งไฮไลท์ของงาน คือการได้ลิ้มรสเมี่ยงของชาวญัฮกุร ที่มาไกลจาก จังหวัดชัยภูมิ พร้อมด้วยวัตถุดิบที่พวกเขาหอบมา ทั้งกล้วยดิบ มะอึก ตะไคร้ ผสมด้วยพริกขี้หนูและเกลือ นำมาห่อกับใบต้นทุน ก่อนที่จะม้วนรัดด้วยใบกุยช่าย รสชาติจัดจ้าน เค็ม เผ็ด เข้ากันดีกับเครื่องดื่มพื้นบ้านที่เสิร์ฟภายในงาน . . . ฟ้ามืดลงพร้อมสายฝนที่สาดกระหน่ำลงมาอีกรอบ เสียงดนตรีจาก อัญชลี อิสมันยี บุตรสาวคนโตแห่งบ้านคีตาญชลี เคลื่อนย้ายมาบรรเลงในอาคารของร้าน JungFood เป็นเวลากว่า 4 ทศวรรษแล้ว ที่วงคีตาญชลี ใช้ความสามารถทางศิลปะ เพื่อยืนเคียงข้างประชาชนด้วยบทเพลงในหลายสนามการต่อสู้ โดยเฉพาะการต่อสู้ของ “ภาคประชาชน” อัญชลีถ่ายทอดเรื่องราว “จากบ้านบางกลอย” หนึ่งในพื้นที่อาศัยของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งบอบช้ำจากการถูกกระทำโดย “กฎหมายและนโยบาย” จากเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอด
ภายใต้ห้องโล่งขนาดเล็กที่บรรจุผู้คนหลายสิบคนจนแน่นขนัด เสียงดนตรีและบทสนทนาของผู้เข้าร่วม ยังคงดำเนินต่อไปจนถึงช่วงเวลา 22.00 น. คงไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่างาน Spirits of the Marginalized : จากจิตวิญญาณแห่งความชายขอบ คือการรวบรวมเสียง ภูมิปัญญา เรื่องเล่า และวัฒนธรรม ของพี่น้องชาติพันธุ์และผู้คนชายขอบในสังคมไทย มาจัดแสดงอยู่กลางเมืองหลวง บนความเชื่อที่ว่าสิ่งนี้จะทลายเขตแดนในหัวใจ และความชายขอบในทัศนคติของผู้คนที่ได้มาร่วมงาน
สำหรับคนที่พลาดงานดังกล่าวไป ยังคงสามารถเข้าร่วมชมนิทรรศการสำรวจเรื่องราวแห่งความเป็นชายขอบ ที่ร้าน JungFood จนถึงวันที่ 22 ส.ค. 2566 ที่ประกอบไปด้วย นิทรรศการภาพฝันของคนตาบอด, นิทรรศการเสียง ชนเผ่าพื้นเมืองกับเรื่องเล่าหลังความตาย, ร่วมด้วยสื่อผสมจาก "ผีเด็กในเรื่องเล่าของคนทำแท้ง" โดยกลุ่มทำทาง และ "ก็มันสะใจนิ! ผีผู้หญิงกับ feminine rage" โดยนักศึกษาเควียร์
โดยก่อนที่จะตัดสินใจไปชมนิทรรศการ เชิญเสพเรื่องราวเบื้องหลัง เพื่อทำความเข้าใจถึงสิ่งที่ผู้จัดต้องการนำเสนอออกมา
ภาพฝันคนตาบอด ทดลองเป็นคนตาบอด จินตนาการภาพจากเสียงของพวกเขา
