28 กุมภาพันธ์ 2020

เพราะอากาศเปลี่ยนแปลง

บทความร่วมประกวดสารคดี We are CSO ภาคประชาสังคม ใคร ๆ ก็เป็นได้

ตั้งแต่ผ่านกลางเดือนธันวาคม ชายหนุ่มก็รับรู้แล้วว่า ผลผลิตในปีนี้จะไม่เป็นไปอย่างที่หวัง อากาศที่ควรจะหนาวเย็นกว่านี้ กลับอบอุ่นผิดปกติ ความเย็นที่ควรทิ้งตัวอยู่ในสวนอย่างอ้อยอิ่งให้ดอก ต้นและใบได้ซึมซับ กลับผ่านมาและผ่านไปรวดเร็วเสียยิ่งกว่าสายลม ล่วงเข้าเดือนกุมพาพันธ์แล้ว ดอกที่ออกมาน้อยนิด เจริญไปเป็นผลไม้จำนวนนิดหน่อยเช่นกัน ภาพของสวนในตอนนี้ที่ควรจะดกรกครึ้มไปด้วยสีของผลไม้ ไม่ใช่เพียงของประดับตกแต่งเรือนยอดกิ่งใบในสภาพที่เป็นอยู่นี้

สวนออร์แกนิค คำพ่วงท้ายอันเป็นจุดขาย และวิถีชีวิตเป็นใบเบิกทางของการสร้างรายได้ และจุดยืนที่อยากให้พ่อแม่ ลูกและภรรยาได้ใช้ชีวิตอยู่ในที่ที่อากาศดี อาหารดี ที่พักสงบ เท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับชีวิตที่งอกเงยอย่างงดงาม คำสั่งซื้อล่วงหน้าที่เคยให้บริการอย่างดี ถึงตอนนี้ต้องปฏิเสธไปด้วยความเสียดาย ไม่ใช่เสียดายในเรื่องรายได้เงินทอง แต่เป็นเสียดายที่ไม่ได้ส่งมอบผลไม้ดี ๆ สู่ผู้รับ ซึ่งโดยมากก็เป็นคนรู้จักมักคุ้นบอกปากต่อปาก และเข้าใจดีว่าผลผลิตที่สวนแห่งนี้ ปลูกแบบธรรมชาติ แม้ลูกค้าจะไม่ได้รับผลไม้ในปีนี้ พวกเขาก็เข้าใจดีถึงสถานการณ์ และยังส่งกำลังใจมาให้อีกด้วย

ผลมังคุดที่ยังไม่โตเต็มที่ ถูกฝนหลงฤดูพัดผ่าน ร่วงหล่นเสียหาย

อย่างไรก็ตาม ภาพที่เปลี่ยนไปตรงหน้าก็ยังชัดเจนอยู่ดี ผลผลิตที่เคยนับได้สิบกว่าตันเป็นปกติ ปีนี้ทั้งสวนรวมแล้วยังไม่ถึงตันเดียวด้วยซ้ำ เป็นคนอื่นอาจต้องเครียดกับการขาดทุน แต่สำหรับชายหนุ่มแล้ว วิถีธรรมชาติดูแลธรรมชาติ ก็ลดต้นทุนได้มาก ราคาที่ขายได้สูงในตลาดพรีเมี่ยมก็จุนเจือส่วนนี้ไปได้บ้าง สิ่งที่ขาดไปคือ ขาดทุนในส่วนของกำไรที่ควรจะได้มากกว่า

นึกย้อนไปถึงปลายปีที่ผ่านมา ช่วงสำคัญของการติดดอกผลไม้ ช่องทางออนไลน์เกี่ยวกับสภาพอากาศ จะต้องเปิดดูแทบจะทุกชั่วโมง กลุ่มเพื่อนเกษตรที่กระจายกันอยู่ ทั้งในจังหวัดและภูมิภาคอื่น แลกเปลี่ยนข้อมูลอากาศกันทุกวัน บ้างมีอุปกรณ์วัดแบบไฟฟ้า บ้างก็มีแท่งปรอทบอกระดับ แต่โดยมาก จะให้ความทรงจำภูมิปัญญาและประสาทสัมผัส ก่อนแบ่งปันข้อมูล สิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่หายนะที่กำลังมา แต่คือการไม่รู้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นต่างหาก ข้อมูลที่มีอยู่และหาได้ไม่ตอบโจทย์มากนัก กับพื้นที่ขนาดเล็กอย่างที่เขามี

บางช่วงบางขณะ เหมือนจะคาดการณ์ได้ว่า พื้นที่ตอนบนของประเทศเจออากาศอย่างไร หรือสามารนับวันได้เลยว่าจะลม ฝน แดด จะมาถึงสวนแห่งนี้ภายในเวลากี่วัน ไม่กี่ปีมานี้ ต่อให้ทราบประกาศ ว่าจะเย็นลงในตัวจังหวัดที่เขาอยู่ เมื่อถึงเวลานั้นจริง ๆ อากาศจะเป็นอย่างไรก็ได้ กระทั่งมี 3 ฤดูกาลในหนึ่งวัน ช่วงเช้าอากาศเย็นความชื้นสูง กลางวันและบ่ายร้อน ตกเย็นฝนพรำช๊อคต้นไม้

สัญชาตญาณการเอาชีวิตรอดของพืช ทางหนึ่งเมื่อรู้ว่าตัวจะตาย ก็พยายามออกดอกออกผลสืบวงศ์ของตนให้มากที่สุด ความเครียดที่สะสมอยู่ในลำต้น จำต้องดึงสารอาหารซึ่งคือพลังชีวิตออกไปจนหมดก่อนจะตาย เกษตรกรเข้าใจหลักนี้ดี การบำรุงสารอาหารให้มากเพียงพอ ก่อนจะทิ้งช่วงน้ำให้เกิดความเครียด แต่อากาศก็ต้องเป็นใจ ซึ่งจะตรงกับรอบฤดูกาลพอดิบพอดี ผลไม้จึงเอาสารอาหารจำนวนมากมาสร้างดอกผล และกลับสู่การดำรงชีวิตต่อได้ อีกทางหนึ่งที่ชาวสวนกำลังประสบอยู่ขณะนี้ คือฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปของสภาพอากาศ

ฝนหลงฤดูตกกระหน่ำแล้วผ่านไป ไม่เห็นใจชาวสวนที่ปั้นแต่งมานาน ต้นไม้จึงไม่เข้าสู่ช่วงความเครียดที่มากเพียงพอ เหมือนการที่รู้ว่ามันยังไม่ตาย ก็ไม่จำเป็นต้องออกผลและเก็บสารอาหารไว้เลี้ยงตัวเองต่อไป การสังเกตลมฟ้าอากาศที่พ่อแม่ปู่ย่าเคยสอนไว้ ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นน้อยลงไปทุกที เครื่องมือบางอย่างเริ่มใช้ไม่ได้กับสถานการณ์เปลี่ยนไป ก็เป็นปกติ ที่จะหันไปลองใช้ทางเลือกอื่น ๆ สถานการณ์ของภูมิปัญญาการสังเกตธรรมชาติก็เช่นกัน เมื่อลมไม่ได้พัดทางเดิมในฤดูกาลเดิมอีกต่อไป เมื่อลักษณะของลมไม่ได้ทำให้ใบไม้กิ่งไม้โน้มเอียงอย่างเดิม แต่มีอาการเหมือนคนไม่พอใจและลุกลี้ลุกลนตลอดเวลา บทจะพัดแรงก็มาวูบเดียวแบบจะถอนโคน บทจะเบาบางก็เงียบเชียบ จนเหมือนไม่มีแม้อากาศ บทฝนจะตกก็ตกแบบเทคว่ำถัง บทจะร้อนก็ร้อนขาดใจ อากาศเป็นอะไรไปแล้ว

