วันผู้ทำการผลิตที่บ้านสากล
กับสิทธิคนทำงานนอกระบบท่ามกลางคำถามว่าดีขึ้นแล้วใช่ไหม และเพียงพอหรือยัง
เพราะบ้านได้กลายเป็นหนึ่งฐานการผลิต และที่ทำงานของคนนับล้านในประเทศไทย หากใช้ข้อมูลอ้างอิงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะพบสถานการณ์ว่า ปัจจุบันมีแรงงานรวมมากกว่า 40 ล้านคน จากประชากรไทยทั้งหมด แต่เกิดครึ่งหรือ 21 ล้านคน (ร้อยละ 52.3) เป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งค่าเฉลี่ยอายุของคนกลุ่มนี้คือ 40 – 59 ปี และหากเจาะไปที่อาชีพ “ผู้ทำการผลิตที่บ้าน” ก็จะเจอว่ามากกว่าร้อยละ 70 เป็นผู้หญิง รวมทั้งอีกสถิติที่น่าสนใจคือ มีกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ยังทำงานอยู่ราว 5.1 ล้านคนและส่วนใหญ่ในนั้นคือการทำงาน “นอกระบบ” โดยทั้งทำงานที่บ้านตนเองและบ้านนายจ้าง
เนื่องในวันที่ 20 ตุลาคม เป็นวันผู้ทำการผลิตที่บ้านสากล บนทางแยกของสถานการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับแรงงานภาคปารผลิตและเกษตรกรรมซึ่งกำลังถูกท้าทายโดยเทคโนโลยี(AI) สินค้าจีนที่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า จำหน่ายในราคาถูกกว่า และการพัฒนาช่องทางจำหน่ายอย่างรุดหน้าจนดึงดูดสายตาผู้บริโภคได้มากกว่านั้น แรงงานผู้ทำการผลิตที่บ้านในประเทศไทยกำลังเผชิญกับอุปสรรคใด ?
ค่าแรง / ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ได้ไม่คุ้มเสีย แต่ต้องยอมแลกมา
เป็นเสียงเดียวกันอย่างเอกฉันท์ทั้งรายงานผลการจัดทำดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2566 ของกระทรวงแรงงาน และรายงานของ ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ รวมทั้งผลการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2565 ที่ระบุชัดว่า ปัญหาอันดับหนึ่งจากการทำงานของแรงงานผู้ทำการผลิตที่บ้าน แรงงานนอกระบบ เป็นเรื่องค่าตอบแทนที่ต่ำหากเทียบเวลาทำงานที่เท่ากันกับแรงงานในระบบ รวมถึงงานที่ขาดความต่อเนื่อง (มีให้ทำบ้างไม่มีบ้าง - ไม่มั่นคงในอาชีพ)
เรื่องนี้ รุ่งฤดี มะโนศรี จากกิจการเย็บผ้า พูดเอาไว้ว่า “ค่าครองชีพมันสูงขึ้นทุกวัน นั่นอาจเป็นเรื่องปกติ แต่ค่าจ้างแรงงานนอกระบบอย่างเรามันก็ราคาเท่าเดิม แถมบางงานที่ต้องทำปริมาณมาก ๆ ราคาค่าแรงอาจถูกกดให้ต่ำลงด้วยซ้ำ” ขณะที่ตัวแทนแรงงานนอกระบบบางอาชีพ ถึงกับตัดพ้อว่า ชีวิตนี้ไม่สามารถหลุดพ้นหนี้นอกระบบได้ หากไม่ได้รับการพิจารณาค่าแรงที่เป็นธรรมมากขึ้น รวมไปถึงอาจจำใจต้องขายบ้าน ขายที่นาเพื่อดูแลรักษาชีวิตให้พ้นวัน
หลักประกันด้านสุขภาพ จุดบอดที่ต้องร่วมแก้
ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบ จากวิดีโอสรุปเนื้อหา “วิกฤตค่าครองชีพต่อแรงงานนอกระบบ” ซึ่งได้รับการเผยแพร่โดย Homenet Thailand – มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ถูกพูดถึงในหลายแง่มุม เช่น การตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภค การควบคุมราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม รวมถึงการพิจารณาเกณฑ์ค่าแรงใหม่ แต่มีสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงได้คือ หลักประกันด้านสุขภาพ โดยเฉพาะประกันสังคม
แม้ประเทศไทยจะมีการปรับปรุงกฎกระทรวง ฉบับที่ 15 (พ.ศ.2567) โดยแก้ไขเพิ่มความคุ้มครองลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านที่ไม่อยู่ในรูปแบบธุรกิจ โดยเพิ่มเติม 11 เรื่อง ได้แก่ 1.ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน / 2.เวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง / 3.ลากิจธุระอันจำเป็นได้ปีละ 3 วัน / 4.ให้แจ้งการจ้างและแจ้งสิ้นสุดการจ้างเด็ก / 5.กรณีลูกจ้างอายุไม่ถึง 18 ปีฝึกอบรมโดยได้รับค่าจ้าง / 6.ห้ามหักค่าจ้าง โอที ค่าทำงานวันหยุด โอทีวันหยุด/ 7.มีกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ / 9.ห้ามลูกจ้างหญิงมีครรภ์ ทำงานเวลา 22.00-06.00 น.ทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด / 10.ลาคลอดบุตรได้ 98 วัน ได้รับค่าจ้างไม่เกิน 45 วัน / 11.ห้ามเลิกจ้างเพราะเหตุมีครรภ์ …นอกจากนั้นยังให้แรงงานนอกระบบมีสิทธิได้รับการตรวจสุขภาพ
แต่ราวกับว่าเป็นการเกาเพื่อเอาสะเก็ดออกโดยไม่สนใจรายแผลหรือเลือดที่จะตามมา เมื่อหลักประกันสุขภาพของแรงงานยังเป็นคำถามสำคัญยังมีความสับสน ว่าครอบคลุมถึงผู้ทำการผลิตที่บ้าน และแรงงานนอกระบบหรือไม่อย่างไร
อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์แรงงานนอกระบบมีจำนวนพุ่งสูงขึ้นมาก ก็ได้มีองค์กรภาคประชาสังคมจำนวนไม่น้อย และหนึ่งในนั้นคือ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (HomeNet Thailand) ที่นอกเหนือจากมุ่งหมายทำงานเพื่อรวมกลุ่มและพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรแรงงานนอกระบบรวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคม และความปลอดภัยในการทำงานแล้ว อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของพวกเขาคือ การรณรงค์ให้เกิดความคุ้มครองทางกฎหมาย และนโยบายแก่แรงงานนอกระบบด้วย
งานนี้จึงไม่ใช่แค่ของใครบางคน หรือใครคนหนึ่ง เพราะถึงบางช่วงวัยสถานการณ์การทำงานอาจบังคับให้เราต่างกลายเป็นผู้ทำการผลิตที่บ้าน หรือแรงงานนอกระบบ ไม่นับรวมถึงวิกฤตสุขภาพที่ผ่านมา ซึ่งเป็นพยานทางสายตาให้เห็นว่า เรามีแรงงานไรเดอร์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก นี่จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่นอกจากต้องร่วมกันตั้งคำถามแล้ว ควรรีบหาคำตอบจากผู้เกี่ยวข้องว่า กับสิทธิคนทำงานนอกระบบดีขึ้นแล้วใช่ไหม และเพียงพอแล้วหรือยัง