01 มีนาคม 2020

สยามเมืองยิ้ม : ฉายาที่คนไทยทุกคนต่างคุ้นชิน

เรื่องราวของบ้านชีวาศิลป์ แห่งมอดินแดง บทความร่วมประกวดสารคดี We are CSO ภาคประชาสังคม ใคร ๆ ก็เป็นได้ โดย ธมลวรรณ ศรีชัยมูล

สยามเมืองยิ้มเป็นฉายาที่คนไทยทุกคนต่างคุ้นชินกันดี ที่เราได้รับฉายานี้ เป็นเพราะคนไทยมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็จะแสดงออกด้วยการยิ้มก่อนเสมอ เราจะยิ้มให้กับทุกคนที่เราจะรู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม พวกเราทุกคนก็จะมอบรอยยิ้มด้วยความเป็นมิตร ที่ต่างทำให้ใครต่อใคร มีความสุขตามไปด้วย ซึ่งการที่คน ๆ หนึ่ง จะยิ้มออกมาให้โลกสดใสเพียงนี้ ย่อมต้องมีความรู้สึกจากข้างใน เพราะการที่เราแสดงพฤติกรรมออกมาเช่นไร นั่นแสดงว่าระบบความคิดของเราเป็นเช่นนั้น จึงทำให้มีการสั่งการออกมานั่นเอง

เมื่อพูดถึงความรู้สึกจากข้างใน ‘ความรู้สึก’ ในที่นี้ ขอหมายถึงคำว่า ‘จิตใจ’ คนไทยเป็นกลุ่มคนที่ใคร ได้เห็น ก็ต่างตกหลุมรักได้ทันที นั่นเป็นเพราะคนไทยเป็นคนจิตใจดี มีเมตตา เห็นอกเห็นใจผู้อื่น เห็นใครตกทุกข์ได้ยาก ก็พร้อมที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือตลอดเวลา อีกทั้งคนไทยเป็นคนร่าเริงสดใส อารมณ์ดี ในเวลาเดียวกัน ก็มีนิสัยง่าย ๆ สบาย ๆ ไม่ถือตัว และอ่อนน้อมถ่อมตน ทำให้ใครก็ตามที่พบเห็น ต่างก็อยากเข้าหา เพื่อทำความรู้จักสนิทสนม ไม่ว่าจะเป็นแขก ฝรั่ง จีน หรือคนไทยด้วยกันเอง

ด้วยนิสัยพื้นฐานของคนไทย ที่เป็นคนจิตใจดี มีเมตตา คอยช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดการรวมกลุ่มกัน อาจจะมีการจัดตั้งกองทุน หรือระดมทุนต่าง ๆ ขึ้นมาบ้าง จากสมาชิกภายในกลุ่ม เพื่อส่งมอบให้กับผู้ที่ตกระกำลำบาก หรืออาจไม่มีการระดมทุนเลย แต่เข้าไปช่วยเหลือในทางคำพูด ที่คอยปลอบประโลม หรือคำพูดที่ให้กำลังใจ ซึ่งการช่วยเหลือแบบนี้ อาจเกิดจากคนกลุ่มประเภทเดียวกัน ที่มีในสังคมใดสังคมหนึ่ง ที่อยากช่วยเหลือกลุ่มคนประเภทเดียวกันในอีกสังคมหนึ่ง หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่รวมตัวกันขึ้น เพื่อไปช่วยเหลือคนอื่น ๆ ในสังคม ก็ได้เช่นกัน

ขอขอบคุณภาพจาก: https://board.postjung.com/1124926

หากพูดถึงการเข้าไปช่วยเหลืออย่างไม่รีรอนี้ เราจะเรียกว่า การช่วยเหลือแบบภาคประชาสังคม(Civil Society Organization - CSO) หมายถึง การช่วยเหลือที่เกิดจากบุคคล กลุ่ม หรือองค์กรที่ไม่ใช่ของภาครัฐ และภาคเอกชน ที่ได้เข้าไปพัฒนาด้านต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม อาจจะมีภารกิจแตกต่าง หรือร่วมกันก็ได้ อีกทั้งการช่วยเหลือแบบภาคประชาสังคม จะเป็นใครก็ได้ที่ต้องการช่วยเหลือ และดูแลคนอื่น ๆ ที่ได้รับความลำบาก

