18 มกราคม 2020

ภาคประชาสังคมไทยในสายตาผู้ให้ทุน

บทสัมภาษณ์ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนงานนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

: ภาคประชาสังคมกับความจำเป็นในประเทศไทย ?

ต้องบอกว่าภาคประชาสังคมมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะภาคประชาสังคมเป็นตัวปิดช่องว่างในการทำงานซึ่งรัฐเข้าไปยุ่งลำบาก ในขณะเดียวกันประชาสังคมเองก็ไม่ได้ทำงานเพื่อผลกำไร แต่เป็นรูปแบบการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม สสส.(สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) เราทำงานมา 17 ปี มีหนึ่งรูปแบบที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือ ไตรพลัง คือไม่ว่าจะทำเรื่องยาก ๆ อะไรในสังคมเนี่ย ต้องใช้พลังจากการมีส่วนร่วมของ 3 ฝ่ายด้วยกัน คือพลังความรู้จากภาคเอกชน พลังนโยบายจากหน่วยงานรัฐท้องถิ่นและองค์กรต่าง ๆ สุดท้ายคือพลังสังคม ซึ่งจะช่วยทำให้นโยบายสามารถปฏิบัติได้จริง ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องร่วมประสานไปด้วยกัน ที่สำคัญคือพลังทางสังคมเองก็จำเป็นต้องใช้ความรู้ของเอกชนเข้าไปส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ มันทำให้เห็นว่าทั้งสามส่วนต้องสมดุล เกื้อหนุน และขาดกันไม่ได้

: แล้วบทบาทของ สสส. ?

ในหลายประเทศขับเคลื่อนโดยใช้รัฐ บางที่ก็ใช้งานวิชาการนำไปสู่การพัฒนา ภาคประชาสังคมถูกแยกออกไป แต่สำหรับประเทศไทย มีองค์กรที่ทำงานกับคนได้ทั้ง 3 กลุ่ม หรือมีคนทำงานภาคประชาสังคมที่ทำให้ทั้งสามกลุ่มมามีส่วนร่วมกันพัฒนา นั่นคือ สสส.เราเหมือนอยู่ท่ามกลางเขาควาย ต้องทำให้สองฝั่งที่แทบไม่เคยเจอไม่เคยคุยกันเนี่ย มาเจอกันมาหาทางออก มาร่วมจัดการปัญหาต่าง ๆ ไปด้วยกัน ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นรัฐเอาแบบหนึ่ง ภาคประชาสังคมเอาแบบหนึ่ง นี่หน้าที่สำคัญของเราคือการเชื่อมประสานให้เกิดการทำงานแบบมีประสิทธิภาพในการพัฒนาสังคม

: ถ้าไม่สนใจข้างหลัง มองไปข้างหน้าภาคประชาสังคมไทยต้องพัฒนาตัวเองอย่างไร?

ภาคประชาสังคมไทยควรปรับตัวรองรับ และทำให้งานเกิดความยั่งยืน เพื่อจะได้ไม่ยึดติดกับแหล่งทุนมากขึ้น ยิ่งภาคประชาสังคมกลายเป็นผู้รับทุนมากเท่าไหร่ ความเป็นมืออาชีพของคุณก็จะยิ่งเปลี่ยนเพื่อให้ตอบกับพันธกิจของแหล่งทุนมากที่สุด กลายเป็นว่าสุดท้ายแล้วจะสับสนว่าทำงานกันเพื่อพันธกิจของแหล่งทุนหรือมุ่งหวังในการพัฒนาแบบที่ตั้งต้นมาหรือไม่ และอีกเรื่องสำคัญที่ภาคประชาสังคมต้องการมากสุดคือ “ผู้นำแถวสอง” เพราะอุดมคติ อุดมการณ์เป็น สิ่งส่งต่อลำบาก ด้วยสภาพสังคมในยุคสมัยต่างกัน ทำให้การทำงานแตกต่างกันออกไป ทั้งที่ปัญหาสังคมมันไม่เปลี่ยน แต่ถ้ายังใช้วิธีการทำงานแบบเดิม มันก็ยากจะเห็นผลสำเร็จ บางองค์กรมีแต่รุ่นพี่ทำงานไม่มีรุ่นน้องหรือรุ่นหลังเลย อันนี้น่าเป็นห่วง

: คนรุ่นใหม่หายไปจากงานภาคประชาสังคมหรือ ?