นึกมาถึงเรื่องธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนตลอดเวลาเป็นสัจธรรมแล้วนั้น ก็ชวนให้นึกไปถึงความสัมพันธ์กับคนที่ปลูกผลไม้ด้วยกัน เมืองผลไม้แห่งนี้ มีเกษตรกรที่ตื่นตัวจำนวนมาก และตื่นเต้นกับเทคโนโลยีการเพาะปลูกใหม่ ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกได้อย่างดี ไปจนถึงขั้น “สั่งได้” ตามใจปราถนา โอกาสที่ได้พบปะครั้งหนึ่ง มีการถกเถียงพูดคุยกันถึงแนวทางและจุดยืนของการปลูก อย่างไรเสีย แม้จะรู้สึกขัดต่อความเชื่อเรื่องธรรมชาติที่มีวิถีทางของมัน นั่นคือความเปลี่ยนแปลง แต่ก็อดไม่ได้ที่จะชื่นชมในฝีมือและความเข้าใจต่อผลไม้ จนสามารถดัดแปลงและสั่งได้จริง ๆ

เสียงนาฬิกาเตือนถึงชั่วโมงใหม่ที่เพิ่งจะมาถึง ดึงสติชายหนุ่มกลับมาจากห้วงคำนึง ถึงเวลาทำกิจวัตรต่อแล้ว เขาลุกขึ้นโดยไม่ลืมหยิบมือถือสมาร์ทโฟนไปด้วย ไม่ไกลเกินเหนื่อยก็มาถึงจุดเริ่มต้นของภารกิจประจำวัน ระดับปรอทสีแดงในหลอดแก้ว ที่ห้อยอยู่ใต้ต้นผลไม้ต้นหนึ่ง เหนือขึ้นไปเป็นป้ายหมายเลขและแถบแสดง QR Code เขายกโทรศัพท์ขึ้นสแกน ระบบอัตโนมัติเชื่อมต่อเข้ากับหน้าบันทึกข้อมูลตามต้นผลไม้หมายเลขนั้น ก่อนใส่เลขอุณหภูมิ-ความชื้น วัน-เวลา ตรวจดูสถานะการให้ปุ๋ย ที่ให้ไว้แสดงผลทางดอกใบหรือยัง แผลที่ลำต้นป้ายยาสูตรคิดค้นเองไปแล้ว แผลดีขึ้นหรือไม่ ชายหนุ่มใส่ข้อมูลลงไป และทำอย่างนี้ตลอดทั้งบ่าย

เย็นย่ำค่ำลงที่สวน ณ แคร่ตัวเดิม มุมประจำจนภรรยาตั้งชื่อให้ว่า “มุมหากิน” เพราะถ่ายรูปขึ้น และใช้เวลาประชุมติดต่อลูกค้าบนแคร่ตัวนี้ ในช่วงเวลาของการใคร่ครวญขบคิด ไลน์กลุ่มแจ้งเตือนบทสนทนาถึงสถานการณ์ผลผลิตออกน้อยจนน่าตกใจ แต่ที่ตกใจยิ่งกว่า คือข่าวคราวจากกลุ่มผู้ที่บอกว่า “สั่งได้” ก่อนหน้านี้ ได้มีการแบ่งการทดลองการบำรุงดูแลผลไม้หลากหลายแบบ ให้เครือข่ายแบ่งกันทดลองใช้ คนละวิธีสองวิธี เป็นการทดลองกระจายความเสี่ยง และค้นหาวิธีการที่รับมือได้ เครือข่ายนี้เข้มแข็ง จนเป็นที่ยอมรับทั้งส่วนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และตั้งตัวไม่รับการสนับสนุน แต่ละคนในกลุ่มจะจดบันทึกและใช้เครื่องมือที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด ผลปรากฏว่าทุกสวนได้ผลผลิตเทียบผลการทดลอง 50/50 หรือพูดอีกอย่างก็คือวิธีไหนก็ไม่ต่างกัน ใจหนึ่งก็รู้สึกว่า ได้เห็นการพลาดท่าเสียที แต่อีกความคิดหนึ่งสะท้อนความจริงยิ่งกว่า ขนาดกลุ่มที่เก่งและใช้สารเคมีใช้เครื่องมือทันสมัย ยังรับมือไม่ได้ “อากาศเปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ”

ได้ยินมาว่า หลายคนสั่งซื้อสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติ มาติดตั้งในสวน เห็นบอกว่าคนขายโฆษณาว่า มันช่วยดูอากาศกับพยากรณ์อากาศได้ มีทั้งแบบราคาแพง มีทั้งแบบจากโครงการของรัฐฯ หลายอันก็ดูดี แต่หลายอันก็เหมือนไม่ค่อยดี ชายหนุ่มเองคิดอยากจะติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้เหมือนกัน แต่คงต่างจุดประสงค์ แท้จริงแล้วต้องการใช้เป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างอากาศในสวน กับคุณภาพผลผลิต แต่ถ้ามีอุปกรณ์มาติดตั้งในสวน แล้วสามารถพยากรณ์อากาศได้จริง คงมีคนบอกปากต่อปากไปแล้ว เขาเองก็ได้แต่สงสัย มันจะทำได้อย่างไรกันนะ…

"ได้ยินข่าวผลไม้ภาคตะวันออกปีนี้แย่หนัก ผลผลิตแทบไม่ออก คนที่เคยรู้จักจะเป็นอย่างไรบ้างนะ"

หญิงสาวคิด ขณะอ่านข่าวบนโลกออนไลน์ ผลไม้ภาคเหนือบ้านเกิดเธอเองก็ไม่ต่างกัน คำว่า “โลกร้อน” คงเป็นแบบนี้เอง ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา จนถึงต้นปีนี่ก็แทบจะหมดช่วงฤดูหนาวของไทยไปแล้ว อากาศยังไม่ค่อยเย็นเลย จะมีก็แต่บนยอดดอย ที่เย็นเป็นปกติอยู่แล้ว ไม้เมืองหนาวบางชนิดก็ชอบบางชนิดก็ไม่ชอบ หรือจริง ๆ แล้วไม่เกี่ยวกับพืชพรรณ แต่เป็นคนเรานี่แหละที่ชอบและไม่ชอบ