เมื่อพูดถึงการเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เรามักจะนึกถึงคนหนึ่งคน ที่มีความกล้าที่จะลุกขึ้นมาชวนคนอีกหลายคน ออกไปสร้างคุณประโยชน์ให้กับผู้อื่น โดยการเข้ามาอาสา หรือการลุกขึ้นไปทำ ซึ่งการเข้ามาอาสาช่วยเหลือ หรือการลุกขึ้นไปทำนี้ บางครั้งก็ไม่ได้มีค่าตอบแทนที่เป็นเม็ดเงินด้วยซ้ำไป แต่เป็นค่าตอบแทนแบบรอยยิ้ม หรือคำขอบคุณ จากผู้ที่เราเข้าไปช่วยเหลือ คำขอบคุณที่มาจากใจ ที่ทำให้พวกเขาได้กลับไปอยู่กับครอบครัว อย่างมีความสุขพร้อมหน้าพร้อมตากัน

บ้านชีวาศิลป์ คีตศิลป์แห่งมอดินแดง เป็นหนึ่งในการช่วยเหลือแบบภาคประชาสังคม จากการรวมกลุ่มของสมาชิกที่มีอายุตั้งแต่ 4 – 70 ปี ที่มีจิตใจอาสา เข้าไปให้ความสนุกสนานกับน้อง ๆ ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เพื่อทำให้พวกเขาเหล่านั้น ได้มีความสุขมากกว่าความเจ็บป่วย ซึ่งเหล่าสมาชิกของบ้านชีวาศิลป์จะเข้าไปทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับความทุกข์ กลับมามีความสุขโดยการเล่นละคร เล่นดนตรี เล่านิทาน หรือทำกิจกรรมร่วมกับน้อง ๆ ที่นั่น เพราะพวกเขาไม่ได้มีโอกาส ที่จะออกไปหาความสนุกจากเพื่อนวัยเดียวกัน ดังนั้นเหล่าจิตอาสาบ้านชีวาศิลป์ จึงเป็นกลุ่มคนที่มาให้ความสุขแทน

จุดเริ่มต้นของบ้านชีวาศิลป์ที่ ส่งมอบความสุขนี้เกิดมาจากรศ. นพ. ภพ โกศลารักษ์ ที่มีการริเริ่มลงมือทำตั้งแต่ปี 2553 ที่ต้องการเปลี่ยนพื้นที่แห่งความมืดมิด ให้กลายเป็นพื้นที่แห่งความสว่างกับเด็กทุกคน เพื่อที่จะให้พวกเขากลับมายิ้ม และต่อสู้กับโรคร้ายที่เข้ามากล้ำกรายในชีวิต ความสุขเหล่านี้ ดำเนินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้ คนที่คอยดูแลบ้านหลังนี้ และเหล่าจิตอาสาทุกคน ก็คือคุณเศกสันต์ วิชัยพล เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลบ้านชีวาศิลป์ “เด็กป่วยหรือไม่ป่วยก็เหมือนกัน เขาไม่กังวลใจถึงวันพรุ่งนี้เหมือนผู้ใหญ่ แต่ใช้ชีวิต อยู่กับวันนี้” เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลบ้านชีวาศิลป์กล่าว (The cloud, 2560)

ขอขอบคุณภาพจาก : แฟนเพจ บ้านชีวาศิลป์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บ้านชีวาศิลป์เป็นบ้านหลังสีขาว พร้อมอ้าแขนรับจิตอาสารุ่นเล็กรุ่นใหญ่ทุกคน ที่มีใจเข้ามาช่วยเหลือ โดยการออกไปสร้างความสุขให้กับเด็ก ๆ ใครก็ตามที่เข้ามาทำหน้าที่ จะไม่ได้รับค่าตอบแทน แต่อย่างใด และพวกเขาเองก็รู้เช่นกัน แต่พวกเขาก็เลือกที่จะเดินเข้ามา เพื่อขอค่าตอบแทนเป็นร้อยยิ้ม เสียงหัวเราะของเด็ก ๆ หรือพ่อแม่ ผู้ปกครองที่มาเฝ้าลูกหลาน รอวันที่จะได้กลับบ้านไปอยู่ด้วยกันอีกครั้ง

ความสุข ความสนุกของเด็ก ๆ ทุกคน จะไม่หายไป เพราะบ้านชีวาศิลป์ไม่เคยขาดเหล่าเทวดา นางฟ้าจิตอาสาเลย นอกจากนี้ บ้านชีวาศิลป์ยังเป็นสะพานบุญ ให้ผู้ที่นำสิ่งของมาบริจาคให้กับเด็ก ๆ เช่น ตุ๊กตา นม ขนม หลังจากที่มีผู้นำเข้ามาบริจาคไว้แล้ว จิตอาสาก็จะนำสิ่งของเหล่านั้น ไปที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ทันที นอกจากนี้บ้านชีวาศิลป์ยังพร้อมต้อนรับจิตอาสาทุกคน ที่สนใจเข้ามาทำกิจกรรมสนุก ๆ ร่วมกับจิตอาสาคนอื่น ๆ และเด็ก ๆ ในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ โดยมีการทำประกาศลงในเพจบ้านชีวาศิลป์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้ทุกคนได้มาร่วมสร้างความหวัง และสีสันให้น้อง ๆ โดยใน 1 สัปดาห์นั้นจะมีการจัดสรรช่วงเวลาอย่างเหมาะสม

สำหรับเวลาในการทำกิจกรรมของเหล่าจิตอาสาบ้านชีวาศิลป์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีดังนี้

1. กิจกรรมทุกวันอังคาร ที่แผนกกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เวลา 09.00-12.00 น.

