17 กุมภาพันธ์ 2025

เข้าถึง เข้าใจ ไม่ปล่อยผ่าน

: รากฐานความจำเป็นที่ประเทศต้องมี “ภาคประชาสังคม” และรัฐต้องให้การยอมรับสนับสนุน

จากผลกระทบของนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) ที่ไม่เพียงสั่นคลอนบุคลากรภายในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ส่วนหนึ่ง ส่งผลกระทบต่อกลุ่มประชากรที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ บุคคลที่ประสงค์ยุติการตั้งครรภ์ รวมทั้งผู้จำเป็นต้องพึ่งพาระบบบริการสาธารณสุขเฉพาะด้าน ฯลฯ สาเหตุมาการทำงานให้ความช่วยเหลือที่ชงักและชะลอตัว จากคำสั่งระงับการสนับสนุนทุนดำเนินงานอย่างน้อย 90 วัน ... นำมาซึ่งทั้งเสียงโห่ร้องดีใจ ของผู้ได้รับมรดกทางวาทกรรมให้เกลียดและขับไล่ ไม่ยอมรับคนทำงานภาคประชาสังคม ขณะที่อีกซีกหนึ่ง เต็มไปด้วยเสียงบ่นของคนผู้ทุกข์ร้อน ทั้งกลุ่มประชากรหลากหลาย และตัวผู้ปฏิบัติงานเองโดยตรง จนเกิดเป็นคำถามต่อประชาคมโลกและประชาชนไทย ผ่านคำถามว่า “เอ็นจีโอมีไว้ทำไม?”

- เพราะรัฐใหญ่เกินไปสำหรับเรื่องที่มองว่าเล็ก ... เล็กและไร้กำลังเกินไปสำหรับเรื่องใหญ่ ๆ -

ปัจจุบัน จำนวนองค์กรภาคประชาสังคม ไม่นับรวมกลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันปฏิบัติงานเฉพาะด้านในประเทศไทย มีมากกว่า 29,000 องค์กร กระจายตัวครอบคลุมทุกพื้นที่ ปฏิบัติงานหลากหลายประเด็นงาน ทั้งการแก้ปัญหาบุคคลต่าง ๆ ทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือดูแลเมื่อเกิดภัยพิบัติ ดูแลสัตว์น้ำบกอากาศ สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในกลุ่มประชากรเปราะบาง ช่วยเหลือผู้ยากไร้ รวมไปถึงการจัดบริการสาธารณะด้วยบุคคล - กลุ่ม - องค์กร เองเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกลุ่มเป้าหมายที่ดำเนินงาน

แต่ความสัมพันธ์ของประชาสังคมกับรัฐ “มักไม่ได้เป็นไปในแบบที่ดีหรือราบรื่น” เนื่องจากบทบาทของประชาชน ที่ต้องถ่วงดุลอำนาจผ่านการเสนอแนะ-เรียกร้องให้รัฐปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไขปัญหาระดับนโยบาย จนหลายครั้งถูกติดตรึงกับภาพลักษณ์อย่างไร้ข้อเท็จจริงว่า “ค้านทุกเรื่อง” บวกด้วยความเชื่อมั่นของรัฐ ที่มีให้ในฐานะ “คนอื่น” หลายครั้งจึงมองเห็นกันเป็นคู่ขัดแย้ง มากกว่าเป็นภาคีร่วมแก้ไขปัญหาหรือพัฒนา นำมาซึ่งการ “ไม่ส่งเสริม” ให้ประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการดูแลแก้ไขปัญหาของพวกเขาเอง

แต่หากมองภาพรวมการบริการจัดการประเทศ จะพบว่า บ่อยครั้งปัญหาที่เกิดขึ้น มาจากความ “ล่าช้า” และระบบการปกครองที่ไม่เท่าทันต่อการแก้ไขปัญหา ตัวอย่างชัดเจนในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา - 2019 ที่รัฐ ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้ทุกกลุ่ม จึงดูแลแก้ไขปัญหาและจัดบริการสุขภาพได้อย่างบกพร่อง จนภาคประชาสังคมต้องมีบทบาทขึ้นมา ทั้งการเป็นอาสาสมัคร การจัดตั้งศูนย์ดูแลกักกันโรค การช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาด้านการดำรงชีพ รวมไปถึงการ จัดบริการสุขภาพกันเองในชุมชน โดยยกให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขร่วมเป็นพี่เลี้ยง หรือผู้รับช่วงดำเนินการ