สวนผลไม้ของเธอเหมือนจะได้รับผลกระทบน้อย เพราะคนทั่วไปเข้าใจว่า ไม้ผลชนิดนี้ทนต่อสภาพแวดล้อมและให้ผลผลิตเสมอ กระนั้นช่วงที่กำลังจะออกดอก ก้านดอกที่ควรจะออกดอกเป็นพุ่ม ๆ กลับยืดยาวกว่า 70 เซ็นติเมตร และเกือบจะไม่ติดเป็นผล ก็ผิดปกติเป็นอย่างยิ่ง ถึงขั้นคนเฒ่าคนแก่ออกปากว่า เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็นก้านดอกยาวขนาดนั้น ใช้แทนไม้เรียวได้เลย

ภูมิประเทศเทือกเขาสลับซับซ้อนแบบนี้ ยากจะบอกว่าอากาศจะเป็นอย่างไร ฟังพยากรณ์อากาศแล้วก็บอกเพียงภาพกว้าง ๆไม่ค่อยตรงกับพื้นที่จริงเท่าไหร่นัก ยิ่งหุบเขายิ่งไม่ต้องพูดถึง มีเขาทั้งลูกเป็นแนวบังลมบังแสง อากาศจะให้เหมือนกับสถานีตรวจวัดที่ติดตั้งอยู่ในเมืองได้อย่างไร ไม่เหมือนกับพืชไร่ ที่ทนแล้งได้หนัก ไม่ใช้น้ำเยอะ บางทีก็แทบจะไม่สะทกสะท้านกับอากาศเลยด้วยซ้ำ เกษตรกรไม้ผลอย่างเธอ คงต้องทำใจยอมรับชะตากรรมต่อไป…

"ปีนี้แล้งหนักกว่าทุกปี คำโฆษณาที่บอกว่าพืชไร่สายพันธุ์นี้ ปรับปรุงมาให้ทนโรคทนแล้ง จริงอย่างที่เขาบอกไว้ ถ้าใช้สายพันธุ์อื่นอาจจะหมดหวังไปนานแล้ว"

ชายสูงวัยคำนึง ขณะทอดสายตามองพื้นที่เพาะปลูกสุดลูกหูลูกตาตรงหน้า ได้แต่หวังว่า อีกสองสัปดาห์ข้างหน้าฝนจะตกมาอย่างที่ข่าวพยากรณ์เอาไว้ พันธุ์ที่ซื้อมาทนแล้งอย่างที่สุด เพราะขนาดขาดน้ำมานานถึงตอนนี้ ยังสามารถยืนหยัดสู้ลมสู้แดดอยู่ได้ สะท้อนให้เห็นว่า คนเราก็ยังต้องสู้ต่อไป ได้แต่อธิษฐาน ได้แต่ภาวน ว่าฝนจะมาจริง ๆ ถึงจะไม่ตกใส่พื้นที่ตรง ๆ ก็ขอให้ตกใส่หัวไร่ปลายนา ตกใส่อ่างเก็บน้ำที่พอจะผันเข้ามาได้บ้าง ปีที่แล้วก็หนักหน่อย แทบจะไม่มีใครเตือนเลยว่ามันจะมาทางไหน

หางพายุจากต่างประเทศ พัดพามาตกใส่ครึ่งค่อนจังหวัด แต่แทนที่จะเก็บน้ำได้ทัน มันก็ดันตกใส่ท้ายคุ้งน้ำ ไม่ทันจะเตรียมตัวมันก็ไหลไปทางอื่นหมดแล้ว ฟังข่าวอีกที ก็ไปท่วมจังหวัดอื่นและไม่ทันถึงสองสัปดาห์ พื้นที่ที่รับน้ำฝนแรกก็ยังคงแล้งดังเดิม ได้แต่คิดรำพึงถึงหนี้สินภาระที่ต้องแบกรับ ไหนเลยจะไปถึงเรื่อง “การตลาด” อะไรก็ไม่รู้ที่มีแต่หน่วยงานมาสอน แต่ก็ทำไม่เป็น ขอแค่ให้มีน้ำมาหล่อเลี้ยงตรงหน้า ก็ยังมองไม่เห็นหนทาง ว่าคนสู้แล้ว ว่าพืชสู้แล้ว จะสู้กับเทพท้องฟ้าได้อย่างไรกัน...

เราเป็นเอกชน                ที่ทำงานกับเอกชน                      ที่ทำงานกับประชาชน

เราเป็นเอกชน                ที่ทำงานกับประชาชน                  ที่ทำงานกับเอกชน

เราเป็นประชาชน            ที่ทำงานกับประชาชน                  ที่ทำงานกับภาครัฐ

เราเป็นประชาชน            ที่ทำงานกับประชาชน                  ที่ทำงานกับเอกชน

เราเป็นประชาชน            ที่ทำงานกับเอกชน                      ที่ทำงานกับภาครัฐ

เราเป็นหนึ่งหน่วยในสังคม ที่อยู่ภายใต้รูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคม ที่กำลังขับเคลื่อนไป

เราจึงไม่ใช่คนที่สร้างคุณค่าหน้างานจริง ๆ

เราจึงได้มีโอกาสทำงานร่วมกับหลากหลายภาคส่วน และหลากหลายหน่วยงาน

เราจึงดูไม่เหมือนภาคประชาชน ที่ลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง

แต่เราเป็นหนึ่งในนักเดินทาง ที่ได้พบปะแลกเปลี่ยนและสนับสนุนการสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้น

หากจะเปรียบตัวเองก็คงเหมือนแกนดัล์ฟในวรรณกรรมลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ ที่คอยสนับสนุนให้เหล่าผู้กล้า ได้สร้างความเปลี่ยนแปลง หรือหากเปรียบในแบบไทย ๆ เราคงไม่ใช่ผู้สร้างองค์พระปฏิมา ไม่ใช่ผู้ปิดทองหน้าพระ ไม่ใช่ผู้ปิดทองหลังพระ อย่างหลาย ๆ คนที่เราได้เล่าถึง ซึ่งก็คือผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง หน้าที่ของเรา คงเป็นผู้ที่เห็นถึงพลังขององค์พระปฏิมาที่มีต่อผู้คน ที่ก่อให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจกันสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เราจึงเป็นผู้แสวงหาพลังเหล่านี้ แสวงหาแผ่นทอง และสนับสนุนให้แผ่นทองนั้น ให้ไปปิดลงบนองค์พระ ไม่ว่าจะปิดดานหน้า-ด้านหลัง-ด้านซ้าย-ด้านขวา แม้แต่ด้านล่างที่ไม่มีใครเห็น เมื่อองค์พระดูเข้าใกล้ความสมบูรณ์แล้วใคร ๆ อาจเห็นว่านี่คือความศักดิ์สิทธิ์ แต่เรากลับเห็นว่าพลังการลงมือทำของภาคประชาชนนั้น ถือได้ว่าเป็นปาฏิหารย์ และศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริง

เหตุการณ์ที่เล่าไปข้างต้น เป็นการเล่าผ่านมุมมองจากบุคคลจริง ที่กำลังประสบปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ไม้ผลเศรษฐกิจจังหวัดจันทบุรี ไม้ผลภาคตะวันออก ไม้ผลจังหวัดเชียงใหม่ และนาข้าวภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบ ผลผลิตไม่ออกตามฤดูกาล ไม่ได้คุณภาพ และสูญเสียผลผลิตจากความแปรปรวนที่เกิดขึ้น สิ่งที่พวกเราทำตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา แม้จะยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน แต่เรากำลังเติมรากฐานของการป้องกัน และแก้ไขปัญหาให้มั่นคง

เป็นไปไม่ได้ ที่จะไม่เล่าข้อมูลเชิงลึก หากจะทำความเข้าใจปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ จึงจะขอเริ่มทีละประเด็น เพื่อทำความเข้าใจจากภาพกว้าง สู่ภาพที่เล็กลง และแสดงปัญหาออกมาเป็นเหตุการณ์ที่เราพบเจอ งานของเราคือการทำความเข้าใจสภาพอากาศ สร้างระบบตรวจวัด และส่งมอบข้อมูลสภาพอากาศให้กับผู้คน แต่ก่อนอื่นเรื่องแรกที่จะต้องขอให้ระลึกไว้เสมอว่า “อากาศคือของไหล” ไหลตัวได้ ฟุ้งกระจายได้ ผสมกันได้ และข้อสองคือ “ปรากฏการณ์ท้องฟ้าทั้งหมดที่เรารู้จักในชีวิตเกิดจากพลังงาน”

ภาพกว้างภาพแรก ที่อยากให้เห็นตรงกันคือ โลกมีชั้นบรรยากาศห่อหุ้ม จริง ๆ คือแก๊สถูกดึงดูดไว้ด้วยแรงโน้มถ่วง พื้นผิวของโลกได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ โลกของเราเอียงและหมุนรอบตัวเองเป็นเวลา 24 ชั่วโมง โคจร 1 รอบเป็นเวลา 365 วัน บวกเศษนิดหน่อย ทีนี้ทุกคนน่าจะมีภาพคุ้นตาในสมองแล้ว ว่ามีลูกกลม ๆ ฟ้า ๆ หมุนรอบตัวเองแบบเอียง ๆ และวิ่งรอบลูกกลม ๆ ส้ม ๆ ลงลึกไปอีกขั้นหนึ่ง เวลาที่โลกฝั่งไหนหันเข้าหาดวงอาทิตย์ ฝั่งนั้นก็จะร้อนกว่าเหมือนเราย่างหมูกระทะแล้วลืมพลิกกลับนั่นแหละ ฝั่งที่อยู่นานก็จะร้อนจนไหม้ หากแบ่งการโคจรออกแป็น 4 มุมง่าย ๆ ช่วงเวลาประมาณ 3 เดือนก็จะมีมุมด้านหนึ่งของผิวโลก ร้อนกว่าปกติ และอีกด้านเย็นกว่าปกติ ภาษาชาวบ้านเรียก ฤดูหนาว กับฤดูร้อน

แต่โลกไม่ใช่หมูบนกระทะ อากาศที่ร้อนและเย็นจากพื้นที่หนึ่ง จะไหลตัวผสมกันไป-มาตลอดเวลา สมมติเราเปิดก๊อกน้ำร้อน กับก๊อกน้ำเย็นจากคนละด้านลงอ่างอาบน้ำพร้อมกัน การผสมกันต้องใช้เวลา กว่าอุณหภูมิน้ำจะสมดุลกัน อากาศของโลกเราก็เช่นกัน เพียงแต่ว่าโลกไม่หยุดหมุน และไม่หยุดวิ่งรอบกระทะไฟแดงกลม ๆ สีส้ม มันจึงไม่ทันเข้าจุดสมดุล และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

จากประวัติศาสตร์ของสภาพอากาศ เราเพิ่งเข้าสู่ยุคแห้งแล้งระยะแรกเท่านั้น ประมาณ 500 ปีที่ผ่านมา หลายคนคงคิดว่า นี่ขนาดแล้งแห้งนะเนี่ย ยังท่วมได้ขนาดนี้ มีบันทึกและการขุดค้นว่า เคยมีเมฆปกคลุมท้องฟ้าทั่วโลก และมีฝนตกต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายร้อยปี และสลับกับช่วงที่แห้งแล้ง ติดต่อกันกว่าร้อยปีเช่นเดียวกัน ช่วงนั้นตรงกับการล่มสลายของอารยธรรมแรก ๆ ของมนุษย์ และเช่นกัน บรรยากาศของโลก ไม่เคยร้อนมากขนาดนี้มาก่อนจากการปล่อยแก๊สที่ทำให้ชั้นบรรยากาศโลกเก็บความร้อนดีขึ้น และนี่คือเรื่องที่ต้องระลึกถึงเป็นข้อที่สามและสี่นั่นคือ “ภูมิประเทศมีผลต่อสภาพอากาศ” และ “กิจกรรมของมนุษย์ส่งผลต่อสภาพอากาศ”

เรื่องนี้เกี่ยวอย่างไร ? กลับมาที่เรื่องบรรยากาศโลก และลึกลงมาที่ประเทศไทย ฤดูกาลของไทยจะมีฤดูฝน ฤดูร้อน และฤดูหนาว แน่นอนว่าเราจะนึกถึงฝน 8 แดด 4 ของภาคใต้ นั่นเพราะภูมิศาสตร์ของภาคใต้มีทะเลล้อมรอบ และประเทศของเราอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร เส้นที่เกือบจะขนานกับแนวรับแสงอาทิตย์ หรือพูดอีกอย่างคือ ได้รับพลังงานเยอะสุด นึกถึงหมูกระทะ(อีกแล้ว) ที่เราอยู่ใกล้จุดที่ร้อนที่สุด ร้อนแล้วไง??? พลังงานที่มาก จะทำให้น้ำทะเลโดยรอบระเหยได้มาก ไอน้ำในอากาศมากมีแนวโน้มที่จะมีเมฆมาก เมฆจำนวนมากมีแนวโน้มที่จะเกิดเมฆฝน และเมฆฝนจำนวนมากมีแนวโน้มที่ฝนจะตกมาก

ฤดูกาลของไทยเรา จะคุ้นเคยตามช่วงเดือนต่าง ๆ ย้อนกลับไปอีกนิดคือ โลกหมุนไปอยู่ ณ ตำแหน่งที่ต่างกัน มุมที่เราหันรับแสงมากช่วงนั้น บ้านเราจะร้อน ช่วงที่หันออกจากแสงมากช่วงนั้นบ้านเราจะหนาว และช่วงที่เปลี่ยนผ่านนี้เอง จะเป็นช่วงแลกเปลี่ยนพลังงานของอากาศที่ไหลไป-มา กล่าวคือ อากาศเหนือประเทศข้างเคียงของเรา ทวีปของเรา และการปะทะกันของอากาศที่ต่างกัน มักจะเกิดเป็นแนวฝนหรือพายุฝน