2. กิจกรรมทุกค่ำวันอังคาร ที่หอพักผู้ป่วยเด็ก 3ง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เวลา 17.00-20.00 น.

3. กิจกรรมทุกบ่ายวันพุธ ที่หอผู้ป่วย 5ง และ 4ง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ 13.00-16.00 น.

4. กิจกรรมทุกค่ำวันพุธ ที่ตึกเคมีบำบัดเด็ก โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เวลา 17.00 – 20.00 น.

5. กิจกรรมทุกค่ำวันพฤหัสบดี ที่หอพักผู้ป่วยเด็ก 3ง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เวลา 17.00 – 20.00 น.

6. ร่วมจัดรายการจิตอาสาชีวาศิลป์ FM103 ในวันจันทร์ และวันพุธ เวลา 11.00 – 12.00 น. และสามารถเข้ามาร่วมเตรียมอุปกรณ์ได้ที่บ้านชีวาศิลป์ เพื่อใช้สำหรับจัดกิจกรรมได้ทุกวันในเวลาราชการ

ปัจจุบัน ในประเทศไทยพบการช่วยเหลือแบบภาคประชาสังคมมากมาย ไม่ว่าจะมาจากสถานการณ์เร่งด่วน อย่างเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ หรือน้ำท่วม การช่วยเหลือแบบนี้ จะเกิดขึ้นอย่างทันควัน โดยมีการเปิดบัญชีของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อรับเงินช่วยเหลือจากทั่วทุกสารทิศ และนำเงินเหล่านั้นส่งไปให้พี่น้องคนไทย ที่ประสบปัญหา ซึ่งสายธารน้ำใจของคนไทยที่หลั่งไหลหากันนั้น ทำให้พี่น้องชาวไทยที่ ได้รับความเดือดร้อนสามารถผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ เหล่านั้นมาได้ จนเกิดคำกล่าวหนึ่งที่ว่า คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน

การช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนไทย นอกจากจะแผ่ไพศาลไปยังคนไทยด้วยกันแล้ว เมื่อเกิดเหตุวิกฤตขึ้นที่ต่างประเทศ คนไทยก็พร้อมส่งสายธารน้ำใจ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคสิ่งของ หรือการบริจาคเงิน อีกทั้งยังมีคำพูดให้กำลังใจเพื่อนร่วมโลก ให้ผ่านปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้นไปได้

ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อายุเท่าไหร่ การศึกษาแบบไหน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ก็ไม่สามารถมาขวางกั้นจิตใจอันมีเมตตาอย่างมหาศาลของคุณ ที่จะลุกขึ้นมาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกได้ เพียงแค่คุณกล้าที่จะคิด กล้าที่จะลุก และยืนหยัดที่จะทำ แม้ตอนที่คุณยืนขึ้นมานั้นอาจจะยืนแค่คนเดียว แต่เชื่อเถอะว่า เมื่อคุณลงมือทำ คุณจะไม่ได้ทำแค่คนเดียว เพราะถ้าหันกลับไปมองข้างหลัง จะมีอีกร้อย พัน แสน หรือล้านคน ที่จะพร้อม ก้าวเดินไปกับคุณ และพร้อมที่จะก้าวออกไปช่วยเหลือสังคมแบบไม่หวังผลอะไร ในวันนี้ เรารู้ว่าเสียงในใจคุณมันกำลังตะโกนบอกคุณว่า กล้าลุกออกมาได้แล้ว เพราะยังมีคนอีกหลายแสน หลายล้านคน รอการช่วยเหลือจากคุณ และเหล่าผู้กล้าทุกคนอยู่ คุณพร้อมที่จะก้าวข้ามความกลัว แล้วลุกขึ้นมาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ด้วยกันหรือยัง ? ขอจงกล้าคิด และกล้าลงมือทำ เพราะทุกคนคือ CSO ภาคประชาสังคมที่ใคร ๆ ก็เป็นได้

________________________

เรื่องโดย ธมลวรรณ ศรีชัยมูล

เนื้อหาอื่นๆ

09 สิงหาคม 2020
02 กันยายน 2021
06 พฤษภาคม 2019

Copyright © 2013 THETHAIACT