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นความ “ใหญ่” เกินไปของรัฐอีกประการ คือ การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ในงานด้านต่าง ๆ เช่น การเข้าไม่ถึงหรือตึงเกินไป กับบริการสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ การต้องพึ่งพาอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติในงานด้านควบคุมป้องกันโรค การเข้าไม่ถึงกลุ่มผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง จนต้องมีระบบอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน การละเลยข้อมูลสำคัญของกระบวนการค้ามนุษย์ จนทำให้ความช่วยเหลือล่าช้า หรือจำเป็นต้องพึ่งพาข้อมูลและทรัพยากรของภาคประชาสังคม การไม่มีระบบเฝ้าระวัง ติดตาม จับตา แก้ปัญหาของตนในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ ... เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงจำเป็นต้องมีภาคประชาสังคมในการอุดรอยรั่ว หรือร่วมสนับสนุนบริการ-การทำงานด้านต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อให้ “เข้าถึง” กลุ่มประชากรที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายในประเทศ

อีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญที่ควรแสดงให้เห็น คือ การจัดบริการสาธารณะของภาคประชาสังคมเพื่อดูแลกันเอง ตั้งแต่การมีกลุ่มเฉพาะโรค(เอชไอวี / โรคไต ฯลฯ) - เฉพาะประเด็น ในการติดตาม เข้าถึงพื้นที่ เพื่อรับทราบและร่วมหาทางแก้ปัญหา สิ่งเหล่านี้มาจากทั้งการอยู่ในพื้นที่ปัญหา และส่วนหนึ่งคือการเป็น “เจ้าของปัญหาเอง” ที่ลุกขึ้นมาปฏิบัติการทางสังคม เพื่อยุติอุปสรรครอบด้านที่เกิดขึ้น อีกตัวอย่างกระจ่างชัด คือ การให้บริการด้านสุขภาพของคลินิกผู้มีความหลากหลายทางเพศ พนักงานบริการ แรงงานข้ามชาติ ที่สามารถตอบโจทย์การดำเนินชีวิตของผู้รับบริการได้มากกว่าภาครัฐ ทั้งด้วยตำแหน่งที่ตั้งเข้าถึงง่าย เวลาทำการที่ยืดหยุ่นสอดรับกับเวลาเลิกงาน ... มาตรการดำเนินงานของภาคประชาสังคม จึงตอบโจทย์และพรั่งพร้อมด้วยสรรพกำลัง มากกว่าการต้องรอพึ่งพาบริการ – สวัสดิการจากหน่วยงานรัฐ ที่มีข้อจำกัดทั้งด้านปริมาณบุคลากรและ เวลาทำงานของผู้ปฏิบัติงานเอง  

 

แม้จะเป็นหนึ่งแนวร่วมสนับสนุน เพื่อช่วยเหลือรัฐในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน แต่บ่อยครั้งกลับพบว่า กำแพงสำคัญที่ถูกกั้นจนบั่นทอนการทำงานของผู้ปฏิบัติงานภาคประชาสังคม คือ นโยบายที่ทั้งไม่ให้ความร่วมมือ ไม่เชื่อถือหากไม่ผ่านมาตรฐานดั่งเดียวกับที่รัฐต้องการ รวมทั้งไม่รับรองสถานะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งอาจมาจากการ “เกินหน้าเกินตา” โดยไม่เปิดช่องให้ผู้บริหาร ทั้งระดับพื้นที่และส่วนกลางได้มาสมอ้าง(เคลม)ผลงาน

- เข้าใจ ไม่ปล่อยผ่าน: เพื่อการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ –

ความเข้าใจและอยู่ร่วม จนนำมาซึ่งการไม่ปล่อยผ่าน เมื่อเกิดปัญหา เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สนับสนุนให้ต้องมี “ภาคประชาสังคม” หากขยายลงไปเฉพาะประเด็นเพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่าง จะพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.)มากกว่า 22,000 คน ซึ่งส่วนมากเป็นคนในชุมชน ที่รับหน้าที่เฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ภัยคุกคามจากมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อม และหากครั้งใดที่สมาชิกในชุมชนได้รับผลกระทบ พวกเขาจะเป็นด่านหน้า ที่รายงาน – แสวงหาความช่วยเหลือ และเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเจ้าของปัญหา เช่นกันกับผลการศึกษาดัชนีการตีตราผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีในประเทศไทย 2.0 (พ.ศ. 2565–2566) พบว่า เกินกว่าครึ่งของผู้มีเชื้อเอชไอวีล้วนมีประสบการณ์ด้านลบ เมื่อต้องใช้บริการด้านสุขภาพ - สาธารณสุข จนต้องมีระบบพี่เลี้ยงดูแลส่งต่อ เพื่อรับบริการ หรือให้บริการร่วม เพราะงานหลายด้านนั้นต้องอาศัย “ความเข้าใจ” มากกว่าทักษะและความคุ้นชินจนเฉยชาของผู้ให้บริการ