ลงลึกเข้ามาอีกหน่อย ลองนึกภาพคุณยืนอยู่ในสวนผลไม้หนาทึบ สวนยางที่ร่มเงามิดชิด หรือชายป่าที่เคยไปเที่ยว กับบรรยากาศลานจอดรถคอนกรีตกลางแจ้งตอนฤดูร้อนดู อากาศพื้นที่ไหนจะร้อนกว่ากัน(เปรียบเทียบแบบสุดโต่ง) หรือการยืนใต้ร่มไม้ กับยืนตากแดดนอกร่มไม้ อันไหนร้อนกว่าอัน(อันนี้ก็ชัดเจนเหมือนกัน) สรุปก็คือ การใช้พื้นที่ของมนุษย์ ส่งผลต่อสภาพอากาศ หากมีป่าหรือพื้นที่สีเขียวที่มีศักยภาพ กักเก็บน้ำในดิน และมีร่มเงาทำให้น้ำผิวดินระเหยช้าลง สภาพอากาศบริเวณนั้น จะเย็นลงตามไปด้วย แต่หากเป็นพื้นที่เมืองใหญ่ พื้นผิวส่วนมากเป็นคอนกรีต ลาดยาง กระจก สภาพอากาศโดยรวมจะร้อนกว่าปกติ

นำภาพมาประกอบรวมกันครับ เมื่อเมืองเจริญมากยิ่งขึ้น พื้นที่สีเขียวลดน้อยลง เมื่อการเกษตรเป็นเชิงเดียว และระบบนิเวศน์ลดความสมบูรณ์ รวมไปถึงการเผาไหม้ของเครื่องยนต์จำนวนมหาศาล การผลิตในอุตสาหกรรม การเผาป่า หรือพื้นที่เพาะปลูก ยิ่งส่งเสริมให้สภาพอากาศเหนือประเทศไทย มีความร้อนสะสมสูงขึ้น และแนวโน้มของอุณหภูมิประเทศไทยและต่างประเทศ มีแต่จะเพิ่มมากยิ่งขึ้น สภาพอากาศโดยรวมของโลกที่ร้อนขึ้น ส่งผลให้กลไกที่เคยเกิดเป็นปกติหรือ “ฤดูกาล”ปกติ เปลี่ยนแปลงไป

เนื้อหาการเดินทาง และแนวคิดของเราในเว็บไซต์ medium.com/discovery

อากาศเย็นที่เคยแผ่ลงมาจากประเทศจีน เคยมีกำลังแรงขนาดใหญ่ ความหนาแน่นสูง พัดพาเอาความเย็นมาให้เรา แล้วก็อ่อนกำลังลง เมื่อไม่มีกำลังมากเพียงพอ การเดินทางกว่าจะมาถึงประเทศไทย “อากาศเย็น” หรือ “หน้าหนาว” จึงเกิดขึ้นที่ไทยน้อยลงไปทุกปี นี่จึงเป็นคำตอบของสภาพอากาศ อากาศที่เคยเย็นติดต่อกันกว่า 4 สัปดาห์ ตรงกับช่วงที่ชาวสวนผลไม้รู้ดีว่า ต้องเร่งความเครียดให้เกิดขึ้น แต่ความเย็นที่อ่อนล้ามาถึงเพียงชั่วเวลาสั้น ๆ แล้วหายไป เกิดฝนหลงฤดูจากมวลอากาศที่เคยมีขนาดใหญ่กลับเล็กลง เคลื่อนตัวแบบกระจัดกระจาย

ผลกระทบเกิดขึ้นกับภาคการเกษตรของไทย เริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้นในระยะ 5 ปีหลังมานี้ พื้นที่เพาะปลูกไม้ผลมากขึ้น(จากราคา จากระแสการส่งออก) แต่ผลผลิตต่อไร่กับลดลง ผลักให้เกษตรกรหลายรายไม่มีทางเลือก ต้องใช้สารเคมีมากขึ้น ผลกระทบตีกลับมาอีกครั้ง เมื่อการนำเข้าของต่างประเทศตรวจคัดกรองมากขึ้น สินค้าถูกส่งกลับและขายไม่ออกเป็นจำนวนมาก

แล้วเราทำอะไร?

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เรากำลังพัฒนาระบบข้อมูลสภาพอากาศแม่นยำระดับท้องถิ่น ส่งมอบข้อมูลสภาพอากาศที่แม่นยำเชิงพื้นที่และเวลา คำพูดดูดีของเราคือ ส่งข้อมูลที่ ถูกต้อง ถูกคน ถูกที่ ถูกเวลา และทันเวลา เพื่อการปรับตัวทางการเกษตรที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก จากที่ได้เล่าไปแล้ว สภาพอากาศของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป ประเด็นของเราอยู่ที่ เราจะตรวจจับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างไร

โดยตัวเนื้องานแล้ว อาจฟังดูเหมือนการเข้าแทรกแซง และทดแทนงานของกรมอุตุนิยมวิทยา แต่เปล่าครับ จากการศึกษาข้อมูล การเดินทางลงพื้นที่ พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ ที่ทำงานด้านสภาพอากาศ ทั้งระดับท้องถิ่นจนถึงนักวิจัยสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าเรากำลังทำในส่วนที่ลงรายละเอียดมากขึ้น และต่อยอดการทำงานด้านสภาพอากาศเฉพาะด้าน

คำยอดฮิตติดหู “วันนี้จะมีฝน 20% ของพื้นที่” “มีฝน 30% ของภาคอีสาน” คำถามที่เราไม่คาดหวังคำตอบคือ แล้ว 20% นั้นเป็นที่บ้านของเรา สวนของเราหรือเปล่า?

การไม่รู้ว่าสภาพอากาศกำลังจะเป็นอย่างไรต่อไป ถ้าใครไม่ได้กำลังเพาะปลูกและมีหนี้บ้าน หนี้รถ หรือกำลังส่งลูกเรียนอาจจะไม่เข้าใจถึงความสำคัญ และรู้ซึ้งถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อผลผลิตที่ปั้นมากับมือ พังทลายลงต่อหน้าต่อตา เพราะไม่รู้ว่าจะวางแผนจัดการอย่างไรดี หลายครั้งเราพบว่าเกษตรกรขอเพียงรู้ล่วงหน้าครึ่งชั่วโมง ก็ลดความเสียหายได้บ้าง ดีกว่าทำอะไรไม่ได้เลย

พวกเราลงพื้นที่พูดคุย ในแบบของคนที่ “ฟัง” และทั้ง “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” และได้ “ลองเป็นเขา” ดูสักครั้งสองครั้ง ปัญหาโซ่ข้อกลางที่ขาดไป หรืออาจไม่ได้มีตั้งแต่แรก คือ เกษตรกรต้องการข้อมูลสภาพอากาศตรงสวนของเขาจริง ๆ อยากรู้ว่าอากาศแบบไหนกำลังจะเกิดขึ้น และกำลังจะเข้ามา จะเกิดขึ้นเวลาใด รุนแรงเท่าใด เป็นไปได้แนะนำวิธีการรับมือด้วยยิ่งดี