คำอธิบายของนิทรรศการภาพฝันของคนตาบอด ได้บอกให้คนตาดีปิดตาและเปิดเสียงจากหูฟังเดินไปตามทาง เพื่อรับฟังเรื่องราวของคนตาบอดทั้ง 6 คน โดยเรื่องราวแรกเป็นของสุนทร สุขชา ชายผู้มีความฝันอยากเป็นรัฐมนตรี เขามองว่าคนพิการไม่เคยได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารงานภาคการเมือง สังคม หรืออย่างน้อยการได้มีรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนพิการและคนชายขอบโดยตรง
“เพราะไม่ว่าจะตาดีหรือตาบอด หากสังคมมองกันที่ความสามารถที่เขาทำได้ โดยปราศจากข้อจำกัดทางกายภาพมาใช้ตัดสิน มันคงเป็นสังคมในความฝัน เพราะเราต่างเป็นตัวแทนของอัตลักษณ์หนึ่งที่แตกต่างกัน”
เรื่องราวราวต่อมาสื่อสารถึงการดื่มกาแฟจากตู้กดกาแฟ หรือแม้กระทั่งการนั่งกินหมูกระทะ คงเป็นความสุขอันเรียบง่ายที่คนปกติได้เสพกันอยู่ทุกวัน แต่เรื่องราวที่เล่าผ่านรูปภาพของ Sarawat Tinwattanakul เล่าเรื่องของสาวตาบอดที่มักถูกเลือกปฏิบัติจากร้านหมูกระทะ ที่ไม่ให้คนตาบอดเข้ารับบริการ หรือแม้กระทั่งการสั่งซื้อเครื่องดื่มจากตู้เต่าบิน เธอกล่าวว่าต้องใช้ความพยายามอย่างมาก
“เราก็พยายามเล็งซ้าย เล็งขวา ถ้าโชคดีหน่อยเราก็จะได้กิน”
การดื่มกาแฟของคนตาบอดกลายเป็นเรื่องของโชคลาภในดินแดนแห่งการเลือกปฏิบัติ ความสุกที่เราต้องการเหมือนกัน เป็นหนึ่งในภาพฝันของคนตาบอดที่จะได้กินหมูกระทะเหมือนคนตาดี
เรื่องราวที่ 3 เป็นของยุทธกร โสภา เมื่อแม่แมวไม่จำเป็นต้องยืนยันเพศของเธอเอง ยุทธกรเป็นคนตาบอดข้ามเพศ ภาพฝันของเธอคือการได้ดูแลแมวสองตัวที่เปรียบเสมือนเพื่อนสนิท เธอเล่าว่าด้วยการเป็นคนตาบอดข้ามเพศนั้น แม้จะได้รับการยอมรับจากคนตาดี แต่กลับถูกปฏิเสธจากคนตาบอดด้วยกันเอง สำหรับเรื่องราวต่อมาเต็มไปด้วยเสียงดนตรี และบทสนทนาที่ล่องลอยอยู่ในความฝันบนเรื่องราวของ ณัฐวิทย์ พูนนวล ด้วยความเชื่อว่าดนตรีจะช่วยทลายกำแพงแห่งความแตกต่างระหว่างกัน ทุกก้าวที่ข้ามผ่านบันไดตัวโน้ต คือการเดินทางใกล้ความฝันสำหรับเขา ความฝันที่จะได้มอบความสุข ความบันเทิง และรอยยิ้มแก่ผู้คนที่ได้มาฟังดนตรีของเขา เขาเชื่อว่าเมื่อเราอยู่ในโลกใบเดียวกัน แล้วทำไมจะมีความฝันเหมือนกันไม่ได้?