ขณะที่สถิติการช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิของ สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย หากนับเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีนั้น ในปี พ.ศ. 2566 – 2567 ได้ให้บริการไปแล้วมากกว่า 1,400 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงการ “ไม่ปล่อยผ่านเมื่อเกิดปัญหา”

ปัจจุบัน บริการสาธารณะทั้งด้านกฎหมาย และการช่วยเหลือรายกรณี ของผู้มีปัญหาในประเทศ ครอบคลุมหลากหลายประเด็นงาน ทั้งตามหาคนหาย (มูลนิธิกระจกเงา) ช่วยเหลือเหยื่อจากการถูกฟ้องร้องเนื่องจากความแตกต่างหลากหลาย (มูลนิธิผสานวัฒนธรรม / ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน / มูลนิธิทนายความอาสามุสลิม) ช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิ-เลือกปฏิบัติ ช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ ทารุณกรรม ฯลฯ ... ข้อเท็จจริงเหล่านี้ ทำให้เห็นว่า พื้นฐานของการ เข้าใจ ไม่ปล่อยผ่าน จะเป็นแรงผลักสำคัญเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจหาได้ลำบาก หากต้องรอเข้ากระบวนการจากหน่วยรัฐเพียงอย่างเดียว

- เมื่อประชาสังคมจำเป็น รัฐต้องให้การยอมรับสนับสนุน –

จากวิกฤตแหล่งทุนต่างประเทศแม้แค่เพียงรายเดียว(อเมริกา) ระงับการสนับสนุน กำลังนำมาซึ่งปัญหาต่อองค์กร และบุคลากรในองค์กรภาคประชาสังคม และเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบต่อกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งล้วนเป็นผู้อาศัยในผืนแผ่นดินไทย ซึ่งรัฐมีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องรับผิดชอบต่อการดูแล แก้ปัญหา และจัดสรรนโยบายเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงปฏิเสธไม่ได้ว่า แหล่งทุนภายนอกที่สามารถเข้ามาตั้งฐานการสนับสนุนในประเทศ ล้วนให้ทุนดำเนินงานเฉพาะด้านให้แก่หน่วยงานรัฐด้วย รวมทั้งกระแสการดำเนินนโยบายของประเทศมหาอำนาจในโลกที่จะบีบบังคับทำให้นโยบายภายในประเทศไทยเสี่ยงต่อการแปรเปลี่ยนไป จนเป็นเหตุให้มีผู้ถูกทอดทิ้งมากหน้าหลายตาขึ้น วิกฤตนี้จึงเป็น “ปัญหาร่วม” ที่ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเร่งหาทางแก้ไข เริ่มจากมาตรการเยียวยาบุคลากร ศึกษาผลกระทบเพื่อหาแนวทางระยะยาวเพื่อรองรับสนับสนุนให้การทำงานภาคประชาสังคม ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างราบรื่นจาก “พลังภายใน” ด้วยรูปแบบร่วมกันกับหน่วยงานรัฐ

เพราะถ้าหากมองข้ามฝ่าเสียงหัวเราะเย้ยหยันของคน “เกลียดเอ็นจีโอ” ด้วย Agenda ทางการเมือง ก็จะเจอว่า ทุกวินาทีที่มีชีวิต เราล้วนอยู่บนความเสี่ยงอย่างรอบด้าน และคนกลุ่มแรกที่จะสามารถเข้าถึง เข้าใจ ไม่ปล่อยผ่านปัญหา อาจเป็นคนใกล้ตัว หรือคนทำงานภาคประชาสังคมใกล้บ้านท่าน

เนื้อหาอื่นๆ

08 มีนาคม 2020
21 กรกฎาคม 2020
28 กุมภาพันธ์ 2020

Copyright © 2013 THETHAIACT