ม่วนใจ๋ในชมภู - ชมรมคนพิการระดับตำบล
บทความร่วมประกวดสารคดี We are CSO ภาคประชาสังคม ใคร ๆ ก็เป็นได้ โดย วัณทนีย์ อินต๊ะมา สายนที โพธิ์ไทร และ ธนวรรษน์ บุญนาม
ลมฤดูแล้งพัดสับสนอยู่ไม่นาน ใบสักร่วงลงไม่รู้ทิศ ดอกก๋าวหรือทองกวาว เพิ่งลาจากท้องทุ่งแห้งแล้ง เช่นเดียวกับดอกงิ้วสีแดง ที่มาแล้วไปอย่างรวดเร็ว กลิ่นดอกลำไยกำลังขจร เรียกหมู่ภมรมาดอมดมชมเกสร มีบริษัทมาติดตั้งรังผึ้งไปทั่วสวนของชาวบ้าน ดูเป็นตำบลเล็ก ๆ เรียบง่ายเหมือนที่อื่น พบเจออะไรเหมือน ๆ กัน มีปัญหาคล้าย ๆ กันเช่นเดียวกับตำบลอื่นในอำเภอ สารภี จังหวัดเชียงใหม่ ตอนนี้ก็ยังมีปัญหาฝุ่นควัน นี่ยังไม่พูดถึงการเฝ้าระวังไข้หวัด kovid-19 แต่ตำบลชมภู มีอะไรที่ต่างจากที่อื่น
ในบางเช้าหรือบางบ่าย ผู้คนไม่มากก็น้อย จะพบกับกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ขี่รถจักรยานยนต์ หรือบางวันจะนั่งรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง พากันไปเยี่ยมบ้าน ผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ บางวันมีทีมช่างชาวบ้านไปช่วยทำห้องน้ำ ทำราวบันได ปรับสภาพบ้าน ใช่ครับ ตำบลชมภูนี้มี ชมรมคนพิการ ชื่อชมรมชมภูม่วนใจ๋ (ม่วนใจ๋ หรือสุขใจ) ไม่แปลกที่ตำบลสักตำบลจะมีชมรมคนพิการ แต่ก็ไม่ง่ายนักที่ตำบลเล็ก ๆ สักแห่ง จะมีกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาดูแลจัดการในตำบล จนสามารถมีศูนย์บริการคนพิการในตำบล
เริ่มแรก ชมรมชมภูม่วนใจ๋มีแกนนำในหลายภาคส่วน ทั้งจากเทศบาลและภาคประชาชน โดยเฉพาะบรรดาพี่เลี้ยง เช่น นายกเทศบาล นาย ธวัช ชัยแก้ว ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล นางมัลลิกา ตะติยาพรพันธ์ และอดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่4 นาย อนันต์ แสงบุญ จนในที่สุด ก็ได้ ผู้พิการทางด้านเคลื่อนไหว นาย อินสม อุตสุภา เป็นประธานชมรม
ชมรมเกิดจากการรวมกลุ่ม ของคนมีใจที่อยากทำงานเพื่อคนพิการ ตั้งเป็นชมรมชมรมชมภูม่วนใจ๋ ใช้กระบวนการ CBR. Community-based rehabilitation การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชนเป็นฐาน เป็นหลักคิดของการทำงาน. ยกระดับจากชมรม เป็นศูนย์บริการคนพิการตำบลชมภู (ปันด้วยใจ ให้ด้วยรัก) เชื่อมเครือข่ายนอกและในพื้นที่ สร้างการเรียนรู้ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความมั่นใจ ให้กลับมาร่วมทำกิจกรรมในชุมชนได้อย่างม่วนใจ๋ และมีความสุข