อีกด้านหนึ่ง องค์ความรู้ด้านอุตุนิยมวิทยาที่สั่งสมกันมาของมนุษยชาติ ได้บอกเราเป็นนัยว่ายิ่งเทคโนโลยีดีขึ้น รวดเร็วยิ่งขึ้น ถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น กระจายตัวครอบคลุมมากขึ้น สื่อสารกันได้ดีมากขึ้น และประมวลผลได้ดีมากขึ้นเท่าไหร่ เรายิ่งเข้าใกล้การปรับตัวอย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้นเท่านั้น หรือให้พูดอีกอย่างก็คือ เทคโนโลยีและเครื่องมือใหม่ ๆ สามารถเสริมพลังให้กับงานด้านอุตุนิยมวิทยาได้มากขึ้นเท่านั้น และงานอุตุนิยมวิทยาซึ่งเป็นงานสาย “สนับสนุน” ก็ยังส่งเสริมให้การดำเนินงานอื่น ๆ มีประสิทธิผลมากขึ้น

ร่วมแลกเปลี่ยน และระดมความต้องการข้อมูล เพื่อการตัดสินใจทางการเกษตรของเกษตรกรนาข้าว จังหวัดยโสธร

แต่ด้วยเป็นเรื่องของ “สภาพอากาศ” การจะพยากรณ์อากาศในพื้นที่ที่เล็กลง จะต้องอาศัยข้อมูลหลากรูปแบบ และความเข้าใจการทำงานประสานกัน องค์รวมของข้อมูลมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ที่มีศักยภาพและทรัพยากรมากเพียงพอ คือกรมอุตุนิยมวิทยา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดูเหมือนจะมีเป้าหมายที่จะไปให้ถึงการพยากรณ์ระดับตำบล แต่ทว่า สภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ก็ก้าวล้ำนำหน้าการพัฒนาอยู่เสมอ

เมื่อฝั่งที่มีเครื่องไม้เครื่องมือ กำลังคน และงบประมาณมีมาก ก็เหมือนคนที่ตัวใหญ่มากเกินกว่าจะขยับตัว หรือขยับตัวช้าเกินไป ความคล่องตัวของพวกเรา ก็ลงถึงพื้นที่และเป็นแนวหน้าในการทดสอบสมมติฐาน ทั้งของพวกเราเอง และสมมติฐานอื่น ๆ ที่หลายคนได้แต่ตั้งคำถาม พวกเราจึงพัฒนาระบบตรวจวัดสภาพอากาศแบบองค์รวมระดับท้องถิ่น โดยมีส่วนของสถานีตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติ ใช้อุปกรณ์มาตรฐานเดียวกับกรมอุตุนิยมวิทยาและระดับสากล ออกแบบและติดตั้งในพื้นที่ ที่มีความสามารถเป็นตัวแทนของสภาพอากาศระดับท้องถิ่น รัศมี 15-20 ตารางกิโลเมตร ส่งสัญญาณการตรวจวัดทุก 15 วินาที เพื่อบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงขนาดเล็ก ระบบประมวลผลข้อมูลหลากมิติขั้นสูงโดยแพลตฟอร์ม ใช้โมเดลการคำนวณเดียวกับกรมอุตุฯ และใช้มากกว่า 1 โมเดล เพื่อทดสอบว่าโมเดลไหนดี และตรงกับเหตุการณ์จริงที่สุด

ขอเล่าถึง “ข้อมูลหลากมิติขั้นสูง” สักนิดหนึ่ง ประเทศไทยเรา มีหน่วยงานใหญ่หน่วยเดียวที่ทำงานด้านสภาพอากาศ ซึ่งสื่อหรือข้อมูลที่เปิดเผยออกมามีหลายรูปแบบ ประเด็นแรกคือ รูปแบบของไฟล์ มีตั้งแต่ JPEG, DOC, EXEL, PDF, GIF ฯลฯ ซึ่งแต่ละไฟล์มีข้อมูลต่างชนิดกัน ภาพถ่ายดาวเทียม แสดงความหนาแน่นของเมฆ โดยมีขนาดของภาพที่กว้างมากเสียจน 1 พิกเซลในภาพที่ขยายออกมา มีขนาดใหญ่กว่า 1 อำเภอจ ะมีการอัพเดททุก 3 ชั่วโมง ไฟล์ข้อมูลจากสถานีตรวจสภาพอากาศอัตโนมัติที่อัพเดททุก 1 นาที ไฟล์เอกสารที่เป็นเอกสารสรุป การตรวจวัดอัพเดทรายวัน หนักสุดเป็นไฟล์เอกสารที่สแกนมาเป็นรูปและPDF (ที่บอกได้เช่นนี้ เพราะเห็นรอยลวดเย็นกระดาษชัดเจน) เหล่านี้คือความหลากมิติของข้อมูล ที่พวกเรารวบรวมโดยใช้โปรแกรมไล่อ่าน และเก็บข้อมูลมาประมวลผล

เราทำได้อย่างไร? ส่วนหนึ่งด้วยศักยภาพของคนในทีม และความร่วมมือจากการแสดงวิสัยทัศน์ของพวกเรา ที่ต้องการสร้างข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ระดับพื้นที่ท้องถิ่นใหม่ ให้แม่นยำสำหรับประเทศไทย ภายใต้สถานการณ์โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ต้องการส่งข้อมูลจาก “ฝนจะตก20%ของพื้นที่” เป็น “ตำบล...จะมีฝนตกในอีก 1 ชั่วโมง” จึงได้รับความช่วยเหลือจากทีมงานของ Google brain ซึ่งเป็นหน่วยที่มีสุดยอดทีมงานด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลสภาพอากาศของไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ย้อนหลัง 50 ปี จาก The Weather Company บริษัทเดียวกับที่ส่งข้อมูลพยากรอากาศให้ Apple และ Google ที่ทุกท่านใช้งานกันอยู่ พร้อมทั้ง คำแนะนำและผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา

กลไกง่าย ๆ ที่เราทำกับระบบของเรา คือ นำข้อมูลระดับมหภาคที่มีอยู่ มาวิเคราะห์แบบปกติว่า มวลอากาศแบบใดกำลังเคลื่อนที่เข้ามาในพื้นที่ที่เราสนใจ และเป็นที่ติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศของเรา ตัดภาพดาวเทียมออกมาเป็นในพื้นที่เล็ก ๆ ซึ่งก็ประมาณไม่กี่พิกเซล ว่าอากาศกำลังจะเป็นแบบใด แบบเดียวกับเว็บไซต์ ที่มีการแสดงภาพเคลื่อนไหวอื่น ๆ ซึ่งเบื้องหลังคือคณิตศาสตร์ล้วน ๆ จากนั้นเราลองพยากรณ์ แต่เก็บค่าการคาดการณ์ไว้ไม่แสดงผล เมื่อถึงเวลาที่กำหนดสถานีตรวจวัดของเรา ซึ่งทำงานตลอดเวลาอยู่แล้ว จะส่งค่าตรวจวัดเข้ามาเปรียบเทียบกับค่าที่พยากรณ์ ค่าความต่างที่เกิดขึ้น จะมีสมมติฐานรองรับว่า น่าจะเกิดจากสาเหตุใด แล้วลองปรับแก้ใหม่ คำนวณใหม่และทดลองใหม่ เป็นแบบนี้ซ้ำในหนึ่งส่วนล้านวินาที ที่เราใช้บริการการประมวลผลของแพลตฟอร์ม จนในที่สุด เราก็ได้โมเดลอากาศในพื้นที่ขนาด 10-15 ตารางกิโลเมตร ที่แม่นที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย

ปัจจุบัน เราติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศตัวแรก เป็นระยะเวลา 1 ปี ศักยภาพของเราในขั้นต้นตอนนี้ คือสามารถทำ Now Casting ได้ หรือพยากรณ์อากาศ ณ ปัจจุบัน (5 นาทีข้างหน้า) ได้แม่นยำ 95% และล่วงหน้า 3 ชั่วโมงได้แม่นยำมากกว่า 80% โดยมีความสามารถในการเป็นตัวแทนอยู่ที่ประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร การเข้าดูข้อมูลของชุมชนในพื้นที่ปัจจุบันรวมแล้วกว่า 40,000 ครั้ง (โดยไม่มีการโฆษณาใด ๆ) และมีแผนจะตั้งสถานีตัวที่ 2 และ 3 ในช่วงกลางปี 2563 นี้

สถานีตรวจวัดสภาพอากาศของเรา รูปลักษณ์เป็น “เห็ด” เพื่อให้ผู้พบเห็นสนใจ และเกิดคำถามก่อนจะนำไปสู่การเรียนรู้เข้าใจสภาพอากาศ ณ ประตูน้ำคลองภักดีรำไพ จังหวัดจันทบุรี

ปัญหาสภาพาอากาศแปรปรวน เกิดขึ้นมาสักระยะหนึ่ง เกษตรกรไทยไม่ได้นิ่งเฉย เครือข่ายที่พวกเราได้พบปะและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้นั้น เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง ที่ลุกขึ้นมาจัดตั้ง “เครือข่ายไลน์อากาศ” ใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ ส่งข้อมูลฟ้าฝนในพื้นที่ตนเอง ทุกคนจะรู้ว่า ใครอยู่ตำบลไหน และอำเภอไหน และมีทิศทางกับระยะทางห่างจากสวนของตนเองอย่างไร เมื่อคนหนึ่งรายงานว่า มีฝนตก คนที่สอง สาม สี่ฯ ก็จะรู้ว่าตำบลไหนฝนตก ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงรับรู้ และเตรียมตัวรับมือ และหนึ่งกำลังสำคัญคือ ผู้อำนวยการสำนักงานอุตุนิยมวิทยาในพื้นที่ เป็นผู้เปิดอบรมการอ่านข้อมูลสภาพอากาศ และช่วยแปลงข้อมูลอากาศให้ชาวสวนเข้าใจได้ง่าย

สิ่งที่เราได้รับรู้ถึงความเข้มแข็ง คือสำนักงานอุตุนิยมวิยา ก็มีส่วนร่วมในการวิเคราะสภาพอากาศในท้องถิ่นด้วย จึงส่งเสริมความมั่นใจในการใช้ข้อมูลของเครือข่าย อีกหนึ่งเรื่องคือเกษตรกรที่มีจุดยืนต่างกันเรื่องการใช้สารเคมีและออร์แกนิก ต่างไม่เห็นด้วยและไม่ยุ่งเกี่ยวกัน แต่เมื่อมีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นศัตรูคนเดียวกัน ก็หันมาร่วมมือกัน และช่วยกันส่งข้อมูลอากาศเข้ากลุ่ม สิ่งที่เราเข้าไปร่วมด้วย คือการส่งข้อมูลฝากระบบเรียนรู้สภาพอากาศของเราให้กับคนในกลุ่ม เป็นอีกบุคคลหนึ่ง ที่ช่วยรายงานอากาศในพื้นที่

สำหรับการทำงานภาคประชาชนที่เกิดขึ้นจริง หนึ่งในบทบาทหน้าที่ของเรา คือการเผยแพร่แนวคิดเรื่อง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ฟังดูแล้วอาจจะเลี่ยนสำหรับใครหลายคน ขอเปลี่ยนคำให้เฉพาะเจาะจงขึ้น คือเผยแพร่แนวคิด “ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ” หรือ Decision Support System(DSS) ผ่านกระบวนการอบรม การเสวนา การประชุม Design Thinking ฯลฯ โดยแนวคิดพื้นฐานคือการ “เก็บข้อมูล” กิจกรรมการเพาะปลูก และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ใช้เมล็ดพันธุ์อะไร ปลูกอย่างไร แต่ละวันรดน้ำกี่ลิตร วันไหนใส่ปุ๋ยอะไร แต่ละวันอุณหภูมิเช้า เที่ยง เย็นเป็นเท่าไหร่ มีรังผึ้งในรัศมีกี่เมตร ไปจนถึง น้ำหนักรวมของผลผลิต หรือน้ำหนักเฉลี่ยของผลไม้แต่ละลูก ความหวานของแต่ละต้น ฯลฯ ซึ่งการเก็บข้อมูลเหล่านี้ ก็เท่ากับการเข้าใจตนเองมากยิ่งขึ้น ว่ามีสถานะการทำงานอย่างไร ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลการทำงานอย่างไร ใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง ทั้งหมดนี้คือ “การประมาณตน” ห่วงแรกที่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะอยู่ในบริบทไหนก็ตาม

แนวคิดการเก็บข้อมูล ช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาเก็บข้อมูล ไว้ใช้สำหรับการตัดสินใจมากขึ้น แม้ว่าจะไม่เห็นผลในระยะเริ่ม หลายคนก็ล้มเลิกไป แต่ผู้ที่ยังทำอย่างต่อเนื่อง เมื่อเข้าสู่ปีที่สองและสาม ข้อมูลแนวโน้มแ ละความสัมพันธ์บางอย่าง ก็นำไปสู่การถอดบทเรียนองค์ความรู้ใหม่ ๆ และนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีได้จริง

แล้วช่วยอะไรได้ไหม ? - เรายอมรับตั้งแต่ต้นว่า ตอนนี้ยังไม่ได้ บริบทของระบบตรวจวัดสภาพอากาศ ต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี เพื่อเก็บข้อมูลและค้นหาแนวโน้มที่เกิดขึ้น จึงจะสามารถพยากรณ์ได้ไกลมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้การคาดการณ์ระดับ 3 ชั่วโมง ที่ชาวสวนผลไม้ในพื้นที่ใกล้เคียงสถานี ก็ใช้ข้อมูลของเราในการตัดสินใจ ว่าอีกสองสามชั่วโมงข้างหน้าจะต้องรดน้ำหรือไม่ จะต้องเพิ่มความชื้นในอากาศก่อนหรือไม่ จะต้องใส่ปุ๋ยหรือไม่ ฯลฯ ซึ่งต้นทุนและความคุ้มค่าที่เกิดจาการตัดสินใจถูกต้องเหล่านี้ ไม่อาจประเมินค่าได้

