จนซ้ำซ้อน
เมื่อกฎหมายทับซ้อนซ้ำเติมประชาชนในช่วงโควิดจนเกิด คนจนใหม่
ในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 และยังคงมาตรการดังกล่าวมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
การประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในพื้นที่ทั่วไป อาจจะเป็นการทำให้ประชาชน เพิ่มความรอบคอบและระมัดระวังในการใช้ชีวิตมากขึ้น หากแต่การประกาศใช้มาตรการดังกล่าวในพื้นที่ที่มีกฎหมายพิเศษคุ้มครองอยู่แล้ว กลับเป็นการเพิ่มภาระที่กดทับลงบนบ่าของประชาชน และยิ่งส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ อาชีพ ตลอดจนวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ จนทำให้เกิดสถานะ คนจนใหม่ สถานะป้ายแดงห้อยท้ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
นุรอาซีกีน ยูโซ๊ะ เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ผู้ทำงานคลุกคลีกับคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้บอกเล่าเกี่ยวกับการทำงานของมูลนิธิฯ ผ่านเครื่องมือสื่อสารไร้สายให้ผู้เขียนฟังถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่สามจังหวัด อันสืบเนื่องมา จากสถานการณ์โควิด
“ตั้งแต่ปี 2547 ที่สามจังหวัดเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ กฎหมายตัวนี้ก็ได้ประกาศใช้มาอย่างต่อเนื่อง จนวันนี้ก็เข้าปีที่ 16 – 17 แล้ว คือกฎหมายนี้จะให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม แม้แค่สงสัย โดยไม่ต้องมีหมายค้นก็ได้ สามารถไปเวลาไหนก็ได้ แต่ถ้าเป็นกฎหมายอาญาปกติ เจ้าหน้าที่จะไปได้แค่ช่วงเวลากลางวัน ถ้าเป็นช่วงกลางคืน จะต้องเป็นเหตุการณ์ฉุกละหุกจริง ๆ อย่างมีโจรวิ่งราวอะไรอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นกฎหมายพิเศษ จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่เต็มที่ จะไปหาผู้ต้องสงสัยตีสอง ตีสาม ตีสี่ หรือช่วงเวลานอนก็ได้”
ในช่วงโควิดกลุ่มที่ได้รับผลกระทบคือกลุ่มคดีความมั่นคง ซึ่งส่วนใหญ่จะทำงานเป็นคนรากหญ้า คนกรีดยาง คนรับจ้างรายวัน บางคนก็เป็นครูสอนศาสนา แต่ว่าพอโดนควบคุมตัวโดยกฎหมายทหาร นั่นคือ เขาจะถูกควบคุมตัวแบบผู้ต้องสงสัย ซึ่งกฎหมายพิเศษ ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่สูงสุด 37 วัน ซึ่งคนเราปกติถ้าเกิดขาดงานไป 30 วัน หรือว่า 2 สัปดาห์ ก็มีโอกาสตกงานแล้ว
“ยิ่งเป็นกรณีที่ถูกควบคุมโดยทหาร ผู้จ้างงานก็ยิ่งไม่อยากให้ทำงานด้วย เพราะขี้เกียจมีปัญหากับทหาร มันก็เลยทำให้ใครก็ตามที่ถูกควบคุมตัวโดยทหาร พอกลับมา ก็ไม่มีงานทำโดยอัตโนมัติ แล้วการที่คนหนึ่งคนถูกควบคุมตัว มันจะไม่ได้กระทบ แค่ตัวเขาคนเดียว แต่มันจะกระทบไปทุกคน ไม่ว่าจะเป็นภรรยา ลูก พ่อ แม่ มันกระทบตั้งแต่เรื่องเงิน เรื่องเศรษฐกิจ และปัญหาสุขภาพจิต สุขภาพกาย มันจะมาแบบองค์รวมที่เดียวค่ะ
ให้ลองจินตนาการอย่างนี้ เดิมทีคนกลุ่มนี้ก็ไปไหนมาไหนไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มีอาชีพที่แน่นอนนะ เป็นคนหาเช้ากินค่ำ พอโควิดมา ตลาดโดนสั่งปิด กรีดยางก็ไม่ได้ มันเลยเหมือนปัญหาทับซ้อน พอตอนนี้สถานการณ์โควิดมันคลี่คลายลง คนกลุ่มนี้ซึ่งอยู่ตามชนบทเป็นส่วนใหญ่ และทำอาชีพรับจ้างรายวัน ก็ทำไม่ได้ เพราะว่าเศรษฐกิจช่วงนี้มันฝืดเคืองมาก ผู้ประกอบการก็ทำอะไรด้วยตัวเองหมดแล้ว ก็พอโควิดมา คนมันทำงานไม่ได้ ไปไหนก็ไม่ได้เพราะหวั่น ๆ ว่าการเคลื่อนย้ายคนระหว่างจังหวัด มันจะทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้น”
นุรอาซีกีน ยูโซ๊ะ เจ้าหน้าที่ผู้ทำงานในมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธิที่รับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์ การซ้อมทรมาน อุ้มหาย วิสามัญฆาตรกรรม การเลือกปฏิบัติ กฎหมายพิเศษ หรือเรื่อง การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ และเรื่องระบบสุขภาพต่าง ๆ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวและปัญหาที่พบเจอของผู้คนใน ชุมชมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านบทสนทนาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์และความรู้สึก และความหวังว่าทุกอย่างจะคลี่คลาย เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความวิกฤตินี้ไปได้