ทุกวันนี้ ชมรมม่วนใจ๋ทำงานทั้งด้านเรื่องคนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งได้ความร่วมมือกับญาติผู้พิการและจิตอาสาในชุมชน เช่น อสม. ข้อมูลเชิงสถิติของ ต.ชมภู อ.สารภี พบว่ามีประชากรทั้งหมด 7,031 คน เป็นผู้สูงอายุ 1,370 คนพิการ จำนวน 221 คน เมื่อแยกประเภทความพิการ พบว่าพิการทางการเคลื่อนไหว 147 คน พิการทางการได้ยินและการสื่อสาร จำนวน 35 คน ทางสติปัญญาและการรับรู้ จำนวน 13 คน ทางการมองเห็น จำนวน 12 คน ทางจิตใจและพฤติกรรม จำนวน 14 คน
พฤติกรรมของคนพิการในตำบลส่วนใหญ่ อยู่แต่ในบ้าน ไม่มีอาชีพและไม่มีโอกาสออกมาร่วมกิจกรรมในชุมชน สิ่งแวดล้อมในบ้านไม่มีความปลอดภัย มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ หกล้ม ตกบันได ญาติไปทำงานเช้ากลับเย็น ทำให้ตอนกลางวัน ผู้พิการต้องอยู่บ้านโดยลำพัง ทางชมรมมีการจัดทีมเยี่ยม ทั้งการจัดการทำความสะอาดบ้าน บริการตัดผมตัดเล็บ ให้ความรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้อง
นอกจากงานที่ทำ ทางชมรมได้ขับเคลื่อนและผลักดัน ให้ผู้พิการที่ยังทำงานได้ ได้เข้าถึงการจ้างงาน โดยผ่าน มาตรา33 และมาตรา35 แห่ง พรบ. ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยได้ส่งเสริมคนพิการได้ทำงานใกล้บ้าน ปัจจุบันมีคนพิการในชุมชนเข้าถึงงาน โดยเฉพาะใน รพ.สต รวมทั้งสิ้น7 คน
การเชื่อมร้อยเครือข่ายภายนอก ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทางชมรม ได้ทำมาตลอด เช่น การได้งบสนับสนุนจาก สสส.เพื่อนำมาส่งเสริมอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ นอกจากนั้นก็มีการนำองค์ความรู้ด้านอื่น ๆ มาพัฒนาชุมชน เช่น การทำธนาคารเวลา โดยที่จิตอาสา แต่ละคนจะมีสมุดบันทึกเวลา และมีแต้มอยู่คนละห้าแต้ม ถ้าหากคนในกลุ่มต้องการแรงงาน เพื่อทำอะไรเล็ก ๆ น้อยเช่น พาไปส่งโรงพยาบาล ช่อมท่อประปา หรือช่วยตัดไม้ และอยู่ดูแลผู้ป่วยติดเตียง เมื่อบอกแจ้งแก่นายธนาคาร คนที่ไปทำก็จะได้แต้มของคนที่ร้องขอ โดยมีการประกาศลงในไลน์กลุ่มธนาคารเวลา ปันด้วยใจ ให้ด้วยรัก
ลมฤดูแล้งพัดผ่านไป อากาศแห้งร้อน ฝุ่นควันคลี่ห่มทั่วผืนฟ้า ความหวาดกลัวโรคระบาดจากเสียงของใครหลายคนพัดผ่านไปทั่ว โลกคล้ายน่าอยู่น้อยลงทุกวัน บางทีถ้าเราจะพบรอยยิ้มสักรอยยิ้ม มันอาจไม่ง่าย เพียงแต่เรายังเห็นกัน ใช่ ‘เห็นกัน’ ถ้าเรายังมีใจที่มองเห็นกัน อาจไม่ต้องเริ่มจากสิ่งที่ใหญ่ เริ่มจากตัวเองมองคนข้างเคียง จากกลุ่มคน สู่บางชุมชนเล็ก ๆ ที่ยังมองเห็นกัน เข้าใจกัน เสียสละ รอยยิ้มไม่ถาวรหรอก แต่เราจะยิ้มได้ทุกครั้ง ที่เรานึกถึงสิ่งที่เราเคยทำ มันจะปลุกกำลังใจของเราทุกทีที่จะเริ่มทำมันอีกครั้ง