หนามยอกแต่ไม่มีใครเอาหนามบ่ง
ประเทศไทยใน พ.ศ. 2566 กับอุปสรรคสำคัญภายใต้เป้าหมายยุติเอดส์ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันเอดส์โลก 1 ธันวาคม สืบเนื่องจากภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หากเลือกดูที่นโยบายด้านสุขภาพ ได้มีการวางเป้าหมายมุ่งยุติเอดส์ภายในปี พ.ศ. 2573 และแม้ตลอดเวลาจะมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์และประกาศนโยบายออกมาอย่างต่อเนื่อง-ครอบคลุมทุกมิติเพื่อ
- ลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ เหลือปีละไม่เกิน 1,000 คน
- ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อ เหลือปีละไม่เกิน 4,000 คน
- ลดการตีตราผู้ติดเชื้อ เหลือไม่เกิน 6%
- ไม่มีทารกแรกเกิดที่ติดเชื้อ
- ผู้ติดเชื้อทุกคนเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัส
- ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาและเอดส์ เข้าถึงชุมชน
- บรรจุสิทธิประโยชน์การดูแลไว้ในระบบบัตรทอง
- พัฒนาให้ประชากรข้ามชาติและชายขอบเข้าถึงบริการ และประกันสุขภาพ
- ผลักดันให้มีชุดตรวจหาเชื้อ HIV ด้วยตนเอง
- บริการเชิงรุก เช่น ตรวจเชื้อเพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อสู่ลูก และสนับสนุนถุงยางอนามัย
แต่สิ่งที่มิวายเกิดขึ้นอยู่เสมอตลอดปี พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา คือปัญหาการตีตราและเลือกปฏิบัติ เมื่ออ้างอิงจากระบบรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองการละเมิดสิทธิด้านเอดส์เพศภาวะ และความเป็นกลุ่มเปราะบางต่อการถูกเลือกปฏิบัติ (Crisis Response System : CRS) ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบรับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานอัยการสูงสุด และภาคประชาสังคมด้านเอดส์ อาทิ มูลนิธิรักษ์ไทย มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ศูนย์บริการสุขภาพน้ำกว๊านสีรุ้ง สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ฯลฯ
จะพบว่าอุปสรรคสำคัญที่จะเป็นปัญหาในการ “ยุติเอดส์” ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ คือ การที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวียังถูกละเมิดสิทธิ โดยเฉพาะการถูกบังคับตรวจเอชไอวี การถูกเปิดเผยสถานการณ์ติดเชื้อโดยไม่ได้ยินยอม การถูกกีดกันทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน สังคม อันเนื่องมาจากการติดเชื้อเอชไอวี โดยในปี พ.ศ.2566 จนถึงปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องรวม 269 เรื่อง และกลุ่มประชากรที่พบว่าต้องเผชิญปัญหามากที่สุดคือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมีอัตราร้อยละ 40 จากกลุ่มประชากรทั้งหมดที่มีการร้องเรียนกรณีตีตราและเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวี โดยจังหวัดที่พบว่า มีปัญหากระทบกับสิทธิของผู้ติดเชื้อเอชไอวีมากที่สุดในระบบคือ กรุงเทพมหานครและจังหวัดชลบุรี
แม้จากฐานข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนฯ จะพบว่าปัญหาเหล่านี้มีโอกาสแก้ไขได้สำเร็จ รวมถึงอยู่ระหว่างการแก้ไขมากถึงร้อยละ 87 แต่เมื่อดูสิ่งที่เกิดขึ้นจะพบสถานการณ์น่าสนใจว่า “หน่วยงานผู้ละเมิด” ยังเกิดขึ้นทั้งในหน่วยงานรัฐ (ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) สถานศึกษา สถานพยาบาล รวมทั้งเอกชน ซึ่งเป็นภาพสะท้อนว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กับเป้าหมาย “ยุติเอดส์” อาจเป็นเรื่องไกลเกินจริง หากภายใต้หน่วยงานในกำกับดูแลของรัฐยังไม่กำจัดนโยบายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นต้นตอของการละเมิดสิทธิต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทั้งการเปิดช่องของรัฐธรรมนูญในการให้อำนาจสิทธิซึ่งสามารถละเมิดสิทธิ หรือเลือกปฏิบัติต่อบุคลากรของตนได้โดยเฉพาะตัวแก่หน่วยงานกลาโหมทั้งทหารตำรวจ การมีนโยบายบังคับตรวจเลือด เช่นกันกับการดำเนินภารกิจสำคัญร่วมกันของทั้งหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคมคือ การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานทุกระดับเท่าทันจนสามารถปฏิบัติงานตอบสนองนโยบายเชิงบวกที่เกิดแต่ละครั้งได้
โดยเรื่องนี้ ไพลิน ดวงมาลา จากมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ได้ให้ความเห็นว่า “ความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 นั้นจำเป็นต้องมองเอชไอวี/เอดส์ มากกว่าแค่เรื่องโรค แต่เป็นเรื่องการมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการทำให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่สอดคล้องตามบริบทการใช้ชีวิต การเข้าถึงการมีงานทำ และการศึกษา ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมีพึงได้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ขณะเดียวกันการมีกฎหมายขจัดการปฏิบัติต่อบุคคลในประเทศไทย จะเป็นจุดคานงัดสำคัญในการยุติปัญหาเอดส์ในประเทศ”
และจากข้อมูล ข้อเท็จจริงทั้งหมดที่ปรากฏนั้นจะพบประเทศไทยในปี 66 ที่อาจถูกหนามยอกแต่ยังปราศจากการเอาหนามบ่ง เมื่อผู้กระทำการละเมิดสิทธิ ตีตรา และเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งที่ตั้งใจหรือไม่นั้น ยังคงมีตำแหน่งหน้าที่ มีชีวิตที่ปราศจากการคาดโทษใด … ดังนั้น คำถามสำคัญคือ แล้วเราจะบรรลุเป้าหมายยุติเอดส์กันจริงได้อย่างไรในเมื่อยังมีคนเดือดร้อนจากการถูกละเมิด ?