เรื่องราวต่อมาของอิษวัต บัลล์ฬวานิช เมื่อการไปนั่งโง่ๆ ริมทะเล เป็นเรื่องง่ายของคนทั่วไป แต่กับเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับคนตาบอดเช่นเขา “บางทีทะเลก็ไม่จำเป็น เพราะเดินไปตามทาง จู่ๆ หัวโขกเสา เราก็อาจมึน โง่ งง ชั่วขณะ” คือคำพูดตลกร้ายของอิษวัต พร้อมความฝันอันง่ายดายของเขาในการอยากมีอิสระในการเดินทาง
เรื่องราวสุดท้ายมีชื่อว่า ดอกไม้เบ่งบาน เพื่อหนีคำถามว่าเธอจะบานเป็นดอกอะไร เมื่อสุพัชรีย์ กัญจะลา บุคคลต้นเรื่อง ถูกตั้งคำถามว่า เมื่อเธอตาบอดแล้วจะแต่งหน้าแต่งตัวไปเพื่ออะไร คำตอบของเธอนั้นเรียบง่าย เมื่อความสวยงามคือสิ่งที่ตาเห็น แต่ถึงจะมองไม่เห็นก็ยังจำเป็นต้องสวยให้ตัวเองชม
เรื่องราวของพวกเขาทั้ง 6 คน คือภาพฝันอันเรียบง่ายของคนตาบอด ที่คนตาดีอย่างเราได้รับมันอย่างง่ายดาย
ลับหลังเขา เรื่องเล่าหลังความตายของชาวชนเผ่า
“ผีชนเผ่าต่างจากผีกระแสหลัก สายธารความเชื่อมันต่างกัน ผีกระแสหลักในไทยยึดโยงกับความเป็นพุทธ เรื่องของบาป บุญ คุณ โทษ แต่ความเป็นผีของชาติพันธุ์คือวิถีชีวิต ป่าไม้ บ้าน ต้นข้าว สัตว์ ไฟ น้ำ และทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว”
ฝ้าย น้ำทิพย์ พรหมเพ็ชร ผู้ร่วมก่อตั้งเพจเฟสบุ๊ค ‘ลับหลังเขา’ ที่ต่อยอดออกมาเป็นนิทรรศการเสียงชนเผ่าพื้นเมืองกับเรื่องเล่าหลังความตาย ทั้ง 5 เรื่องได้แก่ ผีตีนเดียว ตามตำนานชาวญัฮกุร, พิธีหลังความตาย ผี และชีวิตหลังความตายของชาวมอญ, พิธีกรรมตั้งชื่อเด็กแรกเกิด - ลีซู, ผีซูเว้ เรื่องผีของชาวเลอูรักลาโว้ย และผีเบื๊อก ของชาวละเวือะ
โดยเหตุผลที่เลือกนำเรื่องผีมาควบรวมกับเรื่องราวของชาติพันธุ์ เพราะเธอมองว่า ผีเป็นเรื่องราวลึกลับน่าค้นหา ที่จะทำให้คนทั่วไปได้มาเรียนรู้เรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ในอีกมิติหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ในเรื่องราวผีเบื๊อก ของชาวละเวือะ ตามตำนานเล่าว่า เวลาที่ชาวลเวือะออกไปทำไร่ทำสวนนั้น จะต้องมีพิธีกรรมบางอย่างตามความเชื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้ผลผลิตทางการเกษตรของตนนั้นเสียหาย การทำเกษตรของชาวลเวือะนั้น ตัวแทนครอบครัวจะต้องออกไปเฝ้าสวนในไร่ของตนในเวลากลางคืน โดยเฉพาะในเทศกาลเก็บเกี่ยว เพื่อป้องกันสัตว์และผู้คนมาทำลายผลผลิต และสัตว์ประหลาดที่ชาวบ้านกล่าวขานกันว่า ‘เบื๊อก’ . . . เบื๊อกที่ชาวบ้านรู้จักคือสัตว์ประหลาดที่ชาวบ้านไม่สามารถระบุตัวตนได้ แต่จากคำบอกเล่ากล่าวว่า เบื๊อกชอบมาทำลายไร่นาและสวนของชาวบ้าน บ้างก็ทำร้ายมนุษย์ เด็กเล็ก คนชรา และผู้หญิงไม่มีทางสู้ เบื๊อกมีเสียงคำรามที่น่ากลัวและเข้าจู่โจมทันทีที่สบโอกาส ดังนั้นชาวละเวือะจึงมีพิธีกรรมบางอย่างกับธรรมชาติ ที่ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดสำหรับพวกเขา เป็นผู้ทำหน้าที่ปกปักรักษาพวกเขา โดยหนึ่งในวิธีปฏิบัติ เวลาออกไปเฝ้าสวนไร่นานั้น ก่อนที่จะกินข้าวต้องนำอาหารออกมาถวายให้เจ้าที่เจ้าดิน เพราะถ้าหากไม่ทำแล้วนั้น ถือว่ามนุษย์ได้ทำการละเลยต่อธรรมชาติ ดังนั้นธรรมชาติผู้แบ่งสันปันส่วนให้มนุษย์จะลงโทษการละเลยเหล่านี้
“เรามีแผนอยากจะเล่าเรื่องผีของทุกชาติพันธุ์ในประเทศไทยออกมาให้หมด” เพราะผีทุกตัวควรค่าแก่การรับรู้ถึงการมีอยู่ ดังนั้นการสื่อสารเรื่องผีของทีมงานลับหลังเขา นอกจากจะให้ความบันเทิงแล้ว น้ำทิพย์เชื่อว่า ผีเป็นการสื่อสารที่ทำให้คนเคารพกันได้มากขึ้น และเมื่อได้ฟังเรื่องราวหลังความตายเหล่านั้น เราก็ได้พบว่าเรื่องผีไม่จำเป็นต้องมีแต่ความน่ากลัว ความอาฆาตพยาบาทกันอย่างเดียว แต่มันยังสามารถสอดแทรกวิถีชีวิต ความเชื่อ ที่นอกเหนือไปจากเรื่องผีตามกระแสหลักของสังคมไทย
ผีเด็กในเรื่องเล่าและผีผู้หญิงในสังคมไทย
สองนิทรรศการสื่อผสมที่จัดตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน เป็นเรื่องราวของ "ผีเด็กในเรื่องเล่าของคนทำแท้ง" โดยกลุ่มทำทาง และ "ก็มันสะใจนิ! ผีผู้หญิงกับ feminine rage" โดยนักศึกษาเควียร์ ที่พาผู้เข้าร่วมไปทลายค่านิยมความเชื่อผิด ๆ ที่สังคมไทยมักตีตราผู้หญิง เริ่มต้นจากเรื่องราวของผีเด็ก ที่สังคมไทยพยายามลงโทษผู้หญิงที่ตัดสินใจทำแท้ง และไม่สยบยอมต่อการเป็น แม่-เมีย ที่ดีงามตามบรรทัดฐานของสังคมไทย ทั้งยังกุเรื่องเล่าความเชื่อ ให้เกิดความกลัวว่าผีเด็กจะตามรังควานผู้ทำแท้งไปตลอดชีวิต
ทั้งที่จริงแล้ว ผีเด็กจากมุมมองของคนทำแท้งนั้น ทั้งแตกต่างและหลากหลาย นิทรรศการนี้ตั้งใจจะสื่อสารว่า สิ่งที่เรียกว่าผีเด็กนั้นจะมีจริงหรือไม่ สังคมควรให้เจ้าของประสบการณ์เป็นคนตีความเรื่องราวของเขาเอง
ถัดจากเรื่องของผีเด็กในเรื่องเล่าของคนทำแท้ง คือการเล่าเรื่องผีผู้หญิงในสังคมไทย ผ่านทั้งสื่อและสถานการณ์การเมือง ทั้งบทบาทผู้หญิงกับความเป็นแม่และเมีย ผ่านเรื่องราวของภาพยนตร์นางนาก, ค่านิยมผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ผ่านเรื่องราวของอุบล จากละครพิษวาท ที่แสดงค่านิยมความเป็นหญิงของสังคมไทย ที่บอกให้ผู้หญิงมีความเป็นผู้ตาม ใช้อารมณ์มากว่าเหตุผล และมีกิริยามารยาทที่อ่อนช้อยสวยงาม และบทบาทตัวละครของไอซ์ จากภาพยนตร์ฝากไว้..ในกายเธอ ที่สะท้อนถึงปัญหาทัศนคติของสังคมและรัฐไทย ที่มีต่อสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง อันมาจากแนวคิดปิตาธิปไตย