เราทำเพื่ออะไร ? - ในท้ายที่สุด ปลายทางของของพวกเรา คือการสร้างเครือข่ายข้อมูลสภาพอากาศใหม่ ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เราไม่ใช่กลุ่มเดียวที่เพิ่งจะตระหนักและลงมือทำ มีภาคการศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย กลุ่มนักวิจัยของภาครัฐ ที่ดำเนินงานด้านนี้มาก่อน ทว่ายังขาดการบูรณาการกันอย่างแท้จริง เพราะเป็นส่วนที่เข้ามา และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ สร้างเครือข่ายใหม่จากกลุ่มที่มีอยู่เดิม

ข้อมูลจากการทำงานของระบบเรา เปิดให้ใครก็ตามที่สนใจสามารถเข้ามาดึงข้อมูลไปใช้ประโยชน์ฟรี! เนื่องด้วยเราเห็นว่าการเปิดข้อมูล (Open Source) ในบริบทของงานด้านสภาพอากาศ การถือข้อมูลไว้เพียงผู้เดียว รังแต่จะยืดระยะเวลาการพัฒนาและความร่วมมือออกไป ฉะนั้น ยิ่งมีคนที่สนใจจะนำข้อมูลไปทดลองสร้างโมเดลสภาพอากาศ นำข้อมูลไปศึกษาความเกี่ยวข้องของสภาพอากาศกับการเกษตร การประมง การท่องเที่ยว การจราจร สาธารณะสุข ฯลฯ ยิ่งก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

หัวหน้าทีมของเรา ขึ้นเป็นวิทยากรชวนเสวนากับเกษตรกร งานมหานครผลไม้ 2560 จังหวัดจันทบุรี

และเช่นกัน บริบทของความเป็นสภาพอากาศ ไม่มีทางที่จะติดตั้งระบบ แล้วจะได้ข้อมูลที่มีคุณภาพและการคาดการณ์ที่แม่นยำมาก เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ การกระจายแหล่งความรู้ การสร้างเครือข่าย การยืนยันจึงเป็นแนวทางของเรา ที่ไม่ว่าใครเข้ามาร่วมกับเรา แชร์ข้อมูลกัน ยิ่งเร่งให้การพัฒนาข้อมูลสภาพอากาศแม่นยำเฉพาะพื้นที่ และเป็นประโยชน์กับคนในพื้นที่ มากกว่าที่เจ้าของสถานีวัดอากาศขนาดเล็กจะรู้ตัวเสียอีก

จากที่ได้เกริ่นไปเบื้องต้นว่า “เรา” เล่าเรื่องผ่านมุมมองประชาชน ขณะเดียวกันเราก็เป็นเอกชน และเอกชนจะดำเนินกิจการต่อไปได้ จำต้องมีสายป่านหรือเงินทุนหล่อเลี้ยงตัวงาน ก่อนหน้าที่เราจะเริ่มโครงการนี้ เราได้พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับการผลิตอาหาร ซึ่งแบรนด์ใหญ่ทั้งของไทยและของต่างประเทศใช้บริการอยู่ โดยให้เกษตรกรของไทยใช้ฟรี ส่งเสริมการสร้างแบรนด์ และช่วยหาตลาดในบางโอกาส แล้วเก็บค่าใช้บริการกับแบรนด์ใหญ่ ซึ่งโครงการนี้ กว่าจะเริ่มมีเงินทุนหมุนเวียนก็ใช้เวลาไม่ต่ำว่า 7 ปี สำหรับการลงพื้นที่และเก็บข้อมูล พูดคุยและหาแนวร่วมส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทั้งเกษตรกร ตลาด และแบรนด์ใหญ่

ระหว่างนั้น เราได้มีโอกาสเข้าให้คำปรึกษา ขุดคุ้ยปัญหาของทั้งองค์กรเอกชน และองค์กรภาครัฐ ที่ต้องการปรับปรุงกระบวนการทำงาน ปรับโครงสร้างองค์กร สร้างนโยบายตรงจุด เราจึงสามารถอยู่ได้ และด้วยการเดินทางเราจึงค้นพบ “บริบท” มากมาย จากเรื่องราวเกือบทุกแง่มุมที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงพนักงาน ตั้งแต่ต้นน้ำการผลิต จนถึงปลายน้ำ อย่างผู้จำกัดขยะ เพราะเราเข้าใจเป็นอย่างดี ว่าการพัฒนาโครงการหนึ่ง ๆ ต้องใช้ระยะเวลานาน เพื่อให้เห็นผล โครงการสภาพอากาศแม่นยำนี้ ตั้งไข่มาได้ 5 ปี แล้วมีก้าวเด็ก ๆ เตาะแตะแล้ว แต่ยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ และบางเรื่อง เป็นปัญหาสังคมจึงต้องอาศัยการพูดคุย และค้นหาลึกยิ่งกว่าปัญหาภายในองค์กร แต่เมื่อผลของการลงมือทำปรากฏชัด มันสวยงามยิ่งกว่าผลงานใด เพราะ “งานยังไม่เสร็จ”

สำหรับโครงการสภาพอากาศ สิ่งที่เราจะได้ เพื่อจุนเจือโครงการนี้ จะเกิดขึ้นเมื่อเราสามารถคาดการณ์อากาศได้แม่นยำจริง ๆ ย้ำว่า จริงมากเพียงพอที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้ามาพิสูจน์ได้ และใช้ประโยชน์ได้ เราจะไม่โฆษณาหรือสร้างภาพให้ดูเกินจริง ด้วยจุดยืนเดิมของเรา เราจะเปิดข้อมูลให้ประชาชนคนทั่วไปใช้ฟรี และดึงข้อมูลไปวิเคราะห์ได้ สนับสนุนโครงการร่วมกับภาคการศึกษา ส่งข้อมูลสนับสนุนให้กรมอุตุนิยมวิทยา และแน่นอนข้อมูลที่เราวิเคราะห์ขั้นสูง เราจะขายแลกคุณค่ากับมูลค่าให้กับเอกชนที่ต้องการ เช่น อุตสาหกรรมขนส่ง อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมการบิน ฯลฯ ให้สามารถดำเนินกิจการได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

พอกล่าวถึงรายได้เช่นนี้ อาจฟังดูเป็นผู้ร้ายทุนนิยม เรายอมรับว่ามีเส้นบาง ๆ กั้นอยู่ แต่เราพูดและจะกระทำ พิสูจน์ให้เห็นว่า ผลกระทบที่พวกเราสร้างขึ้นจากข้อมูลอากาศ เป็นประโยชน์และมีคุณค่ามากเพียงพอ ที่โครงการจำต้องอยู่ต่อไปให้ได้ เมื่อพูดถึงสภาพอากาศแล้ว ใครจะคิดว่า มีผลกระทบเฉพาะภาคการเกษตร ขอบอกเลยว่าคงต้องคิดใหม่ เพราะเมื่อมองขึ้นไป เราต่างอยู่ใต้ฟ้าเดียวกัน...

เฟซบุ๊คเเฟนเพจโครงการ https://www.facebook.com/armogan.rezonance/

ผู้เขียน
พชรพล รงรอง

เนื้อหาอื่นๆ

17 ธันวาคม 2019
18 กรกฎาคม 2020
17 ธันวาคม 2019

Copyright © 2013 THETHAIACT