ทุกวันนี้มีวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ ๆ ไม่ได้อยู่ในกรอบเยอะนะ มันเป็นการเปิดกว้างให้คนเข้าถึงการทำงานภาคประชาสังคมได้ง่ายขึ้นเช่นกัน วันนี้คนรุ่นใหม่ทำงานด้วย “คุณค่า”(Value) ถึงแม้เรื่องพื้นฐานอย่างเงินเดือน สวัสดิการไม่ได้ดีไม่ได้มีเลย แต่ถ้าเขามองเห็นคุณค่าของตัวองค์กร มองเห็นประโยชน์ของสิ่งที่ตัวเองทำเขาก็จะไม่เกี่ยงงอน วันนี้ถ้ามีคนถามว่านักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่หายไปไหนในวงการงานพัฒนาสังคม หรือภาคประชาสังคม ผมว่าเขาไม่ได้หายไปไหนเขายังอยู่ แต่ปรับเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบ วิสาหกิจเพื่อสังคมบ้าง หรือไปเป็นสตร์าทอัพบ้าง รวมถึงบางกลุ่มไปร่วมกับภาคธุรกิจเลย ทำงานเรื่องจ้างงานผู้ต้องขัง เรื่องทำสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการ นี่ไม่ใช่เรื่องผิดแผกไปจากชุดความคิดทำงานเพื่อพัฒนาสังคมเลย เพียงแต่รูปแบบมันมีการเปลี่ยนแปลงไม่แข็งตัวมากขึ้น


: แล้วจุดอ่อนสำคัญเลย ของภาคประชาสังคม ?

งานข้อมูล ! จุดอ่อนที่สุดของภาคประชาสังคมไทยเลย ไม่เชื่อมโยงกันเอง บางเรื่องเป็นเรื่องเดียวกันในพื้นที่เดียวกันกลุ่มคนเดียวกันแต่ข้อมูลที่ได้รับมาต่างกัน การทับซ้อนในมุมมอง สสส.มี 3 มิติคือ กลุ่มประชากร พื้นที่ ประเด็น ซึ่งการแบ่งแบ่งปันข้อมูลกันในมิติทับซ้อนเป็นเรื่องไม่ค่อยเห็นเกิดขึ้น เราไม่ได้บอกว่าการทับซ้อนในการทำงานภาคประชาสังคมเป็นปัญหา แต่ปัญหาคือไม่ได้ใช้ ไม่ได้แชร์ ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดการจัดทำฐานข้อมูลร่วมกัน เพราะจริง ๆ แล้วในพื้นที่เดียวกันคนทำงานต่างกันก็ไม่แปลกหรอก แต่ควรเปลี่ยนจากซ้ำซ้อน เป็น “ซ้ำเสริม” คือซ้ำกันแล้วก็มาสนับสนุนส่งเสริมกันก็ได้ ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาในระดับผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องเกิดการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง มีพื้นที่กลางในการระดมความเห็น ระดมความร่วมมือในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเจอกันทั้งวงประชุมหรือออนไลน์ก็ได้

: อะไรที่ไม่ได้ถาม แล้วอยากบอก ?

ไม่ควรมอง สสส.เป็นต้นธารเรื่องทุนทำงาน เพราะต้นธารก็มีวันโดนทุบทิ้ง ภาคประชาสังคมไทยจำเป็นต้องมองหาแหล่งทุนทำงานรูปแบบอื่นด้วย เพราะบางครั้งการสนับสนุนอาจไม่ได้หมายถึงทรัพยากรเงินอย่างเดียว บางอย่างต้องการความร่วมมือกับธุรกิจ บางอย่างสนับสนุนแรงงาน แต่อุดมการณ์ยังจำเป็นสำหรับงานพัฒนาสังคม

เนื้อหาอื่นๆ

01 ตุลาคม 2022
27 มกราคม 2020
28 พฤศจิกายน 2019

Copyright © 2013 THETHAIACT