ในประเด็นเรื่องการเมืองเอง ตัวนิทรรศการก็ฉายภาพให้เห็นถึงการใช้คำโจมตี อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรว่า ‘ผีอีแพง’ ในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเธอ ยกตัวอย่างเช่น “ผีอีแพงเข้าสิงรัฐบาล คิดไปเองว่าของแพง” จะเห็นได้ว่าผีผู้หญิงในประเด็นการเมือง ถูกนำมาสร้างความชอบธรรมให้กับผู้มีอำนาจในการด้อยค่าการทำงานของนักการเมืองผู้หญิง
ทลายชายขอบ ยุติสิ้นการเลือกปฏิบัติในสังคมไทย
“เราจัดงานนี้ขึ้นมาเพราะว่าความเป็นชายขอบ ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล คุณที่อยู่เมืองหลวงก็สามารถเป็นคนชายขอบได้ ถ้าคุณมีความแตกต่าง เช่น คนทำแท้ง หรือแค่การที่คุณเป็นผู้หญิง”
หนึ่งในผู้จัดงาน Spirits of the Marginalized : จากจิตวิญญาณแห่งความชายขอบ ได้กล่าวถึงที่มาของงานดังกล่าว เขามองว่าคำว่า ‘ชายขอบ’ เกิดขึ้นเพราะมีการสร้างเขตแดนขึ้นมา ถ้าชายขอบในความหมายรูปธรรมคือพื้นที่ชายแดน ที่กั้นระหว่าง 2 ประเทศ ชายขอบในระดับปัจเจก ก็คือชายขอบทางความคิดที่คนสร้างขึ้นมา น้ำทิพย์จึงร่วมกับเพื่อน ๆ จัดงานนี้เพื่ออยากให้เรื่องราวของชาติพันธุ์ และคนชายขอบอื่น ๆ ได้ถูกหยิบยกเรื่องราวออกมาพูดถึงในมิติต่าง ๆ
“เราเชื่อว่าทุกคนมีชีวิต จิตวิญญาณ เขาจะเป็นอะไรก็เรื่องของเขา คนตาบอดไม่ได้มีชีวิตแค่ทำมาหากิน เขายังมีความฝัน จึงออกมาเป็นนิทรรศการภาพฝันคนตาบอด”
โดยงานนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมผลักดัน พ.ร.บ. การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ ที่มุ่งคุ้มครองคนทุกคนรวมทั้งกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย เช่น ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV, ผู้ใช้ยาเสพติด, กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ, เด็กและเยาวชน, ผู้หญิง, คนพิการ, ผู้สูงอายุ, กลุ่มชาติพันธุ์, และแรงงานนอกระบบ ซึ่ง ณ ขณะนี้ ตัว พ.ร.บ. กำลังอยู่ภายใต้กระบวนการพิจารณาที่จะต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ในปี 2566 เข้ามาดำเนินการต่อ
ควบคู่ไปกับข้อกฎหมาย การทำความเข้าใจกับสังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และงาน Spirits of the Marginalized: จากจิตวิญญาณแห่งความชายขอบ เป็นหนึ่งในงานที่จะให้พื้นที่เราเข้าไปสำรวจ เรียนรู้ความเป็นชายขอบ เพราะสิ่งนี้ซ่อนอยู่ในทุกหนแห่ง ไม่เว้นแม้แต่ในทัศนคติและความเชื่อของเรา มาร่วมทลายเขตแดนในหัวใจ และความชายขอบในทัศนคติ ได้ที่ ร้าน JungFood จรัญสนิทวงศ์ 91 แยก 4 จนถึงวันที่ 22 ส.ค. 2566